“ฤดูหนาวเป็นหนอน ฤดูร้อนเป็นหญ้า” ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ ถั่งเช่า

ถั่งเช่า สมุนไพร แพทย์แผนจีน
ถั่งเช่า หรือ Cordyceps Sinensis (ภาพโดย Rafti Institute จาก Wikimedia Commons สิทธิ์การใช้งาน CC BY 2.5) - มีการตกแต่งกราฟิกเพิ่มโดย กอง บก.ศิลปวัฒนธรรม

“ถั่งเช่า” อีกชื่อคือ “ตังถั่งเช่า” เป็น สมุนไพร ที่ใช้กันทั้ง แพทย์ทางเลือก และ แพทย์แผนจีน มาอย่างยาวนาน และขึ้นชื่อในสรรพคุณเกี่ยวกับการช่วยเสริม “สมรรถภาพทางเพศ” พบได้ในพื้นที่ภูเขาสูงของจีน เป็นสมุนไพรตามธรรมชาติที่ทั้งหายากและราคาแพง ผลิตภัณฑ์ยาหรืออาหารเสริมส่วนใหญ่จึงเป็นถั่งเช่าที่ปลูกในห้องปฏิบัติการ

องค์ประกอบของถั่งเช่าคือสิ่งมีชีวิต 2 ชนิดอยู่ร่วมกัน ได้แก่ หนอนผีเสื้อกลางคืนชนิดหนึ่ง ชื่อ เฮเพียลัส (ชื่อเต็ม Hepialus americanus Oberthur) กับ “เห็ด” หรือเห็ดรา ที่มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า คอร์ดีเซปส์ (Cordyceps) และสายพันธุ์ที่หายากและเฉพาะถิ่นกว่าจากที่ราบสูงทิเบตชื่อ คอร์ดีเซปส์ ไซเนนซิส (Cordyceps sinensis) สปอร์เห็ดจะขึ้นอยู่บนตัวดักแด้หรือตัวอ่อนหนอนผีเสื้อที่ฝังตัวจำศีลอยู่ใต้ดินในฤดูหนาว ก่อนหนอนจะตายในฤดูใบไม้ผลิ เห็ดจึงเจริญขึ้นจากการดูดเอาสารอาหารจากตัวหนอนมาใช้ 

Advertisement

ถั่งเช่าที่เราเห็นเป็นลักษณะแท่งยาว ๆ ก็คือตัวหนอนที่มีเห็ดขึ้นบนตัว เป็นที่มาของฉายา “ตังถั่งแห่เช่า” ซึ่งแปลไทยได้ว่า “ฤดูหนาวเป็นหนอน ฤดูร้อนเป็นหญ้า” นั่นเอง

ตำราเรียนเกี่ยวกับเชื้อราและโรคพืช (1917) แสดงภาพราในตัวอ่อนแมลง รวมถึง Cordyceps Sinensis หรือถั่งเช่า (ภาพจาก Flickr / No known copyright restrictions)

สรรพคุณทางยาของถั่งเช่าในตำราสมุนไพรจีนระบุว่า มีสรรพคุณคล้าย “โสม” คือ มีฤทธิ์อุ่น รสหวาน และมีกลิ่นหอม ช่วยบำรุงร่างกายสำหรับผู้ที่ร่างกายไม่ค่อยแข็งแรง หรืออยู่ในช่วงฟื้นไข้ทั้งช่วยบำบัดอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยล้า

ไม่เพียงเท่านั้น ถั่งเช่ายังมีสรรพคุณในฐานะ สมุนไพร แก้ไอ หอบหืด ช่วยละลายเสมหะ ช่วยให้นอนหลับสนิท ปรับการทำงานของกระเพาะอาหารให้เป็นปกติ บำรุงปอด ไต ป้องกันการลดจำนวนของเม็ดเลือดขาวหลังผ่านการรักษาโรคด้วยเคมีและรังสี ป้องกันอาการน้ำอสุจิเคลื่อนบ่อย เป็นสมุนไพรที่ช่วยปรับการทำงานของร่างกายให้เป็นปกติ และหากกินติดกันอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานจะช่วยรักษาอาการปวดเอวด้วย

วิธีใช้หรือกินถั่งเช่า ตามแบบ แพทย์แผนจีน จากหนังสือ “มหัศจรรย์สมุนไพรจีน” โดย บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กสิกรไทย บอกวิธีการปรุงยาจากถั่งเช่าด้วย 3 กรรมวิธี พร้อมประโยชน์จากการรับประทาน ดังนี้

1. ถั่งเช่า (ทั้งตัว) จำนวน 6 ตัว ตุ๋นกับเป็ดแก่ที่สับเป็นชิ้น ๆ แล้ว กินเป็นซุป ช่วยบำรุงไต รักษาอาการปวดหลังบริเวณบั้นเอวและบำบัดภาวะฝันเปียกบ่อยจนเกิดอาการ “กามตายด้าน”

2. ถั่งเช่า 9 กรัม ห่วยซัว หรือกรอยจีน (พืชกินหัว คล้ายเผือก-มัน) 30 กรัม ตุ๋นรวมกับไก่ดำ 2 ขีดครึ่ง เติมน้ำพอประมาณ ตุ๋นจนเนื้อไก่เปื่อยนุ่ม แล้วกินทั้งน้ำซุปและเนื้อไก่ ช่วยบำรุงกำลัง แก้ท้องผูก ปากแห้ง เหงื่อออกง่าย หอบ ปัสสาวะเหลืองและปริมาณน้อย

3. ถั่งเช่า 10 กรัม ต้มในน้ำ เติมน้ำตาลกรวดจนละลาย นำน้ำที่ต้มมาดื่มวันละหนึ่งหม้อ ต่อเนื่องทุกวันเป็นเวลาหนึ่งเดือน รักษาอาการไอจากโรคปอด

อย่างไรก็ตาม การใช้สมุนไพรนี้ในทางยาก็มีข้อควรระวังอยู่ด้วย คือ ผู้ที่มีอาการไข้หวัด โรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง และภาวะการเต้นหัวใจผิดปกติ รวมถึงกลุ่มที่แพ้หนอนหรือเห็ด ไม่ควรกินอาหารหรือยาที่มีส่วนผสมของถั่งเช่า ผู้ที่มีอาการคอแห้งหรือร้อนในควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ด้วย

ยิ่งไปกว่านั้น เป็นที่ทราบกันว่าถั่งเช่ามีราคาสูงมาก จึงมีการทำของปลอมออกมาขาย ข้อสังเกตคือถั่งเช่าของแท้จะมีส่วนที่เป็นตัวหนอนอวบอ้วนและสีเหลืองเป็นมันเงา ส่วนด้านในเนื้อสีเหลืองนวล และส่วนที่เป็นก้านเห็ดไม่ยาวจนเกินไป

วงการแพทย์แผนปัจจุบันพบว่าถั่งเช่ามีส่วนประกอบของ วิตามินบี 12 กรดอะมิโนต่าง ๆ โปรตีน กรดไขมันอิ่มตัว-ไม่อิ่มตัว กรดถั่งเช่า (Cordycepic acid) และสารถั่งเช่า (Cordycepin) โดยมีงานวิจัยเกี่ยวกับถั่งเช่าและการใช้เพื่อรักษาโรคมะเร็ง โรคไต โรคเบาหวาน ปัญหาสมรรถภาพทางเพศ และโรคเกี่ยวกับภูมิต้านทานบกพร่องต่าง ๆ 

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยจากการทดสอบดังกล่าวยังมีจำนวนน้อยมาก และส่วนใหญ่เป็นเพียงการทดลองในสัตว์ทดลอง (หนู) และหลอดทดลองเท่านั้น

สรรพคุณที่แท้จริงของถั่งเช่าจากการศึกษาด้วยหลักการแพทย์สมัยใหม่ จึงต้องรอการพิสูจน์ต่อไป…

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กสิกรไทย จำกัด. (2550). มหัศจรรย์สมุนไพรจีน. กรุงเทพฯ : พิมพ์ดี.

พจ. ลิขิตา เพนคา, โรงพยาบาลสมิติเวช (วันที่ 18 มิถุนายน 2564) : “เจาะลึก ‘ถั่งเช่า’ สมุนไพรรักษาโรค”. <https://www.samitivejhospitals.com/th/article/detail/%E0%B8%96%E0%B8%B1%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%8A%E0%B9%88%E0%B8%B2>

รองศาสตราจารย์ ดร.นพมาศ สุนทรเจริญนนท์ และ ธิดารัตน์ จันทร์ดอน, สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล (สืบค้นวันที่ 14 มีนาคม 2566) : “ถั่งเช่า ช่วยเพิ่มสมรรถภาพจริงหรือ?”. (ออนไลน์)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 มีนาคม 2566