ชื่อ “ถนน” ที่ไม่ใช่แค่ชื่อ แต่สื่อถึงความสัมพันธ์ทางสังคมในวัฒนธรรมไทย

ถนนข้าวสาร คนข้ามถนน ร้านค้า
ปากทางถนนข้าวสาร

ชื่อถนน และการตั้งชื่อถนน ในกรุงเทพฯ (และว่าตามจริงก็มีเป็นเช่นนี้ในพื้นที่อื่น) มีธรรมเนียมปฏิบัติการตั้งชื่อเช่นเดียวกับบุคคล, สิ่งของ และสถานที่ โดยตั้งชื่อเพื่อบอกความเป็นชุมชน, ความเป็นมงคล, อ้างอิง/ยืมชื่อบุคคลอื่น, ระลึกเหตุการณ์สำคัญ ฯลฯ ที่เกี่ยวข้องกับถนนสายนั้น หรือประเทศในเวลานั้น

สำหรับ ชื่อถนน ในงานวิจัยของปนิตา จิตมุ่ง ที่เสนอไว้ พอสรุปได้ว่า ที่มาและความหมายของชื่อถนนในกรุงเทพฯ แบ่งออกเป็น 7 ประเภท ดังนี้

Advertisement

1. มาจากสถานที่หรือสภาพแวดล้อมถนน

เช่น ถนนคอนแวนต์-โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนแวนต์, ถนนดินแดง-แรกสร้างด้วยดินลูกรัง ที่มีสีส้มอมแดง เมื่อรถวิ่งผ่านก็จะมีฝุ่นสีแดงฝุ้งกระจาย, ถนนทางรถไฟสายปากน้ำเก่า-เดิมเป็นทางเดินรถไฟสายปากน้ำ ฯลฯ

2. มาจากความหมายของชื่อ นามสกุล และราชทินนาม 

เช่น ถนนจรัญสนิทวงศ์-ม.ล. จรัญ สนิทวงศ์ อดีตปลัดกระทรวงคมนาคม, ถนนสมเด็จเจ้าพระยา-ถนนตัดผ่านที่พำนักของสมเด็จเจ้าพระยา 4 คน คือ 1. สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ 2. สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ 3. สมเด็จเจ้าพระยามหาประยุรวงศ์ 4. สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก, ถนนอำนวยสงคราม-พันโท หลวงอำนวยสงคราม (ถม เกษะโกมล) อดีตนายทหารผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 8 เสียชีวิตในการปราบกบฏบวรเดช, ถนนสาธุประดิษฐ์-นามสกุล นายต่วน สาธุ ผู้บริจาค/ซื้อที่ดินในการตัดถนน ฯลฯ

3. มาจากเรื่องความเป็นสิริมงคล

เช่น ถนนจรัสเวียง, ถนนจารุเมือง, ถนนเจริญเมือง-ถนนยุคแรกที่ รัชกาลที่ 6 พระราชทานชื่อถนน ใน พ.ศ. 2467 โดยคำว่า จรัส จารุ และเจริญ ล้วนมีความหมายว่า งอกงาม รุ่งเรือง, ถนนประชาชื่น, ถนนเพลินจิต-พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ โปรดประทานชื่อให้เพราะเป็นถนนที่ใกล้กับวังที่ประทับ, ถนนมหาเศรษฐ์-เขตบางรักเสนอชื่อต่อกรุงเทพมหานคร หมายความว่า ถนนของผู้มีทรัพย์ ฯลฯ

4. มาจากเหตุการณ์สำคัญ

เช่น ถนนเชียงใหม่, ถนนท่าดินแดง และถนนลาดหญ้า-สมรภูมิในสมัยกรุงธนบุรีและต้นกรุงรัตนโกสินทร์, ถนนไมตรีจิตต์, ถนนสันติภาพ, ถนนมิตรพันธุ์-เพื่อระลึกถึงมิตรไมตรีที่ไทยกับฝ่ายพันธมิตรร่วมรบด้วยกันในสงครามโลกครั้งที่ 1, ถนนกาญจนาภิเษก-เฉลิมพระเกียรติ รัชกาลที่ 9 ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ใน พ.ศ. 2539, ถนนเสรีไทย-สดุดีขบวนการเสรีไทยในวาระครบรอบ 56 ปี

5. มาจากอาชีพของคนในชุมชนที่ถนนตัดผ่าน

เช่น ถนนข้าวสาร-รัชกาลที่ 5 พระราชทานชื่อ เดิมเป็นแหล่งค้าขายข้าวสารที่ใหญ่ที่สุดของพระนคร, ถนนตีทอง-ชุมชนทำอาชีพทำทองคำเปลว ที่ทำจากการตีทองคำจนบาง ฯลฯ

6. มาจากสิ่งของเครื่องใช้

เช่น ถนนเขียวไข่กา-ชื่อพระราชทานจากรัชกาลที่ 5 ตามชื่อเครื่องถ้วยจีนเคลือบสีเขียวหม่นเหมือนหยก, ถนนบรรทัดทอง-เรียกเพี้ยนมาจากชื่อเครื่องลายครามภาพต้นประทัดทอง ฯลฯ

7. มาจากชาติพันธุ์ของชุมชนในบริเวณนั้น

เช่น ถนนตานี-เป็นชุมชนของผู้ที่อพยพมาจากปัตตานีและชวามาอยู่กรุงเทพฯ หลายครั้งด้วยกัน, ถนนนิคมมักกะสัน-ชาวมุสลิมที่อพยพเข้ามาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา คนไทยเรียกมุสลิมกลุ่มนี้ว่า “แขกมักกะสัน” ฯลฯ

กรุงเทพฯ มีถนนหลายสาย ท่านผู้อ่านผ่านไปทางไหนก็ลองสันนิษฐานกันดูว่า ชื่อถนนเส้นตรงหน้ามีที่มาจากอะไร หรือบอกอะไร ระหว่างรถติดคงคิดได้ไปหลายสาย หรืออาจคิดจนมืดเพราะกรุงเทพฯ รถติดเหลือเกิน

อ่านเพิ่มเติม :


สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : บทความนี้เขียนเก็บความจาก ปนิตา จิตมุ่ง. การตั้งชื่อถนนในกรุงเทพมหานคร. วิทยานิพนธ์หลักสูตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาภาษาไทย ภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. ปีการศึกษา 2554.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 มีนาคม 2566