ผู้เขียน | สุทธาสินี จิตรกรรมไทย เจียจันทร์พงษ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
ทุกวันนี้เราได้ยินชื่อ “มักกะสัน” กันจนคุ้นหู ทั้งเป็นชื่อชุมชน ชื่อสถานีรถไฟ ไปจนถึงชื่อแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ จนคิดไปว่านี่คือคำในภาษาไทย แต่ที่จริงแล้วเป็นคำที่ถูกทำให้คุ้นลิ้นคนไทย มาจากคำว่า “มากัสซาร์” (Makassar) เมืองบนเกาะเซเลบีส (ปัจจุบันคือเกาะซูลาเวซี) อินโดนีเซีย
มักกะสัน มีที่มาย้อนไปได้ถึง “ชาวบูกิส” ซึ่งอาศัยอยู่ทางตอนใต้ของเกาะเซเลบีส โดยเป็นคนในบังคับของสุลต่านแห่งมากัสซาร์
ยุคที่ดัตช์ไล่ล่าอาณานิคม มากัสซาร์ ลุกขึ้นต่อต้านหลายครั้ง แต่ก็จบด้วยความพ่ายแพ้ ครั้งแรกสิ้นสุดด้วยการถูกดัตช์ยึดครองในปี 1660-1669 (พ.ศ. 2203-2212 หรือสมัยกรุงศรีอยุธยา) นักรบชาวบูกิสจำนวนมากกลายเป็นผู้ลี้ภัยโพ้นทะเล พลัดถิ่นไปมะละกา ยะโฮร์ ซูลู มินดาเนา ขณะที่ส่วนหนึ่งอพยพมายังอยุธยา กระทั่งต่อมาก่อกบฏในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และถูกปราบปรามในที่สุด
เข้ากรุงรัตนโกสินทร์ ชาวบูกิสที่อพยพหนีภัยจากการปราบปราบของดัตช์ที่ “มากัสซาร์” ในปี 1905 (พ.ศ. 2448 ปลายรัชสมัยรัชกาลที่ 5) ก็เข้ามาในสยาม และได้รับอนุญาตให้ตั้งถิ่นฐานบริเวณชานเมืองฝั่งตะวันออกของบางกอก
หมู่บ้านของชาวบูกิสมีหนองบึงที่มียุงชุกชุม เป็นบ่อเกิดของไข้เลือดออก และเป็นแหล่งรองรับน้ำท่วมที่ตั้งอยู่ระหว่างคลองสามเสนและคลองแสนแสบ เรียกกันว่า “บึงมักกะสัน”
ด้วยการพัฒนาเมืองและโครงสร้างคมนาคม ทำให้ปัจจุบันพื้นที่บริเวณนี้ไม่ถือว่าเป็นชานเมืองเหมือนเมื่อร้อยกว่าปีก่อนอีกต่อไป
อ่านเพิ่มเติม :
- “กบฏต่างชาติ” ในกรุงศรีอยุธยา แขก-ญี่ปุ่น บุกรุกถึงวังหลวง!
- ชื่อ “ถนน” ที่ไม่ใช่แค่ชื่อ แต่สื่อถึงความสัมพันธ์ทางสังคมในวัฒนธรรมไทย
อ้างอิง :
แวน รอย, เอ็ดวาร์ด. ยุกติ มุกดาวิจิตร (แปล). ก่อร่างเป็นบางกอก Siamese Melting Pot. กรุงเทพฯ : มติชน, 2565.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2567