วัดเก่าแก่ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ทำไมใช้ชื่อ “วัดโกโรโกโส”

วัดโกโรโกโส อยุธยา
วัดโกโรโกโส (ภาพจาก matichon.co.th)

วัดโกโรโกโส เป็นวัดเก่าแก่ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา สถานที่ตั้งวัดปัจจุบัน คือ ริมคลองข้าวเม่า (บ้างเรียก คลองบาตร, คลองกระมัง) ตำบลข้าวเม่า อำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

วัดโกโรโกโส สร้างสมัยใดไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจน หากประเมินจากโบราณวัตถุที่เหลืออยู่ คือพระพุทธรูปหินทรายปางมารวิชัย พระประธานในโบสถ์ ที่ชาวบ้านเรียกว่า “หลวงพ่อดำ” โดยพิจารณาจากพุทธศิลป์และวัสดุที่ใช้ สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น วัดโกโรโกโสเองก็น่าจะร่วมสมัยเดียวกัน หรือก่อนหน้าไม่กี่ปี

ส่วนคำว่า “โกโรโกโส” นั้น พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 อธิบายว่า “(1)  (ปาก) ว. โกรงเกรง, ไม่มั่นคง, เช่น กระท่อมโกโรโกโส (2) ว. ต่ำต้อย เช่น คนโกโรโกโส.”

ทำไมวัดที่มีความเป็นมายาวนาน จึงไม่หาชื่อที่ดีกว่านี้มาตั้งแทนคำว่า “โกโรโกโส” 

ที่มาของชื่อวัดแห่งนี้ มีการสันนิษฐานหลายแนวทางด้วยกัน

หนึ่ง คือ ประวัติการสร้างวัดที่ว่าชาวจีน 2 คน คือ “อาโกวโร” และ “อาโกวโส” (อาโกว-เป็นคำภาษาแต้จิ๋วใช้เรียกพี่/น้องสาวของพ่อ) ร่วมกันสร้างวัด จึงเรียกว่า “วัดอาโกวโรอาโกวโส” หากนานวันการเรียกเพี้ยนไปจากต้นเค้าเดิม จึงเหลือเพียง “วัดโกโรโกโส” ในเวลาต่อมา

หนึ่ง คือ ชื่อโกโรโกโสนี้มาจาก “กุรุธาตุ” แปลว่า ทุ่งหรือขุม สนธิกับ “กุสุธาตุ” แปลว่า ทอง รวมความแล้วแปลว่า วัดทุ่งทอง หรือวัดขุมทอง คนเก่าแก่ในตำบลข้าวเม่า กล่าวว่าเคยได้ยินคนเรียก “วัดคลังทอง” ซึ่งปัจจุบัน ป้ายวัดโกโรโกโส ก็มีชื่อ “วัดคลังทอง” อยู่ในวงเล็บด้านล่าง

หนึ่ง นั้นสืบเนื่องจาก ทำเลของวัดโกโรโกโสที่ตั้งอยู่ริม “คลองข้าวเม่า” คลองขุดขนาดใหญ่ เริ่มจากคูขื่อหน้าฝั่งตะวันออก ตัดตรงไปทางทิศตะวันออก เชื่อมคลองหันตรา (แม่น้ำป่าสักสายเก่าไหลจากทิศเหนือลงทิศใต้ ไปสบแม่น้ำเจ้าพระยา ที่เรียกปากคลองแม่เบี้ย) แล้วตัดทะลุตรงไปทางทุ่งอุทัย เชื่อมคลองต่างๆ หลายสาย ที่ไหลจากทิศเหนือลงทิศใต้ เช่น คลองบ้านสร้าง, คลองโพ, ฯลฯ

เมื่อพระเจ้าตากสินฯ ฝ่ากองทัพพม่าออกไปรวบรวมไพร่พลในคราวเสียกรุงครั้งที่ 2 พระองค์และไพร่พลหยุดแวะพักที่ชุมชนริม “คลองข้าวเม่า” เห็นวัดแห่งหนึ่งตั้งอยู่ริมคลอง พระเจ้าตากสินฯ จึงเข้าไปกราบขอพรให้ทำการบ้านเมืองสำเร็จ ซึ่งสภาพวัดในยามสงครามที่ถูกปล้นชิง ค้นหาสิ่งของมีค่า เป็นวัดร้าง จึงมีสภาพไม่พ้นคำว่า “โกโรโกโส” 

หนึ่ง มาจากคำว่า rococo เป็นชื่อเรียกศิลปะสมัยหนึ่งของยุโรป หมายถึง สถาปัตยกรรมที่มีการตกแต่งด้วยลวดลายที่ฟุ่มเฟือยตามตัวอาคาร สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ได้กราบทูลสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ถึงเรื่องวัดโกโรโกโสว่า

เนื่องจากวัดนี้ แม้จะทำเสาและบัวที่ปลายเสาไว้เหมือนกัน แต่ลายรอบเสาแต่ละต้นนั้นก็ยักลายไปต่างๆ ไม่ซ้ำแบบกันเลย ซึ่งก็เนื่องมาจากความตั้งใจของช่างผู้ทำ ที่ต้องการจะอวดฝีมือว่าสามารถยักลายได้หลายกระบวน

แม้เมื่อผ่านสงครามคราวเสียกรุงจนเกิดความเสียหาย หากชาวบ้านตำบลใกล้เคียงเล่าขานสืบมาถึงความประณีตงดงามของวัดโกโรโกโสว่า ใช้ช่างหลายสกุลประกวดประชันฝีมือกันเต็มที่ ถึงขนาดพระอุโบสถนั้นสร้างเสาระเบียงแต่ละต้นออกลวดลายไม่ซ้ำกันเลย

ไม่ว่าจะชื่อ “โกโรโกโส” จะมีที่มาจากประเด็นใด ชื่อวัดโกโรโกโส ก็เป็นที่รู้จักอีกครั้ง เมื่อพระสงฆ์ในวัดท่านทนความ “โกโรโกโส” ของพระประธานในวัดที่มีสีดำและหมองคล้ำ ที่ชาวบ้านเรียกว่า “หลวงพ่อดำ” ไม่ได้ 

พระท่านจึงดำเนินการบูรณะ ด้วยการทาสีทองทับบนองค์พระ เพื่อเตรียมลงรักปิดทองในขั้นตอนต่อไป แต่เกิดเสียงคัดค้านจากชาวบ้าน และนักวิชาการ เรื่องดังกล่าวจึงยุติลง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

ยุพิน ธชาศรี. “วัดโกโรโกโส” ใน, สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคกลาง เล่ม 1, จัดพิมพ์เนื่องในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม 2542. มูลนิธิสารานุกรรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ 2542.

ชเนตตี จาตุรนต์รัศมี. “ภูมิวัฒนธรรมกับแนวทางการอนุรักษ์วิถีชีวิตริมคลองข้าวเม่า จังหวัดพระนครศรีอยุธยา” ใน, วารสารวิทยาการจัดการปริทรรศน์ ปีที่ 20 ฉบับที่ 2 (กรกฎาคม-ธันวาคม 2561).


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 มีนาคม 2567