“ผีบรรพบุรุษ” รอยต่อโลกวิญญาณ และการจัดระเบียบทางสังคม

ผีบรรพบุรุษ ผีปู่ตา ศาลผี ไหว้ บวงสรวง
ชาวบ้าน "ไหว้ศาลปู่ตา" (ภาพจาก มติชนออนไลน์ "ชาวบ้านบัวใหญ่ ‘ไหว้ศาลปู่ตา’ ฉีกเนื้อไก่เสี่ยงทาย ‘ปีนี้น้ำท่าดี’ อยู่ดีกินดี", วันที่ 4 พฤษภาคม 2565)

การนับถือ หรือ ความเชื่อ เรื่อง “ผี” ที่เป็น ผีบรรพบุรุษ ของไทยอาจจะแตกต่างจากจีนและญี่ปุ่น โดยเฉพาะคนจีนเป็นการสืบสานตระกูลฝ่ายบิดา จึงกำหนดได้แน่นอนมากกว่า ส่วนการนับถือผีบรรพบุรุษของคนไทยนั้น ค่อนข้างจะเหมารวมแบบกว้าง ๆ แต่โดยนัยสำคัญแล้วการนับถือเช่นนี้บ่งถึงการยึดติดในรูปแบบการดำเนินชีวิตที่บรรพบุรุษกำหนดไว้ โดยใช้อำนาจที่เหนือธรรมชาติเป็นเส้นกรอบ

ในบางตำราบอกไว้ สถาบันครอบครัวหรือสังคมบ้านจะมีผีบรรพบุรุษที่เรียกว่า “ผีเสื้อ” หรือผีเชื้อสายประจําอยู่ ยกตัวอย่าง ทางภาคเหนือคนเมืองเรียกผีเชื้อว่า “ผีปู่ย่า” ส่วนคนทางภาคกลาง ภาคอีสานจะเรียกคล้าย ๆ กันโดยมีคำว่า “ตายาย” ต่อท้ายเพิ่มเติม หรือบางทีเรียกผีปู่ตา และหากเป็นคนภาคใต้จะเรียกแค่ผีตายาย เฉย ๆ หรืออาจจะไม่เหมือนกันเสียทีเดียวในภาคเดียวกันแต่ต่างถิ่น

นอกจากนี้ การเรียกผีบรรพบุรุษในกลุ่มชนเผ่าบางพื้นที่มีแตกต่างออกไปบ้าง เช่นที่เพชรบุรี คนลาวโซ่งจะเรียกผีเรือนว่า “กว้าน” อย่างนี้เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม แม้การเรียกขานต่างกัน แต่ล้วนมีที่มาเหมือนกันทั้งสิ้น

ผีปู่ย่า ผีตายาย เป็นผีเชื้อที่มีอิทธิพลอย่างสูงในอีสาน ในกลุ่มวัฒนธรรมลาวเชื่อกันว่า ผีเชื้อนี้จะคอยช่วยเหลือลูก ๆ หลาน ๆ ได้ยามจำเป็น บางหมู่บ้านเวลานี้ยังมีพิธี “ฮ้องผีเชื้อ” ในกรณีมีคนในหมู่บ้านป่วยกระทั่งสลบข้ามคืนหรือเรียกว่า “ตายคืน” ตามภาษาถิ่น

พิธีกรรมดังกล่าวโดยหลักใหญ่จะให้ผู้อาวุโสในตระกูล หรือในหมู่บ้านนั้นปีนขึ้นไปอยู่บนที่สูง ซึ่งอาจจะสูงระดับหลังคาบ้านก็ได้ จากนั้นให้ตะโกนเรียกขวัญ (เรียกชื่อผู้ป่วย) ดัง ๆ เช่นนี้เชื่อว่า ผีเชื้อจะนำทางวิญญาณของผู้สลบกลับคืนร่างได้

แม้ว่าโลกทุกวันนี้จะก้าวล้ำไปไกลแล้วก็ตาม แต่การฮ้องผีเชื้อในชนบทอีสานบางแห่งยังคงมีอยู่ แต่ส่วนมากจะเป็นการกระทำขั้นสุดท้าย หลังจากทำการปฐมพยาบาลด้วยวิธีอื่น ๆ แล้วไม่ได้ผล ซึ่งความเชื่อเรื่องนี้ในบางตำราตั้งข้อสังเกตว่า น่าจะเป็นผลมาจากปรัชญาทางการเมืองการปกครองที่ชาวไทย ลาว อีสานสืบทอดเอา “ฮีตสิบสองคองสิบสี่” มาจากอาณาจักรล้านช้างเหนือดินแดนลุ่มน้ำโขงตอนกลางนับแต่ช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 19

ในจารีตที่ว่านี้ ส่วนหนึ่งยังบอกถึงระเบียบปฏิบัติตนในกลุ่มเครือญาติ เช่น ฮีตปู่คองย่า ฮีตพ่อคองแม่ ฮีตลูกคองหลาน

ข้างต้นนับเป็นตัวอย่างหนึ่งในโลกปัจจุบันที่สะท้อนให้เห็นว่า การนำเอาวิญญาณของบรรพบุรุษมาควบคุมความสงบสุขสามัคคีในกลุ่มเครือญาติ เป็น “อุบาย” ทางสังคมที่กระทำได้อย่างแนบเนียนยิ่ง และที่เห็นเป็นรูปธรรมโดยเฉพาะทางอีสาน ในหมู่บ้านแทบทุกแห่งจะกำหนดให้บริเวณใจกลางหมู่บ้านหรือตรงชายเขตด้านใดด้านหนึ่ง เป็นที่ตั้งของ ดอนตาปู่ สถานที่สิงสถิตของ “ผีบรรพบุรุษ”

ด้วยเหตุที่วัฒนธรรมการตั้งชุมชนในชนบทปกติแต่เดิมแล้วจะเริ่มต้นจากสังคมเครือญาติ กระทั่งขยายเป็นชุมชนใหญ่ขึ้น ศาลผีที่ดอนตาปู่จึงหมายถึงศาลผีประจําหมู่บ้านไปด้วย

การติดต่อนี้จะทําผ่าน “ขะจ้ำ” หรือหมอผีประจําหมู่บ้าน โดยการเลี้ยงผีปู่ตาในแต่ละปีอาจทํากันถึง 2 ครั้ง แล้วแต่พื้นที่ ครั้งแรกประมาณเดือน 3 และครั้งที่สองจะอยู่ในราวเดือน 9 ตามจันทรคติ การเซ่นไหว้ในครั้งแรกนั้น เชื่อว่าน่าจะเพื่อความสุขสวัสดีของผู้คนในหมู่บ้าน ส่วนครั้งหลังนัยว่าเพื่อความอุดมสมบูรณ์ของน้ำ พืชพรรณธัญญาหาร เพราะเป็นช่วงฤดูก่อนลงมือทํานาประจําปี

ความเชื่อ เช่นนี้มีคล้าย ๆ กันในชนบทหลายแห่งของภาคเหนือ โดยศาลดังกล่าวเป็นศาล 4 เสา สถานที่เลือกใช้มักอยู่บนที่ดอนน้ำท่วมไม่ถึง และในบางพื้นที่อาจจะตั้งศาลนี้อยู่รวมกับศาลประเภทอื่น ๆ ภายในบริเวณวัด

คติความเชื่อเรื่องผีบรรพบุรุษยังมีการจำแนกออกไปอีก โดยมีพื้นฐานของลักษณะขอบเขตคุ้มครอง เช่น ในภาคอีสาน ผีปู่ตาหรือผีตาปู่เป็นผีบรรพบุรุษของคนระดับหมู่บ้าน แต่หากเป็น “ผีประจําเมือง” ที่ถูกยกระดับเป็นเทวดาอารักษ์ไปแล้ว จะเรียกว่า “ผีมเหสักข์หลักเมือง” เป็นผีผู้ใหญ่ระดับ “พระเสื้อเมือง” หรือพระหลักเมืองเลยทีเดียว

เรื่องนี้มีตำนานเล่าว่า ก่อนจะสร้างเมืองใหญ่ ๆ ขึ้นมาใหม่สักเมืองหนึ่ง จะต้องมีการตั้งเสาหลักเมืองขึ้นใหม่เสมอ ปัจจัยสำคัญในพิธีกรรมอยู่ที่การสังเวยมนุษย์ ซึ่งการเลือกเฟ้นนี้จะเป็นหน้าที่ของคณะอาญาสี่ที่ถูกแต่งตั้งโดยเจ้าเมืองเพื่อการนี้โดยเฉพาะ 

คณะอาญาสี่จะออกตระเวนไปตามหมู่บ้านในเวลากลางคืน และเวลาผ่านบ้านหลังใดคณะอาญาสี่จะเรียกขานคนบ้านนั้น หากมีใครขานรับ หัวหน้าครอบครัวบ้านนั้นจะถูกเชิญไปเป็นเจ้าพ่อมเหสักข์ด้วยการฝังทั้งเป็นตรงบริเวณจะตั้งเสา

แม้ว่าพิธีกรรมเช่นนี้จะไม่มีโอกาสได้เห็นอีกแล้วในปัจจุบัน (รวมถึงไม่มีหลักฐานชี้ชัดว่าเคยมีอยู่จริง – ผู้เขียน) แต่ความเชื่อดังกล่าวยังมีบทบาทอยู่ โดยเป็นไปในลักษณะที่ว่าคนแก่ ๆ จะบอกลูกหลานว่า ถ้ามีใครมาเรียกตอนกลางคืน ต้องแน่ใจเสียก่อนว่าเป็นคนรู้จักจึงค่อยขานตอบ

เรื่องนี้ บำเพ็ญ อุบล เคยสรุปไว้ใน “ผีมเหสักข์หลักเมืองอุบลฯ” ว่า การนับถือผีไม่ใช่เรื่องน่าเสียหาย เนื่องเพราะการนับถือผีคือการประพฤติตามคำสอนในทางศาสนา ที่ว่าลูกให้นับถือพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย เมื่อตายไปแล้วให้ทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้ ยังสรุปให้เห็นอีกว่า การนับถือผีเช่นนี้เป็นการร่วมแสดงความเคารพต่อจิตวิญญาณของบรรพชน หรืออีกนัยหนึ่งเป็น “เปรตพลี” หรือเครื่องเซ่นสรวงที่กระทำให้แก่ผู้ตายไปแล้ว

ส่วนเรื่องที่เกี่ยวข้องกับตำนานผีมเหสักข์หลักเมืองที่สืบทอดความเชื่อมาถึงปัจจุบัน อาจอธิบายได้ถึงการระวังภัยในชีวิตยามวิกาลของคนชนบท

ผี ที่กล่าวมานี้ทั้งหมดล้วนจัดเป็นผีดี ส่วนผีไม่ดีก็มีแยกย่อยออกไปอีก เช่น ผีกะ (ทางอีสานเรียกผีปอบ) มีผู้อธิบายว่า ผีกะ คือผีปู่ย่าที่แปรสภาพเป็นผีร้าย เนื่องจากถูกปล่อยให้เร่ร่อน ลูกหลานละเลยไม่เซ่นบูชา ว่ากันว่าผีนี้มาจากคำว่า ตะกละ (ขี้กะ) กินไม่เลือก

แม้ทุกวันนี้ยังมีชาวชนบทหลายพื้นที่เชื่อว่าผีกะทำร้ายชาวบ้านได้ โดยเฉพาะเด็กและผู้หญิง โดยเข้าสิงร่างทำให้ไม่สบายถึงตาย หมอผีเท่านั้นที่สามารถขับไล่ผีกะได้โดยการท่องคาถา และเฆี่ยนตีร่างของผู้ถูกเข้าสิง เรื่องนี้นักมานุษยวิทยาบางท่านระบุว่า ผีกะเป็นรูปแบบหนึ่งของความขัดแย้งทางชนชั้นในสังคมบ้าน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : เนื้อหานี้คัดส่วนหนึ่งจาก “ศาลพระภูมิและหอผี ลัทธิความเชื่อ เจ้า เทพ พรหม”  โดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม 2539 [เว้นวรรคคำ ปรับย่อหน้าใหม่ และเน้นคำเพิ่มเติมโดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม]


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 เมษายน 2566