“โอม” กับ “โอมเพี้ยง (หาย)” มีความหมายอย่างไร

โอม โอมเพี้ยง เทพฮินดู

เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2548 สหายจากสำนักวัดกลางบางแก้ว นครปฐม ได้เชิญพระคเณศที่สร้างจากสำนักนี้มาให้ผมบูชาองค์หนึ่ง ผมได้จัดที่บูชาไว้ใกล้ ๆ กับที่นั่งเขียนหนังสือ คนที่มาเยี่ยมเยือนก็ทักถามขอทราบว่าบูชาอย่างไร ผมก็บอกว่าในส่วนตัวผมก็ยกมือพนมนมัสการภาวนาว่า “หริ โอมศรี คณปตเย นมะ ข้าพเจ้าขอนอบน้อมแด่พระคณบดีผู้มีศรี” แล้วมีคนหนึ่งถามว่า คำว่า โอม นั้นคืออะไร

คำว่า “โอม” เป็นคำชินหูเด็กบ้านนอกในสมัยก่อน เมื่อเด็กหกล้มมีอาการเจ็บตรงไหนไปบอกผู้ใหญ่ ท่านก็จะมาลูบ ๆ ตรงที่เจ็บแล้วเป่า “โอมเพี้ยง” (หาย) เด็กก็ดูจะหายเจ็บเอาทีเดียว ครั้นต่อมาได้ศึกษาเรียนรู้อะไรมากขึ้น จึงได้ทราบว่า “โอม” เป็นคำใช้นำมนต์สำคัญ ๆ ของพราหมณ์ คนไทยรู้จักคำว่า “โอม” มาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา เพราะมีปรากฏในโองการแช่งน้ำ หรือจะว่าไปอีกทีก็ตั้งแต่รู้จักพราหมณ์นั่นเทียว

Advertisement

ต้นเรื่องที่จะเกิดคำว่า “โอม” มีกล่าวกันต่าง ๆ บ้างก็ว่าเป็นอักษรที่นับถือกันมาแต่ยุคไตรเพท บางตำราอธิบายว่า “โอม” ประกอบขึ้นด้วยสำเนียงสามคือ “อ อุ ม” ต่อมาในยุคปุราณะเกิดนับถือพระเป็นเจ้าทั้งสามขึ้น พราหมณ์จึงได้กำหนดสำเนียงทั้งสามนั้นว่าตรงกับพระเป็นเจ้าองค์ใด

ในปทานุกรมของกระทรวงธรรมการ พ.ศ. 2470 มีคำอธิบายว่า โอม เป็นคำย่อจาก อ อุ ม ข้างพราหมณ์หมายความว่าพระเจ้าทั้งสาม คือ อ = พระวิษณุ, อุ = พระศิวะ, ม = พระพรหม; ข้างพระพุทธศาสนาเลียนเอามาเป็นพระรัตนตรัย คือ อ = อรหํ (พระพุทธ), อุ = อุตฺตมธมฺม (พระธรรม), ม = มหาสงฺฆ (พระสงฆ์), เมื่อเข้าสนธิจึงเป็น “โอม” นับถือเป็นคำศักดิ์สิทธิ์, เป็นคำภาวนาหรือกล่าวรับด้วยความนับถือ เช่นเดียวกับ “สาธุ”

คำอธิบายนี้ได้ใช้ต่อมาเพียงแต่ตัดตอนท้ายออกให้สั้นลง เป็นคำอธิบายด้านเดียว เพราะตามเอกสารอื่น เช่น ในหนังสือ Ganesh ที่แต่งโดย A. Getty อธิบายไว้อีกอย่างหนึ่งว่า อ = พระพรหม, อุ = พระวิษณุ, ม = พระศิวะ

เหตุที่มีความหมายต่างกันเช่นนี้ เนื่องมาจากผู้อธิบายนับถือพระเป็นเจ้าองค์ใดเป็นใหญ่ ก็ยกย่องพระเป็นเจ้าองค์นั้นไว้ต้น ถ้านับถือพระพรหมเป็นใหญ่ก็อธิบายว่า อ = พระพรหม ถ้านับถือพระวิษณุเป็นใหญ่ก็อธิบายว่า อ = พระวิษณุ

เรื่องคำว่า “โอม” ยังไม่ยุติ นักปราชญ์บางท่านแย้งว่าคำ “โอม” ที่ว่าแผลงมาจาก “อ อุ ม” นั้นผิด ที่จริงคำ อ อุ ม ต่างหากที่แผลงไปจาก “โอม” คือคำ “โอม” มีมาก่อน อ อุ ม อนึ่งคำว่า “โอม” เป็นคำอุทาน มนุษย์เลียนคำนี้มาจากเสียงน้ำทะเล เสียงฟ้าร้อง เสียงลมพัด เสียงโอมเป็นเสียงแรกที่มนุษย์รู้สึกว่าเป็นเครื่องแสดงความพิลึกมหึมา มนุษย์เข้าใจว่าเสียงโอมนั้นเป็นเสียงธรรมชาติหรือเสียงพระเจ้าที่จะประสาทความศักดิ์สิทธิ์ให้แก่โลก มนุษย์จึงเลียนเอาเสียงนี้มาใช้เริ่มต้นเวทมนตร์เพื่อแสดงความศักดิ์สิทธิ์

นอกจากนี้คำว่า “โอม” ในภาษาต่าง ๆ ก็มีรูปร่างต่าง ๆ กันไป ยิ่งในลัทธิลามะด้วยแล้ว คำอธิบายความหมายก็จะยิ่งพิสดารออกไปอีก กล่าวเฉพาะที่ไทยเอามาใช้ก็มีแปลก ๆ เช่น มนต์ป้องกันการกระทำจากศัตรูบทหนึ่งว่า

“มะ คือตัวกู อุ คือตัวนาย อะ จะทำร้ายกูมิได้” และคาถาอาพัดเหล้าขึ้นต้นว่า “โอม ตึก ๆ ตัก ๆ หินผาหักอยู่ข้างในหัวกู หัวกูคือหมวกเหล็ก ตัวกูยังเหล็กเพชร ตัวกูคงแก่ไม้รวก ฉมวก แหลน หลาว หอก และดาบ หน้าไม้ปืนไฟ ครูกูชื่อพระมหาทมึ่นคือพื้นธรณี บ่มิสะเทือนหวาดไหว โอม นโมพุทธายะ โอม นโมธัมมายะ โอม นโมสังฆายะ ฯลฯ”

อย่างไรก็ตามเมื่อไทยนำมาใช้เป็นคาถา ได้ใช้สลับที่กันเสียก็มีเช่นที่เห็นในเหรียญเกจิอาจารย์ที่เป็นอักษรขอม ใช้ว่า มะ อะ อุ ก็มี อุ อะ มะ ก็มี ที่ยกมากล่าวก็เพื่อให้เห็นว่าคำอธิบายในพจนานุกรมนั้นเป็นคำอธิบายพอให้ทราบโดยสรุป ถ้าต้องการรู้รายละเอียดก็จะต้องศึกษาอีกมาก

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 กรกฎาคม 2560