“อินทรธนู” ธนูของพระอินทร์ ที่มาของ “รุ้งกินน้ำ” ที่คนไทยห้ามชี้นิ้วใส่

จิตรกรรม พระอินทร์ อินทรธนู ด้านหลัง ฉาก เป็น ก้อนเมฆ รุ้งกินน้ำ
พระอินทร์ ภาพเขียนด้านทิศตะวันออกของโดมภายในห้องพระบรรทม (ภาพจากหนังสือ Prince Naris a Siamese Designer โดย ผศ.ดร .ม.ล.จิตตวดี จิตรพงศ์ พระปนัดดาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์)

“รุ้งกินน้ำ” ปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดขึ้นภายหลังฝนหยุดตก ซึ่งเราสามารถมองเห็นความสวยงามของมันได้อย่างเพลิดเพลินใจ จนใคร่อยากจะให้เพื่อนฝูงในเยาว์วัยได้พบเห็น จึงไม่แปลกใจที่หลายคนมักจะเอานิ้วชี้ไปที่สายรุ้ง แต่กลับถูกผู้ใหญ่สั่งสอนว่า ไม่ควรเอานิ้วชี้รุ้ง เพราะถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หากแต่สายรุ้งกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ได้อย่างไร? แล้วทำไมจึงห้ามเอานิ้วชี้รุ้ง? 

รุ้งกินน้ำ ตามความเชื่อคนไทยโบราณมองว่า รุ้งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์จากฟ้าที่ลงมากินอาหารหรือกินน้ำหลังฝนตก และรุ้งจะปรากฏให้เห็นเป็นแถบสี 7 สีไล่หลังตามมา คือ สีม่วง คราม น้ำเงิน เขียว เหลือง แสด แดง และเนื่องจากแถบแสงสีทั้ง 7 สีเกิดเมื่อรุ้งลงมากินน้ำ จึงทำให้คนไทยเรียกว่า “รุ้งกินน้ำ” 

รุ้งกินน้ำในภาษาบาลี-สันสกฤตคือคำว่า “อินทรธนู” ซึ่งเป็นคำสมาสจากการนำคำว่า “อินทร” ในภาษาสันสกฤต มีความหมายคือ พระอินทร์ มารวมกับคำว่า “ธนู” ในภาษาบาลี มีความหมายคือ อาวุธชนิดหนึ่ง ซึ่งประกอบด้วยคันธนู และลูกธนูปลายแหลม ถ้าหากเราแปลตรงตัว ความหมายจะแปลว่า “ธนูของพระอินทร์” 

แต่ทำไมพระอินทร์จึงได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับรุ้งกินน้ำได้? พระอินทร์ถือเป็นเทพเจ้าที่มีบทบาทสำคัญเป็นอย่างยิ่งในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และศาสนาพุทธ ในฐานะ “เทพเจ้าแห่งฝนฟ้าอากาศ” ผู้คอยดลบันดาลฝนจากฟากฟ้า เพื่อทำให้ทุ่งหญ้าเขียวขจี สัตว์ทั้งหลายอ้วนพี และให้นมเนยอุดมสมบูรณ์ และสัมพันธ์กับ “รุ้งกินน้ำ” ปรากฏการณ์ซึ่งเกิดขึ้นภายหลังจากสายฝนที่โปรยปรายได้สลายลงไป

พระอินทร์ถือเป็นเทพเจ้าที่มีอายุเก่าแก่ เพราะเป็นเทพเจ้าที่ “ชาวอารยัน” บูชาในฐานะ “แม่ทัพสวรรค์” เทพเจ้าผู้ทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลฟ้าฝน และมีสายฟ้าเป็นอาวุธ เมื่อชาวอารยันละทิ้งวิถีชีวิตเร่ร่อน อพยพไปสู่ยุโรปและอินเดีย ความเชื่อเรื่องแม่ทัพสวรรค์ซึ่งสามารถควบคุมดินฟ้าอากาศและมีสายฟ้าเป็นอาวุธก็ยังคงปรากฏให้เห็นในความเชื่อของกลุ่มชนชาวอารยัน ที่พูดภาษาในตระกูลอินโด-ยูโรเปียน อย่าง Zeus และ Jupiter ของชาวกรีกและโรมัน Thor ของชาวนอร์ส และพระอินทร์ของอินเดีย

พระอินทร์ของอินเดียได้ปรากฏขึ้นครั้งแรกในคัมภีร์ฤคเวท คัมภีร์สำคัญเล่มแรกของศาสนาพราหมณ์ ซึ่งกล่าวว่า พระอินทร์เป็นราชาแห่งเทพเจ้าและมวลมนุษย์ เป็นเจ้าแห่งท้องฟ้า ถือ “วัชระ” หรือ “อสนีบาต” (สายฟ้า) เป็นอาวุธ และเป็นผู้บันดาลให้ฝนตกเพื่อให้แผ่นดินชุ่มฉ่ำและอุดมสมบูรณ์ 

พระอินทร์ตามคัมภีร์ฤคเวทถือเป็นโอรสของเทยฺาส์ (ท้องฟ้า) และปฤถวี (ดิน) มีพระอนุชา คือ พระอัคนี เทพเจ้าแห่งไฟ พระอินทร์มีลักษณะร่างกายใหญ่โต คอมหึมา แผ่นหลังสีน้ำตาล ท้องมีขนาดใหญ่ ทรงพลังอันหาใครต้านมิได้ ผมสีน้ำตาล ปากกว้างและงดงาม มีเคราสีทอง มีนิสัยเป็นนักรบ มีวัชระเป็นอาวุธ ชื่นชอบการดื่มน้ำโสม (สุรา) เพื่อปลุกใจในเวลารบกับอสูร 

พระอินทร์มีวีรกรรมที่สำคัญ คือ การทำลายอสูรผู้ทำให้เกิดความแห้งแล้งและความมืดมิด นามว่า  “วฤตระ” หรือนิยมเรียกว่า “วฤตราสูร” ในบางแห่งเรียกว่า อหิ หมายถึง งูใหญ่ วฤตราสูรเป็นอสูรงูที่มีขนาดใหญ่กว่าภูเขาและสูงเท่าท้องฟ้า กั้นน้ำไว้ไม่ให้ไหลลงสู่โลกมนุษย์ ซึ่งนำมาสู่ความแห้งแล้ง สร้างความเดือดร้อนไปทุกหย่อมหญ้า ร้อนจนถึงพระอินทร์ต้องลงมาปราบเพื่อให้โลกมีความสงบสุข พระอินทร์จึงได้ใช้วัชระผ่าฟาดใส่วฤตราสูรจนสิ้นชีพไป และการตายของวฤตราสูรได้ทำให้วิกฤตภัยแล้งของโลกได้จบลง  

วฤตราสูรถือเป็นตัวแทนของความแห้งแล้งที่ผู้คนในสังคมเกษตรกรรมไม่พึงปรารถนา ส่วนพระอินทร์ถือเป็นตัวแทนของสายฝน พระอินทร์จึงเป็นเหมือนความหวังที่ทำหน้าที่ชะโลมโลกให้กลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง โดยการใช้วัชระ (สายฟ้า) ผ่าเมฆ จนกลายเป็นสายฝนหลั่งลงมาจากฟากฟ้าให้ผืนดินชุ่มฉ่ำ 

และหลังจากฝนหยุดตก พระอินทร์จะใช้ “อินทรธนู” ยิงพาดผ่านท้องฟ้าปรากฏให้เห็นเป็นสายรุ้ง อันเป็นนิมิตอันดีที่เทพเจ้าลงมาประทานพรให้กับโลกมนุษย์

แม้ว่าภายหลัง พระอินทร์จะถูกลดบทบาทและสถานะให้ด้อยลงไป ทั้งจากศาสนาฮินดูที่กดให้พระอินทร์กลายเป็นเทพชั้นรอง และในศาสนาพุทธที่แปรสภาพให้พระอินทร์กลายเป็นเทพผู้อุปถัมภ์พุทธศาสนา หากแต่ความเชื่อเรื่องรุ้งกินน้ำซึ่งเกิดขึ้นจากธนูพระอินทร์ก็ยังคงมีอยู่ ไม่ได้จางหายไปไหน ปรากฏให้เห็นผ่านรูปแบบของภาษา ที่สังคมไทยยังคงใช้คำว่า “อินทรธนู” หมายถึง “รุ้งกินน้ำ” อยู่  

สาเหตุนี้เอง จึงทำให้คนไทยมองว่า “รุ้งกินน้ำ” เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพราะถือว่า สายรุ้งเป็นการแสดงอิทธิฤทธิ์ของราชาแห่งปวงเทวดา การชี้รุ้งจึงถือว่าเป็นการลบหลู่ เชื่อว่าจะทำให้นิ้วกุดได้ หากแท้จริงแล้วนั้น รุ้งเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นหลังฝนตก เมื่อแสงแดดวิ่งลอดผ่านละอองน้ำในอากาศ จะทำให้สีต่าง ๆ ในแสงเกิดการหักเหขึ้นเป็นแถบจนเกิดเป็นรุ้งกินน้ำ 

ส่วนเหตุผลที่แท้จริงว่า ทำไมคนโบราณจึงห้ามเด็ก ๆ ชี้นิ้วใส่รุ้งนั้น อาจเป็นเพราะว่า หลังจากฝนตก เด็ก ๆ มักออกมาวิ่งเล่นหลังฝนหยุดตกพอดีกับช่วงที่เกิดรุ้งกินน้ำ ซึ่งเหล่าเด็ก ๆ อาจสนใจรุ้งกินน้ำ เพราะถือเป็นสิ่งสวยงามและสะดุดตาและมักเอานิ้วชี้ใส่รุ้ง แต่หากเอานิ้วชี้ขึ้นฟ้าโดยไม่ระวังก็อาจจะทำให้เกิดอันตราย เช่น อาจเอานิ้วจิ้มตาผู้อื่นได้ คนโบราณที่ยังไม่เข้าใจหลักวิทยาศาสตร์และเป็นห่วงลูกหลานจึงได้คิดกุศโลบายเช่นนี้ขึ้นเพื่อไม่ให้เด็ก ๆ เอานิ้วชี้รุ้งได้โดยไม่ระวัง โดยการเชื่อมโยงให้รุ้งกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์จากฟ้าและพระอินทร์ไปเสีย

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

บัญชา ธนบุญสมบัติ. All about Clouds เล่มนี้มีเมฆมาก. (2562). กรุงเทพฯ : มติชน 

ศานติ ภักดีคำ. พระอินทร์. (2556). กรุงเทพฯ : อมรินทร์. 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 6 พฤษภาคม 2566