“ลอกปอ-กลิ่นปอเน่า” ความทรงจำของชาวทุ่ง

ลอกปอ กลิ่นปอเน่า การลอกปอ
ชาวบ้านลอกปอ ภาพถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2508 ในนิตยสาร “เสรีภาพ” ฉบับที่ 113 พ.ศ. 2508 จัดพิมพ์โดยสำนักข่าวสารอเมริกัน

“การลอกปอ” – “กลิ่นปอเน่า” ความทรงจำของชาวทุ่ง

ประเทศไทยมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เริ่มเมื่อ พ.ศ. 2504 เป็นปีเดียวกันกับที่ผู้ใหญ่ลีตีกลองประชุม ผู้เขียนมาสืบค้นและตามรู้ทีหลังว่า แผนดังกล่าวนี้มีผลทำให้มีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง โดยเฉพาะการใช้ที่ดินเพื่อสร้างผลผลิตมากขึ้น

แต่ก่อนนั้น ชาวบ้านก็เพียงรู้จักกระบวนการทำนา ถึงหน้าฝน ฝนตกน้ำนอง ก็ไถนา ตกกล้า แล้วถอนกล้านำไปปักดำ ต่อมาเมื่อสังคมรุมเร้าให้มีการผลิตมากขึ้น การทำนาอาศัยน้ำฝนและปุ๋ยจากดินไม่เพียงพอ จึงมีการนำปุ๋ยวิทยาศาสตร์มาหว่านโปรยให้ข้าวกล้างอกงามสมใจ

Advertisement

ลำพังทำนาแผนใหม่ก็ยังไม่พอที่จะอวดว่าประเทศนี้มีเศรษฐกิจดี ได้มีการนำเสนอให้ชาวบ้านรู้จักเลี้ยงเป็ด หมู ไก่ โดยเลี้ยงทั้งไว้กินและเผื่อขาย

การปลูกปอก็เป็นผลมาจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ กล่าวคือ เมื่อมีแผนงานสร้างรายได้จากภาคเกษตร จึงมีการมองหาช่องทางว่าจะนำพืชชนิดใดมาให้เกษตรกรปลูก แล้วนำผลผลิตไปสร้างให้เกิดมูลค่าเพิ่มอย่างไร ปอจึงถือเป็นพืชเศรษฐกิจอีกอย่างหนึ่งที่ชาวภาคตะวันออกเฉียงเหนือในราว พ.ศ. 2512-18 นิยมกันมาก

การปลูกปอเท่าที่ได้มีประสบการณ์มานั้น ปลูกไม่ยากเลย เพียงแต่ถางป่าละเมาะที่น้ำท่วมไม่ถึงนั้นให้เตียน ประมาณย่างเข้าเดือนเมษายน ก็เริ่มหยอดเมล็ดพันธุ์ปอ โดยใช้เสียม หรือจอบ หรือไม้แหลมทิ่มดินพอให้เป็นแอ่ง แล้วหยอดเมล็ดปอลงไปแอ่งละ 3-4 เมล็ด แล้วก็เหยียบแอ่งให้กลบคลุมเมล็ดปอเอาไว้ พอสิ้นสงกรานต์ก็จะเริ่มมีฝนโปรยปราย เมล็ดปอได้แดดได้น้ำก็งอกงามดี ไม่ต้องใส่ปุ๋ยใดๆ ยิ่งถ้าปะเอาปีที่ฝนตกชุก ปอยิ่งงามทะลึ่งพรวด งอกเงยอย่างเห็นได้ชัด

ช่วงที่ปอเริ่มสูงราวเข่าหรือโคนขา ต้องดายหญ้า เนื่องจากหญ้าจะไปคลุมหน้าดิน เราเชื่อว่าจะไปแย่งอาหารปอ จึงต้องใช้เวลาเป็นสัปดาห์ในการดายหญ้า พวกเราเรียกการดายหญ้าว่า “เสียหญ้า” (เสีย ในที่นี้คือการทำให้สูญหาย ในขณะที่ภาษาไทยกลางใช้ว่าดายหญ้า) และเคยได้ยินชาวไทยโคราชเรียกว่า “ดายรุ่น” หรือ “ทำรุ่น”

ต่อจากนั้นก็ไม่ต้องฉีดพ่นยาฆ่าแมลงอะไรอีกเลย เนื่องจากปอก็เหมือนวัชพืชที่เกิดงอกงามได้ดีกับดินร่วนปนทรายในท้องที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แมลงก็ไม่พิรี้พิไรจะมากัดกิน ระวังอยู่บ้างก็คือวัวกับควายทั้งของครอบครัวตัวเองและของชาวบ้านคนอื่นที่เจ้าของเผลอให้มากัดกิน ถ้ากินสักเวิ้งย่อมๆ ก็ต่อว่าต่อขานกันเล็กน้อย ว่าเหตุใดไม่ดูแลวัวควายให้ดี แต่ถ้ามากินกว้างเป็นไร่หรือขนาดสนามฟุตบอลก็ต้องนำความไปขึ้นบ้านผู้ใหญ่บ้าน เสียค่าปรับกัน

ระหว่างที่รอต้นปอสูงได้ที่ ก็พอดีกับช่วงเวลาต้องหันหน้าลงนากัน พอสิ้นหน้าฝนราวปลายตุลาคมหรือต้นพฤศจิกายน เป็นช่วงเหมาะที่จะต้องลงมือตัดต้นปอ

ต้นปอที่แก่ได้ที่จะสูงราว 2.5-3 เมตร มีเปลือกหุ้มต้นหนา การตัดนั้นจะใช้มีดอีโต้คมๆ ฟันฉับไปที่โคนต้นให้ชิดพื้นดิน ต่อจากนั้นก็รวมทำเป็นมัด แต่ละมัดขนาดคอมะพร้าว หรือเส้นผ่าศูนย์กลางราว 10 นิ้ว ทำดังนี้จนหมดทั้งแปลง

การตัดปอมักไม่เอาแรง หรือไม่ขอแรงกัน เพราะถือว่าเป็นของที่ทำรายได้เป็นเงินเป็นทอง จึงต้องมีการจ้างคนในหมู่บ้านมาร่วมตัด แต่ถ้าครัวเรือนใดมีแรงงานมากก็ไม่จำเป็นต้องจ้าง

ต้นปอเมื่อมัดแล้วจะต้องแบกไปแช่น้ำ เรียกว่า “แช่ปอ” เพื่อให้เปลือกลำต้นปอเปื่อยยุ่ย แต่เส้นใยปอยังคงทนน้ำได้ การแช่น้ำ อาจแช่ในที่นาของตนเอง หรือตามห้วยตามหนองสาธารณะก็ได้

ธรรมดาของต้นปอนี้ เมื่อแช่น้ำก็ไม่จม จึงต้องโกยขี้เลนบริเวณรอบๆ มาโปะทับให้จมมิดน้ำ เพื่อว่าต้นปอจะได้รับน้ำทั่วทุกลำ แช่ไว้ราว 3-4 สัปดาห์

“ลอกปอ” ทางเข้าปราสาทพนมวัน บ้านโพธิ์ อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา พฤศจิกายน 2510 (ภาพจาก หนังสือ “บันทึกอีสาน ผ่านเลนส์ โดย วิโรฒ ศรีสุโร สามทศวรรษของการเดินทางบนที่ราบสูง”)

ต้นไม้ดิบ เมื่อแช่อยู่ในน้ำนานๆ ก็จะเกิดกลิ่นเน่าเหม็น และไม่ต้องสงสัยเลยว่าบริเวณที่แช่ปอนั้นจะมีกลิ่นเช่นไร ต่อให้คนตาบอดเดินไปใกล้ในรัศมี 30 เมตร ก็จะได้กลิ่นน้ำเน่าและรู้ได้โดยพลันว่าเป็นที่แช่ปอ

ต่อมาคือการลอกปอ โดยจะต้องโกยมัดปอที่จมน้ำนั้นขึ้นมาที่ริมตลิ่ง หาที่นั่งเหมาะๆ บางคนก็นำวิทยุยาวเกือบศอกมาเปิดฟังเพลง ฟังหมอลำ หรือฟังรายการละครวิทยุ ซึ่งรายการอย่างหลังนี้ เป็นการฝึกภาษาไทยโดยไม่รู้ตัว ผู้เฒ่าบางคนที่ขับลำเป็น ก็มีอารมณ์สนุกลำให้ฟัง เป็นกลอนลำตลก ลำเพอะ (เรื่องทางเพศ) ลำพื้นเวียง หรือกลอนลำประวัติเวียงจันทน์ ก็มี

วิธีการลอกปอ จะต้องตัดปอที่มัดเป็นเปลาะๆ หัว กลาง ปลาย ให้ลำต้นปอที่เปื่อยได้ที่นั้นเป็นอิสระเสียก่อน แล้วใช้เล็บหัวแม่มือจิกบริเวณโคนต้น ประมาณ 2-3 ต้น รวบใยปอแล้วดึงให้แล่งหลุดออกจากแกนต้น วางไว้เป็นกำๆ

ครั้นได้ปอที่ลอกออกจากต้นพอสมควรแล้ว ก็นำไปฟาดกับน้ำบริเวณที่สะอาดกว่า เพราะถ้าฟาดบริเวณที่ลอกปอหรือบริเวณที่น้ำขุ่น จะทำให้ปอมีสีคล้ำ ทำให้ราคาไม่ดี

การฟาดใยปอที่ลอกแล้วลงในน้ำ ก็มีจุดประสงค์ให้คราบเปลือกต้นปอที่ติดอยู่ตามใยหลุดออก ถ้าฟาดในน้ำที่มีเศษใบปอลอยอยู่หรือฟาดในน้ำขุ่น ก็จะทำให้ปอมีสีคล้ำอีกเช่นกัน ดังนั้นจึงต้องเทียวลอกเทียวฟาด เพราะถ้าลอกไว้นานๆ แล้วจึงนำไปฟาดกับน้ำ เปลือกปอจะแห้งติดกับเส้นใย ทำให้ฟาดหลุดออกยาก

การลอกปอ ถึงไม่จัดว่าเป็นงานฝีมือแต่ก็ปฏิเสธไม่เต็มคำ เพราะมันมีความยากง่ายอยู่ในที เช่น ถ้าผลีผลามดึงใยปอแรงเกินไป ลำแกนปอที่แช่น้ำนานนั้นเปราะ ก็พาลหักกลางลำหรือปลายลำ เดือดร้อนต้องไปคลำแล้วก็ลอกอีกทีหนึ่งให้เหลือแต่ใยปอล้วนๆ ถ้าดึงเบา เส้นใยก็ไม่แล่งหลุด บางต้นที่มีกิ่งก็หลุดยาก จึงต้องคอยละเมียดดึงออกเป็นช่วงๆ

ค่าจ้างลอกปอ มัดละ 6 สลึง ถึง 2 บาท คนที่ลอกชำนาญก็จะได้วันละ 14-15 มัด ผู้เขียนเป็นเด็กก็ไปรับจ้างลอกปอเช่นกัน เคยทำสูงสุดได้วันละ 5 มัด ได้เงินค่าจ้างตั้ง 10 บาท รู้สึกซึ้งค่าของเงินจริงๆ ว่า กว่าจะได้มา มันทั้งเหม็น ทั้งคันน้ำเน่า ตอนนั้นก็ไม่รู้สึกอะไรนัก เพราะมุ่งหวังอยากได้เงิน

ไม่มีใครๆ สวมหน้ากากกันกลิ่น หรือสวมถุงมือกันเชื้อโรคจากน้ำเน่ากันเลย เพราะตอนนั้นเราไม่เคยรู้จักหน้ากากกันเปื้อน กันกลิ่น หรือถุงมือยางกันน้ำกัดมือ

ทุกปีทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ลมหนาวมาเยือนไม่เคยเว้น ยิ่งเมื่อก่อนนั้น รู้สึกว่าหนาวนานกว่า พ.ศ. ปัจจุบัน การลอกปอท่ามกลางกลิ่นเน่าเหม็น ระคนกับลมหนาว จึงเป็นบรรยากาศที่คละเคล้าเข้ากันอย่างเหลือบรรยาย ยังดีที่มีแดดให้ได้อุ่นไอผิง กระนั้นก็เถอะ อยู่กลางแดดมากก็ร้อนเกินพอดี

พอตกเย็น ตะวันลับทิวไผ่ ทำให้นึกคร้ามในการจะต้องอาบน้ำ แต่ก็จำใจต้องอาบ รวบเอาฟางมาถูตามหลังเท้า ใต้ตาตุ่ม ขา แขน เพื่อขับไล่คราบเลนตมที่อยู่กับมันมาทั้งวัน สิ่งเหล่านี้พอลบล้างออกจากตัวไปได้บ้าง แต่ที่ยังคงติดค้างอยู่นานวันคือ “กลิ่นปอเน่า”

ชาวบ้านลอกปอ ภาพถ่ายเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๘ ในนิตยสาร “เสรีภาพ” ฉบับที่ ๑๑๓ พ.ศ. ๒๕๐๘ จัดพิมพ์โดยสำนักข่าวสารอเมริกัน

พวกเราเชื้อชาวทุ่งย่อมรู้พฤติกรรมกันและกันดี เพื่อนนักเรียนหลายคนก็มีกลิ่นปอเน่าติดตัวเช่นกัน เมื่อเวลาไปยืนเข้าแถวเคารพธงชาติ รู้สึกว่ากลิ่นของคนอื่นเหม็นกว่าของตัวเอง คุณครูก็ไม่ตำหนิอะไรมาก เพียงแต่บอกว่าให้อาบน้ำฟอกสบู่ให้ดี แถมยังออกชมเชยด้วยซ้ำว่าเป็นนักเรียนที่ดี รู้จักช่วยงานพ่อแม่และรู้จักหาเงินใช้เองอย่างสุจริต

กลิ่นความเหม็นของปอเน่ายังติดตรึงอยู่กับน้ำและโคลนตม เมื่อเวลาน้ำแห้งขอด พวกเราชาวบ้านก็ไปจับ “ปลาข้อน” (ปลาข้อน ภาษาไทยภาคกลางเรียกว่า ปลาตกคลัก คือ ปลา กุ้ง หรือสัตว์น้ำอื่นๆ ไปออกันอยู่ในแอ่งน้ำที่มีน้ำเหลืออยู่ไม่มาก แล้วก็มีขี้เลนอยู่ด้วย ถ้าเป็นพวกปลาซิว ปลากระดี่ พวกนี้ตายง่าย หรือแม้ไม่ตายเพราะน้ำน้อย ก็จะมีนกขายาว อย่างนกกระสา นกกระยาง มาจิกกินก่อนที่น้ำจะแห้งสนิท) เอามากินกัน

ปลาที่มีความอึด คือไม่ตายง่ายๆ ระหว่างที่เกิดภาวะน้ำแห้งขอดนี้ ได้แก่ ปลาดุก ปลาเข็ง (ปลาหมอ) ปลาค่อ (ปลาช่อน ซึ่งปลาช่อนตัวเล็กมักตายง่ายกว่าปลาช่อนตัวใหญ่) และที่สำคัญคือปลาหลด มันสามารถมุดประสมขี้เลนเขละๆ อยู่ได้หลายๆ วัน และสามารถหลบเร้นรอดพ้นจากสายตานกกินปลาได้

ปลาที่เก็บจากแอ่งตกคลักของแหล่งน้ำแช่ปอนี้ จะยังคงมีความเหม็นติดตัวปลาไปด้วย ปลาหลดนั้น เมื่อนำมาปิ้ง หรือทอดด้วยน้ำมันร้อนๆ ก็ยังมีกลิ่นอยู่ แต่พวกเราก็กินกัน

การปลูกปอเป็นอดีตไปแล้ว เพราะทุกวันนี้ ไม่ปรากฏว่ามีพื้นที่ปลูกปอจำนวนมากๆ นำมาแช่ แล้วลอกอย่างเดิม ถ้าเป็นอย่างที่เล่ามานี้ ยังไม่แน่นักว่า ตกถึงปีนี้ แม้ค่าจ้างลอกปอขึ้นอีกเป็นมัดละ 30 บาท จะยังมีคนรับจ้างอยู่หรือไม่ เพราะทุกคนอยากได้ “แต่” ค่าแรงวันละ 300 บาท เป็นส่วนใหญ่

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “ลอกปอ” เขียนโดย วีระพงศ์ มีสถาน ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤษภาคม 2560


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 6 พฤศจิกายน 2560