ทำไมต้องมี “ฃ-ฅ” ทั้งที่ “ข-ค” ก็ใช้แทนได้?

อักษรไทย ฃ-ฅ
อักษรไทย จากบันทึกของ จอห์น ครอว์เฟิร์ด (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับตุลาคม 2561)

ปัจจุบันหากถามว่า อักษรไทย “ฃ-ฅ” มีหน้าที่อะไร ใช้ในคำไหนบ้าง คนส่วนใหญ่อาจส่ายหน้า เพราะตัวอักษรดังกล่าวแทบไม่ปรากฏให้เห็นในชีวิตประจำวันแล้ว แต่หากย้อนไปในอดีต ตัวอักษร “ฃ-ฅ” มีความสำคัญดังปรากฏในเอกสารหลายชิ้น

ตัวอักษร ฃ.ฃวด และ ฅ.ฅน ปรากฎหลักฐานบนศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง (หลักที่ 1) เกี่ยวกับการใช้ตัว “ฃ” และ “ฅ” ไว้อย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นคำว่า  ฃี่ (ขี่), ฃ้า (ฆ่า), ฅวาม (ความ), สองแฅว (สองแคว) เป็นต้น

Advertisement

รัชสมัยรัชกาลที่ 4 (ครองราชย์ พ.ศ. 2393-2411) ปรากฏหลักฐาน “ฃ-ฅ” ในแบบเรียน “ปทานุกรม” หรือหนังสือแบบเรียนภาษาไทย ซึ่งพระปิฎกโกศล (อ่วม) พระสงฆ์ประจำวัดราชบุรณะ กรุงเทพฯ แต่งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2400 โดยอธิบายถึงวิธีการใช้อักษร “ฃ” และ “ฅ” ไว้ว่า

“เปนเสมียรเฃียนจัดคัด ข้ ความ

ให้ต้องตามโบราณอาจาริย์ประสงค์

คือ ฃ ฅ หยักหัวสองตัวลง

ใส่แซมลงค่างไทยในมณฑล

ตลุม ฒ ลงภาษามลาประเทศ

ฤๅขอบเขตค่างขอมพร้อมสิงหล

มีแต่ ข ค ล ตัวทั่วตำบล

ครูไทยต้นเดิมนั้นท่านแยบคาย

เหนไทยมีนานาภาษาโข

มาพึ่งโพธิสมภารประมาณหลาย

ดำระดนปนกันนั้นมากมาย

จึงยักย้าย ฃ ฅ ต่ เติมลง

สำหรับไว้ใช้ประจำคำสยาม

ข ค ไว้ใช้ตามมคธประสงค์

ทั้งสี่ภาษาให้ใช้เฃียนลง

ข ค คงหนังสือเขาเล่าเรียนกัน”

อย่างไรก็ดี ในปี 2434 ซึ่งมีการประดิษฐ์พิมพ์ดีดภาษาไทยขึ้นเป็นครั้งแรก ผู้ประดิษฐ์ได้ตัด “ฃ-ฅ” ทิ้ง เหตุเพราะแป้มพิมพ์ดีดไม่พอ ทั้งยังมองว่าเป็นพยัญชนะที่ไม่ค่อยได้ใช้และสามารถทดแทนด้วยพยัญชนะอื่นได้ โดยเฉพาะ “ข-ค” ซึ่งมีเสียงคล้ายกัน แต่ที่จริงแล้วไม่ใช่ 

เพราะหากพิจารณาในแง่ภาษาศาสตร์จะเห็นว่า “ฃ ฅ ข ค” มีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง อ้างอิงจากมาตรวัดการออกเสียงมาตรฐานแบบสากล (International Phonetic Alphabet: IPA) จะสามารถเทียบเคียงเสียงของอักษรทั้ง 4 ตัวได้ดังนี้

ข ออกเสียงเป็น /kh/

ฃ ออกเสียงเป็น /x/

ค ออกเสียงเป็น /g/

ฅ ออกเสียงเป็น /ɣ/

สามารถรับฟังเสียงได้ที่นี่ คลิก

แม้เสียงที่ได้ยินจะคล้ายกัน ทว่าการออกเสียงทั้ง 4 ตัวไม่เหมือนกันเสียทีเดียว ซึ่งนั่นเป็นคำตอบได้ว่าทำไมแต่เดิมต้องมีพยัญชนะ “ฃ” และ “ฅ” ที่ทุกวันนี้แทบไม่ได้ใช้กันเท่าใดแล้ว 

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ธนโชติ เกียรติณภัทร. “สืบประวัติ “อักษรไทย” ในแบบเรียนโบราณ”, ใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2566.

วศินี พบูประภาพ. “ไขปริศนา ฃ.ฃวด หายไปไหน ทำไมไม่ใช้แล้ว.” สืบค้นเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2566. https://workpointtoday.com/phonology-on-the-kh/.

รัชฎาพร เทศหริ่ง. “ฃ ขวด กับ ฅ คน หายไปตั้งแต่เมื่อไร.” บอกกล่าวเล่าเรื่องไทย, ฉ. 11 (มิถุนายน-กรกฎาคม, 2553): 1.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 3 มีนาคม 2566