“สยามสแควร์” จากแปลงผักและบ้านเรือน สู่ศูนย์รวมร้านค้า-ความบันเทิง แห่งยุคสมัย

สยามสแควร์ เซ็นเตอร์พอยต์ สยามสแควร์วัน วัยรุ่นเดิน
ภาพบรรยากาศยามค่ำคืนหน้า ห้าง สยามสแควร์ วัน ส่วนหนึ่งของสยามสแควร์ (ที่มาภาพ มติชน ออนไลน์)

แม้ยุคนี้จะมีห้างและคอมมูนิตีมอลล์เกิดขึ้นมากมาย แต่สถานที่ท่องเที่ยวยอดฮิตในกรุงเทพฯ ของคนรุ่นใหม่ที่ห้างหรือย่านไหนก็ยังโค่นไม่ได้ คือ สยามสแควร์ ที่ไม่ว่าจะผ่านไปกี่สิบปี ปรับปรุงพื้นที่ไปแล้วกี่ครั้ง สยามสแควร์ก็ยังดึงดูดนักท่องเที่ยว และเป็นศูนย์กลางของกิจกรรมต่าง ๆ เสมอมา

แต่กว่าจะมาเป็นสยามสแควร์อย่างทุกวันนี้ บริเวณนั้นเคยเป็นอะไรมาก่อน?

พื้นที่สยามสแควร์ อยู่ภายใต้การดูแลของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สมัยที่เมืองยังไม่ขยายตัวมากนัก บริเวณดังกล่าวที่อยู่ในย่านปทุมวัน เป็นแปลงผัก มีผู้คนมาตั้งบ้านเรือนอยู่ประปราย ส่วนย่านท่องเที่ยวยุคนั้น (ทศวรรษ 2490-2500) จะอยู่แถววังบูรพา

เข้าสู่ช่วงต้นทศวรรษ 2500 ย่านปทุมวันเริ่มมีพัฒนาการมากขึ้น เป็นผลจากการเติบโตทางเศรษฐกิจ มีที่มาจากนโยบายการพัฒนาประเทศสมัย จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมืองขยายตัวจนมาถึงสี่แยกปทุมวัน ประกอบกับจำนวนนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่มีมากขึ้น รัฐบาลจึงมีความคิดพัฒนาพัฒนาย่านปทุมวันให้มีศูนย์การค้าเพื่อความบันเทิง

ปี 2505 พลเอก ประภาส จารุเสถียร อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย มีคำสั่งให้สภามหาวิทยาลัย จุฬาฯ ดำเนินแผนงานพัฒนาพื้นที่เพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจ จึงได้มีการถมแปลงผักและเวนคืนที่ดินบริเวณนั้น

จุฬาฯ ได้ว่าจ้าง บริษัท เซาท์อีสเอเชียก่อสร้าง จำกัด หรือ ซีคอน มาพัฒนาที่ดินราว 63 ไร่ ให้กลายเป็นแหล่งรวมความบันเทิงหลากชนิด เพื่อรองรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจของคนกรุงเทพฯ ที่มีกำลังซื้อมากขึ้น เกิดเป็นศูนย์การค้า อาคารพาณิชย์ 3-4 ชั้น ตลาด โรงหนัง โรงแรม ลานโบว์ลิ่ง ไอซ์สเกต ฯลฯ

แผนงานทั้งหมดดำเนินการเสร็จสิ้นในปี 2507 ใช้ชื่อโครงการว่า “ปทุมวันสแควร์” ก่อนจะมีการหารืออีกครั้งระหว่างผู้บริหารโครงการ และเปลี่ยนชื่อเป็น “สยามสแควร์” เพื่อสื่อถึงความยิ่งใหญ่ครบวงจรของโครงการ

แม้ สยามสแควร์ จะเป็นศูนย์รวมความบันเทิงชั้นนำ แต่ก็ไม่ง่ายนักที่จะดึงดูดวัยรุ่นหรือชนชั้นกลางให้เข้ามาใช้บริการ เพราะต้องแข่งกับศูนย์รวมความบันเทิงที่มีมานานและติดลมบนไปแล้วอย่างย่านวังบูรพา กระทั่งภายหลังเมื่อมีการพัฒนาสยามสแควร์เพิ่มเติม เช่น โรงภาพยนตร์สยาม (เปิดปี 2510) โรงภาพยนตร์ลิโด (เปิดปี 2511) โรงภาพยนตร์สกาลา (เปิดปี 2513) และการสร้างห้างสรรพสินค้าสยามเซ็นเตอร์ (เปิดปี 2516) จึงได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

เมื่อถึงทศวรรษ 2520 สยามสแควร์ได้กลายเป็นหนึ่งในแลนด์มาร์คสำคัญของกรุงเทพฯ อีกทั้งไม่ไกลกันนัก ก็มีการสร้างห้างมาบุญครอง (เปิดปี 2528) บวกกับเมืองที่ยิ่งขยายตัว ย่านปทุมวันที่ครอบคลุมสยามสแควร์จึงเป็นศูนย์กลางธุรกิจและการค้าของกรุงเทพฯ อย่างเต็มตัว

เข้าสู่ทศวรรษ 2530 สยามสแควร์กลายเป็นแหล่งบันเทิงที่ฮิตที่สุดของวัยรุ่น มีร้านค้า ร้านอาหาร โรงเรียนกวดวิชา ฯลฯ รวมถึงเป็นสถานที่ที่แมวมองจะมาสอดส่องชักชวนวัยรุ่นหน้าตาดีที่มีแววเข้าสู่วงการบันเทิง กล่าวได้ว่าภาพของสยามสแควร์ที่เราคุ้นเคยกันดีในปัจจุบันเกิดขึ้นช่วงนี้

ในทศวรรษ 2540 เมื่อการเดินทางสะดวกสบายยิ่งขึ้นจากการเปิดบริการรถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีสยาม ในปี 2542 ก็ได้มีการปรับปรุงสยามสแควร์ขนานใหญ่ และมีการก่อสร้างห้างสรรพสินค้า “สยามพารากอน” ที่เปิดให้บริการในปี 2548 เพื่อรองรับจำนวนนักท่องเที่ยวที่มากขึ้น

ปัจจุบัน นอกจากสยามสแควร์จะเป็นแหล่งช้อปปิ้งและแหล่งแฮงค์เอาท์ ยังเป็นพื้นที่สาธารณะที่มีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อให้คนทุกกลุ่มได้มาเข้าร่วม สะท้อนการเปลี่ยนแปลงของสังคมได้เป็นอย่างดี

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

100 ปี การบริหารจัดการที่ดินเขตจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. กรุงเทพฯ: สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2560.

สกุณา ประยูรศุข หน้าชุมชนเมือง หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2545

มติชนออนไลน์. 12 ปี สยามพารากอน กับ 12 เหตุผลที่ครองใจนักช้อปทั่วโลก . เข้าถึงเมื่อ 28 มีนาคม 2566 จาก https://www.matichon.co.th/publicize/news_760733

ทรงกลด บางยี่ขัน. 58 ปี สยามสแควร์ ความเป็นวัยรุ่นตลอดกาล เหตุผลที่คนกลับมา. เข้าถึงเมื่อ 28 มีนาคม 2566 จาก https://readthecloud.co/siam-square-walking-street/


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 28 มีนาคม 2566