“พรหมลิขิต” จะชักนำคำว่า “ออเจ้า” กลับมาฮิตติดปากกันอีกครั้ง

พรหมลิขิต โป๊ป เบลล่า ลพครภาคต่อ บุพเพสันนิวาส
ละคร “พรหมลิขิต” เตรียมออกอากาศทางช่อง 3 วันที่ 18 ตุลาคม 2566 (ภาพจากเพจ Ch3Thailand / https://www.facebook.com/photo/?fbid=869696564514140&set=a.791771242306673)

“พรหมลิขิต” ภาคต่อของ บุพเพสันนิวาส จะชักนำคำว่า “ออเจ้า” กลับมาฮิตติดปากกันอีกครั้ง

ละครดัง “บุพเพสันนิวาส” ได้เคยสร้างกระแสไม่ใช่เพียงแค่ผู้คนจำนวนมากให้ความสนใจเดินทางไปเยี่ยมชมโบราณสถานในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา แต่ยังมีคำพูดฮิตที่พูดกันอย่างติดปากว่า “ออเจ้า” ในกลุ่มเด็กวัยรุ่น แม้กระทั่งผู้ใหญ่ แม่ค้าในตลาดก็เรียก “ออเจ้า” กันเล่นอย่างสนุกสนาน

การเตรียมออกอากาศของละคร พรหมลิขิต ทางช่อง 3 ในวันที่ 18 ตุลาคมนี้ น่าจะทำให้กระแส “ออเจ้า” กลับมาฮิตติดปากกันอีกครั้ง “ออเจ้า” สรรพนามที่พูดกันอย่างติดปากเข้าใจว่าเป็นสรรพนามเรียกแทนบุคคลหนึ่ง แท้จริงแล้วคำว่า “ออเจ้า” ใช้อย่างไรกัน?

นายบุญเตือน ศรีวรพจน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านอักษรศาสตร์ กรมศิลปากร ได้เคยให้ความเห็นเกี่ยวกับสรรพนาม “ออเจ้า” นี้ไว้ว่า ในอักขราภิธานศรับท์ของหมอบรัดเลย์ ซึ่งพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อพุทธศักราช 2416 ระบุไว้ว่า “ออเจ้า” เป็นคำที่ผู้ใหญ่ใช้เรียกผู้น้อย แต่ในบทเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน ตอนพลายแก้วแต่งงานกับนางพิม พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย กล่าวถึงตอนนางทองประศรี (มารดาของพลายแก้ว) นำผู้ใหญ่ไปสู่ขอนางพิมพิลาไลยกับนางศรีประจัน (มารดาของนางพิม) ใช้ “ออเจ้า” เป็นสรรพนามบุรุษที่ 2 (แทนนางศรีประจัน) กับบุคคลระดับเดียวกัน และใช้ “ออ” นำหน้าชื่อเป็นสรรพนามบุรุษที่ 3 เรียกพลายแก้วว่า “ออแก้ว” ดังในบทเสภาว่า

“จะขอพันธุ์ฟักแฟงแตงน้ำเต้า ที่ออเจ้าไปปลูกในไร่ข้า แต่ยากยับอับจนพ้นปัญญา จะมาขายออแก้วให้ช่วงใช้ อยู่รองเท้านึกว่าเอาเกือกหนัง ไม่เชื่ีอฟังก็จะหาประกันให้”

ละคร “พรหมลิขิต” เตรียมออกอากาศทางช่อง 3 วันที่ 18 ตุลาคม 2566 (ภาพจากเพจ Ch3Thailand / https://www.facebook.com/photo/?fbid=869696591180804&set=a.791771242306673)

จะเห็นว่า “ออเจ้า” ใช้กับบุคคลที่เสมอกันไปจนถึงบุคคลที่ต่ำกว่า และ “ออแก้ว” ซึ่งหมายถึงพลายแก้วเป็นบุรุษที่ 3 (บุคคลที่ถูกกล่าวถึง) จากตัวอย่างที่กล่าวข้างต้น“ออเจ้า”และ “ออ” ใช้ได้กับเพศหญิงและเพศชาย เช่น ออแก้ว ออพิม เป็นต้น

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 ตุลาคม 2566