“ออเจ้าโล้สำเภาเปนฤๅไม่” ภาษาเล่าบทร่วมรักอย่างอัศจรรย์ใจ ประโยคดังใน “บุพเพสันนิวาส”

ออเจ้าโล้สำเภาเป็นฤๅไม่ โล้สำเภา หมายถึง บทอัศจรรย์ เข้าพระเข้านาง บุพเพสันนิวาส
ภาพฉากเข้าพระเข้านางในละครบุพเพสันนิวาส ออกอากาศทางช่อง 3 เมื่อ พ.ศ. 2561

ละคร บุพเพสันนิวาส ที่ฮิตติดลมบนเมื่อหลายปีก่อน แถมเอามาออกอากาศซ้ำเมื่อไหร่ ก็มีคนดูติดตามเหนียวแน่น ในละครมีฉากหนึ่งที่พี่ขุนได้เอ่ยประโยคว่า “ออเจ้าโล้สำเภาเป็นฤๅไม่” ประโยคนี้ทำเอาทุกคนเขินกันไปทั้งบ้านทั้งเมือง ว่าแต่ทำไมต้อง “โล้สำเภา”?

คำ “โล้สำเภา” นี้ เป็นความเปรียบที่ใช้ในวรรณคดีไทยกล่าวถึง บทอัศจรรย์ หรือ บทสังวาส คือบทเข้าพระเข้านางนั่นเอง คนไทยแต่โบราณมีศิลปะในการใช้ภาษาเล่าบทร่วมรักได้อย่างอัศจรรย์ใจ โดยใช้ธรรมชาติและสิ่งรอบกายเปรียบเทียบ ไม่กล่าวตรงๆ ให้ดูหยาบจนเก้อไป

รอมแพง ผู้เขียน บุพเพสันนิวาส สร้างความโรแมนติกให้แก่หนุ่มสาวชาวอยุธยาคู่นี้ด้วยสำนวนโบราณดูเข้าที แม้คนส่วนใหญ่ไม่คุ้นหู แต่ก็เดาทางหรือ “ตีท่า” จากคำได้ไม่ยาก ทั้งในนวนิยายยังได้แทรกคำประพันธ์บทอัศจรรย์ไว้ตามอย่างขนบวรรณคดีว่า

“โล้สวาทวาดใบสำเภาพริ้ว

ระเรื่อยลิ่วคลองแคบคละขัดขึง

น้ำเจือน้อยค่อยวางทางติดตรึง

ขยับหายโยกคลึงคราคลื่นมา

เมื่อผ่านช่องเข้าอ่าวคราน้ำขึ้น

พอหายมึนสอดสั่งทั้งซ้ายขวา

ข้ามนทีสรวงสวรรค์​ทุกชั้นฟ้า

สมอุราซ่านซบสยบทรวง”

การใช้ความเปรียบ “โล้สำเภา” หรือ “สำเภา” นี้ ปรากฏในวรรณคดีเก่าหลายเรื่อง ทั้งนี้ในงานวิจัยเรื่อง เพศในเพลงพื้นบ้าน ของ ผศ.บัวผัน สุพรรณยศ ก็ได้กล่าวให้เห็นแนวคิดในการเปรียบอวัยวะเพศชายหญิงเป็นสิ่งต่างๆ ไว้ว่า ในการเปรียบเรื่องเกี่ยวกับเพศนั้น สิ่งที่แสดงความเป็นเพศหญิงมักเป็นสิ่งที่อยู่กับที่ เช่น ท่าน้ำ ถ้ำ และสิ่งที่แสดงความเป็นชายนั้นมักเป็นสิ่งที่มักเคลื่อนไหว หรือเคลื่อนที่ เช่น เรือ แมลง ซึ่งในบริบทนี้ก็คงเช่นเดียวกัน

ในเสภาขุนช้างขุนแผน ในตอนที่เป็นฉากคืนแต่งงานของพลายแก้วกับนางบัวคลี่ ซึ่งพลายแก้วเข้ามานัวเนีย แต่นางบัวคลี่ขัดเขินตามประสาคนไม่เคยร่วมประเวณีกับใคร กวีพรรณาว่า

“เกิดพยับพยุห์พัดอัศจรรย์

สลาตันเป็นระลอกกระฉอกฉาน

ทะเลลึกดังจะล่มด้วยลมกาฬ

กระทบดานกระแทกดังกำลังแรง

สำเภาจีนเจียนจมด้วยลมซัด

สลุบลัดเลียบบังเข้าฝั่งแฝง

ไหหลำแล่นตัดแหลมแคมตะแคง

ตลบตะแลงเลาะเลียมมาตามเลา

ถึงปากน้ำแล่นส่งเข้าตรงร่อง

ให้ขัดข้องแข็งขืนไม่ใคร่เข้า

ด้วยร่องน้อยน้ำคับอับสำเภา

ขึ้นติดตั้งหลังเต่าอยู่โตงเตง

พอกำลังลมจัดพัดกระโชก

กระแทกโคกกระท้อนโขดเรือโดดเหยง

เข้าครึ่งลำหายแคลงไม่โคลงเคลง

จุ้นจู๊เกรงเรือหักค่อยยักย้าย

ด้วยคลองน้อยเรือถนัดจึงขัดขึง

เข้าติดตรึงครึ่งลำระส่ำระสาย

พอชักใบขึ้นกบรอกลมตอกท้าย

ก็มิดหายเข้าไปทั้งลำพอน้ำมา

พอฝนลงลมถอยเรือลอยลำ

ก็ตามน้ำแล่นล่องออกจากท่า

ทั้งสองเสร็จสมชมชื่นดั่งจินดา

ก็แนบหน้าผาศุกมาทุกวัน”

หรือในตอนที่ขุนแผนขอให้นางสายทองเป็นแม่สื่อ นางสายทองเจอมนตราของขุนแผน แต่แล้วกลับ “สำเภาล่ม”

“พลางเป่าปัถมังกระทั่งทรวง

สายทองง่วงงงงวยระทวยนิ่ง

ทำตาปริบปรอยม่อยประวิง

เจ้าพลายอิงแอบทับลงกับทรวง

ค่อยขยับจับเขยื้อนแต่น้อยน้อย

ฝนปรอยฟ้าลั่นสนั่นเปรี้ยง

ลมพัดซัดคลื่นสำเภาเอียง

ค่อยหลีกเลี่ยงแล่นเลียบตลิ่งมา

พายุหนักชักใบได้ครึ่งรอก

แต่เกลือกกลอกกลับกลิ้งอยู่หนักหนา

ทอดสมอรอท้ายเป็นหลายครา

เภตราหยุดแล่นเป็นคราวคราว

สมพาสพิมดุจริมแม่น้ำตื้น

ไม่มีคลื่นแตระลอกกระฉอกฉาว

ปะสายทองดุจต้องพายุว่าว

พอออกอ่าวก็พอจมล่มลงไป”

ความเปรียบเรื่องสำเภา หรือ เรือ นี้ ยังปรากฏในเพลงเรือของชาวบ้านในภาคกลางด้วย ดังปรากฏในเพลงเรือที่ ผศ.บัวผัน สุพรรณยศ (แม่เจ๋ สวยสุด) แต่งไว้ชมรมรักษ์เพลงพื้นบ้าน มหาวิทยาลัยมหิดล ตามขนบโบราณ เมื่อ พ.ศ. 2552 ดังนี้

( ช. ) เรือพี่นี้ทู่อยากจะสู้ท่าน้อง

ช่วยพี่คลำนำล่อง หน่อยหนา

ล่องน้ำท่าน้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์

พี่ขอถามงามพิศ คิดค่าท่า

เรือจอดแต่ละทีคงจะมีค่าจอด

ร้องถามแม่งามปลอด เรื่องราคา

เห็นท่ายังปลอดพี่อยากจอดนาวา (ซ้ำ )

น้องจะให้เทียบท่าได้ไหมเอย (รับซ้ำ)

(ญ.) เรือหาปลาหน้าทู่หรือจะมาสู้ท่าน้อง

ไม่ว่าจะขึ้นจะล่อง ก็เชื่องช้า

เนิบเนิบนาบนาบที่ฉันทราบแน่แน่

โถ..เป็นเรือทอดแห หาปลา

รูปร่างเล็กจังไม่ถึงฝั่งถึงฟาก

เหมือนไม้จิ้มฟันดันปาก เปลืองเวลา

เรือเล็กถอยไปซะอย่าเกะกะหน้าท่า (ซ้ำ)

เรือใหญ่ใหญ่จะได้มาจอดเอย (รับซ้ำ)

นอกเหนือจากเรื่องความเปรียบเกี่ยวกับเรือแล้ว ยังน่าสนใจในมิติการแสดงละครแบบโบราณ ในการตีท่าจากบทอัศจรรย์เหล่านี้เมื่อแสดงบนเวที ซึ่งรอติดตามในงานวิจัยของ อาจารย์รัตนพล ชื่นค้า งานวิจัยเรื่องตำรานรลักษณ์หรือโหงวเฮ้งกับการสังวาสของอาจารย์ ดร.ชนกพร พัวพัฒนกุล

และงานวิจัยของผมกับ อาจารย์ บุญเตือน ศรีวรพจน์ เรื่องตำรากามสูตรแบบไทย ซึ่งต่อยอดจากคัมภีร์ผูกนิพพานโลกีย์ว่า คุณพี่ขุนจะ “โล้สำเภา” แบบใด โดยมีครู คือ ศาสตราจารย์สุกัญญา สุจฉายา เป็นผู้เสนอบทสังเคราะห์

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 เมษายน 2561