“โดราเอมอน”จากการ์ตูนขวัญใจเด็กๆ สู่ของขลังบูชาในสังคมไทย

โดราเอมอน การ์ตูน เทพโดราเอมอน
โดราเอมอน การ์ตูนขวัญใจเด็กๆ (ภาพจาก: https://wallpapers.com/doraemon-pictures)

เหตุใด “โดราเอมอน” ตัวการ์ตูนขวัญใจเด็กๆ เมื่อเข้ามาเมืองไทยแล้วถึงได้กลายเป็นของขลังบูชา กลายเป็น “เทพโดราเอมอน” ไปเสียได้? ล่าสุดต้นเดือนมีนาคม 2567 มีข่าว “แม่เทพ” หลอกลวงคนหลงเชื่อให้บูชาตุ๊กตาโดราเอมอน ให้ดวงปัง ดวงเฮง จนสูญเงินหลักแสนไปจนถึงหลักล้านบาท

ดร.นุสรา จิตตเกษม อธิบายปรากฏการณ์สังคมดังกล่าวไว้ในบทความ “ซุปเปอร์ฮีโร่ : เทพเจ้ายุคใหม่ บทท้าทายศรัทธาเดิม” นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับกุมภาพันธ์ 2560 ไว้ตอนหนึ่งว่า

โดราเอมอน เป็นการ์ตูนดังจากประเทศญี่ปุ่น ที่ถูกนำมาฉายทั้งทางโทรทัศน์และโรงภาพยนตร์ ตัวละครเด่นคือโดราเอมอน เป็นหุ่นยนต์แห่งโลกอนาคตที่มีลักษณะเหมือนแมว ตัวสีฟ้า มีกระเป๋าที่บรรจุของวิเศษมากมาย เพื่อเอาไว้ช่วยเหลือเด็กน้อยที่อ่อนแอ ชื่อ โนบิตะ ให้พ้นจากการถูกเพื่อนเกเรรังแก

ดร.นุสรา เล่าว่า การ์ตูนที่เป็นเรื่องแต่งเพลิดเพลิน เสริมสร้างจินตนาการ ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบความเชื่อของคนไทยไปเรียบร้อย เมื่อ พระมหาอนันต์ กุสลาลงกาโร เจ้าอาวาสวัดสำปะซิว ตำบลสนามชัย อำเภอเมืองสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี ได้ให้ช่างวาดภาพจิตรกรรมฝาผนัง เล่าเรื่องราวพุทธประวัติ ที่มีภาพการ์ตูนชื่อดังหลายเรื่อง แฝงไปด้วยปริศนาธรรม

หนึ่งในบรรดาการ์ตูนนั้นมีโดราเอมอนอยู่ด้วย จากการจัดสรรพื้นที่จิตรกรรมฝาผนังแนวประเพณีนิยม ให้มีเหล่าบรรดาการ์ตูนร่วมผสมผสาน แสดงความร่วมสมัยในปัจจุบัน เป็นกระแสที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันมากในสังคม ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่ก็สามารถเรียกความสนใจให้คนเข้าไปเที่ยวดูและสร้างชื่อเสียงให้กับวัดได้เป็นอย่างดี

ต่อมา เจ้าอาวาสวัดสำปะซิวได้จัดทำล็อกเกตเข็มกลัดโดราเอมอนสวมชฎา มีข้อความว่า “โลโกปตฺถมฺภิกา เมตตา เมตตาเป็นเครื่องค้ำจุนโลก” โดยวัดได้นิมนต์พระเกจิชื่อดังในจังหวัดสุพรรณบุรี จำนวน 9 รูป มาประกอบพิธีปลุกเสก ซึ่งเจ้าอาวาสวัดสำปะซิว กล่าวว่า ล็อกเกตนี้สร้างขึ้นเพื่อนำมาแจกให้กับนักท่องเที่ยวที่มาทำบุญกราบไหว้ขอพรพระ และเที่ยวชมศึกษาภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องราวทางพุทธประวัติทางศาสนาในโบสถ์ ได้นำไปเก็บเอาไว้เป็นสิริมงคล

จะเห็นได้ว่า ตัวการ์ตูนในจินตนาการอย่าง โดราเอมอน ถูกสร้างให้กลายเป็นสัญลักษณ์ของวัดในพุทธศาสนา และยังมีความศักดิ์สิทธิ์อันเกิดจากการปลุกเสกของพระสงฆ์ จึงกลายเป็นสิ่งเสริมสร้างสิริมงคลให้ได้เก็บรักษากันไปแล้ว

ผู้เขียนบอกด้วยว่า ลัทธิบูชาเทพเจ้าโดราเอมอนได้รับความนิยมมากขึ้นอีก โดยการนำมาผลิตซ้ำ เน้นย้ำความเชื่อ ด้วยการสร้างเป็นวัตถุมงคล เครื่องรางของขลัง ปลุกเสกโดยหมอไสยศาสตร์ชาวเขมร สิ่งที่น่าสนใจคือ ถ้า เทพโดราเอมอน ไม่เป็นที่ต้องการของคนในสังคม ก็คงไม่มีการผลิตซ้ำ แต่ถ้าเมื่อไรที่มีการผลิตซ้ำ นั่นแสดงว่าสังคมยอมรับ และให้พื้นที่กับเทพเจ้าโดราเอมอนแล้ว ทั้งยังมีการใส่มวลสารที่เชื่อว่าสามารถสร้างความศักดิ์สิทธิ์ไว้ด้านหลังรูปโดราเอมอนด้วย

ดังนั้น โดราเอมอนจึงเป็นรูปสัญญะที่แสดงความหมายระดับวัฒนธรรม สื่อถึงความสามารถที่จะช่วยดลบันดาลสิ่งต่างๆ ให้ได้ดังปรารถนา โดยนำข้อมูลอ้างอิงจากเนื้อหาในบทการ์ตูน หรือภาพยนตร์ว่า โดราเอมอนมีของวิเศษมากมายในกระเป๋า และนำออกมาใช้ช่วยเหลือโนบิตะได้ทุกครั้ง

“ลักษณะการอ้างอิงเนื้อเรื่องบทบาทของตัวละครเช่นนี้ มีมาแล้วตั้งแต่ในอดีต ที่นำมาจากตำนาน นิทาน ชาดก จึงไม่แปลกที่จะนำตัวละครในภาพยนตร์ร่วมสมัยมาสร้างให้เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ โดยนำมาสร้างความหมายให้เกิดเป็นความศักดิ์สิทธิ์เฉพาะด้านขึ้น” ดร.นุสรา อธิบาย 

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

ดร.นุสรา จิตตเกษม. “ซุปเปอร์ฮีโร่ : เทพเจ้ายุคใหม่ บทท้าทายศรัทธาเดิม”. นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับกุมภาพันธ์ 2560


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2566