ท็อปฮิต “ศาล” ผีเมืองหลวง

รูปปั้นแม่นากพระโขนงภายในศาลแม่นาก ข้างป่าช้าวัดมหาบุศย์ เอนก นาวิกมูล ถ่ายเมื่อยังอยู่ในศาลที่มุงหลังคาด้วยสังกะสี วันอาทิตย์ที่ ๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๒๑
รูปปั้นแม่นากพระโขนงภายในศาลแม่นาก ข้างป่าช้าวัดมหาบุศย์ เอนก นาวิกมูล ถ่ายเมื่อยังอยู่ในศาลที่มุงหลังคาด้วยสังกะสี วันอาทิตย์ที่ ๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๒๑ (ภาพจาก “เปิดตำนานแม่นากพระโขนง” โดย เอนก นาวิกมูล. พ.ศ. ๒๕๔๙)

เชื่อว่าศาลผีที่ดัง ๆ ในเมืองหลวงน่าจะมีจํานวนนับร้อย และถ้าจะให้รวมถึงศาลผีดังในภูธรด้วยแล้วคงต้องเขียนกันหลายเล่มจบเลยทีเดียว ดังนั้นตรงนี้ขอฉายแค่ตัวอย่างเพื่อสะท้อนให้เห็นว่า แม้สังคมจะเปลี่ยนแปลงไปสักแค่ไหน หากแต่ความเชื่อเรื่องนี้ยังคงอยู่

ศาลแม่นาคพระโขนง

ศาลแห่งนี้นับว่าโด่งดังคงกระพันระดับไทยอินเตอร์เลยทีเดียว วัดระดับได้จากหนังผีแม่นาคหลายเวอร์ชั่นกระทั่งถึงภาคล่าสุด แม่นาคพระนคร ที่เพิ่งจะลาจอไปเมื่อนี่ ศาลนี้เป็นศาลเก่าแก่ อิงจากตํานานรักของนางนาค ย้อนยุคไปเมื่อ 100-200 ปีที่แล้ว แม้ว่าสภาพแวดล้อมจะเปลี่ยนไป แต่ต้นตะเคียนคู่ยังคงอยู่ เช่นเดียวกับข่าวคราวอันโยงเข้ากับความเฮี้ยนยังมีปรากฏขึ้นอย่างต่อเนื่องกระทั่งทุกวันนี้

ศาลแม่นาคพระโขนง ปัจจุบันมีทั้งศาลเก่าและศาลใหม่ใกล้ ๆ กัน และทั้งสองศาล อยู่ที่วัดมหาบุศย์ ถนนอ่อนนุช เขตพระโขนง

ศาลเจ้าแม่อุย

ศาลที่คนทางฝั่งตะวันตกของกรุงเทพฯ รู้จักดี ศาลนี้ตั้งอยู่ริมถนนติวานนท์ เขตตําบลบางกะดี ใกล้กับศูนย์ผสมเทียมกรมปศุสัตว์ จังหวัดปทุมธานี ในกลุ่มคนที่ศรัทธาเชื่อว่าหากไม่อยากติดทหารให้บนขอเจ้าแม่ได้ สืบตํานานได้ว่าเหตุที่เจ้าแม่ไม่ชอบทหารเพราะอดีตก่อนตายเคยเป็นเมียน้อยของนายทหาร กระทั่งถูกฆ่าตายศพถูกนํามาทิ้งที่ตรงนี้  และที่เฮี้ยนหนักน่าจะสืบเนื่องมาจากที่ตรงนี้เคยเป็นที่ขึ้นศพของนางนวลฉวี รามเดชะ ที่มาของชื่อสะพานนวลฉวีสะพานดังย่านเมืองนนท์นั่นแหละ

บริเวณนี้แต่ก่อนเป็นทางเปลี่ยว แต่เดี๋ยวนี้กลายเป็นถนนใหญ่ ลดบรรยากาศความวังเวงไปเยอะ กระนั้นคนที่คุ้นเคยหากผ่านไปมายัง “บีบแตร” สักการะเสมอ

ศาลเจ้าพ่อปู่

ศาลเก่าแก่อายุนับร้อยปีของชาวบ้านปากคลองบางตะนาวศรี ตําบลสวนใหญ่ เมืองนนท์ ถามคนพอรู้ตํานานเล่าว่าแต่เดิมชาวบ้านย่านนี้ปั้นดินเผาเป็นอาชีพหลัก เรื่องที่บนได้ผลเลิศคือเรื่องไพไหม้ไม่เกิด เจ็บไข้ได้ป่วยหาย ของหายได้คืน ส่วนที่ขอแล้วเจ้าพ่อปู่ไม่ให้คือหวยและขอไม่ให้ถูกเกณฑ์ทหาร โดยเฉพาะประเด็นหลังถ้าเสี่ยงบนเป็นเจอใบแดงทุกราย โดยลิเกของแก้บนที่ชอบ

รูปเคารพของเจ้าพ่อปู่มีลักษณะคล้ายไม้เจว็ดในศาลพระภูมิ แต่มีขนาดใหญ่กว่ากันเยอะ สําหรับเส้นทางเข้าศาลนี้ไปให้ถึงถนนพิบูลสงครามรับรองเจอแน่

ศาลเจ้าแม่โพสพ

คนเก่าคนแก่ของที่นี่บอกว่าศาลนี้อิงคติความเชื่อแต่เดิม เรื่องการนับถือเจ้าแม่โพสพ เพราะแต่ก่อนที่พื้นที่ส่วนหนึ่งย่านนี้จะเปลี่ยนกลายเป็นเมืองเคยเป็นนาและสวน ชาวบ้านสร้างศาลเพื่อบูชาให้ได้ผลผลิตดีฝนฟ้าตกปกติ ทว่าวันนี้เปลี่ยนไป คนที่นี่บางทีไม่รู้จัก หากมีคนถิ่นอื่นเดินทางมาบนขอโชคลาภ

ศาลนี้อยู่ใกล้ปากคลองบางพรหม ตลิ่งชัน เส้นทางเข้าเริ่มจากปากทางเข้าตลาดสดบางขุนศรี ถนนจรัญสนิทวงศ์ แล้วมุ่งตรงไปที่ วัดศิริวัฒนาราม รับประกันเจอแน่

ศาลงู

ที่จริงศาลนี้มีชื่อบันทึกค่อนข้างจะทางการว่า ศาลเจ้าแม่จงอางและลูก ศาลนี้ตั้งตระหง่านอยู่ริมทางสายธนบุรี-ปากท่อ ช่วงต้น ๆ บอกเล่ากันว่าก่อนนี้ที่ตรงนี้มีอุบัติเหตุร้ายแรงบ่อยครั้ง โดยเชื่อว่าน่าจะมาจากการเกรดดินสร้างทางทับงูเจ้า ตายทั้งแม่งูและไข่งู ทําให้เกิดแรงอาฆาตแค้นต้องแลกคืนด้วยชีวิต กระทั่งตั้งศาลให้ ทุกอย่างจึงดูจะคลี่คลายไปมาก

คนที่ศรัทธาในศาลจูหรือศาลเจ้าแม่จงอางเชื่อว่าเจ้าแม่เฮี้ยนมากในเรื่องหวย จริงเท็จอย่างไรไม่รู้ แต่ถ้าอยากลองชิมบรรยากาศ ไปดูได้ก่อนวันล็อตเตอรี่ออก บริเวณศาลจะแน่นขนัดขนาดที่ยืนยังหาไม่มี

ศาลศาลาต้นจันทน์

ไม่ใกล้ไม่ไกลจากสี่แยกโรงพยาบาลศิริราช ประวัติความเป็นมาลึก ๆ สอบถามคนแถวนั้นแล้วไม่รู้ บอกแต่เพียงว่าสมัยโน้นที่นี่คล้ายเป็นศาลาอเนกประสงค์ หากไม่ใช้เป็นที่เรียนที่สอนเด็ก ๆ ก็เป็นที่ตั้งศพสวด อาจด้วยเหตุที่อยู่ใกล้วัดระฆังฯ แรงศรัทธาจึงสูง

ศาลศาลาต้นจันทน์ที่เห็นนี้เป็นศาลใหม่ สร้างแทนศาลเดิมที่ทรุดโทรม ทุกปีในช่วงเทศกาลสงกรานต์จะมีการทําบุญเลี้ยงพระกันที่นี่ ศรัทธาความเชื่อของศาลนี้จะเป็นเรื่องร้อนใจทั่ว ๆ ไป โดยของแก้บนนิยมจะเป็นตัวตุ๊กตานางรํา

ศาลเจ้าแม่ตะเคียนทอง

เห็นแปลกดีเลยเก็บภาพมาฝาก ศาลนี้ตั้งอยู่ริมถนนสายบางบ่อ-คลองด่าน จังหวัดสมุทรปราการ ชาวบ้านย่านนั้นเชื่อว่า เจ้าแม่ชอบ ปลัดขิก เป็นของเซ่นบูชาแก้บน เฮี้ยนแค่ไหนดูเอาเองก็แล้วกัน

ศาลเจ้าพ่อพระรามหก

ข้างทางรถไฟสายใต้เชิงสะพานพระรามหกฝั่งกรุงเทพฯ หากใครเคยใช้เส้นทางสายนี้ ด้านซ้ายมือขาออกนั่นแหละใช่แล้ว เท่าที่สอบถามคนดูแลเป็นหนุ่มน้อยวัยจ๊าบจับความได้ว่า ศาลนี้เป็นที่สถิตของวิญญาณพระยาสิงหนาถฯ ทหารเอกของพระเจ้าตาก ส่วนศาลเจ้าพ่อดํา และซุ้มศาลเจ้าพ่อเล็ก เจ้าพ่อธงชัย (พระเชียงเงิน) หน้าวัดสร้อยทองใกล้ ๆ กันนั้นเพิ่งจะมีมาทีหลัง แต่เป็นแรงศรัทธาเดียวกัน ณ ที่นี้

ความเฮี้ยนของเจ้าพ่อมีบอกเล่ากันว่าช่วยให้สะพานพระรามหกรอดพ้นจากระเบิดหลายครั้งในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ปาฏิหาริย์นี้ทําให้คนนับถือเรื่อยมา กระทั่งทุกวันนี้ยังมีคนแวะเวียนไปกราบไหว้ไม่ขาดสาย และจากเหตุที่เชื่อว่าเจ้าพ่อเป็นทหารเก่า ของแก้บนที่นอกเหนือจากพวงมาลัย 7 สี 7 ศอก และศาลไม้ขนาดเล็กที่มีคนนํามาถวายนับร้อยศาลแล้ว สิ่งที่ไม่ควรขาดคือ เหล้า บุหรี่

ท็อปฮิตของศาลผีในส่วนนี้ คงไม่ต้องถึงกับเขียนค้านมากระมังว่าศาลนี้ใช่ แต่ศาลโน้นไม่ใช่ เพราะเชื่อว่าน้ำหนักแรงศรัทธามันต่างกัน

ของใครของมัน จริงมั้ย!