รู้จัก “ศิลาแลง” หรือแม่รัง เกี่ยวข้องอย่างไรกับ “ลูกรัง” ที่เป็นถนน!?

ศิลาแลง แม่รัง ลูกรัง
ศิลาแลง (ภาพจาก มติชนออนไลน์, 27 ตุลาคม 2561)

“ศิลาแลง” เป็นที่รู้จักในฐานะวัสดุสำคัญในการก่อสร้างเมื่อครั้งอดีต โดยมีอีกชื่อคือ “แม่รัง” ขณะที่ “ลูกรัง” ซึ่งเป็นส่วนที่เอาไปปูทำถนนก็มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันกับศิลาแลงด้วย

ศิลาแลง (Laterite) แม้จะเรียกว่า “ศิลา” (หิน) แต่สิ่งนี้ไม่ใช่หิน หากเป็นดินที่มีความแข็งแรงระดับหนึ่ง คือแข็งแรงใกล้เคียงกับหิน แต่ก็ไม่แข็งเท่าหิน โดยเกิดจากกระบวนการผุพังของหินมีเนื้อเป็นดิน

โดยทั่วไปศิลาแลงถือเป็นดินส่วนบน คืออยู่ใต้หน้าดินเพียงเล็กน้อย ถ้าอยู่ใต้ดินจะมีสีส้มอิฐ และมีเนื้อนิ่มพอให้สามารถตัดได้ แต่เมื่อโดนอากาศ (ออกซิเจน) ความแห้ง แดด ลม ความชื้น หรือฝน สลับกันอย่างต่อเนื่อง จะทำให้ศิลาแลงแข็งตัว คือแข็งแล้วแข็งเลย ไม่กลับไปอ่อนอีก ขณะเดียวกันสีก็จะค่อย ๆ เข้มขึ้นเป็นสีอิฐเผา น้ำตาล ไปจนถึงสีดำ

ด้วยคุณสมบัติดังกล่าว คนโบราณจึงเรียนรู้ที่จะนำศิลาแลงมาสร้างสิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่อย่างวัด เทวาลัย ปราสาท เพราะมีความคงทน แข็งแรง ทั้งพบได้ทั่วไปในเขตร้อนทั่วโลก (มีการประเมินว่า 15% ของพื้นผิวโลกเป็นศิลาแลง) รวมถึงภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดังพบร่องรอยโบราณสถานทั้งในไทย กัมพูชา ลาว ซึ่งมีอายุสืบย้อนไม่ต่ำกว่า 700-1,000 ปี ทำจากวัสดุอย่างศิลาแลงด้วยเช่นกัน เช่น ปราสาทสด๊กก๊อกธม, ปราสาทบายน, ปราสาทวัดพู ฯลฯ

แต่เนื่องจากภายในศิลาแลงมีแร่เหล็กผสมอยู่ ทำให้มีเนื้อไม่ละเอียด เป็นปรุ เป็นรู เหมือนไม้ที่ถูกเพรียงกิน โดยทั่วไปจึงไม่นิยมนำมาแกะสลักสำหรับอาคารเนื่องในศาสนา แต่จะทำเป็นฐานหรือโครงสร้างหลักของตัวอาคารมากกว่า

การสร้างสิ่งปลูกสร้างโดยใช้ศิลาแลงเป็นที่นิยมมากในวัฒนธรรมเขมรแห่งลุ่มน้ำโตนเลสาบ โดยเฉพาะในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ศิลาแลงจำนวนมหาศาลถูกตัดมาสร้างพุทธสถานทั่วอาณาจักรของพระองค์ กอปรกับพระราชนิยมของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ที่ครองราชย์เมื่อมีพระชนม์มากแล้ว จึงมีพระราชประสงค์สร้างสิ่งก่อสร้างเนื่องในพระศาสนาให้มากเท่าที่จะมากได้ ทำให้ศิลาแลงกลายเป็นองค์ประกอบสำคัญของอโรคยาศาลและธรรมศาลา เพราะหาได้ง่ายกว่าการสกัดหินทราย

อย่างไรก็ตาม ศิลาแลงถือเป็นของแปลกใหม่ของชาวตะวันตก เพราะพวกเขาอยู่ในเขตอบอุ่นและเขตหนาว จึงเพิ่งมารู้จักศิลาแลงจากอาคารในอินเดียและคาบสมุทรมลายูช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18-19 นี่เอง และเรียกวัสดุก่อสร้างที่พวกเขาไม่คุ้นเคยนี้ว่า Brick-Red Rock หรือ “หินสีแดงอิฐ” ก่อนเป็น Laterite โดยมาจากภาษาละตินว่า “Later” ที่แปลว่า อิฐ

ใต้ชั้นดินศิลาแลง จะมีชั้นดินเหนียวสีเทา-ขาว มีจุดประสีแดง ส้ม เรียกว่า “ลูกรัง” (Laterite soil) ล้อไปกับชั้นศิลาแลงที่เรียกว่า “แม่รัง” โดยลูกรังจะมีความร่วน เป็นเม็ด ๆ คล้ายกรวด ไม่เป็นแผ่นต่อเนื่องเป็นพืด ดินลูกรังจึงเป็นผลผลิตจากบ่อดินที่มีการขุดตัดศิลาแลง และส่วนนี้เองที่ถูกนำมาใช้ทำถนน

เห็นได้ชัดว่าทุกวันนี้เรารู้จัก “ลูกรัง” มากกว่า “แม่รัง” หรือศิลาแลง เพราะ “ทางลูกรัง” ยังมีอยู่และพบได้ทั่วไป ต่อให้วันหนึ่งประเทศไทยมีรถไฟความเร็วสูง ก็ใช่ว่าถนนลูกรังจะหมดไป (ฮา)

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

http://www.silalang.com/webboard/viewtopic/1

https://www.dmr.go.th/หินศิลาแลงทำไมถึงแข็งตัว-มันทำปฏิกิริยาอย่างไร/

https://www.scimath.org/image-earthscience/item/11255-2020-01-03-01-34-26


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 มกราคม 2567