ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
ในบรรดาเมียทั้งหมดของพระอภัยมณี นางวาลี เป็นคนที่ผู้อ่านอาจรู้จักน้อยสุด หรือจำไม่ได้เลยเสียด้วยซ้ำ เพราะซีนหลักมักไปตกอยู่กับนางยักษ์ นางเงือก นางสุวรรณมาลี นางละเวง แต่ “นางวาลี” นี่แหละ ที่เรียกว่าเป็นคนพลิกเกมเลยก็ว่าได้ เพราะเป็นคนออกอุบาย ทำเอา “อุศเรน” ถึงกับกระอักเลือดตายมาแล้ว!
นางวาลี เป็นชาวเมืองผลึกและกำพร้ามาตั้งแต่ยังแบเบาะ “สุนทรภู่” ผู้แต่งพระอภัยมณี บรรยายลักษณะรูปร่างของนางวาลีเอาไว้ว่า
อยู่ภายหลังยังมีสตรีนางหนึ่ง
อายุถึงสามสิบสี่ไม่มีผัว
ชื่อวาลีสีเนื้อนั้นคล้ำมัว
รูปก็ชั่วชายไม่อาลัยแล
ทั้งกายาหางามไม่พบเห็น
หน้านั้นเป็นรอยฝีมีแต่แผล
เป็นกำพร้ามาแต่หล่อนยังอ่อนแอ
ได้พึ่งแต่ตายายอยู่ปลายนา
หากวัดกันตามมาตรฐานความงามในวรรณคดี ก็เรียกได้ว่า นางวาลี ไม่มีความสวยเป็นรูปสมบัติ อย่างไรก็ตาม แม้จะไม่สวย ขี้ริ้วขี้เหร่ แต่นางวาลีอาศัยอยู่กับตายายซึ่งมีเชื้อสายพรามหณ์ ดังนั้นจึงได้รับ “ความรู้” เป็นมรดกตกทอดของบรรพบุรุษที่เป็นพราหมณ์ เช่น รู้ฤกษ์ดินฟ้า คัมภีร์ไตรเภทของพราหมณ์ คัมภีร์ไสยศาสตร์ต่าง ๆ
ดังนั้น นางฉลาดล้ำเมก้าเคลฟเวอร์สุด ๆ
ความน่าสนใจของนางวาลีอีกอย่างคือ นางอยากมีคู่ครอง และต้องเป็นคู่ครองที่ “รูปหล่อ” เสียด้วย! วันหนึ่งนางได้ยินว่าพระอภัยมณีมาเป็นเจ้าเมืองผลึกคนใหม่ ทั้งกำลังมองหาทหารชำนาญศึกอยู่พอดี
“มงต้องลงแม่! จะเป็นคนอื่นไปไม่ได้ แม่เรียนมาทั้งชีวิต!” นางวาลีไม่ได้พูด
นางวาลีไม่ได้คิดจะไปสมัครเป็นทหารชำนาญศึกเพียงอย่างเดียว เพราะเป้าหมายอีกอย่างของนางคือการมีคู่ครอง และคู่ครองของนางต้องเป็น “พระอภัยมณี” เท่านั้น ซึ่งใครได้ยินก็หัวเราะ เพราะเห็นเพียงแต่ว่าแม่วาลีนั้นขี้เหร่ขนาดนี้ อย่าว่าแต่พระอภัยมณีเลย ผู้ชายแถวนี้หรือแถวไหนก็ไม่แล
แม้นางวาลีจะขัดใจ แต่แพสชันของนางนั้นยืนหนึ่ง
นางทูลว่าข้าน้อยนี้รูปชั่ว
ก็รู้ตัวมั่นคงไม่สงสัย
แต่แสนงามความรู้อยู่ในใจ
เหมือนเพชรไพฑูรย์ฝ้าไม่ราคี
แล้วหมายว่าฝ่าพระบาทก็มีห้าม
ล้วนงามงามเคยประณตบทศรี
แต่หญิงมีวิชาเช่นข้านี้
ยังไม่มีไม่เคยเลยทั้งนั้น
นางวาลีพูดตรงไปตรงมาว่านางไม่สวย ก็รู้ไม่ใช่ไม่รู้ แต่นางฉลาดปราดเปรื่อง แล้วยังบอกพระอภัยมณีด้วยว่า พระองค์มีเมียสวย ๆ ตั้งหลายคน แต่ยังไม่มีเมียฉลาด ๆ สักคนเลยนี่คะ
โอ้โห….
จากนั้นนางก็ร่ายต่อไปทำนองว่า “นี่นะคะพี่อภัยมณีที่รัก น้องอุตส่าห์มาให้ใช้แล้ว ถ้าพี่ไม่รับไว้มันไม่ถูกธรรมเนียมนะน้องว่า เพราะถ้าไม่เลี้ยงปราชญ์ไว้บำรุงบ้านเมืองนั้นคนดี ๆ ที่ไหนจะมาหาพี่คะ พี่ลองเอาหัวแม่ตีนกริกรองดูนะคะ ผู้หญิงสวย ๆ เขาก็ ‘รักรอญราญการโลกีย์’ ทั้งนั้นแหละค่ะ แต่น้องให้พี่ได้มากกว่าที่พี่จะคิดนะคะ”
ลองเอาแบบที่เป็นสาระบ้าง เราจะเห็นได้ว่า สิ่งที่นางวาลีให้ความสำคัญก็คือ “ปัญญา” ซึ่งไอเดียนี้สอดคล้องกับกระแสความคิดช่วงต้นรัตนโกสินทร์มาก ๆ เพราะช่วงนั้น “ปัญญา” ย่อมมาก่อนสิ่งอื่นใด และแนวคิดเรื่องปัญญาก็อยู่ในวรรณคดีหลายเรื่อง เช่น สามก๊ก ราชาธิราช รามเกียรติ์ อิเหนา หรือในวรรณคดีเรื่องสำคัญ ๆ ในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ก็ให้ความสำคัญกับเรื่องปัญญาแทบทั้งสิ้น
ช่วงต้นรัตนโกสินทร์มีความเปลี่ยนแปลงของบ้านเมืองมากมาย เช่น การค้าขายกับต่างประเทศมากขึ้น เศรษฐกิจขยายตัวมากขึ้น เราขายของแบบเงินตรามากกว่าเอาสินค้ามาแลกเปลี่ยนกันเพื่อดำรงชีพ คนสามารถประสบความสำเร็จได้ด้วยการใช้ปัญญา เช่นเดียวกับ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 เอง
มีหลักฐานมากมายที่แสดงให้เห็นว่า รัชกาลที่ 1 ทรงให้ความสำคัญกับเรื่องปัญญา เช่น พระพุทธรูป “พระพุทธเทวปฏิมากร” ประดิษฐานที่วัดโพธิ์ วัดประจำรัชกาลที่ 1 ก็เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ ซึ่งหมายถึงการใช้ปัญญา
หรือการโปรดให้สร้างไตรภูมิฉบับหลวงขึ้นมาที่ให้ศูนย์กลางของจักรวาลเป็น “โพธิบัลลังก์” หรือสถานที่ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้และเสวยวิมุติสุขในสัปดาห์ที่ 1 ก็เป็นการใช้ปัญญาเช่นเดียวกัน (รายละเอียดเรื่องนี้โปรดดูต่อในงานของ อ.ชาตรี ประกิตนนทการ “การเมืองในสถาปัตยกรรมสมัยรัชกาลที่ 1”, ส่วนเรื่องโลกทัศน์ที่เปลี่ยนแปลงไปของชนชั้นนำผ่านวรรณคดี โปรดดูต่อใน “ราชาธิราช สามก๊ก และไซ่ฮั่น: โลกทัศน์ของชนชั้นนำไทย” โดยกรรณิการ์ สาตรปรุง)
กลับมาที่นางวาลีกันต่อ…
นางวาลีไม่ทำให้พระอภัยมณีผิดหวัง นางแสดงความสามารถครั้งแรกคือใช้อุบายหลอกให้นางสุวรรณมาลีสึกจากชียอมเข้าพิธีอภิเษกสมรสกับพระอภัยมณี หลังจากนั้น นางก็ออกไปรบกับทัพของท้าวสิงหลและอุศเรน ยิงธนูใส่ท้าวสิงหลจนบาดเจ็บ แล้วช่วยกันคิดกลศึกจนสามารถจับอุศเรนได้
พระอภัยมณีใจดี ว่าจะไม่ฆ่าอุศเรน แต่นางวาลีหล่อนเด็ดขาด หล่อนว่าต้องฆ่าให้ตายค่ะพี่
ประเวณีตีงูให้หลังหัก
มันก็มักจะทำร้ายเมื่อภายหลัง
จระเข้ใหญ่ไปถึงน้ำมีกำลัง
เหมือนเสือขังเข้าดงก็คงร้าย
อันแม่ทัพจับได้แล้วไม่ฆ่า
ไปข้างหน้าศึกจะใหญ่ขึ้นใจหาย
ต้องตำรับจับให้มั่นคั้นให้ตาย
จะทำภายหลังยากลำบากครัน
ที่พระอภัยมณีไม่ยอมฆ่าอุศเรน เพราะเห็นแก่บุญคุณที่อุศเรนเคยช่วยเหลือกันไว้เมื่อตอนที่พระอภัยมณีติดเกาะมหิงสา แล้วอุศเรนก็รับขึ้นเรือไป จนกระทั่งไปเจอเรือของสินสมุทรซึ่งนางสุวรรณมาลีอยู่ในเรือนั้นด้วย อุศเรนขอตัวสุวรรณมาลีกลับไปอภิเษก แต่สินสมุทรไม่ยอม จึงสู้กันแล้วอุศเรนก็แพ้ แล้วก็ไม่ยอมยกทัพมากับพ่อจนโดนนางวาลีจับได้อีกทีก็ครั้งนี้
นางวาลีเดาว่าพระอภัยมณีไม่ฆ่าอุศเรนแน่ ๆ จึงคิดหาอุบายนั่นก็คือการ “แซะ”
นางวาลีรู้ว่าอุศเรนเป็นคนหยิ่งผยองในศักดิ์ศรีมาก โดนจับก็อายจนรู้สึกอัปยศ นางวาลีทำทีเป็นเดินเข้าไปหาพระอภัยมณี บอกว่าพ่อของอุศเรนคือท้าวสิงหล โดนลูกธนูยิงไปสามดอก หนีกลับไปแล้ว เห็นทีต้องตามตีจนถึงเมืองลังกา
พระอภัยมณีก็ว่าใจเย็น ๆ สงสารอุศเรนบ้าง นางวาลีก็หันไปทำทีเป็นว่า อุศเรนอยู่ตรงไหน (ซึ่งก็อยู่ตรงนั้นแหละ) แล้วก็บอกว่า ถ้าพระอภัยมณีจะปล่อยก็ได้ อุศเรนจะได้ไปดูใจพ่อ เพราะคงไม่พ้นสามคืนหรอก ปล่อย ๆ ไปเถอะ
อุศเรนได้ยินก็โกรธมาก โกรธจนกระอักเลือดตาย หลังจากตายแล้วอุศเรนก็เป็นปีศาจมาสิงร่างนางวาลีจนป่วย ไม่สามารถรักษาได้ สุดท้ายก็ตายตกไปตามกัน เป็นที่เศร้าโศกของพระอภัยมณีมาก ๆ
นางวาลีตายในฐานะทหารที่ฉลาดปราดเปรื่องมาก ๆ คนหนึ่งของพระอภัยมณี ในอีกด้านก็ตายในฐานะ “เมีย” ด้วยเช่นกัน ซึ่งจะว่าไปแล้ว ในฐานะเมียพระอภัยมณี นางก็ “เผ็ชร้อนมาก ๆ” ร้อนกว่าเดือนเมษาสิบปีมารวมกัน
ตอนที่นางวาลีช่วยพระอภัยมณีคิดหาอุบายให้นางสุวรรณมาลีสึกชีมาอภิเษก พระอภัยมณีถามนางวาลีว่าจะทำยังไง นางวาลีว่าไม่บอก นางให้สัญญาว่าถ้าทำไม่สำเร็จให้ประหารเลยค่ะพี่ พระอภัยมณีจึงว่าก็ได้ แต่ถ้าสำเร็จจะเอาอะไรก็บอก จากนั้นพระอภัยมณีเรียกนางวาลีขึ้นมาบนเตียง แล้วก็…
ถึงขาวดำน้ำตาลย่อมหวานมัน
ด้วยเชิงชั้นแนบชิดสนิทนาง
เหมือนม้าดีขี่ขับสำหรับรบ
ทั้งดีดขบโขกกัดสะบัดย่าง
ทั้งเรียบร้อยน้อยใหญ่ที่ไว้วาง
สันทัดทางถูกต้องคล่องอารมณ์
ถึงรูปชั่วตัวดำดังน้ำรัก
แต่รู้หลักล้ำสุรางค์นางสนม
ประโปรดปรานพานสนิทได้ชิดชม
ร่วมบรรทมแท่นทองที่รองทรง
เซ็กส์ของนางวาลีนั้นไม่รู้จะใช้คำคุณศัพท์ใดในการอธิบาย เพราะเหมือน “ม้า” สำหรับขี่ออกรบที่ทั้ง “ดีด ขบ โขก กัด สะบัดย่าง” นึกดูว่าเร่าร้อนขนาดไหน แต่ที่น่าสนใจคือเป็นความสัมพันธ์ที่ตอบสนองทั้งสองฝ่ายได้เป็นอย่างดี
นางวาลีอยากได้พระอภัยมณีเป็นคู่ครองอยู่แล้ว จุดประสงค์ของนางชัดเจนมาตั้งแต่ต้น ส่วนพระอภัยมณีก็ไม่ได้คาดหวังอะไรจากนางวาลี นอกจากการทำงาน ทำอุบายให้สำเร็จ แต่ดูเหมือนว่าเรื่องบนเตียงน่าจะเกินความคาดหมายของพระอภัยมณีแน่ ๆ
ในฐานะที่พระอภัยมณีเป็นนักรบที่ออกรบด้วย การได้ม้าศึกที่ตอบสนองทุกความต้องการย่อมทำให้การศึกง่ายขึ้น สะดวกสบายมากขึ้น การนำเอาเซ็กส์ของนางวาลีไปเปรียบเทียบกับม้าศึกชั้นดี ย่อมแสดงให้เห็นว่านางวาลีนั้นแซ่บเกินเบอร์จริง ๆ !!
อ่านเพิ่มเติม :
- ทำไมพระอภัยมณีเป่าปี่ ?
- พระอภัยมณีได้นางเงือกเป็นเมีย “รักที่ฉาบฉวยหรือยั่งยืน”?
- สุนทรภู่ “มหากวีกระฎุมพี” ผู้มีเสน่ห์มากกว่าการเป็นกวี
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
หมายเหตุ : ปรับปรุงเนื้อหาบางตอนจาก เพจคดีไม่มีวรรณะ “นางวาลี…. แม่ไม่สวยไม่ได้แปลว่าแม่ไม่แซ่บนะลูกนะ” เข้าถึงเมื่อวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2566 โดยได้รับอนุญาตให้ปรับปรุงเนื้อหาแล้วเรียบร้อย
สามารถติดตามเนื้อหาเกี่ยวกับวรรณคดีเรื่องอื่น ๆ ได้ที่เพจ คดีไม่มีวรรณะ
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 มีนาคม 2566