10 พจนานุกรมแปลไทยเป็นไทย เล่มสำคัญของประเทศ

อักขราภิธานศรับท์ ฉบับหมอบรัดเลย์ พจนานุกรมแปลไทยเป็นไทยเล่มสำคัญเล่มหนึ่ง

พจนานุกรม หรือหนังสือสำหรับค้นความหมายของคำเรียงลำดับตามตัวอักษร การทำพจนานุกรมฉบับแปลไทยเป็นไทย มีพัฒนาการตั้งแต่การเริ่มเก็บรวบรวมคำโดยไม่มีระเบียบกฎเกณฑ์ จนกระทั่งเป็นระบบสากล มีการรวบรวมคำ นิยามควาหมาย บอกเสียงอ่าน หรือประวัติของคำ ซึ่งที่ผ่านมา พจนานุกรมฉบับไทย-ไทย ที่สำคัญมีดังนี้

1. จินดามณี ของพระโหราธิบดี แม้ว่าหนังสือเล่มนี้จะยังไม่ถูกต้องตามคำนิยามของพจนานุกรมสมัยใหม่ แต่ก็เป็นเค้ามูลสำคัญ ที่แสดงให้เห็นพัฒนาการการรวบรวมคำศัพท์ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ในสมัยเดียวกันนี้ สังฆราชหลุยส์ ลาโน ชาวฝรั่งเศส จัดทำพจนานุกรมไทยโดยใช้อักษรโรมันขึ้นในช่วงเวลาระหว่างปี 2207-2236 คาดว่าเป็นพจนานุกรมสองภาษา คือ ฝรั่งเศส-ไทย หรือ ไทย-ฝรั่งเศส แต่ไม่พบต้นฉบับในปัจจุบัน

2. คำฤษฎี พระนิพนธ์ร่วมกันของ สมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส, สมเด็จฯ กรมพระยาเดชาดิศร และกรมหลวงภูวเนตรนรินทรฤทธิ์ แต่งขึ้นในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ต้นฉบับเป็นสมุดไทยดำ รวบรวมคำศัพท์บาลี สันสกฤต เขมร ลาว และโบราณณิกศัพท์ หนังสือเล่มนี้ก็ยังไม่สามารถจัดเป็นพจนานุกรมได้ เพราะไม่มีกฎเกณฑ์ในการเรียงลำดับคำศัพท์ เป็นเพียงการรวบรวมศัพท์ แต่ถือเป็นเค้ามูลของการทำพจนานุกรมอีกเล่มหนึ่งเท่านั้น

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 ปรากฏว่ามีหนังสือลักษณะนี้อีกหลายเล่ม ที่รวบรวมคำศัพท์ไว้สำหรับเป็น “แบบเรียน” ในการใช้คำ การสะกดคำ เช่น มูลบทบรรพกิจ ที่พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) เมื่อครั้งยังเป็นหลวงสารประเสริฐเรียบเรียงและจัดพิมพ์ใน ปี 2414 เพื่อเป็นแบบเรียนในโรงเรียนหลวง, หนังสือ ประถม ก กา แจกลูกอักษร แลจินดามุนีกับประถมมาลา แลปทานุกรม โดยหมอบรัดเลย์พิมพ์ขึ้นเมื่อปี 2422, แบบเรียนเร็ว เล่ม 2 กรมศึกษาธิการ

3. พจนานุกรมไทย-ไทย บับ เจ. คาสเวล และ เจ. เอช. แชนด์เลอร์ เป็นพจนานุกรมฉบับไทย-ไทย ที่เก่าที่สุดที่ยังมีต้นฉบับอยู่ ต้นฉบับเป็นลายมือเขียนอย่างอาลักษณ์ทั้งฉบับ ไม่มีเลขหน้า ไม่มีการเรียงลำดับตัวอักษรที่เป็นระบบ แต่ก็ถือว่า มีพัฒนาการใกล้เคียงกับพจนานุกรมอย่างมาก พิมพ์ขึ้นในปี 2389 บนปกมีข้อความว่า “A Dictionary of the Siamese Language Prepared by Native Assistants under the Supervision of Rev. J. Casswell Copied and enlarged by J. H. Chandler Bangkok, Siam 1846″

ภายหลังมีการนำมาจัดพิมพ์ใหม่ เนื่องในโอกาสเฉลิมฉลอง 84 ปี แห่งการสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี 2544 ให้ชื่อหนังสือว่า A Dictionary of the Siamese Language by J. Casswell; Copied and Enlarged by J. H. Chandler

4. อักขราภิธานศรับท์ ฉบับหมอบรัดเลย์ พจนานุกรมไทย-ไทย ฉบับหมอบรัดเลย์ เริ่มต้นทำขึ้นในปี 2381 และเริ่มต้นพิมพ์ในวันที่ 5 พฤษภาคม ปี 2404 ใช้เวลาพิมพ์ 12 ปี มาแล้วเสร็จในปี 2416 รวมเวลาทั้งสิ้น 35 ปี มีคนไทยเป็นผู้เขียนนิยามศัพท์คืออาจารย์ทัด และนายเมือง

พจนานุกรมไทย-ไทย ฉบับหมอบรัดเลย์ เป็นพจนานุกรมเล่มใหญ่ มี 828 หน้า มีการเรียงลำดับศัพท์ตามลำดับตัวอักษรไทย ก-ฮ ต่อด้วย ฤ ฤา ภ ภา ในแต่ละหมวดอักษร เรียงศัพท์ตามลำดับสระและพยัญชนะท้าย (ตัวสะกด) ตาม ประถม ก กา

5. พจนานุกรมลำดับแลแปลศัพท์ที่ใช้ในหนังสือไทย ร.ศ. 110 ถือเป็นพจนานุกรมเล่มแรกที่จัดทำขึ้นโดยคนไทย เริ่มทำในปี 2428 มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นตำราสำหรับค้นหาความหมายของคำ และการสะกดคำ มีคณะผู้จัดทำเป็นเจ้าพนักงานกรมศึกษาธิการทำหน้าที่เรียบเรียงพจนานุกรม 7 คน คือ ขุนประเสริฐอักษรนิติ (แพ), นายรอด, นายอิน, นายใจ, นายช่วง, นายปาล และนายโต ผู้รวบรวมศัพท์และแปลศัพท์คือ พระเทพมุนี, พระญาณไตรโลก, พระราชานุพัทธุมนี, พระเจ้าบรมวงษ์เธอ กรมหมื่นสถิตธำรงสวัสดิ์, พระราชโยธา, พระยาเสนาภูเบศร์, เจ้าหมื่นศรีสรรักษ์, หม่อมอนุวัตรวรพงษ์, หม่อมราชวงษ์ประยูร

แต่คณะผู้จัดทำไม่ได้มีเจตนาที่จะกำหนดกฎเกณฑ์ในการสะกดคำให้เป็นแบบมาตรฐาน เพียงแต่เป็นการรวบรวมวิธีสะกดคำแบบต่างๆ ที่ใช้กันในเวลานั้น พร้อมกับให้ความหมายของคำ เพื่อประโยชน์ในการอ่านวรรณคดี คำศัพท์ส่วนใหญ่จึงเป็นคำหลายพยางค์ตามที่ปรากฏในหนังสือวรรณคดี พจนานุกรมเล่มนี้พิมพ์ขึ้นโดยโรงพิมพ์ศึกษาพิมพการในปี 2434 จำนวน 500 เล่ม ความหนา 605 หน้า

6. พจนานุกรม เปนคำแปลศัพท์ภาษาไทย สำหรับเขียนคำใช้ให้ถูกต้องตัวสกด ร.ศ. 120 เป็นพจนานุกรมที่กรมศึกษาธิการปรับปรุงแก้ไขจากพจนานุกรมฉบับ ร.ศ. 110 ใช้เวลาแก้ไขปรับปรุงอยู่ประมาณ 10 ปี จึงแล้วเสร็จในเดือนกรกฎาคม ปี 2445 มีการปรับปรุงแก้ไขโดยเพิ่มคำศัพท์ขึ้นอีก 200 คำ พิมพ์ที่โรงพิมพ์พิศาลบรรณนิติ์

7. ปทานุกรมสำหรับโรงเรียน พ.ศ. 2463 เป็นพจนานุกรมฉบับหลวงที่ปรับปรุงแก้ไขจากพจนานุกรม ฉบับ ร.ศ. 120 โดยเจ้าพนักงานกรมตำราพิมพ์ ที่มีความเป็นสากลมากขึ้น คือการเรียงคำศัพท์ใช้เกณฑ์รูปอักษร ไม่ใช้เป็นแบบผสมระหว่างอักษร และเสียงเหมือนในพจนานุกรมฉบับก่อนๆ มีการใช้อักษรขนาดใหญ่ สำหรับคำศัพท์หลัก ศัพท์รอง และอักษรย่อชื่อภาษาที่มาของศัพท์ และใช้อักษรขนาดเล็กสำหรับบทอธิบายคำศัพท์อักษรย่อ หรือคำย่อบอกหน้าที่ทางไวยากรณ์ ทำให้ค้นคำสะดวกมากยิ่งขึ้น

8. ปทานุกรม กรมตำรา กระทรวงธรรมการ พ.ศ. 2470 เป็นพจนานุกรมฉบับนี้ปรับปรุงแก้ไขจากปทานุกรมสำหรับโรงเรียน พ.ศ. 2463 มีการรวบรวมศัพท์ที่ใช้ในชีวิตประจำวันมากขึ้น การสะกดการันต์เกือบไม่ต่างจากปัจจุบัน ถือเป็นการเริ่มวางมาตรฐานการสะกดการันต์คำไทยอย่างเป็นทางการ นอกจากนี้ยังรวบรวมคำศัพท์ภาษาต่างประเทศไว้หลายคำ ในลักษณะการทับศัพท์ พจนานุกรมฉบับนี้มีความหนา 905 หน้า รวมคำศัพท์ไว้ 26,230 คำ จัดพิมพ์โดยโรงพิมพ์กรมตำรา กระทรวงธรรมการ

9. ปทานุกรมสำหรับนักเรียน พ.ศ. 2472 พจนานุกรมฉบับนี้เป็นฉบับสอบทานปทานุกรมฉบับปี 2470 จัดทำเพื่อให้นักเรียนใช้ โดยตัดคำยาก และคำธรรมดาสามัญมีคนทั่วไปเข้าใจความหมายออก มีความหนา 871 หน้า รวมคำศัพท์ 18,580 คำ โรงพิมพ์กรมตำรา กระทรวงธรรมการเป็นผู้จัดพิมพ์

10. พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2493 พจนานุกรมฉบับนี้จัดทำเพื่อปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่องในปทานุกรมฉบับปี 2470 “คณะกรรมการชำระปทานุกรม” เริ่มประชุมครั้งแรกวันที่ 5 ตุลาคม ปี 2475 สิ้นสุดเมื่อ 8 มีนาคม ปี 2493 รวมระยะเวลาทำงาน 17 ปี เป็นพจนานุกรมที่ทำขึ้นตามมาตรฐานสากล และเป็นพจนานุกรมที่มีการใช้อ้างอิงยาวนานที่สุดคือ ตั้งแต่ปี 2493 ถึงปี 2525 เป็นเวลา 31 ปี ทั้งเปลี่ยนชื่อจากคำว่า “ปทานุกรม” เป็น “พจนานุกรม”

พจนานุกรมเล่มนี้ พิมพ์ทั้งสิ้น 20 ครั้ง จำนวนทั้งสิ้น 187,000 เล่ม พิมพ์ครั้งแรกที่โรงพิมพ์บริษัทคณะช่าง จำกัด หลังจากนี้ก็มีการปรับปรุงพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2493 มาเป็นพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525, พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 และ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 เป็นฉบับปัจจุบัน

 


ข้อมูลจาก

สำนักพจนานุกรมมติชน. “ความเป็นมาของพจนานุกรมของไทย” ใน, พจนานุกรม ฉบับมติชน, สำนักพิมพ์มติชน, พิมพ์ครั้งแรก 2547


เผยแพร่ข้อมูลในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 มกราคม 2564