เจาะลึก “โนราโรงครู” พิธีกรรมหาชมยาก น้อมรำลึกบรรพชนของคนใต้

โนราโรงครู
รูปคุณ ธรรมนิตย์ นิคมรัตน์ จากการแสดงงาน โนรา มรดกภูมิปัญญาไทย มรดกวัฒนธรรมของมนุษยชาติ ณ มูลนิธิคึกฤทธิ์ ๘๐

ความพิเศษของ “โนรา” ไม่ใช่เพียงศิลปะการร่ายรำอันมีท่วงท่างดงาม แต่ยังมีความเกี่ยวพันกับวิถีชีวิตของชาวใต้อย่างใกล้ชิด ก่อเกิดเป็นพิธีกรรมอย่าง “โนราโรงครู”

เชื่อกันว่าโนราตกทอดมาตั้งแต่สมัยอาณาจักรศรีวิชัย ซึ่งการสืบทอดโนราจากรุ่นสู่รุ่นทำให้เกิด “ครู” ขึ้น ครูบาอาจารย์เหล่านี้ได้ชื่อว่าเป็น “ครูหมอตายาย” หมายถึงบรรพบุรุษที่ประสิทธิ์ประสาทศิลปะการแสดงแขนงนี้แก่ลูกหลาน ผู้ที่ได้รับสืบทอดมรดกภูมิปัญญาโนราจึงจัดพิธีบูชาและน้อมระลึกถึงบรรพบุรุษ เพื่อความเป็นศิริมงคลต่อครอบครัว เกิดเป็น “โนราโรงครู” ที่นับวันจะหาชมได้ยาก 

โนราโรงครู ส่วนใหญ่จะจัดขึ้นระยะเวลา 3 วัน 2 คืน ตั้งแต่วันพุธ-ศุกร์ ในเดือนมิถุนายน-กันยายน ทุก ๆ ปี 3 ปี หรือ 5 ปี ตามสะดวก 

จากบทความ “โนราโรงครู: แหล่งความรู้ของวัฒนธรรมการแสดงภาคใต้” โดย ผศ. ดร. เธียรชัย อิศรเดช อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิตในหนังสือ “โนรา ศิลปะการร้องรำ” (พ.ศ. 2563) ของกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ได้อธิบายแบบแผนพิธีกรรม โนราโรงครู ไว้อย่างละเอียดว่า

“โนรา” ที่จะมาประกอบพิธีได้นั้น ต้องเป็นชายผู้ผ่านการบวชเรียนก่อนครองเรือน ผ่านการฝึกฝนการร้องรำและประกอบพิธีที่สืบทอดมาจากสายตระกูลของตนอย่างถูกวิธี ผ่านพิธี “ครอบเทริด” หรือการมอบเทริดถ่ายโอนให้อย่างเป็นทางการจากครูโนราคนก่อน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วก็มักจะเป็นต้นตระกูล อย่าง ปู่หรือพ่อ เมื่อได้รับการสืบทอดอย่างเสร็จสมบูรณ์ ผู้นั้นจะได้รับการขนานนามว่า “โนราใหญ่” ซึ่งมีอภิสิทธิ์ครอบครองคณะโนรา

“ก่อนวันประกอบพิธีกรรมจะมีการปลูกโรงแสดงหรือโรงพิธีชั้นเดียวขึ้นเป็นการเฉพาะ ทางทิศตะวันออกในพื้นที่บ้านดั้งเดิมของสายตระกูล หันหน้าโรงไปทางทิศเหนือหรือทิศใต้ โรงพิธีเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาด 6×8 เมตร ไม่ยกพื้น หลังคาเป็นรูปหน้าจั่ว มุงครอบกระแชงหรือใบเตยไว้ตรงกลางจั่ว โรงพิธีที่สร้างขึ้นนี้ มีขนาดพอจุคนในหมู่เครือญาติและคณะโนราทั้งหมด ตรงกลางปู ‘สาดคล้า’ (เสื่อที่ทำมาจากต้นคล้า) ให้นายโรงโนราทำพิธีกรรม และร่ายรำต่าง ๆ”

ผศ. ดร. เธียรชัยยังให้ข้อมูลบรรยากาศพิธีกรรมโนราโรงครู ตั้งแต่วันแรกจวบจนวันสุดท้าย ไว้ดังนี้

เมื่อทุกอย่างพร้อมก็ถึงเวลาของพิธีกรรมวันแรก คล้อยบ่ายถึงเย็นวันพุธ โนราและคณะจะมาถึงยังสถานที่จัดแสดง เจ้าของบ้านจะต้องนำหมากพลูไปรับ และเชิญโนราใหญ่ให้ก้าวเข้าโรงพร้อมกับ “ตีเครื่อง” หรือใช้เครื่องดนตรีให้สัญญาณ เพื่อบอกกล่าวว่าได้มายังที่นี่โดยสวัสดิภาพ 

กิจกรรมของวันแรกอาจไม่เยอะมากนักเมื่อเทียบกับวันที่ 2 หรือ 3 ส่วนใหญ่จะเป็นการรับประทานอาหารเพื่อให้คุ้นชินกับสถานที่ จากนั้นจึงจะเริ่มต้นพิธีกรรมอย่างการตั้งเครื่องและเบิกโรง โดยให้โนราใหญ่ผู้ร่วมพิธียกพานหมากและจุดเทียน 1 เล่ม จับสายสิญจน์จากหิ้งบูชา “ครูหมอโนรา” หรือ “ตายายโนรา” บนบ้านเจ้าภาพมาชุมนุมที่โรงพิธี เมื่อถึงเวลาค่ำจึงค่อยทำพิธีกรรมอย่างการ “ขานเอ” ต่อ

เรื่องการขานเอ ประสิทธิ์ รัตนมณี และ นราวดี โลหะจินดา ให้ข้อมูลที่น่าสนใจไว้ในงานวิจัย “โนราโรงครูคณะ ‘เฉลิมประพา’ จังหวัดปัตตานี (พ.ศ. 2550)” ว่า เป็นการบอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ตามตำนานการปฏิสนธิของโนรา โดยบทขานเอจะต้องปรากฏในพิธีกรรมโนราโรงครูทุกครั้ง เพราะคนในชุมชนมีความเชื่อว่า หากไม่เบิกบทนี้ คณะโนราจะทำการอันใดก็จะไม่เกิดผลสำเร็จ 

เมื่อขานเอแล้ว ผศ. ดร. เธียรชัยได้ให้รายละเอียดต่อไปว่า โนราจะทำการ “กาศครู” หรือเชิญครู โดยใช้บทกาศครู จนถึง “ชุมนุมครู” ซึ่งเป็นการเชื้อเชิญวิญญาณครูหมอโนราของคณะเจ้าภาพมาชุมนุมยังบริเวณพิธี จึงอันเป็นการเสร็จพิธีของวันแรก 

แต่จะมีโนราบางสายทำการ “จับบทตั้งเมือง” เพื่อเป็นการจับจองพื้นที่โรงโนราเป็นกรรมสิทธิ์ของตน ตามเรื่องในตำนานที่พระยาสายฟ้าฟาดได้ประทานเป็นเครื่องต้น หรือบางสายอาจจะรำถวายครูหมอ หรือการแสดงรำทั่วไป เพื่อสร้างความบันเทิงแก่เจ้าภาพ เป็นต้น

ล่วงเข้าวันที่ 2 ซึ่งถือได้ว่าเป็นวันที่มีความเข้มข้นของพิธีกรรมมากที่สุด ตั้งแต่เช้าตรู่ยันดึกดื่นจะเต็มไปด้วยกิจกรรมต่าง ๆ มากมาย เริ่มจากการแสดงในเชิงพิธีกรรมของนายโรงที่จะแต่งตัวไปอันเชิญวิญญาณบรรพบุรุษของเจ้าบ้านมายังโรงพิธี ก่อนจะตามด้วยกาศครูและชุมนุมเทวดาเหมือนวันแรก 

แต่ที่แตกต่างคือมีการขออนุญาตพระแม่ธรณี เพื่อขอที่ตั้งโรงโนราและเป็นการไหว้ครู ก่อนจะถวายข้าวของให้ รวมถึงมีการ “แต่งพอก” หรือการนำผ้าขาวเหน็บที่เอวสองข้าง เนื่องจากวันนี้จะมี “การรำสิบสองบท สิบสองเพลง” โดยโนรา เช่น รำบทโศกัง บทพลายงามตามโขลง เพื่อให้พิธีสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

การร่ายรำดังกล่าวมีข้อบังคับคือโนราใหญ่ต้องเล่นให้ครบทั้งหมด 12 เพลง เพื่อให้มีโอกาสสูงที่ปู่ย่าตายายของเจ้าของบ้านจะมาเข้าทรง

กว่าจะทำการแสดงจนสิ้นสุด 12 บทเพลงก็ล่วงไปถึงช่วงย่ำเย็น ผู้หลักผู้ใหญ่ในพิธีกรรมก็จะเริ่มพาลูกหลานในสายเลือดของตนเองมากราบไหว้ครูหมอตายาย ซึ่งก็คือวิญญาณครูผู้ประสิทธิ์ประสาวิชาโนราและวิญญาณบรรพชนที่มาประทับที่โรงแสดง 

แต่ละบ้านจะมีครูหมอตายายตามบรรพบุรุษของตนเอง จากการไล่นับถึงพ่อแม่ผู้ล่วงลับขึ้นไปถึงตายาย ทวดเทียด จนกว่าจะไม่สามารถไล่ขึ้นไปจนสุดได้ เมื่อไม่สามารถไล่ต้นตระกูลได้อีก ก็จะเชื่อมความคิดเรื่องครูหมอตายายที่เป็นเทพ เช่น แม่ศรีมาลา พระเทพสิงหร ทำให้ทุกคนรู้สึกว่าเป็นสายเลือดเดียวกัน

เมื่อลูกหลานอยู่กันพร้อมหน้าก็ดำเนินพิธีกรรมต่อ โดยให้คนทรงของบ้านนั้นนั่งคลุมด้วยผ้าสีขาว ก่อนที่โนราใหญ่จะทำการขับร้องเพลงให้วิญญาณของต้นตระกูลมาสิงอยู่ที่ร่าง 

ความพิเศษและถือได้ว่าเป็นความสามารถของโนราใหญ่จะวัดอยู่ตรงนี้ เพราะต้องทำทุกอย่างให้วิญญาณบรรพบุรุษพอใจจนกว่าจะเข้ามาสิงร่าง ซึ่งวิธีการก็มีอยู่มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการก่นด่าว่าบรรพชนไม่ทำหน้าที่ หรือร้องเชิญให้ลงมาประทับ 

หลังจากวิญญาณบรรพชนเข้ามาทรงร่างของลูกหลานแล้วนั้น ก็เรียกได้ว่าถึงจุดสำคัญของพิธีโนราโรงครู กล่าวคือการแสดงความเคารพ และสื่อถึงความห่วงใยต่อผู้ล่วงลับ ซึ่งลูกหลานจะทำการเซ่นไหว้ของมากมายให้แก่บรรพบุรุษอย่างครบสมบูรณ์ ซึ่งการ “ครบสมบูรณ์” จะดูจากการตอบรับของร่างทรงที่จะทำการ “พาไล” หรือปีนขึ้นบนชั้นที่วางของเซ่นไหว้ 

หากยอมรับและถูกใจ ผีก็จะ “เหวยหมรับ” โดยการเอาเทียนจุดไฟวนรอบเครื่องเซ่น แล้วเสวยเปลวเทียนนั้น แต่ถ้าไม่ ร่างทรงจะเขวี้ยงอาหารเหล่านั้นทิ้ง และต้องเจรจาแก้ไขจนกว่าจะพอใจ

จวบจนเข้าวันเสร็จพิธี นายโรงจะร้องบทส่งครู สรรเสริญและขอบคุณวิญญาณครูหมอตายายที่มาร่วมพิธีเมื่อค่ำคืนที่แล้วตั้งแต่เช้า เนื่องจากมีความเชื่อว่าถ้าหากไม่ทำการส่งครูก่อนมืด จะทำให้ผีจร ผีป่าหรือผีไม่ดีแฝงตัวเข้ามา 

การร้องบทส่งครูก็มีลำดับคล้ายคลึงกับวันแรกที่เชิญมา โดยจะมีการปีนขึ้นไปตัดจากที่มุมหลังคาโรงออกสามตับ เรียกว่า “ตัดจากสามเหลิง” เพื่อให้ครูหมอตายายกลับทางนั้น 

ยิ่งไปกว่านั้นยังมีการ “รำเฆี่ยนพราย” กล่าวคือการใช้ไม้หวายอาคมเฆี่ยนตีไปรอบ ๆ บริเวณสาดคล้า เพื่อไล่ภูตผีอันตรายออกไป พลางร้องบทเพลงอาลัยระหว่างคนกับผีเคล้าคลอไปด้วย

ใกล้เวลาเลิกโรง โนราใหญ่จะนำด้ายขาวและเทียนขาวมาสับทิ้ง เพื่อตัดการมองเห็นและติดต่อกันระหว่างโลกคนเป็นและคนตาย ทั้งยังต้องนำสาดคล้าที่เหยียบย่ำมาเป็นเวลาเกือบสามวันคว่ำลง แล้วโยนเศษอาหารให้ผีจรและสรรพสัตว์กิน เป็นอันจบพิธี 

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

กรมส่งเสริมวัฒนธรรม. โนรา ศิลปะการร้องรำ. โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย: กรุงเทพฯ, 2563.

ประสิทธิ์ รัตนมณี และนราวดี โลหะจินดา. โนราโรงครูคณะ “เฉลิมประพา” จังหวัดปัตตานี (รายงานการวิจัย). ปัตตานี: สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยานิวัฒนา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, 2550. 

ปิยธิดา หนูสาย. “โนราโรงครู.” สืบค้นเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2566. https://www.sac.or.th/databases/rituals/detail.php?id=127.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 16 มีนาคม 2566