“โนราชาตรีภาคใต้” ไม่ได้มาจากอินเดีย

โนราที่จังหวัดนครศรีธรรมราชในสมัยรัชกาลที่ 5

จากข้อมูลในหนังสือ ร้องรำ ทำเพลง : ดนตรีและนาฏศิลป์ชาวสยาม โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ กล่าวว่า “โนรา” เป็นที่รู้จักแพร่หลายในชื่อ “ชาตรี” มาก่อนมีหลักฐานเก่าสุดปรากฏอยู่ในโคลงกรมหมื่นศรีสุเรนทร์ (พระราชโอรสในรัชกาลที่ 1) ว่า

ชาตรีตลุบตุบทิ้ง       กลองโทน
รำสะบัดซัดสะเอวโอน   อ่อนแปล้
คนกรับรับขยันโยน      เสียงเยิ่น
ร้องเรื่องรถเสนแก้       ห่อขยุ้มยาโรย

ต่อมาจึงเรียก “มโนราชาตรี” แล้วกร่อนเหลือเพียง “โนรา” สืบจนทุกวันนี้ (สารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้เล่ม 3:2529)

โนราที่จังหวัดนครศรีธรรมราชในสมัยรัชกาลที่ 5
โนราที่จังหวัดนครศรีธรรมราชในสมัยรัชกาลที่ 5

ชื่อการละเล่นที่เรียกว่าโนราหรือชาตรี ไม่ปรากฏหลักฐานอ้างถึงในสมัยกรุงศรีอยุธยา มีเพียงบทละครที่ชื่อมโนห์รา จึงเชื่อว่า ชาตรีไม่น่าจะเป็นชื่อท้องถิ่นมาแต่เดิม แต่น่าจะเป็นชื่อที่ชาวบางกอก (กรุงเทพฯ-ธนบุรี) เรียกมาแต่สมัยต้นรัตนโกสินทร์หรือก่อนหน้านั้นไม่นาน และน่าจะเป็นชื่อที่มีความหมายไปในทางไสยศาสตร์

ในส่วนที่มีการนำชื่อชาตรีไปโยงกับการละเล่น “ยาตรี” ของแคว้นเบงกอล สุจิตต์มองว่าไม่สอดคล้องกับยุคสมัยและความเป็นจริง เช่นเดียวกับการสรุปว่า ชาตรีได้ต้นแบบจาก “กถากลิ” (Kathakali) ของอินเดียใต้ก็ผิดฝาผิดตัว เพราะมีแบบแผนประเพณีและลีลาที่ต่างกันอย่างสิ้นเชิง

สุจิตต์ ตั้งสมมติฐานว่า โนราชาตรีที่เห็นทุกวันนี้น่าจะมีพัฒนาการประสมประสานการละเล่นจากหลายแหล่ง และแหล่งสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งน่าจะเป็นบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาภาคกลางในกลุ่มที่เรียกว่า “เพชรบุรี-ศรีอยุธยา” ที่มีสัมพันธ์กับภาคใต้มายาวนาน

จากข้อมูลของสุจิตต์ กษัตริย์เมืองเพชรบุรีเคยส่งเชื้อพระวงศ์ไปฟื้นฟูเมืองนครศรีธรรมราชเป็นเหตุให้เมืองนครศรีธรรมราชถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของเมืองเพชรบุรีเมื่อราวปลายพุทธศตวรรษที่ 18 หรือต้นพุทธศตวรรษที่ 19 และมีการอพยพผู้คนจากภาคกลางลงไปตั้งถิ่นฐานในเมืองนครศรีธรรมราชอยู่หลายครั้ง

รวมถึงชาวระบำเพชรบุรี-ศรีอยุธยาด้วย ทำให้มีนิทานกำเนิดโนราชาตรีเล่าถึงการเคลื่อนย้ายโนราชาตรีจากกรุงศรีอยุธยาลงไปยังภาคใต้อยู่หลายสำนวน

 


ข้อมูลจากหนังสือ “ร้องรำ ทำเพลง : ดนตรีและนาฏศิลป์ชาวสยาม” ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ.


เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 1 พฤศจิกายน พ.ศ.2561