ย้อนดูสาเหตุ และวิธีแก้ไข ยุคบุกเบิกโรงภาพยนตร์เมืองไทย ทำไมคนดูถึง “อ้วกแตก” 

หนัง โรงภาพยนตร์
ชาร์ลี แชปลิน ดารานำในภาพยนตร์ยุคแรก ๆ ที่เป็น ภาพยนตร์เงียบ ที่ฉายในโรงภาพยนตร์ และวิกหนังต่างๆ (ภาพจาก Wikimedia Commons)

“ภาพยนตร์” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน อธิบายว่า “ภาพฉายด้วยเครื่องทำให้เห็นเป็นภาพเคลื่อนไหวได้, หนังฉาย.” แต่เรามักเรียกกันว่า “หนัง” มากกว่า โดยเริ่มการรับชมจาก “โรงภาพยนตร์” ชั่วคราว ที่เรียกว่า “วิก” พัฒนาเป็นแบบถาวร จนถึงการรับชมผ่านจอทีวี และผ่านมือถือในปัจจุบัน

แต่ไม่ว่าจะเป็นช่องทางใด สำหรับผู้ชม/คนดู มันเป็นความบันเทิง เป็นการพักผ่อนหย่อนใจ จากชีวิตประจำวันที่เร่งรีบ, กดดัน, น่าเบื่อ ฯลฯ ไปหาความสนุกสนานเพลิดเพลิน แม้ภาพยนตร์ หรือหนังบางเรื่องจะดราม่ากว่าชีวิตจริงก็ตาม

แต่ทำไมผู้ชม ใน “โรงภาพยนตร์” ยุคบุกเบิกของไทยถึง “อ้วกแตก” 

เรื่องนี้ สมชาย พุ่มสอาด เรียบเรียงไว้ในหนังสือ “ภาพยนตร์ในเมืองไทย” ที่สมาคมโรงภาพยนตร์ จัดพิมพ์ขึ้น เนื่องในงานฌาปนกิจศพ นายพิสิฐ ตันสัจจา (ซึ่งเป็นกรรมการ และสมาชิกของสมาคม) ณ สุสานหลวง วัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 18 ธันวาคม 2514 ที่เล่าว่า

เมื่อประมาณ พ.ศ. 2447-2448 มีการฉายภาพยนตร์เป็นครั้งแรกในไทย ภาพยนตร์ที่ฉายเป็นการนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น เนื้อหาจึงเป็นการแสดงแสนยานุภาพของญี่ปุ่น จัดฉายที่ “โรงภาพยนตร์” ชั่วคราว แถวเวิ้งนครเขษม ด้วยการล้อมผ้าเก็บค่าเข้าชมคนละ 25 สตางค์

หากภาพยนตร์ช่วงแรกเป็น “ภาพยนตร์เงียบ” และไม่มีการพากย์ จะมีบ้างก็การทำเสียงประกอบภาพยนตร์บางอย่าง เช่น เอากะลามาโขกกันให้เสียงดัง ที่ฟังดูคล้ายม้าวิ่ง, ใช้ทรายสาดลงบนแผ่นสังกะสี แทนเสียงเรือกำลังถูกคลื่นในทะลซัด ฯลฯ

แต่ที่เหนือความคาดหมายคือ การดู “ภาพยนตร์” เพื่อหวังพักผ่อน กลับให้ผลตรงกันข้าม ซึ่งสมชาย พุ่มสอาด บันทึกไว้ว่า

“การฉายภาพยนตร์ครั้งนั้นปรากฏว่ามีคนไทยและชาวต่างประเทศ แตกตื่นเข้าไปชมกันอย่างหนาแน่น เพราะเป็นของใหม่แปลกสำหรับคนไทยในยุคนั้น…

…ผู้ชมส่วนมากบ่นอุบอิบไปตามๆ กันว่า ดูภาพยนตร์เงียบมากๆ แล้วมักเกิดอาการวิงเวียน และปวดศีรษะ บางคนถึงกับอาเจียนก็มี…”

เหตุที่เป็นเช่นนั้น สมชายอธิบายไว้ว่า

“…การชมหนังชนิดนั้น [ภาพยนตร์เงียบ] นานๆ อาจเกิดความตึงเครียดง่าย เพราะว่าไม่มีเสียงเพลงและเสียงพากย์ ซึ่งผู้ชมจะต้องคอยติดตามเรื่องตลอดเวลา”

กว่าจะมีภาพยนตร์มีเสียงเรื่องแรกเกิดขึ้นก็เมื่อ พ.ศ. 2474 ก่อนหน้านั้นเจ้าของ “โรงภาพยนตร์” คิดหาทางช่วยผ่อนคลายอารมณ์ของผู้ชม ด้วยการหา “ลิเก” มาเล่นสลับฉากบ้าง

การแก้ปัญหาเช่นนี้ ช่วยบรรเทาอาการวิงเวียนจนถึงกับอาเจียนของผู้ชมอย่างไร ไม่ทราบได้ ด้วยสมชายกล่าวไว้เพียงว่า

“…ผู้ที่นำมาฉายจึงได้คิดหาทางช่วยผ่อนคลายอารมณ์ของผู้ชมไปในตัว…ทางเจ้าของโรงภาพยนตร์ผู้ฉายจึงได้หาลิเกมาเล่นสลับฉากบ้าง ก็เป็นที่นิยมของผู้ชมบ้างตามสมควร เพราะลิเกเป็นมหรสพในสมัยนั้น จะขาดเสียมิได้เลยทีเดียว”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2567