ผู้เขียน | ธนกฤต ก้องเวหา |
---|---|
เผยแพร่ |
อย่างที่ทราบกันว่าวรรณคดีเรื่อง “พระอภัยมณี” ของ สุนทรภู่ มีการดำเนินเรื่องที่กินเวลารวมกันหลายสิบปี คือตั้งแต่ พระอภัยมณี กับ ศรีสุวรรณ ออกไปร่ำเรียนวิชาปี่ วิชากระบี่-กระบอง กลับมาแล้วถูกพระราชบิดาเนรเทศจนระหกระเหินออกไปผจญภัยและพานพบเหตุการณ์ต่าง ๆ มากมาย จนพระอภัยมณีมีลูกกับสตรีมากหน้าหลายตา ให้กำเนิดทายาท เช่น สินสมุทร สุดสาคร ที่เติบใหญ่เก่งกล้าช่วยบิดารบทัพจับศึกได้ กระทั่งบรรดาลูก ๆ ของพระอภัยมณีได้ครองคู่กับสตรีและมีลูกด้วยกันอีกรุ่น ซึ่งก็คือหลานของพระอภัยฯ วรรณคดีชิ้นเอกเรื่องนี้จึงพาเราไปรู้จักกับตัวละครแทบจะนับไม่ถ้วน จำนวน 3-4 รุ่นเลยทีเดียว
สุดสาคร บุตรของพระอภัยมณีกับนางเงือก หนึ่งในตัวละครที่โด่งดังและมีชื่อเสียงที่สุดในพระอภัยมณี ถูกกล่าวถึงบ่อยครั้งไม่แพ้พระบิดา เป็นอีกหนึ่งทายาทของพระอภัยมณีที่มี “ไทม์ไลน์” ชีวิตตั้งแต่แรกเกิดจนเติบโตเช่นเดียวกับตัวละคร “รุ่นลูก” คนอื่น ๆ ในเรื่องพระอภัยมณี แม้หลายคนจะติดภาพลักษณ์สุดสาครในวัยเด็กก็ตาม แต่อย่าลืมว่า ภาพของเด็กน้อยห่มหนังเสือควบม้านิลมังกร เป็นเพียง “คาแร็กเตอร์” ณ ช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น
ที่สำคัญ สุดสาคร ยังมีฉาก “เลิฟซีน” แรกตอนวัยรุ่น ที่เรียกได้ว่าดื่มด่ำอยู่นานแบบถอนตัวไม่ขึ้น เพราะต้องมนตร์เสน่ห์อาคมหญิงงามนางหนึ่ง คือ นางสุลาลีวัน ในเหตุการณ์สำคัญตอนหนึ่งของเรื่องพระอภัยมณี ช่วงที่พระอภัยมณี พระบิดาของสุดสาคร ทำสงครามกับ เมืองลังกา ของนางละเวงวัณฬา ซึ่งเป็นศึกติดพันที่อลม่านทั้งสมรภูมิรบ และ “สมรภูมิรัก” เป็นผลให้ตัวละครสุดรักสุดหวงอย่าง สุดสาคร เข้าไปพัวพันจน “เสียตัว” ครั้งแรกเลยทีเดียว
กวีเอกอย่างสุนทรภู่ไม่ยอมให้ สุดสาคร เสียตัวแบบธรรมดา แต่ให้เสียแบบยอมถอด “หนังเสือ” หรือสละพรตฤๅษี (ชั่วคราว) เพื่อให้ได้เสพสมกับนางสุลาลีวัน และสามารถเรียกได้ว่าเป็นครั้งแรกที่ “ตกม้านิลมังกรตาย” เพราะ “ล่มปากอ่าว” ไม่สามารถพาสำเภาพ้นผืนสมุทรไทได้ (ฮา)
ต้นสายปลายเหตุของเรื่องราวนี้ อาจจะต้องเล่าย้อนเพิ่มเติมกันเสียหน่อย หลังจากพระอภัยมณีและสินสมุทร (โอรสอันเกิดจากนางผีเสื้อสมุทร) ลาจากเกาะแก้วพิสดารไปพร้อมเรือของเมืองผลึกของนางสุวรรณมาลี ธิดากษัตริย์เมืองผลึก นางเงือกได้ให้กำเนิดสุดสาครหลังจากนั้น สุดสาครซึ่งป็นเด็กฉลาด ร่างกายแข็งแรงตั้งแต่ยังเป็นทารกยังได้เป็นศิษย์ของโยคี พระฤๅษีแห่งเกาะแก้วพิสดาร และถือพรตฤๅษีห่มหนังเสือตั้งแต่นั้น
เมื่อสุดสาครจับได้ม้านิลมังกรเป็นพาหนะ จึงร่ำลาแม่เงือกและหลวงตาฤๅษีเพื่อออกตามหาพระอภัยมณี จนถูกชีเปลือยหลอกขโมยไม้เท้าและม้านิลมังกรไป แต่ได้หลวงตาฤาษีมาช่วยไว้และชิงสมบัติทั้งคู่คืนจากชีเปลือยได้สำเร็จ ก่อนจะเข้าเมืองการะเวก
ท้าวสุริโยทัย กษัตริย์เมืองการะเวกนึกเอ็นดูสุดสาคร จึงรับไว้เป็นบุตรบุญธรรม เลี้ยงดูร่วมกับนางเสาวคนธ์และหัสไชย พระธิดาและพระโอรสของท้าวสุริโยทัยซึ่งมีอายุไล่เลี่ยกับสุดสาคร ทั้งสามจึงเติบใหญ่ร่วมกัน
ฝ่ายพระอภัยมณีซึ่งได้ครองเมืองผลึก และได้นางสุวรรณมาลีเป็นมเหสี ขณะเดียวกันมีสงครามติดพันกับเมืองลังกา โดยนางละเวงวัณฬาแห่งเมืองลังกาได้ยกทัพใหญ่พร้อมด้วยกำลังเสริมจากพันธมิตรมาโอบล้อมตีเมืองผลึก สุดสาครในขณะนั้นอายุราวสิบปีกว่า ๆ เติบใหญ่แกร่งกล้ามากพอจนได้รับความไว้วางใจจากท้าวสุริโยทัยให้นำกองเรือออกตามหาพระบิดา ได้ล่องเรือมาถึงเมืองผลึกพอดี จึงช่วยเมืองผลึกตีขนาบทัพลังกาและพันธมิตรจนชนะสงครามได้ สุดสาครจึงได้พบพระอภัยมณี
เรื่องราวที่คละคลุ้งไปด้วยเล่ห์เสน่ห์กามากำลังจะดำเนินต่อจากนั้น เมื่อพระอภัยมณีต้องมนตร์หลงรักนางละเวงวัณฬาเข้า ถึงขั้นยกทัพเมืองผลึก “Strikes Back” ตามบุกโต้กลับเมืองลังกา แต่โอบล้อมเมืองอยู่นานก็ตีหักเอาเมืองไม่ได้เสียที พระอภัยมณีที่ถวิลหาแต่นางละเวงฯ อดรนทนไม่ไหวจึงลอบเข้าไปหานางในวัง ทั้งคู่ต่างหลงรักจนได้เสียกันในที่สุด ส่วนศรีสุวรรณกับสินสมุทรซึ่งติดตามไปด้วยก็โดนเสน่ห์นางยุพาผกาและนางรำภาสะหรี ธิดาบุญธรรมกับบริวารของนางละเวงวัณฬาเช่นกัน
กองทัพเมืองผลึกได้แต่ตั้งทัพคอยทั้งสามองค์ ไม่ได้ดำเนินการอย่างไรต่อ สุดสาครกับหัสไชยจึงอาสานางสุวรรณมาลีเข้าไปเกลี้ยกล่อมพวกพระอภัยมณี
แต่กลับกลายเป็นว่า สุดสาครถูกเสน่ห์ของนางสุลาลีวัน ธิดาบุญธรรมอีกคนของนางละเวงวัณฬาเข้าจนได้ คือโดนเสน่ห์คุณไสยทั้งที่อยู่ในพรตฤๅษีเลย…
สุดสาคร กับ นางสุลาลีวัน
สำหรับฉากรักของของทั้งคู่ ขณะกำลัง “ได้ที่” อยู่นั้น นางสุลาลีวันคะยั้นคะยอให้สุดสาครลาจากพรตฤๅษีเสีย แถมยังหลอกล่อชิงไม้เท้าของสุดสาครด้วย สุดสาครแม้อาลัยอาวรณ์หนังเสือและไม้เท้าวิเศษ แต่หลงเสน่ห์นางสุลาลีวันจนถอนตัวไม่ขึ้นเสียแล้ว จึงยอมปลดเปลื้องผ้าคลุมและวางไม้เท้า เปลี่ยนเป็นเสื้อทองงดงามอย่างกษัตริย์ แล้วมาเฝ้ากอดรัดกับนางสุลาลีวัน หวังได้เสพสมกับหญิงสาว นางสุลาลีวันก็ดำเนินบทบ่ายเบี่ยงขอให้รอคอยดูฤกษ์ดียามเหมาะสมก่อนจึงจะยอมตกเป็นเมียสุดสาคร ดังนี้
“๏ พระฟังคำร่ำว่าให้ลาพรต เสียวสลดรำลึกนึกขึ้นได้
ด้วยเดชพระกุศลเข้าดลใจ เสียดายไม้เท้าสะอื้นกลืนน้ำตา
นางรู้ทีแกล้งจี้ที่สีข้าง เหลียวเห็นนางนึกรักเป็นหนักหนา
จึงว่าพี่นี้ไม่ขัดหัทยา อยากเป็นฝาหรั่งเล่นเย็นเย็นใจ
แล้วลาพรตปลดเปลื้องเครื่องหนังเสือ ทรงใส่เสื้อเส้นทองดูผ่องใส
ด้วยโลกีย์นี้มันปลื้มให้ลืมไตร เหมือนสึกใหม่มีเมียเฝ้าเคลียคลอ
เฝ้าคลึงเคล้าเฝ้าพลอดทางกอดเกี้ยว เราผัวเดียวเมียเดียวกันเจียวหนอ
นางแกล้งว่าอย่าเพ่อหวังคอยรั้งรอ น้องไม่ล่อลวงจริงจะยินยอม
แต่รอรักสักหน่อยค่อยค่อยรัก มิใช่จักโหยหิวให้ผิวผอม
ดูฤกษ์พานาทีให้ดีพร้อม น้องจะยอมอย่างประสงค์จำนงใน”
สุดสาครรู้ดังนั้น เพลิงกามาในจิตดังถูกโหมให้แรงยิ่งขึ้น จึงจูบหอมนางสุลาลีวันแล้วตัดพ้อว่าจะปล่อยให้รอไปถึงไหน เพราะตนไม่สามารถหักห้ามใจได้แล้ว ทั้งบรรดาเครือญาติในลังกาต่างก็ได้สตรีเมืองนี้ทั้งสิ้น ขออย่าแกล้งหลอกล่อให้ทรมานเลย
ว่าแล้วพลาง “เร่งเครื่อง” ล่วงล้ำร่างกายนางสุลาลีวันมากยิ่งขึ้น “กอดเกี้ยว” นางด้วยความปรารถนาอันรุนแรง จนนางสุลาลีวันยอมปล่อย “เลยตามเลย” เมื่อห้ามแล้วไม่ฟังก็แกล้งยอมทำเฉยให้สุดสาครเคล้นคลำรุกเร้าอยู่เช่นนั้น
ฝ่ายสุดสาครเองไม่เคยมีประสบการณ์ทางเพศกับหญิงใดมาก่อน จึงบังเกิดเป็น “บทอัศจรรย์” ของโยคีหนุ่มที่เพิ่งลาพรตกับสตรีแรกแย้มแห่งเมืองลังกา ดังนี้
“พระอิงแอบแนบชิดจุมพิตพักตร์ จะผัดรักรื้อตบึงไปถึงไหน
อันอดอื่นหมื่นแสนทั้งแดนไตร พี่อดได้อยู่ดอกด้วยนอกกาย
แต่ครั้งนี้ที่จะอดซึ่งรสรัก สุดจะหักห้ามสวาทให้ขาดขาย
เขาเป็นทั้งลังกาไม่น่าอาย อย่ากลับกลายแกล้งว่าทารกรรม
พลางกอดเกี้ยวเกลียวกลมภิรมณ์รื่น ถนอมชื่นเชยชิมไม่อิ่มหนำ
นางว่าเบื่อเหลือเข็ญเฝ้าเคล้นคลำ จะชอกช้ำไปเสียแล้วไม่แคล้วเลย
ห้ามเท่าไหร่ไม่ยั้งไม่ฟังห้าม ตามเถิดตามบุญกรรมแกล้งทำเฉย
พระกอดช้อนกรต้องประคองเชย ต่างไม่เคยขามเขินเผอิญเป็น
กระดี้กระดิกพลิกเพลี่ยงเบี่ยงเบนบิด เหมือนเรือติดตมตื่นจะขืนเข็ญ
แต่สาวหนุ่มชุ่มชื่นระรื่นเย็น บังเกิดเป็นอัศจรรย์ไม่ทันรู้
ด้วยรวดเร็วเปลวไฟประลัยราค เหมือนขึ้นปากนกหินใส่ดินหู
พอลั่นฉับสับไกก็ไฟพรู เสียงฟุบฟู่ฟุ้งฟูมดุงตูมตึง
ต่างตะเลิงเชิงชมภิรมณ์รื่น อันรสอื่นหรือจะเปรียบประเทียบถึง
นางเมียยั่วผัวเย้าเฝ้าเคล้าคลึง จนเหนื่อยจึงเคลิ้มหลับระงับไป ฯ”
เป็นอันว่าฉากรักและประสบการณ์ทางเพศครั้งแรกของสุดสาครกับนางสุลาลีวันถูกเปรียบเทียบให้เห็นภาพอย่างไม่ปกปิดเลยว่ามีความ “ขลุกขลัก” อยู่ไม่น้อย เพราะ “เหมือนเรือติดตมตื่นจะขืนเข็ญ” จนกระทั่ง “พอลั่นฉับสับไกก็ไฟพรู” จึงรู้ได้ทันทีว่า โยคีหนุ่มล่มปากอ่าวเสียแล้ว แต่ก็หาใช่ปัญหาหนักหนาอะไรสำหรับคู่หนุ่มสาว เพราะทั้งคู่ยังคงเฝ้าเคล้าคลึงกันต่อจนต่างคนต่างอ่อนหล้าแล้วหลับใหลไปในที่สุด
สุดสาครยังคงมัวเมาอยู่ในสมรภูมิกามแห่งเมืองลังการ่วมกับพ่อ อา และพี่ อยู่อีกนานกว่าสามปี ในที่สุด “ทีมเมียหลวง” โดยการนำของนางสุวรรณมาลี และนางแก้วเกษรา ภรรยาของศรีสุวรรณ รวมถึงหัสไชย ซึ่งเด็กกว่าพี่ ๆ ลุง ๆ ถึงไม่โดนมนตร์กามาไปกับเขา ช่วยกันหาสารพัดวิธีถอนมนตร์คลายเสน่ห์ให้ทั้ง 4 องค์ได้สำเร็จ และปิดฉากจบศึกเมืองลังกา ส่วนลูกที่เกิดจากสุดสาครกับนาสุลาลีวันคือ หัสกัน
ทั้งนี้ นางสุลาลีวันเป็นเพียงเมียจากฤทธิ์คุณไสยเท่านั้น ส่วนคู่ครอง “ตัวจริง” ของสุดสาครไม่ใช่ใครอื่น คือ “นางเสาวคนธ์” ธิดากษัตริย์ผู้เติบใหญ่เคียงกันที่เมืองการะเวก ซึ่งนางเองโกรธแค้นสุดสาครขนานใหญ่ที่หลงมัวเมาอยู่กับนางสุลาลีวันในเมืองลังกาอยู่นานปีดีดัก จนเกิดเป็นมหากาพย์การตามง้อพร้อม “บทอัศจรรย์” ที่ลือเลื่องอยู่ไม่น้อยเช่นกัน ไม่นานเกินรอคงได้นำเสนอให้ติดตาม…
อ่านเพิ่มเติม :
- “บทอัศจรรย์” คือบทอะไร? ทำไมต้องมี? มีเมื่อไร?
- พระอภัยมณีได้นางเงือกเป็นเมีย “รักที่ฉาบฉวยหรือยั่งยืน”?
- “นางวาลี” เมียพระอภัยมณี รูปไม่สวย แต่รวยปัญญา แถมยังแซ่บเวอร์!
อ้างอิง :
สุพรรณ พันธุ์ศรี. (2548). “บท (X) อัศจรรย์ในวรรณคดี”. กรุงเทพฯ : มติชน.
สุนทรภู่. (2544). นิทานคำกลอนสุนทรภู่ เรื่อง พระอภัยมณี (จากต้นฉบับ พระอภัยมณี). พิมพ์ครั้งที่ 60. กรุงเทพฯ : ศิลปาบรรณาคาร. (E-Book โดย ห้องสมุดดิจิทัลวัชรญาณ)
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 มีนาคม 2566