ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
คนในดินแดนไทยหลายชาติพันธุ์ นับถือ “ศาสนาผี” มาตั้งแต่สมัยเริ่มแรกมากว่า 3,000 ปีมาแล้ว เพราะสมัยนั้นยังไม่รู้จักอินเดีย ไม่รู้จักศาสนาพุทธ-พราหมณ์ แม้ในอินเดียขณะนั้นก็นับถือศาสนาผี
โครงกระดูกมนุษย์อายุหลายพันปีที่นักโบราณคดีขุดพบที่บ้านเก่า (จังหวัดกาญจนบุรี) และที่บ้านเชียง (จังหวัดอุดรธานี) จึงเนื่องในวัฒนธรรมในศาสนาผี ซึ่งไม่เกี่ยวกับศาสนาพุทธ-พราหมณ์ ดังนั้นจะอธิบายพิธีกรรมหลายพันปีมาแล้วตามแนวคิดของศาสนาพุทธ-พราหมณ์ เห็นจะไม่ถูกต้องเสียทีเดียว
บ้านเมืองโบราณทั่วโลกหลายพันปีมาแล้ว (ก็) นับถือศาสนาผี
ส่วนในไทย ชุมชนเมืองใหญ่ต่าง ๆ บริเวณภาคกลางที่พัฒนาจนมีคูน้ำคันดินรูปกลม-รีล้อมรอบก็นับถือศาสนาผี เมืองสำคัญ คือ บริเวณอำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งมีอายุเมื่อราว 2,000 ปี มาแล้ว หรือตั้งแต่ พ.ศ. 500
นักวิชาการฝรั่งเศสเจ้าอาณานิคมเคยอธิบายว่า ไทยและอุษาคเนย์ในสมัยนั้นยังเป็นบ้านป่าเมืองเถื่อนที่นับถือผี กว่าจะเติบโตเป็นเมืองก็หลังจากรับศาสนาจากอินเดียเข้าแล้ว แต่… หลักฐานโบราณคดีที่พบในเวลาต่อมาจวบจนทุกวันนี้ ล้วนยืนยันว่ามีบ้านเมืองใหญ่โตที่นับถือศาสนาผีดำรงอยู่ในพื้นที่เหล่านี้ก่อนผู้คนจะรับเอาศาสนาพุทธ-พรามหณ์เข้ามาอย่างแน่นอน
วิชาการสากลนั้นให้การยอมรับและยกย่องให้เป็นความเชื่อเรื่องผี นับได้ว่าเป็น “ศาสนา” เรียกว่าศาสนาผี (เช่นเดียวกับศาสนาพุทธและศาสนาพราหมณ์-ฮินดู) แต่นักวิชาการไทยจำนวนหนึ่งไม่ยอมรับเป็นศาสนาผี และเหยียดว่าเป็นเพียง “ความเชื่อ” ชุดหนึ่งเท่านั้น
ศาสนาผี มีความหมาย ดังนี้
1. นับถือผี ผู้มีอำนาจเหนือธรรมชาติ
2. ปรากฏการณ์ทั้งหลายไม่ว่าดีหรือร้ายเกิดจากการกระทำของผี
3. เชื่อเรื่อง “ขวัญ” แต่ไม่เชื่อเรื่องวิญญาณ ไม่มีเวียนว่ายตายเกิด ไม่มีโลกหน้า ไม่มีเทวดานางฟ้า ไม่มีสวรรค์-นรก และไม่มีพิธีกรรมการเผาศพ ฯลฯ
4. ผีกับคนสื่อสารกันได้ด้วยการเข้าทรงผ่านร่างทรงซึ่งเป็นผู้หญิง ส่วนร่างทรงชาย เกิดขึ้นในสมัยหลัง
5. หญิงเป็นใหญ่ มีอำนาจเหนือชายอย่างชัดเจนในพิธีกรรมทางศาสนาผี
เซ็กซ์ในศาสนาผีเป็นเรื่องศักดิ์สิทธิ์
กิจกรรม “ร่วมเพศ” ในศาสนาผีหลายพันปีมาแล้ว เป็นพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์เพื่อเจริญเผ่าพันธุ์ และเจริญพืชพันธุ์
พบหลักฐานโบราณคดีไม่น้อยแสดงการสมสู่ร่วมเพศของหญิง-ชาย หรือสัญลักษณ์การสมสู่ร่วมเพศ เช่น ภาพเขียนบนเพิงผา หรือผนังถ้ำ และรูปหล่อสำริดประดับฝากปิดภาชนะสำริดใส่กระดูกคนตาย ฯลฯ
รวมถึงการปั้นเมฆขอฝนเป็นหญิง-ชายสมสู่ร่วมเพศกันกลางแจ้งในพื้นที่สาธารณะ คติความเชื่อดังกล่าวยังพบเห็นได้ในปัจจุบัน ที่บ้านนาตะกรุด อำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ เมื่อต้นเดือนกรกฎาคม 2558 ชาวบ้านได้ขุดดินเหนียวมาปั้นเป็นมนุษย์ขนาดเท่าคนจริง ตั้งไว้บนถนนกลางทางสามแยก โดยเป็นรูปหญิง-ชาย ชื่อนางฝนกับนายเมฆ กำลังสมสู่ร่วมสังวาส และมีชายอีกคนหนึ่ง ชื่อนายหมอก นั่งอยู่ข้าง ๆ
นอกจากนี้ เพลงโต้ตอบกันของชาวบ้าน เช่น เพลงปรบไก่ เพลงฉ่อย เพลงพาดควาย ฯลฯ ที่มีคำหยาบเรียกว่า “กลอนแดง” ล้วนเป็นสัญลักษณ์สืบเนื่องมาจากพิธีสมสู่ร่วมเพศ “ขอฝน” ที่มีอายุหลายพันปีมาแล้วและตั้งใจสื่อถึงความเจริญเผ่าพันธุ์และเจริญพืชพันธุ์ด้วยเช่นกัน
อ่านเพิ่มเติม :
- หลากวิถีหลากวัฒนธรรม “ผี” กับกรณี “บนบานศาลกล่าว” สะท้อนคอร์รัปชันในสังคมไทย?
- ศรีศักร วัลลิโภดม” ชี้ “ผี” เป็นสถาบันความเชื่อหลักของสังคมไทย ลบให้หายไม่ได้
หมายเหตุ : เนื้อหานี้เรียบเรียงจากเอกสารประกอบการบรรยาย“ศาสนาผี ในไทยหลายพันปี ก่อนประวัติศาสตร์ ถึงปัจจุบัน” โดยสุจิตต์ วงษ์เทศ, วันที่ 1 ตุลาคม 2565 พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 3 พฤษภาคม 2566