สัมภาษณ์ “ศัลยา สุขะนิวัตติ์” เผยเบื้องหลังบทละคร “พรหมลิขิต” เป็น ซอฟต์พาวเวอร์ ได้ไหม?

ละคร พรหมลิขิต
ละครพรหมลิขิต (ภาพจาก Facebook : Ch3Thailand

ศัลยา สุขะนิวัตติ์ คือนักเขียนบทละครชั้นครู ที่ฝากผลงานมาแล้วมากมาย โดยเฉพาะละครอิงประวัติศาสตร์ที่แต่ละเรื่องล้วนได้รับความนิยมทั้งสิ้น อาทิ คู่กรรม สายโลหิต รากนครา นางทาส คือหัตถาครองพิภพ รัตนโกสินทร์ บุพเพสันนิวาส และล่าสุดคือ พรหมลิขิต ที่ออกอากาศตั้งแต่ วันที่ 18 ตุลาคม ถึง วันที่ 18 ธันวาคม 2566 ละครเรื่องนี้สร้างปรากฏการณ์ฮือฮา โดยเฉพาะในห้วงเวลาที่ซอฟต์พาวเวอร์เป็นคำที่กำลังมาแรง

แล้วในมุมของศัลยาละครอิงประวัติศาสตร์อย่าง พรหมลิขิต ถือเป็นซอฟต์พาวเวอร์ได้ไหม?

  • ละครอิงประวัติศาสตร์ในนิยามของอาจารย์ควรเป็นอย่างไร

ละครอิงประวัติศาสตร์ คือ ละครที่อิงหรือผูกเรื่องให้ส่วนเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ ทำให้เกิดเรื่องราวที่มีประวัติศาสตร์ ซึ่งอาจจะเป็นฉากหลัง เป็นเหตุการณ์ หรือเป็นบุคคลที่อยู่ในเหตุการณ์จริง ส่วนตรงนั้นเขาเรียกว่า Non Fiction เป็นเรื่องจริงส่วนละครเป็นส่วนที่เรียกว่า Fiction เป็นส่วนที่จินตนาการขึ้นมา

ซึ่งเราไม่รู้ว่าเป็นจริงหรือเปล่า แต่มันก็เป็นเหตุการณ์ที่เชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์จริง ๆ ได้ ด้วยเหตุผลที่คนทั่วไปยอมรับได้ เช่น เหตุการณ์ข้าศึกพยายามตีสุพรรณบุรี มีทหารข้าศึกมาหลงรักผู้หญิงไทย เช่น ใน เลือดสุพรรณ มังรายมาหลงรักดวงจันทร์ ซึ่งเหตุการณ์จริงคือการทำสงครามระหว่างอยุธยากับข้าศึกหรือ คู่กรรม ที่โกโบริมาหลงรักอังศุมาลิน ที่เป็นเหตุการณ์สมมติในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองที่เป็นเหตุการณ์จริง ขึ้นอยู่กับว่าอิงประวัติศาสตร์จะทำให้เนื้อหาลึกแค่ไหน หรือผิวเผินก็ได้ จะทำให้ทหารข้าศึกมาหลงรักกับชาวบ้าน Fiction มันไม่ยาก มันคิดไปง่าย ๆ หรือไม่ก็ทำให้ลึกซึ้งถึงขนาดที่ว่าตัวละครเข้าไปร่วมในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ เช่น ขุนไกรในสายโลหิต ที่เป็นทหารร่วมรบในศึกคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง เป็นต้น

  • ละครอิงประวัติศาสตร์คือส่วนผสมระหว่างเรื่องที่แต่งขึ้นผสานกับเรื่องจริงทางประวัติศาสตร์ โดยมีเหตุผลมารองรับให้คนทั่วไปที่ผู้รับชมสามารถเข้าใจได้

อย่างไรก็ตาม มีละครบางเรื่องเป็น Fiction ที่เล่าเรื่องในอดีตแต่ไม่อ้างอิงถึงใครเลย ไม่ได้อ้างอิงถึงบุคคลที่มีอยู่ในประวัติศาสตร์จริง ไม่ได้อ้างอิงถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ แต่ช่วงเวลาเป็นเรื่องย้อนอดีต ละครประเภทนี้ไม่ต้องอ้างอิงข้อมูลจริง

ตัวอย่างเช่น การพูดถึงตำแหน่งข้าราชการสมัยก่อนที่มีราชทินนามแน่นอน แต่ละครประเภทหลังนี้เกิดจากการสมมติขึ้นมาใหม่ ไม่มีตำแหน่งนี้อยู่ในระบบบริหารราชการแผ่นดินของสมัยก่อนเลย เช่น เรื่อง ภาพอาถรรพ์ มีตัวละครตำแหน่งเจ้าคุณสิงหมนตรี ซึ่งไม่มีตำแหน่งนี้ในสมัยรัชกาลที่ 5 อย่างนี้ถ้านำมาทำละครถือว่าง่ายหน่อย เพราะแค่บอกว่าอยู่ในสมัยนั้นเท่านั้นเอง ไม่มีอะไรที่บอกถึงเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์จริง

  • พรหมลิขิตนับเป็นละครอิงประวัติศาสตร์ได้หรือไม่

นับว่าเป็นละครอิงประวัติศาสตร์ได้ เพราะอ้างอิงเหตุการณ์จริงทางประวัติศาสตร์ เช่น เหตุการณ์คิดไม่ซื่อของเจ้าพระองค์ดำในรัชกาลพระเจ้าท้ายสระ เหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการออกกฎหมายปลาตะเพียน เรื่องราวเกี่ยวข้องกับกษัตริย์ที่มีพระองค์จริงอย่าง พระเจ้าท้ายสระ มีตัวละครที่มีตัวตนอยู่จริงอีกหลายคน รวมไปถึงเหล่ามหาดเล็กในเรื่องก็มีตัวตนจริง นอกจากนี้ยังมีเหตุการณ์ขุนหลวงท้ายสระเสด็จทางชลมารคผ่านคลองโคกขามซึ่งเกิดขึ้นจริง

เหตุการณ์จริง ๆ ที่เสด็จพระราชดำเนินไปพระพุทธบาทไม่มีในละครและนวนิยาย มีการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดมเหยงคณ์ ซึ่งเรื่องนี้มีอยู่ที่นวนิยายเขียนถึง แต่ครูไม่ได้เขียนลงไปในบทละคร เพราะช่วงเวลาจริง ๆ ตามเนื้อหาในละครไม่ถึง เหตุการณ์จริงในนวนิยาย คือ การรบกับอาณาจักรด้านตะวันออก ซึ่งครูจะบอกไว้ตรงนี้ว่าครูจงใจที่จะตัดออกไป ตามหลักฐานมีเจ้านายเชื้อพระวงศ์จากอาณาจักรนี้มาพึ่งพระบรมโพธิสมภารของขุนหลวงท้ายสระ ขุนหลวงถึงกับส่งกองทัพไปช่วยรบ ส่วนนี้ครูตัดไปเพราะครูกังวลเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และเหตุการณ์นี้ไม่ได้มีผลต่อเหตุการณ์บ้านเมืองในยุคสมัยนั้นเท่าไร ครูจึงตัดออก

ละคร พรหมลิขิต ฉาก พระเพทราชา ครองราชย์ พิธีบรมราชาภิเษก กษัตริย์ อยุธยา ราชวงศ์บ้านพลูหลวง
“พระเพทราชา” รับบทโดย ศรุต วิจิตรานนท์ ภาพจากละครเรื่องพรหมลิขิต ออกอากาศทางช่อง 3 เมื่อ 18 ตุลาคม 2566 (ภาพจาก Facebook : Ch3Thailand)
  • อาจารย์ได้รับโจทย์จากผู้ผลิตละครมาอย่างไร ในการดัดแปลงนวนิยายเป็นบทละครโทรทัศน์

ไม่มีละครเรื่องใดที่จะเหมือนนวนิยายแบบเป๊ะ ๆ เพราะละครเป็นการเล่าเรื่องด้วยภาพที่เรียงร้อยกันเป็นฉาก ต้องหาเหตุผลเชื่อมโยงให้มันมีที่มาที่ไป ที่สำคัญที่ต้องชี้แจง คือ ครูต้องเล่าเรื่องด้วยบทพูด ตัวละครทุกคนต้องพูดและพูด ไม่มีการอ่านหรือบรรยาย การแปลงพรรณาโวหารในนวนิยายเป็นบทสนทนาไม่ใช่เรื่องง่าย

ถ้าพูดถึงผู้จัดละครคนนี้ คือ คุณหน่อง (อรุโณชา ภาณุพันธุ์) เรามีความไว้เนื้อเชื่อใจ ครูจะเขียนอะไร เขาจะทำตามนั้นทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นฉากที่ยิ่งใหญ่อลังการ มีทุนสร้างสูงเท่าไร ทางบรอดคาซท์ก็จะทำ และคุณหน่องเองก็เชื่อใจครูว่าครูจะไม่ทำละครของเขาให้เสียหาย ครูจะพยายามรักษาความดีงามของนวนิยายเอาไว้ทุกอย่าง จะไม่พยายามเบี่ยงเบนจากบทประพันธ์ ไม่มีความจำเป็นจริง ๆ (อาจารย์ศัลยา ย้ำเรื่องนี้มากผู้สัมภาษณ์)

ครูเป็นคนที่เคารพบทประพันธ์มาก ครูรู้ว่านักประพันธ์นวนิยายทุกคนก็ต้องการให้งานตนถ่ายทอดไปอย่างครบถ้วน แต่วิถีของการเขียนนวนิยายกับการเขียนบทละครโทรทัศน์ไม่เหมือนกัน การนำเสนอก็ไม่เหมือนกัน การเสพก็ไม่เหมือนกัน คนรับชมโทรทัศน์มีเท่าไร และพวกเขาก็พร้อมจะผละจากหน้าจอทีวี ถ้าไม่ถูกใจเขา ครูต้องเขียนให้สนุกเร้าใจให้เขาดูนานเท่าที่จะนานได้ เหตุนี้ครูจึงต้องคิดให้หนัก คุณอรุโณชาเชื่อว่าครูจะไม่หย่อนกำลังเขียน ต่างคนต่างเชื่อใจกัน

ฉะนั้นงานที่ออกมาจึงประสานกันได้อย่างสมบูรณ์ คำตอบของครู คือ ไม่มีคำสั่งใด ๆ มาสั่งครูว่าต้องทำอย่างนั้น ต้องทำอย่างนี้ ต้องเขียนบทเพื่ออวยคนนั้นคนนี้รับรองว่าไม่มี

  • แสดงว่าสร้างเรื่องราวต่าง ในละครผ่านการคิดมาแล้วว่าจะเล่าเรื่องอย่างไร

ถูกต้อง ถ้าถามมาเป็นฉาก ๆ ครูตอบได้เลยว่าเขียนอะไรบ้าง มีเหตุผลอะไร เช่น ฉากนางเอกทำอาหาร ซึ่งมีอยู่ด้วยกันหลายฉาก เรารู้ว่าอาหารเป็นส่วนหนึ่งของละครเรื่องนี้ ตั้งแต่เรื่องบุพเพสันนิวาส ซึ่งการทำอาหารมีต้นเรื่องมาจากนวนิยายอยู่แล้ว ที่ให้นางเอกทำอาหารอะไรแปลก ๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี แน่นอนคนโบราณมันต้องมีเรื่องกิน เรื่องอยู่

พอมาถึงพรหมลิขิต อันนี้มันชัดเจนตรงที่ว่าพุดตานเขาเป็นคนชอบทำอาหาร กิจกรรมต่าง ๆ ในละครก็มีแบบนี้คือทำอาหาร ปลูกผัก แถมทำอาหารไปขายด้วย ทั้งจับฉ่าย แกงเขียวหวาน ก๋วยเตี๋ยวเรือ หรือตัวละครอื่นอย่างแม่หญิงแพรจีนที่ไปเรียนทำอาหารกับคุณหญิงการะเกด แล้วคุณหญิงการะเกดสอนหลายอย่าง ถ้าจำไม่ผิดนวนิยายไม่ระบุเลยว่าสอนทำอาหารอะไร

แต่ในละครต้องบอกว่าสอนทำอะไร มาทำส้มตำบ้างและอะไรหลาย ๆ อย่างที่ครูใส่ลงไป ทุกสิ่งมีที่มามาจากนวนิยายแล้วเรานำมาต่อยอด นั่นคือหน้าที่ของเขียนบทเราต้องเติมช่องโหว่ตรงนี้ให้เต็ม คนดูละครไม่สามารถจินตนาการเหมือนคนอ่านหนังสือ เพราะเป็นสื่อต่างชนิดกัน

  • นางกลิ่นและยายกุยออกมาแล้วหายไป

เริ่มจาก แม่กลิ่น ก่อน แม่กลิ่นนี้ เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดจากแม่กลิ่นมาจากนวนิยาย เริ่มจากแม่กลิ่นไปทำลายแปลงผัก แม่กลิ่นขโมยสร้อย แม่กลิ่นไปราวีตอนพุดตานไปจับปลา ไดอะล็อกของแม่กลิ่นเป็นสิ่งที่ต่อยอดมาจากนวนิยาย มีคนดูละครที่คิดว่าแม่กลิ่นน่าจะร้ายกับพุดตานคนเดียว มันไม่น่าจะร้ายกับคนอื่นด้วย

แต่ครูไม่เห็นว่านวนิยายเขียนถึงแม่กลิ่นทำดีกับบ่าวคนใดก็ตาม หรือดีแบบวิถีไหน ครูไม่เห็น ครูก็เขียนต่อยอดมาจากไดอะล็อกที่แม่กลิ่นพูดกับบ่าวที่แรง ๆ ก็มี แต่นี่ก็ไม่ใช่เหตุผลหลักที่ทำให้แม่กลิ่นมีนิสัยอย่างนั้น คุณต้องให้วิถีของการเขียนบทละครโทรทัศน์ทำงานบ้าง คือในละครเรื่องหนึ่งเมื่อมีคนดีประเสริฐ ก็ต้องมีคนไม่ดี เพื่อให้เกิดความขัดแย้งอันเป็นตัวกำหนดความสนุกของละคร คนไม่ดีคือแม่กลิ่น ไม่ใช่ตัวละครที่สร้างใหม่ตามใจชอบ แต่มีอยู่แล้ว นิสัยไม่ดีก็เป็นอยู่แล้ว ถ้าดูแอร์ไทม์ของแม่กลิ่นไม่มากมายสมกับแคสติ้งได้แม่กลิ่นคนนี้มาเล่น ครูต้องรับผิดชอบเขียนบทให้

แม่กลิ่นก็เป็นตัวละครหนึ่งที่เราเขียนให้มีบริบทแบบนั้น เมื่อยายกุย (ยายซึ่งมีศักดิ์เป็นญาติของแม่กลิ่น) เห็นคนอื่นดีกว่า ไปเข้าข้างคนอื่น มาพูดจาไม่ดีกับเราซึ่งเป็นหลานจึงเกิดอารมณ์เสีย แต่ก็เป็นไปได้ที่ครูเขียนตัวละครแม่กลิ่นซีกเดียวจนเกินไป อาจไม่มีซีกอื่นที่ทำให้ตัวละครตัวนี้มีความกลมขึ้นมา เป็นความผิดพลาดของครู

ตามนวนิยายช่วงกลางเรื่องถึงท้ายเรื่องแม่กลิ่นหายไปเลย จนกระทั่งตอนใกล้จบจึงมีเรื่องจมน้ำกับพุดตาน เมื่อรู้ความจริงก็รู้สึกผิด ปรับทุกข์กับนางเอก จบฉากยายกุยกับแม่กลิ่นตรงที่มาแสดงความยินดีกับนางเอกที่จะได้ถวายตัว ซึ่งอยู่ในตอนใกล้จบ ส่วนเรื่องยายกุยเจอเทวดาว่าให้เลี้ยงลูกเทวดา และเทวดาตอบแทนให้ร่ำรวยในนวนิยายไม่มีเป็นเรื่องเป็นราวรูปธรรม และไม่ได้เขียนบทสรุปให้จบอย่างสมบูรณ์ ส่วนนี้ครูไม่ได้เขียนเหมือนกัน

  • แครักเตอร์ของหมื่นริด?

พ่อเดช กับ หมื่นริด จะมีแครักเตอร์เหมือนกันไม่ได้ เพราะตัวละครประจันหน้ากันอยู่ตลอดเวลาเวลาอยู่กับนางเอกพุดตาน มันก็ต้องคนละแบบ จะเหมือนพ่อเดชก็ไม่ได้ ไม่ได้มีเหตุการณ์อะไรที่ให้หมื่นริดมองพุดตานเหมือนที่พ่อเดชมองเกศสุรางค์ อันนี้คือข้อแรก

ข้อที่สองครูวิเคราะห์ตัวละครหมื่นริดเพื่อที่จะออกแบบแครักเตอร์ตัวละครตัวนี้มีเขียนไว้ในนวนิยายอยู่สองสามที่ว่าเป็นคนขี้งอน เป็นคนที่ค่อนข้างหงุดหงิด มีความผันผวนทางอารมณ์พอสมควร ครูวิเคราะห์ว่าเพราะเป็นลูกชายที่พ่อแม่ตามใจ หรือก็เป็นลูกชายที่แม่เลี้ยงมาอย่างเปิดโอกาสให้แสดงความคิดอ่านได้ เพราะเกศสุรางค์เป็นคนสมัยใหม่ลูกบ้านนี้ก็ค่อนข้างเปิดกว้าง

ถ้าสังเกตตัวละครหมื่นริดทำงานเก่งเวลาขุนหลวงถามอะไร เขาจะเป็นคนออกหน้าเจรจาความออกความเห็น อย่างไรก็ตาม หมื่นริดเป็นคนอายุแค่ยี่สิบเป็นหนุ่มน้อย ไม่ประสีประสาเรื่องผู้หญิง ไม่มีว่าเคยชอบพอหรือกรุ้มกริ่มกับแม่หญิงคนใดเลย พอหมื่นริดมาเจอพุดตานหญิงสมัยใหม่ก็หวั่นไหวบ้างสิ ผู้ชายโบราณเกิดความหวั่นไหวกับผู้หญิงจริตแบบนี้ เพราะไม่เคยพบเจอ

ส่วนพุดตานเป็นผู้หญิงตัวคนเดียวมาอยู่กลางป่า มีแต่บ่าวไพร่ เมื่อเจอผู้ชายหนุ่ม ๆ มันเป็นธรรมชาตินางเอกคุยกับผู้ชายหนุ่ม ๆ คนเดียวต้องมีบ้าง ครูต้องเขียนให้ชุ่มชื่นใจเรื่องปฏิสัมพันธ์ระหว่างสองคนนี้ อย่างน้อยที่สุดก็เป็นความสัมพันธ์ที่ให้ความสุขแก่คนดูละคร จะให้เขาทั้งสองมายืนคุยกันเรียบร้อยนอบน้อมแล้วมันจะคุยกันได้ถึงไหน คุยแบบนี้กลับบ้านดีกว่า

ละคร พรหมลิขิต
ละครพรหมลิขิต (ภาพจาก Facebook : Ch3Thailand
  • หมื่นริดพระเอกของเราไม่ช่วยเหลือพุดตานเมื่อเจออุปสรรคปัญหาเท่าที่ควร

พ่อริดไม่ทำอะไรเลยเพื่อปกป้องพุดตานใช่ไหม? อย่างแรกถ้าจากนวนิยายหมื่นริดไม่มีอุปสรรคใด ๆ ได้พุดตานมาอย่างง่าย ๆ พอขุนหลวงทรงทราบเรื่องก็พระราชทานให้หมื่นริดเลย คุณหญิงจำปาไม่ได้มาขัดขวางมากมาย

มาอีกเรื่องหนึ่ง คือสองปมในละครคือ เมียพระราชทานและพุดตานถวายตัว ครูต้องสร้างปมตรงนี้ขึ้นมาให้ละคร ไม่เช่นนั้นละครจะเรียบร้อย ตัวละครเอกไม่มีอุปสรรค ไม่มีความขัดแย้ง ไม่มีอะไรให้เอาใจช่วย ครูไม่ได้บิดเบี้ยวนวนิยายหรือทำผิดกฎระเบียบกฎมณเฑียรบาล ทุกอย่างอยู่ในกรอบที่สามารถทำได้ ครูคิดอยู่นานเหมือนกันว่าจะสร้างปมอะไรดี เมื่อวางปมไปแล้วต้องแก้ปม

ตอนครูทำ ทีมผู้ผลิตถามตลอดว่าแก้ปัญหายังไงเรื่องใหญ่นะเนี่ย ขุนหลวงจะเอาพุดตานไปอยู่แล้วทีมผู้ผลิตว้าวุ่นเลยแหละ (หัวเราะ) การหาทางออกปมถวายตัวนี้เป็นไปตามตามแครักเตอร์ของตัวละคร ขุนหลวงท้ายสระ เราพบข้อมูลว่าท่านเป็นคนเรียบง่าย รักสงบ แครักเตอร์จริง ๆ ในประวัติศาสตร์เป็นอย่างไรเราก็ไม่รู้ชัดเจนนัก แต่ในบริบทของละคร ขุนหลวงพบกับพุดตานคุยกัน และออกโอษฐ์ว่าเพลิดเพลินกับการสนทนา ดังนั้น ปมถวายตัวจึงคลี่คลายได้ เพราะขุนหลวงฟังพุดตาน และเข้าใจเหตุผล กล่าวได้ว่า แครักเตอร์ของทั้งสองคน ทำให้เกิดปมและเป็นตัวคลี่คลายปมถวายตัวนั่นเอง

ส่วนพ่อริดที่ถูกวิจารณ์ว่าอ่อนแอ ขี้ขลาด ไม่ทำอะไร ยอมเสียพุดตานให้ขุนหลวงง่าย ๆ คนวิจารณ์คือคนสมัย พ.. 2566 แต่พ่อริดมหาดเล็กในพระองค์ขุนหลวงท้ายสระของแผ่นดินอยุธยาสามร้อยกว่าปีที่แล้ว ที่ครูกำลังสวมบทบาทของเขาอยู่ เขาไม่มีวันฝืนขนบธรรมเนียมประเพณี ไม่มีวันคัดค้าน ไม่มีวันต่อต้านแย่งชิง

ขุนหลวงรับสั่งว่าทำไมเอ็งไม่บอก ข้ารักเอ็งเหมือนน้องชาย มีหรือจะทำร้ายจิตใจเอ็ง แต่ในมุมพ่อริด การที่ขุนหลวงรักเหมือนน้องชายนี้แหละ ทำให้พ่อริดไม่มีวันพูดคำอื่นนอกจากคำว่าถ้าทรงโปรดก็จักถวายขณะนั้นครูเห็นพ่อริด ดังนั้น ครูก็พูดเป็นอื่นไม่ได้เหมือนกัน

  • หมู่สง โกษาจีน สะท้อนสังคมผัวเดียวแต่หลายเมีย?

เป็นตามสภาพสังคมสมัยนั้น ผู้ชายมีเมียหลายคน กันทั้งนั้น มีฉากหนึ่งในละครที่เกศสุรางค์ถามพ่อเดชว่าในอยุธยามีชายใดไม่มีเมียหรือไม่ พ่อเดชตอบว่าไม่มี เกศสุรางค์ก็เถียงว่ามันต้องมีสิ เพราะผู้หญิงและผู้ชายมีจำนวนเท่า กัน ถ้าผู้ชายคนหนึ่งมีเมียตั้งยี่สิบคน ผู้ชายอีกสิบเก้าคนจะหาเมียที่ไหนล่ะ

แล้วครูก็ให้เกศสุรางค์พูดว่านี้เป็นกฎทางวิทยาศาสตร์ อัตราการเกิดที่เขาเรียกว่า Sex ratio at birth การเกิดของชายต่อหญิงมีอัตราส่วนเกือบเท่า ๆ กัน จะเกิดจากอะไรไม่รู้ จะเคมีวิทยา สรีรวิทยา ธรรมชาติวิทยา หรืออะไรก็ตามจะมีผู้ชายเกิดประมาณหนึ่งร้อยห้าคนต่อผู้หญิงหนึ่งร้อยคน ผู้ชายผู้หญิงจะมีจำนวนเกือบเท่า ๆ กันตลอดมา แต่พอแก่ตัวลง ผู้ชายจะตายมากกว่าผู้หญิง

ถ้าเราไปดูสถิติผู้หญิงที่เป็นม่ายมีมากกว่าผู้ชาย เพราะผู้ชายตายไป แต่ก่อนถึงวัยเจริญพันธุ์ผู้ชายผู้หญิงมีจำนวนพอ ๆ กัน แล้วคิดดูผู้หญิงยี่สิบกว่าคนไปเป็นเมียผู้ชายคนเดียว ผู้ชายอีกเกือบยี่สิบกว่าคนจะหาผู้หญิงเป็นเมียจากที่ไหน

นวนิยายไม่มีเรื่องนี้ อันนี้เป็นความจริงด้านประชากรศาสตร์ มันอาจไม่สะท้อนตรงจุดนี้โดยตรง แต่สะท้อนกติกาทางสังคมสมัยก่อนที่เจ้าขุนมูลนาย คหบดีจะมีเมียกี่คนย่อมได้ เพราะผู้หญิงเต็มใจเป็นเมียเล็กเมียน้อยของคนพวกนี้ กติกาทางสังคมอีกอย่างที่ครูใส่ในละครพีเรียดเสมอ ๆ คือ ผู้ชายตบตีเมียได้ ขายเมียได้ ชายมีเมียอื่นไม่เป็นไร แต่ถ้าผู้หญิงมีคือตาย ทั้งถูกประจาน ถูกทุบตี ไล่ออกจากบ้าน นี่คือกฎเกณฑ์ที่ผู้ชายเป็นผู้กำหนด

  • การเขียนบทละครโทรทัศน์ พรหมลิขิต ใช้เอกสาร หลักฐานในการนำมาเสริมแต่งเรื่องเล่าในละคร เช่น พงศาวดาร หรือจดหมายเหตุจากต่างประเทศ มีหรือไม่

ครูอ่านเยอะมาก อ่านให้ซึมซับสภาพสังคมสมัยก่อนว่าเป็นอย่างไร และซึมซับว่าคนสมัยก่อนคิดอย่างไรครูอ่านเพื่อทำให้ตัวเองเหมือนกับคนอยุธยา ไม่ว่าจะคิดหรือเขียนไดอะล็อกอะไร ทุกอย่างให้เราเหมือนเป็นคนในสมัยนั้น

แน่นอนไดอะล็อกที่ครูเขียนไปอาจจะไม่ใช่อยุธยาจริง ๆ หรอก แต่ต้องทำให้ไดอะล็อกไม่เหมือนคนปัจจุบัน ให้มีความรู้สึกว่าคนสมัยก่อนพูดกัน ครูต้องอ่านความรู้สึกนึกคิดคนสมัยก่อน ครูต้องเขียนแบบให้สมองหมุนกลับเป็นทั้งคนสมัยนี้และคนสมัยนั้น ครูต้องซึมซับบริบททั้งหมดของฉากนั้น

เช่น หมื่นริดจะคุยกับพุดตาน หมื่นริดเป็นคนสมัยอยุธยา วัยเท่านี้ เป็นหนุ่มน้อยเป็นผู้ชายโบราณ ไม่เคยเจอผู้หญิงแบบพุดตาน ฟังคำพูดแบบนี้ไม่รู้เรื่อง แล้วก็จะซื่อตรง เช่นนางเอกมองบนหมื่นริดไม่เข้าใจว่ามีอะไรอยู่ข้างบน หรือพุดตานพูดแล้วบ่นเจ็บคอพ่อริดจะพาไปกวาดคอ ฉะนั้นเวลาพุดตานพูดว่าเจ็บคอ ครูต้องกลับมาเป็นหมื่นริดแล้วพูดว่าเจ็บคอก็ต้องไปกวาดคอ ครูจะให้หมื่นริดพูดอย่างอื่นไม่ได้ พระเอกจะนึกว่านางเอกพูดประชดไม่ได้ เพราะเขาเป็นคนสมัยนั้นเขาไม่รู้จริงๆ

ครูอ่านหนังสือหลักฐานต่าง ๆ ครูอ่านเพื่อซึมซับความเป็นตัวละครแต่ละตัว เมื่อครูเป็นคุณหญิงจำปา ครูก็พูดแบบคุณหญิงจำปาเรียกคนอื่นว่าไพร่ อันนี้ไม่ได้เรียกเหยียดไปติดดิน เขาพูดคำว่าไพร่ทาสกันตามปกติ เป็นวรรณะหนึ่งในสังคมตามปกติ เป็นสังคมที่แบ่งชนชั้นอย่างนั้น ตอนนี้ถ้าคนดูละครเอาบริบทตัวเองไปคิด ก็จะดูเหยียดหยามด้อยค่าความเป็นคนให้ต่ำศักดิ์เหลือเกิน เช่นที่พุดตานฟังแล้วโกรธ เพราะคำว่าไพร่สมัยนี้คือเหยียดหยามกันสุด ๆ ในขณะที่คนอื่นฟังกันเป็นปกติ หรือหมื่นริดกรณีถวายตัวพุดตานที่ว่า หมื่นริดไม่กล้าปกป้องพุดตาน หมื่นริดทำไม่ได้เด็ดขาด เพราะเป็นบริบทสังคมสมัยนั้น เป็นกติกาทางสังคมในยุคนั้น พุดตานก็ไม่รู้สึกอะไรมากมาย เพราะพุดตานเองก็เรียนรู้ว่าสังคมสมัยนั้นเป็นแบบนี้

พุดตานไม่ได้มาตะบึงตะบอน นางพูดแค่ว่ากล้า ๆ หน่อย แล้วหมื่นริดตอบว่า มันไม่ใช่เรื่องกล้า มันเป็นเรื่องควรหรือไม่ควร พุดตานเลยตัดสินใจที่จะพูดเอง ปมเรื่องเมียพระราชทานนี้ในนวนิยายก็มีนะที่คุณหญิงจำปาไปขอเมียพระราชทาน คุณหญิงผ่องไปขอเมียพระราชทานก็มี ครูไม่คิดขึ้นเอง เป็นการต่อความจากนวนิยาย แล้วขุนหลวงมองพุดตานอย่างพอพระทัยก็มี หรือคำพูดของขุนหลวงที่ว่า ถ้าไอ้ริดมันไม่หวงของมัน ก็จะเอา (พุดตาน) เข้าไปอยู่ในวัง ให้ทำกับข้าวให้กินตลอดไป เรื่องในละครมีที่มาหมด เราต้องนำมาต่อยอด แต่เราอาจต่อยอดไกลไปหน่อย

ศัลยา สุขะนิวัตติ์
ศัลยา สุขะนิวัตติ์ (ภาพจาก https://www.matichon.co.th/entertainment/news_1367025)
  • ตอนพุดตานถวายตัวพูดถึงกฎหมายโบราณด้วย

ใช่ อันนี้ครูนำมาจากกฎหมายลักษณะผัวเมีย อยู่ในกฎหมายตราสามดวง ที่ต้องเปิดกฎหมายเขียน เพราะเป็นข้อเท็จจริง ครูเขียนฉากที่พุดตานถามอึ่งกับพ่อเพิ่มเรื่องนี้ละเอียดเลย แต่ละครตัดทิ้งไปอาจจะเพราะเวลาออกอากาศไม่พอ ในฉากนั้นพุดตานถามละเอียด อึ่งกับพ่อเพิ่มแจกแจงละเอียด เลยทำให้พุดตานไปต่อรองกับขุนหลวงได้ถึงไม่มีฉากนี้ แต่เราพออนุมานได้ว่าถามบ่าวมาเขาตัดไปเยอะ ต้องรอดูตอนรีรันเขาจะเอากลับมาใส่หรือเปล่า

  • อาจารย์แก้ไขบทละครโทรทัศน์บ่อยครั้งหรือไม่ หรือมีอุปสรรคในการเขียนบทละครพรหมลิขิตหรือมีอุปสรรคอื่นใดบ้าง

เมื่อพูดถึงอุปสรรค ก็มีโควิดที่เป็นอุปสรรคกับกองถ่าย แต่อุปสรรคต่อการเขียนบท คือ หลายจุด นวนิยายเขียนเป็นบรรยายไปเรื่อย ๆ ไม่มีการหยิบหรือวางเป็นฉาก ละครต้องยกฉาก ซึ่งครูต้องคิดเยอะมาก อุปสรรคอีกอย่าง คือครูต้องปิดตัวละครทุกตัว (จุดจบตัวละคร) เช่น โกษาจีน แม่กลิ่น ยายกุย หมู่สง ที่มากที่สุดคือ พ่อเรืองกับแม่เรียม ซึ่งในนวนิยายมีน้อยมาก

ภาพของพ่อเรืองและแม่เรียมค่อนข้างเลือนราง ไม่เห็นว่ารักกันตอนไหน เป็นหนุ่มเป็นสาวยังไง จีบกันตอนไหน ไม่เห็นทั้งสิ้น สุดท้ายพ่อเรืองก็ลุกขึ้นมาตายไป ครูก็สุดปัญญาที่จะคิดแล้วหรือตอนนั้นใกล้จบเต็มที สมองล้าแล้วก็ได้

อีกเรื่องที่ไม่เห็นคือ ความสัมพันธ์พ่อเรืองใหญ่และพ่อเรืองเล็ก ซึ่งพ่อเรืองใหญ่แสนที่จะรักพ่อเรืองเล็กถึงเอาไปอยู่ด้วย ครูต้องสร้างฉากสถานการณ์ต่าง ๆ ขึ้นมาเอง ขอตอบสรุปว่าอุปสรรคใหญ่เหนือสิ่งอื่นใดคือความรักระหว่างหมื่นริดและพุดตานที่ราบเรียบ นิ่ง ต้องคิดให้มันหวือหวาหน่อย ทำให้คนดูเขาตื่นเต้นหน่อย เขาคือพระเอกนางเอกนะความสัมพันธ์จึงต้องคิดฉากที่เขามีความเข้าใจผิดกันบ้าง มีอารมณ์ต่อกัน เป็นอุปสรรคอันยิ่งใหญ่ที่ต้องคิดว่าทำยังไงให้คนดูสนุก ครูทำละครให้คนดูเป็นล้านคนไม่ใช่คนหมื่นสองหมื่น

เพราะฉะนั้นเนี่ยการทำละครให้คนดูเป็นล้าน ๆ ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ ครูตระหนักมาตลอดชีวิตการทำงานตรงนี้ว่า มันโคตรยาก เขียนบทละครจากนวนิยายมาหลายสิบเรื่อง ความยากที่ว่านี้มากน้อยต่างกัน แต่มาจากสาเหตุเดียวกัน

  • ทำไมการะเกดและครอบครัวต้องย้ายไปเพชรบุรี

ครูว่าไปตามหนังสือนะ นวนิยายว่าไงว่าตามนั้น พวกเขาไปก่อนเกิดศึกเจ้าฟ้าพรกับเจ้าฟ้าอภัย และเขารู้อยู่แล้วอยุธยาวอดวายไปทั้งเมืองตอนคราวเสียกรุงศรีฯ ครั้งที่สอง

  • ซอฟต์พาวเวอร์คืออะไร ละคร พรหมลิขิต เป็น ซอฟต์พาวเวอร์ได้ไหม

ครูว่าจะไม่ตอบเรื่องนี้นะ ตอบยังไงก็ชัดเจนยาก ประเทศไทยยังไม่สะเด็ดน้ำเรื่องนี้หรอกครูมองว่า ซอฟต์พาวเวอร์มันเป็นกระบวนการของการที่วัฒนธรรมลื่นไหลเข้าไปสู่สังคมอื่น เป็นประเทศอื่นหรือสังคมโลกก็ตาม มันจะไหลเข้าไปเอง ไปอย่าง Soft คือละมุนละม่อม เข้าไปไม่มีใครบังคับ ค่อยเป็นค่อยไป ไหลไปเรื่อย ๆ อย่างนุ่มนวลตามคำไม่มีการวางแผน

โอเคอาจมีการวางแผนก็ได้ แต่ไม่มีการประกาศเป็นทางการ เช่น มวยไทยที่คนค่อย ๆ นิยม ยอมรับในหลายประเทศ แห่ง อันนี้คือ ซอฟต์พาวเวอร์ มันคือพาวเวอร์ที่ไปอย่างละมุนละม่อม ดังนั้นจะมาบอกว่าเราจะทำอันนี้ให้เป็นซอฟต์พาวเวอร์ มันไม่ใช่ แต่ถ้าบอกว่าเราจะทำหมูกระทะให้มันเป็นที่นิยม อันนี้พูดได้ แต่คุณอย่าไปพูดว่าจะทำหมูกระทะเป็นซอฟต์พาวเวอร์ ครูฟังแล้วยอมรับว่ายังงงไม่หายว่าทำได้จริงหรือ

ครูเป็นนักเขียนบทละครโทรทัศน์  ครูขอย้ำทั้งคำว่าละครกับคำว่าโทรทัศน์ครูไม่เขียนละครแบบอื่น ครูจะทำหน้าที่ตรงนี้ให้ดีที่สุด จะไม่หยุดพัฒนางานของครูให้คนไทยดูแล้วสนุกและมีความสุข ต่อจากนั้นละครจะเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทำให้เป็นซอฟต์พาวเวอร์ได้แค่ไหน น่าจะเป็นก้าวต่อไปจากจุดที่ครูยืนอยู่

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 ธันวาคม 2566