คำเรียกเวลา “โมง-ทุ่ม” มาจากไหน ใครกำหนด?

หอกลอง หน้าหับเผย เสียง กลอง ฆ้อง สัญญาณ บอก เวลา ทุ่ม โมง
หอกลองที่หน้าหับเผย เป็นหอก่ออิฐถือปูน 4 ชั้น (ปัจจุบันเป็นที่ตั้งกรมการรักษาดินแดน) ตึกที่เห็นเป็นแถวทางซ้ายมือของหอกลอง คือตึกแถวถนนเจริญกรุง ภาพนี้ถ่ายจากพระที่นั่งภูวดลทัศไนย (หอนาฬิกา) ในพระบรมมหาราชวัง (ภาพจากหนังสือกรุงเทพฯ ในอดีต)

เคยสงสัยกันไหม คำว่า “โมง” หรือ “ทุ่ม” ที่แบ่ง เวลา กลางวัน-กลางคืน มาจากไหน ใครกำหนด?

ความรู้ความเข้าใจเรื่องเวลาของชาวสยามในอดีต หรือยุคสังคมแบบจารีต ค่อนข้างผูกกับความเชื่อเรื่องจักรวาลวิทยาทางพุทธศาสนา การเวียนว่ายตายเกิด ภพภูมิ และเรื่องของ “กรรม” ชาวสยามจึงถูกปลูกฝังให้ยอมรับชะตากรรม และดำเนินชีวิตปัจจุบันโดยเชื่อว่าเป็นผลมาจากการกระทำในอดีต (ชาติ)

อย่างไรก็ตาม ชาวสยามเรียนรู้ที่จะนับเวลาจากปรากฏการณ์ธรรมชาติ ที่เรียกว่าการนับเวลาตามจันทรคติ และสุริยคติ ซึ่งใช้กันแพร่หลายในปัจจุบัน โดยเฉพาะระบบสุริยคติเริ่มใช้อย่างจริงจังในสมัยรัชกาลที่ 5

นอกจากนี้ ยังพบการนับเวลาจากการสังเกตปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน เช่น “บ่ายควาย” หรือ “ควายเข้าคอก” เป็นการสังเกตดวงอาทิตย์เพื่อดูเวลาอย่างหยาบ เป็นต้น

แต่เพื่อจัดระเบียบการเรียกเวลาในแต่ละวันให้เป็นระบบและเข้าใจตรงกัน จึงมีการบัญญัติคำเรียกเวลาของแต่ละช่วงวัน โดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงกำหนดวิธีเรียกเวลาแก่ราษฎรทั้งหลาย คือ การเรียกแบบ “โมง” และ “ทุ่ม” ซึ่งถือเป็นคำสำคัญที่ใช้แบ่งภาคกลางวันและกลางคืน เพื่อให้เรียกแยกกันอย่างชัดเจน

คำว่า “โมง” นั้น มาจากเสียงของฆ้อง เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ตีสัญญาณบอกเวลาตอนกลางวัน ส่วนคำว่า “ทุ่ม” เรียกตามเสียง “กลอง” อุปกรณ์ที่ใช้ตีสัญญาณบอกเวลาตอนกลางคืน

พระองค์ทรงให้ความสำคัญกับการเรียกระบบเวลาเช่นนี้มาก จนถึงกับทรงออกประกาศเตือนสติเรื่องว่าด้วยทุ่มโมง และประกาศลงราชกิจจานุเบกษาเรื่องทุ่มยาม เพื่อให้ประชาชนเข้าใจและเรียกเวลาในแต่ละช่วงให้ถูกต้อง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

พิศาลศรี กระต่ายทอง. “หอสูงกับการบอกเวลา”. ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับตุลาคม 2558.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 พฤศจิกายน 2566