“ลิ้นชิมไฟ” ที่เยาวราช ศาสตร์การกินให้ถึงจีน เพราะอาหารอร่อยอยู่ที่การคุมไฟ

เยาวราช อาหารจีน อ.วิโรจน์ คุณสมชัย

วันเสาร์ที่ 27 พฤษภาคม 2566 เวลา 13.00-14.00 น. ณ มติชนอคาเดมี “เครือมติชน” โดย 3 องค์กรชั้นนำ ได้แก่ “เส้นทางเศรษฐี” ผู้นำสื่อที่สนับสนุนการสร้างอาชีพเอสเอ็มอี “ศิลปวัฒนธรรม” ผู้นำสื่อด้านประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม และ “มติชนอคาเดมี” ผู้นำด้านการฝึกอบรมสร้างอาชีพ ผนึกกำลังจัดงานครั้งสำคัญ Upskill Thailand 2023 “ถึงรส ถึงชาติ”

ภายในงานมีเวที “Storytelling เสวนาครบรส สุดมันส์” ที่ ศิลปวัฒนธรรม จัดเต็มนักวิชาการชั้นนำร่วม “ทอล์ก” ถ่ายทอดเรื่องราวน่ารู้และเรื่องเล่าในหัวข้อ “กินอย่างไรให้ถึงจีน เปิดพิกัดเมนูเด็ดและร้านลับเยาวราช” โดย อาจารย์วิโรจน์ ตั้งวาณิชย์ ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์จีน และ คุณสมชัย กวางทองพานิชย์ นักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเยาวราช มาบอกเล่าตำนานอาหารการกินย่านเยาวราชแบบเจาะลึกผ่านประสบการณ์ตรง

คุณสมชัย กวางทองพานิชย์ ผู้เติบโตในเยาวราช มีโอกาสศึกษาประวัติความเป็นมาในถิ่นฐานย่านเกิดจนได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเยาวราช รู้ลึกทุกซอกมุมไชนาทาวน์แห่งกรุงเทพฯ เริ่มต้นด้วยการเล่าถึงพื้นที่ย่านเยาวราช ชี้ให้เห็นว่าบ้านเรือนจะเรียงรายเป็นแนวเฉียงขนานกับคลอง เพราะเคยทำแปลงผักมาก่อน

เยาวราช เป็นชุมชนหนาแน่นและศูนย์กลางความเจริญด้านต่าง ๆ มาก่อน เห็นได้จากอาคารสูงรุ่นแรก ๆ ของไทยล้วนตั้งอยู่ที่เยาวราช เช่น ตึก 7 ชั้น ซึ่งถือว่าเป็น “Entertainment Complex” ศูนย์รวมสิ่งบันเทิง หลักฐานคือข้อความประกาศว่า “มีเต้นรำทุกคืน” ที่มีทั้งภาษาไทย จีน และอังกฤษ

ตำนานร้านอาหารและแหล่งของกินเยาวราชที่โดดเด่นคือ “ภัตตาคารห้อยเทียนเหลา” ซึ่งเป็นอาคารสำคัญ เพราะมีการจัดงานมงคลสมรสอยู่บ่อยครั้ง อาคารนี้ปรากฏในแผนที่เก่าตั้งแต่ พ.ศ. 2467 ก่อนย้ายมาอยู่ที่บริเวณเสือป่า อาหารของภัตตาคารเต็มไปด้วยอาหารอาหารฝรั่ง-จีน มีข้อมูลว่า น่าจะเป็นภัตตาคารแห่งแรกของไทยด้วย นอกจากนี้ ยังมีร้านในตำนานอื่น ๆ ที่มีชื่อเสียง เช่น “เยาวยื่น” สมัยรัชกาลที่ 6 “ภัตตาคารก๋ำจันเหลา” เป็นต้น

คุณสมชัย กล่าวว่า เยาวราชในอดีตไม่ได้มีดีแค่ร้านอาหาร แต่เป็นศูนย์กลางมหรสพอย่างโรงภาพยนตร์และโรงงิ้วด้วย เคยมีโรงภาพยนตร์และโรงงิ้วมากกว่า 20 โรง เรียงรายอยู่ตลอดเส้นเจริญกรุง-เยาวราช ร้านอาหารสำคัญ ๆ มักอยู่ข้างอาคารเหล่านี้ แต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 หลังจากญี่ปุ่นเข้ามาในไทย โรงภาพยนตร์เยาวราชไม่มีหนังใหม่ฉาย ต้องฉายเรื่องเก่าซ้ำ ๆ จนผู้คนท่องบทพูดได้คล่องปากเลยทีเดียว

อาจารย์วิโรจน์ ตั้งวาณิชย์ ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ ภาษา และวัฒนธรรมจีน ปรมาจารย์ด้านจีนศึกษาในประเทศไทย ผู้ถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับจีนในแง่มุมต่าง ๆ ได้อย่างสนุกสนาน เพลิดเพลิน ครบครันด้วยสาระน่ารู้ ให้นิยามถึงเยาวราชในฐานะศูนย์กลางย่านเศรษฐกิจในอดีตว่า

“เยาวราชก็คือ ฟิฟท์ อเวนิว ของนิวยอร์ก คือ ฌ็องเซลิเซ่ ของฝรั่งเศส คือ กินซ่า ของญี่ปุ่น ทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ในเยาวราช เช่นไปนิวยอร์ก ไปถึงต้องไปเข้าแถวซื้อตั๋วที่จะไปดูละครเวที พอเสร็จออกมาก็นั่งกินข้าว ตรงนั้นก็มีร้านอาหารเยอะแยะหรูหรา เหมือนกันเวลาเราไปปารีส เราไปถนนฌ็องเซลิเซ่ กลางคืนเราก็ไปดูมูแล็งรูฌ เสร็จออกมาก็ยังมีอาหารฝรั่งเศสให้กินมากมาย เมื่อก่อนเยาวราชเป็นแบบนี้…”

ทั้งบอกเล่าถึงเยาวราชในฐานะที่ตั้งของห้างสรรพสินค้าดังในตำนาน ในอดีต สินค้าต่างชาติ-สินค้านำเข้าต่าง ๆ ต้องมาซื้อที่เยาวราช ก่อนถูกสยามสแควร์ชิงบทบาทดังกล่าวไป เพราะถนนเพชรบุรีตัดใหม่ถูกทำให้กลายเป็นย่านบันเทิงสนองความต้องการของทหารอเมริกันในช่วงสงครามเย็น ห้างสรรพสินค้าใหม่จึงออกมาจากเยาวราช แต่บทบาทด้านอาหารการกินของเยาวราชยังไม่เปลี่ยนแปลง อาหารจีนที่หรูที่สุดยังรวมศูนย์ที่เยาวราชเช่นเดิม ต้องมากินเยาวราชเท่านั้น

อาจารย์วิโรจน์ ยังชี้ให้เห็นว่า คนจีนกินอย่างไรจึงเรียกว่ากินให้อร่อย โดยยกประเด็นเรื่อง “ขบไฟ เคี้ยวควัน” หรือวิธีควบคุมไฟในการทำอาหาร จากภูมิปัญญาจีนที่สั่งสมมากว่า 5,000 ปี คนจีนจึงมีวิสัยทัศน์ต่าง ๆ เกี่ยวกับการทำอาหารเยอะมาก การจะทำอาหาร ต้องดูตั้งแต่การใช้ไฟ เรียกว่า “ลิ้นชิมไฟ” คือ “หนึ่งต้องดูสี สองดมกลิ่นแล้วหอม สามเข้าปากแล้วลิ้นบอกว่า ‘YES’ มีทั้ง รูป รส กลิ่น สี และปรัชญา”

อาจารย์วิโรจน์เล่าประสบการณ์ถึงการได้ลิ้มรสอาหารจากพ่อครัวชาวฮ่องกงคนหนึ่ง ทั้งที่เป็นเมนูทั่วไปอย่าง กะหล่ำปลีทอดน้ำปลา แต่รังสรรค์ออกมาได้อย่างยอดเยี่ยม กะหล่ำปลีเป็นสีน้ำแข็ง (ใส) สีสวย เข้าปากแล้วสัมผัสได้เลยว่าควบคุมไฟในการประกอบอาหารได้อย่างเหมาะสม

อาจารย์วิโรจน์กล่าวถึงราดหน้าสูตรเมื่อครั้งอาจารย์ยังเด็กด้วย ซึ่งรสชาติดีด้วยหลักการเดียวกัน คือ ตัวเส้นใสสวยงาม ลิ้มรสแล้วสัมผัสได้ถึง “ไฟ” ที่เหมาะสม มีการเล่าประสบการณ์เมนูลูกฟักนึ่ง หนึ่งในเมนูขึ้นชื่อของห้อยเทียนเหลา เป็นเมนูที่ใส่วัตถุดิบดี ๆ ลงไปนึ่งพร้อมลูกฟักเยอะมาก แต่ปัจจุบันไม่มีแล้ว รวมถึง ตุ๋นสมองหมู ของภัตตาคารเยาวยื่น ซึ่งปัจจุบันไม่พบแล้วเช่นกัน พร้อมกล่าวว่าคนจีนเชื่อเรื่อง “กินอะไร บำรุงไอนั่น กินปอดบำรุงปอด กินตับบำรุงตับ…” ร่างกาย อารมณ์ อุดมการณ์ ยังส่งผ่านหรือถ่ายทอดผ่านอาหารได้ด้วย

คุณสมชัย สรุปเสริมอาจารย์วิโรจน์อีกครั้งว่า หัวใจของการทำอาหารจีนอยู่ที่ “การคุมไฟ” นี่แหละ

วิทยากรทั้งสองท่านยังให้ความเห็นตรงกันในเรื่องความเชี่ยวชาญด้านอาหารของคนจีนกลุ่มต่าง ๆ อาจารย์วิโรจน์บอกว่าคนจีนกวางตุ้งนั้น “ย่างเก่ง” เชี่ยวชาญการทำเป็ดย่าง รวมถึงติ่มซำ ส่วนคนจีนแต้จิ๋ว เชี่ยวชาญเมนูเป็ดพะโล้

ประเด็นนี้ คุณสมชัยบอกว่า อาหารเยาวราชมีความเป็นกวางตุ้งสูงกว่าแต้จิ๋ว ทั้งร่วมแลกเปลี่ยนเกร็ดความรู้เกี่ยวกับอาหารจีนในย่านเยาวราชอีกมากมายหลายเมนู เช่น ลูกชิ้นปลาต้องจีนแต้จิ๋ว ก๋วยเตี๋ยวสูตรแต้จิ๋วไม่ใส่ถั่วงอกเพราะจะกลบกลิ่น-รสของน้ำซุป และคนจีนกวางตุ้งต้มซุปเป็นเลิศ มีสูตรการควบคุมไฟว่า ต้องฟู่สามที นิ่งสามที” เป็นต้น

คุณสมชัย ยังพูดถึงประเด็นอาหารอร่อยที่บางครั้งถูกทำให้ไม่อร่อยอย่างที่ควรจะเป็นจากประสบการณ์ของอาจารย์วิโรจน์ว่า ปัญหาของร้านอาหารคือบางครั้งคิดว่า ทำแล้วคุณไม่รู้ว่าเราทำของดี”

ทั้งกล่าวถึง Storytelling ของย่านทรงวาดว่าเป็นถนนที่ “มีกลิ่น” นั่นคือกลิ่นอบเชย กลิ่นทรงวาดคือกลิ่นเครื่องเทศพะโล้ของชาวแต้จิ๋ว ถือเป็นทรัพยากรที่ดีมาก ๆ ในการสร้างเรื่องเล่าหรือ Storytelling ทั้งนี้ ความเข้าใจเรื่องการคุมไฟของบางร้านใน เยาวราช ยังเป็นปัญหาของทำอาหารให้อร่อยอยู่ พร้อมทิ้งท้ายแบบติดตลกว่า

“อาหารเยาวราชที่ยังอยู่ได้เพราะมีคนอย่างอาจารย์วิโรจน์ คนรุ่นเก่าจะเป็นแบบนี้ อาหารไม่ดีเขาด่าเลย…”

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 พฤษภาคม 2566