ทำไมในอดีตถึงเรียกเหล่าเจ้านายผู้หญิงว่า “เจ้าครอก” ?

สตรี เจ้าครอก ในราชสำนัก จิตรกรรมฝาผนัง วัดเวฬุราชิน
ภาพเขียนสตรีในราชสำนัก จากจิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถวัดเวฬุราชิณ

“เจ้าครอก” เป็นอีกสรรพนามหนึ่งที่มักได้ยินในการเรียกเจ้านายผู้หญิงหลายพระองค์ เช่น เจ้าครอกวัดโพธิ์ พระน้องนางเธอต่างพระชนนี ในรัชกาลที่ 1, เจ้าครอกฟ้าศรีอโนชา พระอัครชายาเธอในสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท, เจ้าครอกทองอยู่ พระอัครชายาในสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมพระอนุรักษ์เทเวศร์ เป็นต้น 

ทว่าเมื่อมาถึงยุคปัจจุบัน เจ้าครอกกลับกลายเป็นคำที่ค่อนข้างไม่คุ้นหู เนื่องจากปัจจุบันมักใช้คำว่า “ครอก” กับสัตว์ ดังปรากฏในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ที่ให้ความหมายคำว่า “ครอก” ว่า ลูกสัตว์หลายตัวที่เกิดพร้อมกันคราวเดียว” รวมทั้งยังมีคำด่าว่า “ขี้ครอก” ที่ใช้เรียกผู้มีฐานะต่ำต้อยกว่าครอกหรือทาส เป็นต้น

แล้วทำไมอดีตถึงเรียกเจ้านายว่า “เจ้าครอก” ?

คำว่าเจ้าครอก เป็นคำในเชิงบวก ไม่ใช่คำดูถูกแต่อย่างใด ทั้งยังเอาไว้เรียกเจ้านายฝ่ายหญิงบางองค์ ซึ่งสะท้อนถึงความพิเศษบางอย่างใน 2 กรณี

กรณีแรก เอาไว้เรียกเจ้านายฝ่ายหญิงที่มีเชื้อสายเจ้าโดยกำเนิด ไม่ได้มีปูมหลังเป็นสามัญชน ส่วนอย่างที่ 2 มักเอาไว้เรียกเจ้านายฝ่ายหญิงที่น่าจะมีกองทัพเป็นของตนเอง 

สมัยนั้นเจ้านายที่ได้รับการเรียกขานว่าเจ้าครอก ก็มีมากมาย เช่น เจ้าครอกฟ้าศรีอโนชา, เจ้าครอกวัดโพธิ์, เจ้าครอกชี เป็นต้น แต่เมื่อวันเวลาผ่านไปผู้คนก็ไม่ค่อยนิยมเรียกเจ้านายว่า “เจ้าครอก” และเปลี่ยนเป็นคำอื่น เช่น “เสด็จ” แทน 

อย่างไรก็ดี ใน พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ได้อธิบายคำว่าเจ้าครอก ว่า ไม่ได้ใช้เรียกเจ้านายผู้หญิงเท่านั้น แต่ยังสามารถเรียกพระราชโอรสชั้นเจ้าฟ้าได้อีกด้วย ดังนี้

“เจ้าโดยกำเนิดหรือที่สถาปนาขึ้น, เรียกพระราชโอรสและพระราชธิดาชั้นเจ้าฟ้า ว่า เจ้าครอกฟ้า, เรียกพระองค์เจ้า ว่าเจ้าครอก, และเรียกหม่อมเจ้า ว่า ครอก.”

ส่วนเหตุที่ทำให้นำคำว่า “ครอก” มาต่อกับ “เจ้า” จนเกิดคำใหม่นี้ ยังคงไม่เป็นที่แน่ชัดและต้องหาคำตอบกันต่อไป…

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

https://www.matichonweekly.com/column/article_115059

https://www.silpa-mag.com/history/article_35513

https://dictionary.orst.go.th/

https://vajirayana.org/พระประวัติตรัสเล่า/๒-คราวเปนพระทารก


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 12 มกราคม 2567