ผู้เขียน | พานิชย์ ยศปัญญา |
---|---|
เผยแพร่ |
หลังจากฤดูแล้งผ่านไป ก็เข้าสู่ฤดูฝน ต้นไม้ใบหญ้าหลายชนิด ถือโอกาสนี้ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ บำรุงส่วนต่างๆ ครั้นหัวลมหนาวพัดมาได้ทีผลิดอกออกผล อวดความสวยงาม เช่น สาบเสือ
สาบเสือ ถึงแม้จัดให้อยู่ในกลุ่มของวัชพืช แต่หากมองให้ลึกไปกว่านั้น พืชชนิดนี้ให้ประโยชน์ในหลายแง่มุม เป็นต้นว่าไม้ดอกไม้ประดับ สมุนไพร ไม้รักษาสภาพแวดล้อม และผลพลอยได้อีกอย่างหนึ่งคือแหล่ง
น้ำหวานของผึ้ง
สาบเสือเป็นชื่อกลางที่รู้จักกันดี แต่พืชชนิดนี้เรียกได้อีกมาก เป็นต้นว่า ดงฮ้าง (ดงร้าง) หญ้าฝรั่ง ชิโพกวย บ่อโส่ ฝรั่งรุกที่ หญ้าดอกขาว มุ้งกระต่าย ยี่สุ่นเถื่อน หญ้าฝรั่งเศส หญ้าเหม็น หญ้าหมาหลง หญ้าเสือหมอบ หญ้าเมืองงาย และอื่นๆ
ชื่อของสาบเสือ บางท้องถิ่น ถึงแม้ในจังหวัดเดียวกัน ก็เรียกต่างกัน เช่น คนแถวอำเภอด่านซ้าย อำเภอนาแห้ว จังหวัดเลย เรียกสาบเสือว่า ดงฮ้าง แต่คนอำเภอเมืองเลย เรียกว่า หญ้าฝรั่ง
เหตุที่สาบเสือมีชื่ออื่นๆ นั้น คงเป็นเพราะเป็นพืชที่มาจากต่างประเทศ ท้องถิ่นใดเห็นลักษณะเป็นแบบไหนก็เรียกอย่างนั้น อย่างคำว่า “สาบเสือ” เพราะว่าดอกและใบของพืชจากต่างแดนไม่มีกลิ่นหอม ตรงกันข้ามกลับมีกลิ่นสาบ บางคนจินตนาการว่าเป็นกลิ่นสาบเสือ เมื่อต้องการหนีภัยสัตว์ร้าย ก็วิ่งเข้าไปยังดงสาบเสือ แล้วจะปลอดภัย สัตว์อื่นไม่กล้าตาม กลิ่นของต้นไม้ใบไม้จะกลบกลิ่นของคน
ดินบริเวณใดที่อุดมสมบูรณ์ ต้นสาบเสือจะขึ้นอยู่อย่างหนาแน่น สานถักทอกัน เพราะเหตุนี้ คงเป็นที่มาของชื่อ “หญ้ามุ้งกระต่าย” และ “หญ้าหมาหลง”
ชื่อหนึ่งที่มีความหมายชัดเจนคือ ดงร้างหรือดงฮ้าง ปกติแล้วแทบไม่พบเห็นว่าสาบเสือแทรกตัวอยู่ในป่าใหญ่ แต่จะพบเห็นดงสาบเสือในที่โล่ง ซึ่งต้นไม้ใหญ่ถูกตัดโค่นลงแล้ว เป็นป่าดงที่ร้างไร้ซึ่งต้นไม้ใหญ่
การเกิดขึ้นของหญ้าสาบเสือในดงที่ร้าง ถือว่าเป็นภารกิจสำคัญไม่น้อย อย่าลืมว่า เดิมผืนดินที่เต็มไปด้วยต้นไม้ ยามฝนตกลงมา กว่าที่เม็ดฝนจะกระทบกับดินโดยตรง ต้องผ่านยอดไม้หลายชั้น การพังทลายของดินจึงแทบไม่มี เมื่อป่าถูกตัด หากไม่มีหญ้าสาบเสือคลุมดินไว้ รับรองว่า ดินเกิดการชะล้างพังทลายไม่มากก็น้อย
หน้าที่ในการคลุมดินของสาบเสือ จะช้าหรือเร็ว ขึ้นอยู่กับการเกิดของต้นไม้ที่ถูกทำลายไป หากไม้ยืนต้นบริเวณนั้นเติบโตขึ้นมาบังแสงได้ ต้นสาบเสือก็จะค่อยๆ สลายตัวไป แต่ความเป็นจริงในยุคปัจจุบัน พื้นที่ใดถูกบุกรุกแล้ว มักจะมีการถือครองที่ดินและใช้ประโยชน์ต่อ
มีการบอกเล่าต่อๆ กันมาว่าหญ้าสาบเสือไม่ได้มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย แต่บ้านเดิมอยู่ทางอเมริกากลาง การแพร่ระบาดทำได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมาก เพราะดอกเมื่อบานแล้ว เมล็ดมีน้ำหนักเบา ปลิวไปตามลมได้ไกลๆ
ต้นสาบเสือ เป็นไม้ล้มลุก แตกกิ่งก้านสาขามาก
ลำต้น ขณะที่ยังไม่แก่มีขนอ่อนๆ เมื่ออายุมากขึ้นจะหายไป ใบมีขนนุ่มๆ เมื่อขยี้มีกลิ่นแรง ลำต้น
สูง 1-2 เมตร
เป็นไม้ใบเดี่ยวออกจากลำต้นที่ข้อ แบบตรงกันข้าม รูปรีค่อนข้างเป็นสามเหลี่ยม ขอบใบหยัก ปลายใบแหลม ฐานใบกว้าง เรียวสอบเข้าหากัน สีเขียวอ่อน เส้นใบเห็นชัดเจน 3 เส้น มีขนปกคลุมผิวใบทั้ง 2 ด้าน
ดอกเป็นช่อ สีขาวหรือฟ้าอมม่วง มีดอกย่อย 35 ดอก ดอกวงนอกบานก่อน กลีบดอกหลอมรวมกันเป็นหลอด ผลขนาดเล็กมาก รูปร่างเป็นห้าเหลี่ยมสีน้ำตาลหรือดำ มีหนามแข็งบนเส้นของผล ส่วนปลายผลมีสีขาว ช่วยพยุงให้ผลและเมล็ดปลิวไปตามลม
สาบเสือเป็นพืชล้มลุก ที่มีอายุมากกว่า 1 ปี การบานของดอก มีขึ้นเมื่ออากาศหนาวเย็น บริเวณใดที่สาบเสือขึ้นเป็นดง จะเห็นดอกขาวพราว สวยงาม แต่ความนิยมในแง่ของไม้ดอกไม้ประดับเมื่อเปรียบเทียบกับบัวตองแล้ว สาบเสือยังห่างไกล แทบไม่มีการพูดถึง ยุคสมัยก่อน ที่ไม่มีถนนปลอดฝุ่นอย่างปัจจุบัน เมื่อดอกสาบเสือบาน ฝุ่นบนถนนจะทำให้ดอกสาบเสือ จากสีขาวกลายเป็นสีน้ำตาลสีแดง
มีสารสำคัญในต้นสาบเสือ โดยเฉพาะส่วนยอดอ่อน ดังนั้นจึงมีการใช้สาบเสือในแง่ของสมุนไพรมานาน ถือว่าเป็นสมุนไพรสามัญประจำถิ่น หาได้ตามธรรมชาติ
ตามท้องถิ่นชนบทห่างไกล ชาวบ้านมีอาชีพทำไร่ไถนา มักประสบกับอุบัติเหตุเล็กๆ น้อยๆ อย่างเช่น ขณะถากหญ้า เท้าที่ไม่ได้ใส่รองเท้าบู๊ต ถูกคมจอบเลือดไหล ขณะถางป่า เผลอถูกมีดฟันมือ
ชาวบ้านไม่ได้มียาประจำตัว แต่ก็ได้สาบเสือช่วยไว้ เมื่อถูกของมีคม เขานิยมนำยอดสาบเสือมาทุบให้ละเอียดพอสมควร สังเกตเห็นว่ามีน้ำนิดๆ นำยอดสาบเสือที่ทุบโปะไว้บริเวณแผล ให้น่าอัศจรรย์ใจมาก เพราะว่าเลือดหยุดไหลเร็ว ขณะเดียวกันแผลก็ไม่เรื้อรัง
คุณค่าทางสมุนไพร ถูกบอกเล่าสืบต่อกันมา โดยที่ไม่ได้บันทึกไว้ แต่เมื่อมีเหตุที่ต้องใช้ พ่อบอกกับลูก พี่บอกกับน้อง เป็นภูมิปัญญาของคนชนบท หากเป็นสังคมเมืองก็ต้องเข้าคลีนิคหรือไม่ก็โรงพยาบาล
สังคมชนบทในยุคเก่าก่อน การปลดทุกข์ นิยมเข้าไปในป่ากัน เรียกว่า “ไปป่า” ซึ่งมีความจำเป็นไม่น้อย
บางชุมชนในพื้นที่สูง ไม่นิยมทำส้วม เพราะความเชื่อที่ถือสืบทอดต่อกันมา ไม่นิยมนั่งถ่ายทับรอยกัน การไปถ่ายในป่าจึงมีความจำเป็น หากป่ามีมาก คนมีน้อย ก็สามารถปล่อยได้ตามสะดวก แต่หากคนมีมาก ป่ามีน้อย มีความจำเป็นต้องขุดหลุม ใช้จอบหรือเสียมเป็นเครื่องมือ ความเชื่อแบบนี้ก็ดีไปอีกแบบ ถือว่าเป็นการคืนความสมบูรณ์สู่ธรรมชาติ
ป่าสาบเสือ หรือป่าหญ้าดงร้างถือว่าเป็นป่าที่เหมาะต่อการปลดทุกข์เป็นอย่างมาก ด้วยเหตุผลหลายประการด้วยกัน
ประการแรก ดงสาบเสือขึ้นหนาแน่น สานกันไปมา ทำให้บังสายตาผู้คนได้ดี แต่ควรกะระยะทางให้ห่างจากถนนพอสมควร ถึงแม้คนไม่เห็น แต่เสียงและกลิ่นอาจจะบอกตำแหน่งที่นั่งได้
ประการต่อมา หากนั่งปลดทุกข์ในดงสาบเสือ ไม่ต้องพกพากระดาษชำระ โดยเฉพาะผู้ใช้รถใช้ถนนตามต่างจังหวัด ปวดท้องเมื่อใดก็จอดรถได้ การถ่ายทุกข์ตามป่า ถือว่าเป็นการปลดทุกข์เพิ่มมวลความสุขอย่างแท้จริง เปรียบเทียบป่ากับปั๊มน้ำมันแล้วเทียบกันไม่ติด ปั๊มน้ำมันบางแห่งอาจจะไม่สะอาด กลิ่นแรง บางคราวขณะที่นั่งอยู่อาจจะถูกรบกวนด้วยพนักงานทำความสะอาดก็ได้ แต่การนั่งในป่า ธรรมชาติดูสะอาดตา อากาศบริสุทธิ์ ยิ่งบริเวณใดอยู่สูง มองเห็นวิวไกลๆ แล้วยิ่งสุดยอด
ใครที่ขับรถเพลินๆ แล้วเกิดปวดท้องขึ้นมา ต้องรีบจอดรถวิ่งลงไปในป่าสาบเสือ แล้วไม่มีกระดาษชำระ ไม่ต้องตกใจ ต้นสาบเสือช่วยท่านได้
ต้นสาบเสือที่ความสูงราว ๑ ศอกจะมีใบขึ้นอยู่อย่างหนาแน่น โดยเฉพาะช่วงฤดูฝน เมื่อถ่ายทุกข์เสร็จ ใช้มือจับที่โคนต้นสาบเสือ แล้วกำ…รูดจากโคนขึ้นสู่ปลาย ใบสาบเสือจะติดมือมาเป็นกำ จากนั้นก็ใช้เช็ดทำความสะอาดแทนกระดาษ
ขนนุ่มๆ ของใบสาบเสือ จะทำให้รู้สึกไม่ระคายเคือง หากมีความรู้สึกว่ายังไม่สะอาด สามารถรูดใบสาบเสือได้ไม่จำกัด สำหรับผู้เป็นโรคริดสีดวงทวาร ควรใช้ความนุ่มนวลนิดหนึ่ง ซึ่งก็ต้องระวังเป็นปกติธรรมดาอยู่แล้ว
บางคนที่วิ่งเข้าไปในดงสาบเสือหน้าแล้ง ใบสาบเสือมีน้อยและอยู่สูง หากจะลุกขึ้นเดินไปรูดใบหรือขยับที่ เกรงว่าจะเลอะเทอะ ไม่ต้องกลัว ไม่จำเป็นต้องใช้ใบ
ต้นสาบเสือ มีขนาดเล็ก สะอาด ไม่มีกิ่งก้าน…น่าใช้มาก หักมาสัก 2-3 ต้น ใช้ทำความสะอาดได้ดี วิธีการอาจจะต่างจากการใช้ใบ…คร่าวๆ สำหรับผู้ไม่มีประสบการณ์ คือตวัดเบาๆ แล้วขยับไม้ไปเรื่อยๆ
ยุคเก่าก่อน วัวควายยังมีมาก วัวควายจะเดินผ่านป่าสาบเสือเป็นทาง จากนั้นคนก็เดินตาม เด็กๆ บางครั้งไม่รู้จะไปวิ่งเล่นที่ไหน ก็ได้ป่าสาบเสือนี่แหละวิ่งเล่นกัน
การเรียนการสอนในชั้นประถม สมัยนู้น ครูตีนักเรียนเป็นเรื่องปกติธรรมดา แต่ไม่ตีเอาเกือบตายตามที่เป็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์อย่างทุกวันนี้ ไม้เรียวที่ครูใช้ตี จะมีแขนงไม้ไผ่ไว้ขู่ แต่ไม่ค่อยได้ใช้…ที่ใช้เป็นประจำคือต้นสาบเสือ หน้าที่การไปหักไม้เรียวมาคือหัวหน้าชั้น
มีครูอยู่ท่านหนึ่ง ครูบุญปัน ดวงอุปะ เวลาเดินเข้ามาในชั้นเรียน นักเรียนที่คุยกันส่งเสียงดัง ครูจะไม่บอกให้หยุดโดยน้ำเสียงอย่างเดียว แต่ครูจะจับต้นสาบเสือฟาดไปที่กระดานดำจนเกิดเสียงดังและต้นสาบเสือขาดกระจุยกระจาย พร้อมกับออกเสียงว่า…ฟังๆๆ…จากนั้นจึงเริ่มสอนได้
ไม้เรียวจากต้นสาบเสือ หากเป็นหน้าแล้ง ต้นแก่และแข็ง ใครทำผิดช่วงนี้ ต้องทนเจ็บหน่อย แต่หากเป็นต้นฝน สาบเสือต้นอ่อนและหักง่าย
สาบเสือ เป็นวัชพืช หากยกระดับเป็นดอกไม้ ก็เป็นได้แค่ดอกไม้ริมทาง แต่พืชชนิดนี้ก็สร้างงานสร้างเงินได้พอสมควร โดยเฉพาะการเลี้ยงผึ้ง
กระบวนการเลี้ยงผึ้ง ผู้เลี้ยงจะนำผึ้งตระเวนเก็บน้ำหวานจากดอกของพืช อาจจะเป็นไม้ยืนต้น ไม้ดอก
เช่น ถึงเวลาดอกลิ้นจี่ที่จังหวัดสมุทรสงครามบาน คนเลี้ยงผึ้งก็จะยกรังผึ้งไปวางตั้ง ให้ผึ้งบินออกไปเก็บน้ำหวาน จากนั้นคนก็ได้น้ำผึ้งจากผึ้งอีกทีหนึ่ง ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นกับพืชชนิดอื่นเป็นต้นว่า ลำไย นุ่น ทานตะวัน สาบเสือ เป็นต้น
คุณธวัชชัย สายทิพย์ หรือคุณเป็ด หัวหน้างานภูมิทัศน์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เป็นนักเลี้ยงผึ้งมืออาชีพ คุณเป็ดบอกว่า ตนเองอยู่ที่โคราช จึงเน้นนำผึ้งเก็บน้ำหวานแถบจังหวัดสระบุรีและลพบุรี ช่วงฤดูหนาว ที่ดอกทานตะวันบาน
คุณเป็ดเล่าว่า ผึ้ง 9 คอน หากตัวผึ้งสมบูรณ์ดี ปล่อยให้เก็บน้ำหวานในสวนลำไย สัปดาห์หนึ่งจะได้น้ำผึ้งราว 8-10 กิโลกรัม
ผึ้ง 9 คอน ที่ปล่อยตามไร่ทานตะวัน สัปดาห์หนึ่งได้น้ำผึ้งประมาณ 4-5 กิโลกรัม ในป่าสาบเสือจำนวนและเวลาเท่ากัน คุณเป็ดบอกว่า น่าจะได้ไม่เกินที่ปล่อยในไร่ทานตะวัน
“ผมไม่เคยนำผึ้งไปหาน้ำหวานตามป่าสาบเสือ เพราะผมอยู่ตรงนี้ไง แถวเขื่อนป่าสัก ไม่ไกล เคยได้ยินมาว่า มีคนเลี้ยงผึ้ง นำผึ้งไปเก็บน้ำหวานจากต้นสาบเสือที่อำเภอท่าลี่ จังหวัดเลย จังหวัดน่านก็มี แต่เรื่องแบบนี้เขาไม่ค่อยบอกกัน เวลานำผึ้งไปปล่อยให้หาน้ำหวาน จะได้น้ำผึ้งมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เป็นต้นว่าความสมบูรณ์ของตัวผึ้งเอง แล้วก็ดินฟ้าอากาศ หากมีฝนแย่เลย” คุณเป็ดบอก
สาบเสือเป็นตัวบ่งบอกความอุดมสมบูรณ์และดินฟ้าอากาศได้ดี คุณวรพงศ์ สาระรัตน์ อดีตเป็นเจ้าหน้าที่ประมง ตระเวนไปมาแล้วทั่วท้องทะเลไทย รวมทั้งอ่างเก็บน้ำที่มีอยู่ในประเทศ ปัจจุบันเป็นนิติกรกรมประมง คุณวรพงศ์เล่าว่า ตนเองไปฝึกงานที่อำเภอนาแห้ว จังหวัดเลย ที่นั่นป่าเปิดใหม่ ต้นสาบเสือสูงท่วมหัว เข้าสู่ฤดูหนาว มีดอกสีขาวเต็มไปหมด
สาบเสือที่จังหวัดเลยต้นสูง แต่สาบเสือที่อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี บ้านเกิดเมืองนอนของคุณวรพงศ์เอง ต้นสูงอย่างมากก็แค่ไหล่
ใครที่เดินทางไกลแล้วปวดท้อง นอกจากแวะปั๊มแล้วยังมีทางเลือกอีกทางหนึ่ง คือป่าละเมาะ ป่าสาบเสือ ถือว่าเป็นการคืนความสมบูรณ์ เพิ่มปุ๋ยให้กับธรรมชาติ
อ่านเพิ่มเติม :
- วันนี้มี “อุตุฯ” แจ้งฤดูหนาวมา แล้วคน(จีน)โบราณรู้ฤดูกาลที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างไร
- “ฤดูหนาวเป็นหนอน ฤดูร้อนเป็นหญ้า” ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ ถั่งเช่า
- “ตีนเป็ด” มาจากไหน? ความย้อนแย้งของต้นไม้ที่ส่งกลิ่นหอม (ฉุน) ว้าวุ่นไปทั่วเมือง
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 ธันวาคม 2560