พระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์ พระราชธิดาในร.4 ที่ถูกถอดจากฐานันดรศักดิ์ เหตุทําผิดมหันตโทษ

พระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์อรรคราชสุดา
พระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์อรรคราชสุดา

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นสมัยที่ไทยเริ่มเปิดประเทศมีสัมพันธไมตรีกับประเทศทางตะวันตกอย่างเต็มใจ ทรงเริ่มจากการศึกษาภาษาเพื่อสื่อความหมายให้เข้าใจอย่างถูกต้อง ต่อจากนั้นก็ทรงเปลี่ยนแปลงปรับปรุงบ้านเมืองด้านต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับการที่จะคบหาสมาคมในฐานะประเทศที่เสมอกัน เช่นด้านสาธารณูปโภค โปรดให้สร้างถนนหนทาง สร้างอาคารแบบใหม่ ดูแลเอาใจใส่เรื่องความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง ตลอดจนเน้นเรื่องคุณภาพชีวิตของราษฎร

ด้านขนบธรรมเนียมประเพณี โปรดอนุโลมให้เป็นไปตามแบบที่นิยมกันในอารยประเทศ แต่ก็ยังคงรักษาประเพณีดั้งเดิมซึ่งเป็นเครื่องแสดงความเป็นชาติไทย โดยเฉพาะพระราชสำนักฝ่ายในนั้น ในสมัยนี้ได้รับการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด นับแต่เรื่องการอภิบาลพระราชโอรสธิดา ซึ่งเดิมเคยอยู่ในความดูแลรับผิดชอบของพระมารดาและพี่เลี้ยงนางนม มิใคร่ทรงมีโอกาสได้ใกล้ชิดพระบรมราชชนก แต่ในรัชสมัยนี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯ พระราชทานความรักและพระราชวโรกาสให้พระเจ้าลูกเธอทั้งปวงได้ใกล้ชิดสนิทสนมกับพระองค์ โดยไม่มีขนบประเพณีมาเป็นเครื่องกีดขวาง เรื่องนี้ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงเล่าไว้ในหนังสือเรื่อง พระประวัติตรัสเล่า ความตอนหนึ่งว่า

“…พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระเมตตาแก่พระราชโอรสและพระราชธิดายิ่งนัก เสมอด้วยบิดากับบุตรแห่งชนสามัญทั้งปวง ทรงอุ้มชูชมเชยมิได้ทรงรังเกียจ และมิได้ทรงถือเกียรติยศอย่างหนึ่งอย่างใดเลย…”

พระเจ้าลูกเธอทุกพระองค์ทรงมีโอกาสตามเสด็จพระราชบิดาประพาสนอกวังทั้งใกล้และไกลอยู่เนือง ๆ ทรงมีโอกาสได้พบเห็นและรับรู้เรื่องราวความเป็นอยู่ของผู้คนภายนอกกำแพงพระบรมมหาราชวัง เกี่ยวกับเรื่องนี้ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเล่าไว้ว่า

“…เวลามีเมล์จากต่างประเทศ พระเจ้าลูกเธอก็ทรงยินดี เพราะมักมีผู้ส่งของเข้ามาถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ บางทีมีของเล่นแปลก ๆ ก็ได้รับพระราชทานเนือง ๆ บางทีเสด็จประพาส เวลาบ่ายทรงแวะห้างฝรั่ง ซึ่งตั้งอยู่ที่ตึกหน้าพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ หรือเสด็จแวะตามร้านทรงซื้อของเล่นหรือของเสวยมาพระราชทานพระเจ้าลูกเธอเสมอ…” และทรงเล่าเรื่องตามเสด็จพระราชดำเนินประพาสหัวเมืองว่า

“…ในตอนปลายรัชกาลที่ 4 มีการเสด็จพระราชดำเนินหัวเมืองหลายครั้ง หัวเมืองที่โปรดนั้นมีกรุงเก่า เพชรบุรี นครปฐม และประจวบเป็นที่สุด การเสด็จแต่ละครั้งเป็นกระบวนใหญ่ ฝ่ายในที่เป็นชั้นเอกได้ตามเสด็จมาก….”

นอกจากนี้ พระราชนารีในพระราชสำนักฝ่ายในยังทรงมีโอกาสได้รับการศึกษาอย่างกว้างขวางกว่าพระราชนารีในรัชสมัยที่ผ่านมา เพราะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ จ้างแหม่มแอนนา เลียว โนเวนส์ สุภาพสตรีชาวอังกฤษเข้ามาสอนภาษาอังกฤษและความรู้เกี่ยวกับประเทศต่าง ๆ อีกทั้งยังทรงมีโอกาสได้พบปะสมาคมกับชาวต่างประเทศอย่างค่อนข้างอิสระ โดยเฉพาะพระราชนารีรุ่นใหญ่ 3 พระองค์ ซึ่งทรงเจริญพระชันษาไล่เลี่ยกัน คือ พระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์อรรคราชสุดา พระองค์เจ้าทักษิณชานราธิราชบุตรี และพระองค์เจ้าโสมาวดีศรีรัตนราชธิดา พระเจ้าลูกเธอทั้ง 3 พระองค์นี้ทรงมีโอกาสใกล้ชิดกับพระบรมราชชนกมากกว่าพระราชธิดาพระองค์อื่น ในการเสด็จประพาสหว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตอนปลายรัชสมัยแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงความอิสรเสรีที่พระราชนารีเหล่านี้ทรงได้รับ ดังที่เซอร์ แฮรี ออด เล่าไว้ในบันทึกการเดินทางครั้งนั้นว่า

“…ส่วนพระเจ้าลูกเธอพระองค์หญิง 3 พระองค์ที่มีพระชนมายุสูงกว่าก็ทรงพระโฉมศุภลักษณ์ เสียแต่เสวยหมาก ถ้าไม่ย้อมพระทนต์ตามธรรมเนียมของชาวสยามแล้ว ต้องชมว่าเป็นสตรีที่ทรงกัลยาณีเลิศลักษณ์ทีเดียว พระกิริยามารยาทก็น่าชมและตรัสภาษาอังกฤษได้ทุกพระองค์…”

บันทึกถึงพระจริยวัตรในการเสด็จประพาสครั้งนี้ว่า “…พระองค์เจ้าหญิงที่ทรงพระเจริญเป็นผู้ทรงเลี้ยงเครื่องดื่ม…” และ “…ขณะเมื่อท่านเจ้าเมืองเฝ้าพระเจ้าแผ่นดินอยู่นั้น พระเจ้าลูกเธอทั้งพระองค์เจ้าหญิงและพระองค์เจ้าชายได้ทรงต้อนรับพวกที่ไปกับท่านเจ้าเมืองที่ในท้องพระโรง ทรงแจกการ์ดและพระรูปถ่ายแก่พวกเหล่านั้น และทรงแสดงความหวังในที่พระเจ้าแผ่นดินคงจะได้เสด็จประพาสเมืองสิงคโปร์…”

ท่ามกลางการเลี้ยงดูพระเจ้าลูกเธอตามแบบสมัยใหม่นี้ ทรงมีความห่วงใยถึงชีวิตในภายภาคหน้าของพระราชโอรสธิดาทุกพระองค์ ปรากฏความห่วงใยนี้ชัดเจนในหนังสือเทศนาพระราชประวัติ พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 5 ความตอนหนึ่งว่า

“…แต่พ่อขอเสียเป็นอันขาดทีเดียว คิดถึงคำพ่อสั่งสอนให้มากนักหนา อย่าสูบฝิ่น แลอย่าเล่นผู้หญิงที่ชั่ว อย่าเล่นเพื่อนกับใครเลย มีผัวมีเถิด แต่อย่าให้ปอกลอกเอาทรัพย์ของเจ้าไปได้นัก…”

เมื่อจะเสด็จสวรรคตก็ตรัสฝากฝังพระเจ้าลูกเธอกับสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ เสนาบดีผู้ใหญ่ ไว้ว่า

“…ข้าเป็นคนลูกมากรากดก แล้วลูกก็ยังเล็กเด็กอยู่ ไหนคุณศรีสุริยวงศ์ก็ได้อุปถัมภ์บำรุงข้ามา ถ้าข้าไม่มี ตัวแล้วขอให้คุณศรีสุริยวงศ์อุปถัมภ์บำรุงลูกข้าเหมือนอย่างตัวข้า ขออย่าให้มีภัยอันตราย เป็นที่กีดขวางด้วยการแผ่นดิน ถ้าจะมีความผิดสิ่งหนึ่งสิ่งใดเป็นข้อใหญ่ ขอแต่ชีวิตไว้ให้เป็นแต่โทษเนรเทศ…”

แม้จะทรงมีความห่วงใยมากมายเพียงใดก็ตาม แต่วิถีชีวิตของแต่ละคนก็ย่อมต้องเป็นไปตามกรรมลิขิตไม่ เว้นฟ้าเว้นดินดังวิถีชีวิตของพระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์อรรคราชสุดา พระราชธิดาพระองค์หนึ่งในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์อรรคราชสุดา ทรงเป็นพระราชธิดาประสูติแต่เจ้าจอมมารดาแพ ธิดาพระสำราญหฤทัย (อ้าว ธรรมสโรช) ข้าหลวงเดิมซึ่งทรงให้ความไว้วางพระราชหฤทัยมากคนหนึ่ง นับเป็นพระราชธิดาพระองค์แรกซึ่งประสูติเมื่อทรงพระบรมราชาภิเษกแล้ว เล่ากันว่าเป็นเพราะพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเชี่ยวชาญวิชาการด้านโหราศาสตร์จึงน่าจะทรงรู้ถึงพระชาตาของพระเจ้าลูกเธอทุกพระองค์เป็นอย่างดี ด้วยเหตุนี้จึงทรงมีพระราชกระแสกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นพระเจ้าลูกยาเธอ กรมขุนพินิตประชานาถ ความว่า

“…ถ้าเจ้าได้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน ในกระบวนพี่น้องทั้งหมด จะมีพระองค์หญิงหนึ่งองค์ และพระองค์ชายอีกหนึ่งองค์ ทรงกระทำความผิดเป็นมหันตโทษ ขอให้ไว้ชีวิตพระองค์เจ้าพี่น้องทั้งสององค์ด้วย…”

พระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์อรรคราชสุดา

คำทำนายปรากฏเป็นความจริงเมื่อพระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์อรรคราชสุดา หรือที่ชาววังออกพระนามว่า “เสด็จพระองค์ใหญ่” หรือ “เสด็จพระองค์ใหญ่ยิ่ง” ซึ่งอยู่ในฐานะพระเชษฐภคินี พระชนมายุได้กว่า 30 พรรษา “ได้กระทําความผิดเป็นมหันตโทษ” ดังความในจดหมายเหตุพระราชกิจรายวันลงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ จ.ศ. 1248 (พ.ศ. 2429) บันทึกไว้ว่า

“เกิดความเป็นที่เสื่อมเสียพระเกียรติยศ คือพระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์ ซึ่งเดิมว่าเป็นโรคท้องมานนั้น ปวดครรภ์แลคลอดออกมาเป็นลูกชายที่เรือนภายในพระบรมมหาราชวัง สมเด็จ กรมพระภาณุพันธ์ฯ กรมหมื่นนเรศร กรมหมื่นอดิศร กรมหลวงดำรง ได้จัดการที่จะชำระพิจารณาการที่ได้เกิดขึ้นต่อไป แต่ลูกนั้น เอาออกไปไว้วังกรมหมื่นอดิศรอุดมเดช

เวลา 10 ทุ่ม สมเด็จกรมพระภาณุพันธ์วงศ์วรเดช กรมหลวงเทววงศ์ได้ออกไปเมืองเพชรบุรี นำความนี้ออกไปกราบบังคมทูลพระกรุณา

ส่วนการภายใน กรมหมื่นอดิศรได้สืบสาวชำระได้ตัวอีเผือก บ่าวพระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์ ซึ่งเป็นผู้ชักสื่อ แลอ้ายโต ผู้ล่วงพระราชอาญามาถาม ได้ความว่ารักใคร่กันมาตั้งแต่ยังเป็นภิกษุอยู่ในวัดราชประดิษฐ์จนอ้ายโตสึกมา พระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์ได้หาตึกให้อยู่ที่ถนนเจริญกรุงแล้วลอบปืนเข้าไปในพระที่นั่งศิวาลัยมหาปราสาท เข้าไปนอนอยู่กับพระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์ 4 คราว คราวละคืนบ้าง 2 คืนบ้าง ได้มีเรื่องราวโดยพิสดาร”

ครั้นทรงทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว ต่อมาอีก 2-3 วัน ได้เสด็จออกทรงสั่งเรื่องความผิดในวังคราวนี้ว่าทั้งคู่ประพฤติการชั่วอย่างอุกฤษฎ์ อย่างนี้เป็นมหันตโทษตามกฎมณเฑียรบาลว่า 1. ควรริบราชบาตรเป็นหลวง 2. ให้ถอดจากยศและบรรดาศักดิ์ 3. ลงพระราชอาญา 90 ที (เมี่ยน) แล้วประหารชีวิต (นี่คือโทษตามระบิลกฎมณเฑียรบาลเดิมที่มีอยู่)

แต่โดยที่ทางฝ่ายสตรีเป็นเชื้อพระวงศ์ยังทรงมีพระมหากรุณาอยู่ จึงโปรดเกล้าฯ เพียงให้ริบราชบาตรสวิญญาณกทรัพย์ อวิญญาณกทรัพย์เข้าเป็นของหลวงสำหรับจ่ายซ่อมแปลงพระอารามและสิ่งที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างไว้ ทั้งพระราชทานอภัยโทษเฆี่ยน 90 ที (3 ยก) กับโทษประหารชีวิตนั้นให้ยกเสียด้วย เพียงให้ถอดจากยศบรรดาศักดิ์เจ้าลงเป็นหม่อม และเรียกชื่ออย่างคนธรรมดาสามัญ เอาตัวจำไว้ ณ คุกข้างใน (สนม) นอกจากนั้นให้ทำตามคำของลูกขุนผู้พิจารณาปรับโทษ ซึ่งหมายถึงฝ่ายชายผู้ล่วงพระราชอาญาต้องรับโทษตามกฎมณเฑียรบาลทุกประการ

ความผิดมหันตโทษครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ได้ทรงทำตามพระราชกระแสขอร้องของสมเด็จพระบรมราชชนกแล้วทุกประการ และยังทรงมีพระราชดำริป้องกันเหตุการณ์มิให้เกิดซ้ำรอยขึ้นอีก ดังปรากฏข้อความในพระราชบัญญัติเกี่ยวกับพระภิกษุสงฆ์และพระราชสำนักฝ่ายใน ความว่า

“ห้ามมิให้พระภิกษุสงฆ์ที่มีพรรษาต่ำกว่ายี่สิบ (หมายถึงบวชมายังไม่ถึงยี่สิบปี) มิให้เข้าในพระบรมมหาราชวังชั้นใน ส่วนฝ่ายหญิงอุบาสิกาผู้ใฝ่พระธรรมเพียงไรก็ตาม ถ้าอายุต่ำกว่า 40 ปีแล้วไซร้ ห้ามมิให้ออกมาฟังเทศน์ ถืออุโบสถศีลที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามเป็นอันขาด ประกาศมา ณ วันศุกร์ เดือน 3 แรม 11 ค่ำ ปีจอ อัฐศก ศักราช 1248 อันเป็นวันที่ 6644 ในรัชกาลปัจจุบัน (ที่ 5)”

แม้เหตุการณ์จะผ่านพ้น แต่ความหม่นหมองในพระราชหฤทัยยังคงอยู่เห็นได้ชัดในพระราชหัตถเลขาที่ทรงกราบทูลกรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์ระบายความทุกข์เรื่องของบ้านเมืองเกี่ยวกับข้อบาดหมางระหว่างวังหลวงกับวังหน้า มีข้อความที่ทรงกล่าวถึงพระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์อรรคราชสุดา ว่า

“…เห็นท่านพระองค์ใหญ่ยิ่งเยาวลักษณ์ครั้งนี้ก็โซมมากทีเดียว กลัวหม่อมฉันจะเป็นบ้าง แต่จะเพียงนั้นหรือจะยิ่งกว่านั้นก็ไม่ทราบ…”

ข้อความในพระราชหัตถเลขาบ่งบอกถึงความไม่สบายพระทัยของพระองค์และสภาพของพระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์ ซึ่งเป็นที่แน่นอนว่าคงจะทรงทุกข์ร้อนและตรอมพระทัยในเหตุการณ์ครั้งนั้น จน สิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. 2429 รวมพระชนมายุเพียง 35 พรรษา

ถ้าจะว่าไปแล้วก็เป็นเรื่องที่น่าคิดว่า หากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงมีพระชนมายุอยู่ เหตุการณ์ดังกล่าวอาจจะไม่เกิดขึ้น เพราะหากไม่เป็นเพราะความรู้สึกรักและเกรงพระทัยอันเป็นธรรมดาของลูกที่มีต่อพ่อแล้ว ก็ยังมีอีกสิ่งหนึ่งซึ่งอาจบอกเหตุว่าเหตุการณ์นี้ไม่น่าจะเกิดขึ้น ก็คือพระราชดำริที่ก้าวไกลและทันสมัย เข้าพระทัยความเป็นไปของโลกและความเป็นธรรมดาของชีวิตมนุษย์เป็นอย่างดี ดังปรากฏในหลักฐานเอกสารหลายแห่ง เช่น ในประกาศพระราชทานอนุญาตให้ข้าราชการฝ่ายในทูลลาออกนอกราชการได้ มีความตอนหนึ่งว่า

“…ข้าพเจ้าคิดจะเปลื้องความลำบากที่ผู้หญิงเป็นอันมาก มาต้องยัดเยียดเบียดเสียดกันอยู่เปลืองอายุไป…” และ “…ผู้หญิงที่เป็นเมียข้าพเจ้าอยู่ก่อนลาออกไปมีผัวอยู่ข้างนอกกันหลายคน ตัวของหญิงเหล่านั้นกับข้าพเจ้าก็ดีกันหมดไม่ได้ขัดเคืองกระดากกระเดื่องกับใคร…”

และในพระบรมราโชวาทที่โปรดพระราชทานแก่พระราชธิดาก็มีข้อความว่า “…อย่าเล่นเพื่อนกับใครเลย มีผัวมีเถิด…”

จากหลักฐานพระราชดำรินี้จึงทําให้น่าที่จะคิดได้ว่า หากทรงมีพระชนมายุยืนยาว ความเปลี่ยนแปลงในพระราชสำนักฝ่ายในเกี่ยวกับการที่พระราชธิดาจะทรงอภิเษกสมรสตามพระทัยโดยความเห็นชอบของพระบรมราชชนก อาจเกิดขึ้นในรัชกาลนี้ก็เป็นได้

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 กันยายน 2563