“พระพุทธนรสีห์” กรมพระยาดำรงฯ อัญเชิญจากเชียงใหม่ ร.5ตรัส “พระองค์นี้งาม แปลกจริงๆ”

"พระพุทธนรสีห์" อัญเชิญออกมาจากพระที่นั่งอัมพรสถานเป็นครั้งแรกโดยพระราชยานในริ้วขบวนตามโบราณราชประเพณี เพื่อประดิษฐาน ณ มณฑลพิธี พิธีมหามงคลบำเพ็ญพระราชกุศลอุทิศถวายพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เจริญพระพุทธมนต์ถวายสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช พระสยามเทวาธิราช และถวายพระพรชัยมงคลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ณ พระลานพระราชวังดุสิต วันอังคารที่ ๒๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๐

สืบเนื่องจากเมื่อครั้งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงดำรงตำแหน่งเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เสด็จไปตรวจราชการเมืองเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๑ เสด็จไปที่วัดพระสิงห์ เมืองเชียงใหม่ ทอดพระเนตรเห็นพระพุทธรูปขัดสมาธิเพชรแบบเชียงแสนองค์หนึ่ง ตั้งไว้บนฐานชุกชีในพระวิหารหลวงวัดพระสิงห์ มีลักษณะงาม จึงตรัสขอเจ้าอินทรวโรรสสุริยวงศ์ อัญเชิญลงมาไว้สำหรับทรงสักการบูชาในท้องพระโรงวังที่ประทับในกรุงเทพฯ

ครั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงสร้างวัดเบญจมบพิตร มีพระราชประสงค์จะใคร่ได้พระพุทธรูปโบราณที่มีลักษณะงาม สำหรับตั้งในศาลาการเปรียญ ซึ่งกะว่าจะทรงสร้างใหม่ มีพระราชดำรัสสั่งให้สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสืบหา

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพจึงกราบทูลถึงพระพุทธรูปที่ได้ทรงเชิญมาจากเมืองเชียงใหม่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปที่วัง ได้ทอดพระเนตรเห็นพระพุทธรูปองค์นี้ก็ตรัสว่า “พระองค์นี้งาม แปลกจริงๆ” และจึงโปรดเกล้าฯ ให้แห่อัญเชิญพระพุทธรูปไปที่พลับพลาในพระราชวังดุสิต แล้วถวายพระนามว่า “พระพุทธนรสีห์”

พระพุทธนรสีห์

เมื่อสร้างพระอุโบสถ (ชั่วคราว) ที่วัดเบญจมบพิตรแล้วเสร็จในปีต่อมา จึงอัญเชิญพระพุทธนรสีห์ไปเป็นพระประธาน “ทรงพระราชดำริว่า พระพุทธนรสีห์ เป็นพระพุทธรูปอันมีพระพุทธลักษณะงามยิ่งนัก จะหาเสมอเหมือนได้โดยยาก” ต่อมาเมื่อสร้างพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรแล้วเสร็จ จึงโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระพุทธชินราชจำลองมาเป็นพระประธานภายในพระอุโบสถ

ส่วนพระพุทธนรสีห์นั้นโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญไป ประดิษฐานบนชั้นที่ ๓ ของพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต อันเป็นที่ประทับส่วนพระองค์ และประดิษฐานสืบมาจวบจนทุกวันนี้

อัญเชิญ “พระพุทธนรสีห์” กลับยังพระที่นั่งอัมพรสถาน

เผยแพร่ฉบับออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

[ข้อมูลจาก “ตำนานพระพุทธรูปสำคัญ” พระนิพนธ์ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และหนังสือ “ลักษณ์ไทย เล่ม ๑: พระพุทธปฏิมา อัตลักษณ์พุทธศิลป์ไทย” โดย รศ. ดร. พิริยะ ไกรฤกษ์]