“วิลเลียม เชสเตอร์ ไมเนอร์” ผู้ป่วยทางจิต เบื้องหลังความสำเร็จพจนานุกรมออกซ์ฟอร์ด

วิลเลียม เชสเตอร์ ไมเนอร์ อาสาสมัคร พจนานุกรมออกซ์ฟอร์ด
วิลเลียม เชสเตอร์ ไมเนอร์ หรือ "ดับเบิลยู. ซี. ไมเนอร์" อาสาสมัครลึกลับ ที่ช่วยจัดทำพจนานุกรมออกซ์ฟอร์ด

พจนานุกรมในโลกปัจจุบัน (รวมทั้งในอนาคตอีกยาวนาน) คงไม่มีฉบับใดยิ่งใหญ่เท่า “พจนานุกรมออกซ์ฟอร์ด” หรือ Oxford English Dictionary (OED) เพราะกว่าจะเป็นพจนานุกรมฉบับแรก ก็ใช้เวลาจัดทำรวมแล้วกว่าครึ่งศตวรรษ และยังมีอาสาสมัครมากมายส่งข้อมูลมาช่วยเสริม หนึ่งในนั้น คือ วิลเลียม เชสเตอร์ ไมเนอร์ หรือ “ดับเบิลยู. ซี. ไมเนอร์” อาสาสมัครลึกลับ ที่มีบทบาทช่วยทำงานในโปรเจกต์นี้เกือบ 3 ทศวรรษ นับเป็นอีกหนึ่งคนสำคัญที่อยู่เบื้องหลังพจนานุกรมชื่อก้องโลกนี้อีกคนหนึ่งก็ว่าได้

พจนานุกรมออกซ์ฟอร์ด ฉบับตีพิมพ์ครั้งแรก มีชื่อว่า A New English Dictionary on Historical Principles (NED) เริ่มทยอยตีพิมพ์เล่มแรก ตั้งแต่วันที่ 29 มกราคม ค.ศ. 1884 (พ.ศ. 2427) จนถึงวันที่ 19 เมษายน ค.ศ. 1928 (พ.ศ. 2471) เป็นหนังสือรวม 10 เล่ม ต่อมาใน ค.ศ. 1933 ได้จัดเล่มใหม่ รวมภาคผนวกที่จัดทําเพิ่มขึ้น รวมเป็น 12 เล่ม

Advertisement

ช่วง ค.ศ. 1972-1986 มีการตีพิมพ์ภาคผนวกออกมาอีกเป็น 4 เล่ม โดยเริ่มจัดทํามาตั้งแต่ ค.ศ. 1955 ทําการรวบรวมคําใหม่ ๆ ที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่พิมพ์เล่มแรก กระทั่ง ค.ศ. 1989 ก็มีการตีพิมพ์ใหม่ ถือเป็นฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 (OED2) รวมเป็น 20 เล่ม หนารวม 22,000 หน้า รวบรวมคําทั้งสิ้นกว่า 500,000 คํา พร้อมคําอธิบายและอ้างอิงกว่า 2.4 ล้านประโยค

พจนานุกรมออกซ์ฟอร์ด ได้รับการอ้างถึงอย่างกว้างขวาง โดยผู้ใช้ภาษาอังกฤษ ทั้งในรัฐสภา ในศาล ในโรงเรียน ในห้องบรรยาย และที่อื่น ๆ ด้วยการเริ่มต้นประโยคว่า “พจนานุกรมออกซ์ฟอร์ดกล่าวว่า…”

นพ. วิชัย โชควิวัฒน ผู้เขียนบทความ “บุรุษลึกลับผู้อยู่ในฉากซ่อนเร้นของการจัดทำพจนานุกรมฉบับออกซ์ฟอร์ด” ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม เล่าว่า พจนานุกรมออกซ์ฟอร์ดได้รับความช่วยเหลือจากบรรดาอาสาสมัครมากมาย โดยมี “อาสาสมัครลึกลับ” คนหนึ่ง ที่มีส่วนช่วยเหลือไม่น้อยในการจัดทําพจนานุกรมฉบับนี้ ซึ่งเมื่อเปิดเผยตัวออกมาแล้ว ยังความตื่นตะลึงให้ผู้คนทั้งหลายเป็นอย่างมาก

อาสาสมัครคนนั้น คือ นายแพทย์ วิลเลียม เชสเตอร์ ไมเนอร์ (Dr. William Chester Minor) เป็นที่รู้จักในนาม “ดับเบิลยู. ซี. ไมเนอร์” จดหมายลงที่อยู่ “บรอดมัวร์ โครวธอร์น เบอร์คส” จดหมายที่ส่งมาจากเขานั้น ตกวันละประมาณ 20 ชิ้น หรือเป็นร้อยๆ ชิ้นต่อสัปดาห์ ที่น่าทึ่งคือเอกสารทุกชิ้นเขียนอย่างประณีตและชัดเจน

เจมส์ เมอร์เรย์ (James Murray) บรรณาธิการ พจนานุกรมออกซ์ฟอร์ด เผยระหว่างการปราศรัยที่สมาคมภาษาและหนังสือ เมื่อ ค.ศ. 1897 ว่า เอกสารที่ได้รับจากอาสาสมัครราว 15,000-16,000 ชิ้น ครึ่งหนึ่งเป็นของไมเนอร์ รายละเอียดต่างๆ ที่ส่งมา ล้วนแสดงให้เห็นว่าเขาเป็นคนมีความรู้ลึกซึ้ง

เมื่อมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดจัดงานเฉลิมฉลอง เนื่องจากพจนานุกรมมีความคืบหน้าด้วยดี นายแพทย์ไมเนอร์กลับไม่ได้มาปรากฏตัวร่วมด้วย หลายคนประหลาดใจมาก เพราะ “โครวธอร์น” ซึ่งเป็นที่อยู่ของนายแพทย์ไมเนอร์ อยู่ห่างจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดไม่ถึง 40 ไมล์ เดินทางด้วยรถไฟประมาณ 60 นาทีเท่านั้น เมอร์เรย์จึงเดินทางไปหาไมเนอร์ด้วยตัวเอง

เมื่อไปถึง เมอร์เรย์ก็พบว่า “บรอดมัวร์” คือที่พักฟื้นสำหรับผู้วิกลจริตที่ก่ออาชญากรรม นายแพทย์ไมเนอร์คือผู้ต้องขังหมายเลข 742 ซึ่งถูกคุมขังตลอดชีวิต

นายแพทย์ วิลเลียม เชสเตอร์ ไมเนอร์ เกิดในศรีลังกา เมื่อ ค.ศ. 1834 เมื่ออายุ 14 ปี พ่อแม่ส่งกลับไปเรียนที่สหรัฐอเมริกา จบด้านการแพทย์จากมหาวิทยาลัยเยล รับราชการในกองทัพบกสหรัฐฯ เป็นผู้ช่วยศัลยแพทย์ ช่วงนั้นเป็นสงครามกลางเมือง เชื่อว่าเหตุการณ์ที่ส่งผลทางจิตใจอย่างมาก คือ การตีตราทหารที่หนีทัพ ทำให้เขาเริ่มป่วยทางจิต จนต่อมาถูกปลดประจำการ

ต้น ค.ศ. 1875 นายแพทย์ไมเนอร์ยิงกรรมกรถึงแก่ความตาย เพราะประสาทหลอนว่ามีคนเข้าไปทำร้าย อาการของเขามีลักษณะคุ้มดีคุ้มร้าย มักระแวงว่าจะมีคนเข้าไปทำร้ายในยามราตรี แต่หลังจากปรับตัวในห้องขังได้แล้ว เขาก็สามารถหาความเพลิดเพลินจากการอ่านหนังสือ โดยสะสมหนังสือจำนวนมากในห้องขัง หิ้งหนังสือสูงจรดเพดานทีเดียว

เมื่อนายแพทย์ไมเนอร์ได้รับข่าวเรื่องอาสาสมัครทำพจนานุกรมออกซ์ฟอร์ด ก็เป็นช่วงที่เขาถูกคุมขังมาแล้ว 8 ปี เวลาว่างสามารถทำประโยชน์แก่ทีมงานจัดทำพจนานุกรมได้มากมาย กินระยะเวลายาวนานเกือบ 30 ปี

อย่างไรก็ตาม ระยะเวลาหลังๆ ที่อยู่ในสถานพักฟื้น อาการของเขาเริ่มกำเริบหนัก ถึงขั้นตัดอวัยวะเพศตัวเองทิ้ง ช่วงบั้นปลายชีวิตเขาถูกปล่อยตัวจากบรอดมัวร์ เนื่องจากได้รับการวินิจฉัยว่าไม่เป็นอันตรายต่อผู้อื่นแล้ว นายแพทย์ไมเนอร์กลับไปอยู่ในสหรัฐอเมริกาบ้านเกิด กระทั่งเสียชีวิต เมื่อ ค.ศ. 1920 รวมอายุ 85 ปี 9 เดือน

หนังสือที่นายแพทย์ วิลเลียม เชสเตอร์ ไมเนอร์ เก็บสะสม ตกทอดมาถึงภรรยาของเมอร์เรย์ ภายหลังตกเป็นสมบัติของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด

พจนานุกรมออกซ์ฟอร์ด ฉบับพิมพ์ครั้งแรก ในส่วนระบุขอบคุณอาสาสมัคร มีชื่อที่อยู่ของเขาด้วย ลงข้อความไว้สั้นๆ ว่า “ดร. ดับเบิลยู. ซี. ไมเนอร์ แห่งโครวธอร์น”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

บทความ “บุรุษลึกลับผู้อยู่ในฉากซ่อนเร้นของการจัดทำพจนานุกรมฉบับออกซ์ฟอร์ด” เขียนโดย วิชัย โชควิวัฒน เผยแพร่ในนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 22 ฉบับที่ 10 (สิงหาคม 2543)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 6 กันยายน 2566