ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
ฝ้าย ไม้ยืนต้นขนาดเล็ก ใบลักษณะคล้ายฝ่ามือ ดอกสีเหลืองซึ่งจะเปลี่ยนเป็นสีชมพูเมื่อดอกแก่ใกล้โรย ผลเมื่อแก่จะแตกออกเป็นปุยสีขาวมีเมล็ดมาก
ฝ้ายกับคนไทยนั้นผูกพันกันมานาน โดยมากนิยมปลูกกันในบริเวณบ้านของตนเอง นอกจากจะให้ผลผลิตในชีวิตประจำวันสามารถทอเป็นผืนผ้ายัดไส้ทำหมอน ฯลฯ ฝ้ายยังนำมาเป็นสมุนไพรพื้นบ้านได้อีก โดยใช้เป็นยาคุมกำเนิดฝ่ายชาย
ส่วนที่ใช้เพื่อคุมกำเนิดไม่ใช่ส่วนของปุยฝ้ายแต่เป็น “เมล็ด” ในปุยฝ้าย คือเมล็ดที่เหลือแยกจากปุยฝ้ายก่อนจะนำฝ้ายไปดีดให้ฟู เพื่อนำไปสู่กระบวนการปั่นเป็นเส้นด้ายสำหรับทอเป็นผืนผ้า
เมล็ดฝ้ายเมื่อนำไปบีบจะให้น้ำมันเมล็ดฝ้าย (Cottonseed Oil) ใช้เป็นน้ำมันสลัด หรือใช้ทาผิวให้ความชุ่มชื้น และจากการวิจัยพบว่าเมล็ดฝ้ายประกอบด้วยสารกอสซีปอล (gossypol) ซึ่งมีฤทธิ์เป็นยาคุมกำเนิดในผู้ชาย โดยได้มีการทดลองให้ชายนุ่มพลังปึ๋งปั๋ง 8,000 คน กินกอสซีปอลอยู่นาน 6 เดือน ปรากฏว่าสามารถคุมกำเนิดได้ผลดีและปลอดภัย เมื่อหยุดกินฤทธิ์คุมกำเนิดก็จะหมดไป
ปัจจุบันต้นฝ้ายเริ่มหายาก แม้ในต่างจังหวัดไม่ค่อยเห็นปลูกกันมากเหมือนเมื่อก่อน เพราะฝ้ายเป็นพืชล้มลุก ให้ผลเพียงปีละครั้งส่วนมากจะปลูกในช่วงหน้าฝนพอถึงหน้าหนาวก็ได้เวลาเก็บมาใช้กัน ยาคุมกำเนิดแบบภูมิปัญญาชาวบ้านจากเมล็ดฝ้ายก็แทบไม่มีให้เห็นแล้ว
ที่มา :
“ฝ้ายคุมกำเนิดพ่ออีหนู”. โดย ชิดชนก ชมพฤกษ์. ศิลปวัฒนธรรม ฉบับ ธันวาคม 2540
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 16 มกราคม 2561