ยอดมวยมุสลิม “อีแร้งกระพือปีก” อีเซอร์ ศรแดง จากช่วงนักเลงจำเป็น สู่อุทิศตัวเพื่อศาสนา

(ซ้าย) อีเซอร์ ศรแดง เมื่อ 2558 (ขวา) อีเซอร์ เมื่อปี 2505 ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม สิงหาคม 2558

อีเซอร์ ศรแดง มีนามจริงว่า ประดิษฐ์ รื่นพิทักษ์ เขาเป็นนักชกสายเลือดมุสลิมนามกระเดื่องในตำนานมวยมุสลิมอีกผู้หนึ่ง เป็นมวยรุ่นใหญ่พิกัดน้ำหนักรุ่นเวลเตอร์เวท เป็นมวยถนัดซ้าย ใช้จังหวะฝีมือแคล่วคล่องว่องไว มีอาวุธรอบตัว เตะต่อยรุนแรงเด็ดขาด มีท่วงท่าลีลาการจรดที่ไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือน

กล่าวคือ เมื่ออยู่บนสังเวียน เขาตั้งการ์ดมวยด้วยการยกหมัดทั้งสองข้างอยู่ระดับคิ้ว และเต้นฟุตเวิร์คกรีดกรายไปรอบสังเวียนตามจังหวะปี่กลอง พร้อมขยับไหล่และแขนขึ้นลงตามจังหวะฟุตเวิร์คเหมือนดั่งนกกระพือปีก เมื่อได้จังหวะ เขาจะออกใส่คู่ต่อสู้อย่างรุนแรงดุจพญานกโฉบเหยื่อ นี่จึงเป็นที่มาของฉายาที่สื่อมวลชนและแฟนมวยทั่วไปตั้งให้ว่า “นกกระยางดำ” บ้าง ตามรูปร่างและสีผิว, “วิหคเหินลม” บ้าง และ “อีแร้งกระพือปีก” บ้าง ตามการเคลื่อนไหวของเขาบนสังเวียน

ฉายา “อีแร้งกระพือปีก” เป็นฉายาที่ติดปากคนมากกว่าอย่างอื่น ส่วนหนึ่งเพราะเขาเปรียบประดุจพญานกแรกที่มีปีกอันทรงพลัง และมีจะงอยปากที่แกร่งดุจเหล็กกล้า ในการฉีกเหยื่อรายแล้วรายเล่า คู่ต่อสู้ของเขาเปรียบเป็นแค่ซากที่ไร้พิษสง ถึงแม้เขาจะมิได้มีโอกาสเป็นแชมเปี้ยน แต่แชมเปี้ยนหลายรายต้องพ่ายแพ้แก่เขา แม้บางคนจะเป็นนักมวยในตำนาน สุดท้ายก็ต้องตกเป็นเหยื่อของเขา

เพราะเขาเป็นนักมวยประเภทฝีมือ จับทางมวยยาก และชกด้วยยาก เมื่อขึ้นสังเวียนจึงเป็นที่หนักใจของคู่ต่อสู้ นั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้นักมวยระดับแนวหน้าร่วมสมัยหลายรายหลีกเลี่ยงที่จะขึ้นปะทะกับเขา

นามบนสังเวียนของเขาคือ “อีเซอร์ ศรแดง”

อีเซอร์ ศรแดง มีนามจริงว่า ประดิษฐ์ รื่นพิทักษ์ มีชื่อทางอิสลามว่า “อาดุลอาชีด” เป็นบุตรคนที่ 2 ในจำนวน 6 คน ของ ฮัจยีอับดุลเราะฮุ์มาน กับ นางเที่ยง รื่นพิทักษ์ เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2479 ที่ตำบลบ้านพลับ อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ในปี พ.ศ. 2489 เมื่อเขาอายุได้ประมาณ 10 ปี บิดามารดาก็ได้ย้ายภูมิลำเนาจากพระนครศรีอยุธยามาตั้งบ้านเรือนอยู่ย่านสะพานขาว กรุงเทพฯ โดยบิดาของเขาเป็นโต๊ะครูใหญ่ เปิดสอนอัลกุรอ่าน มีคนมาเรียนด้วยเป็นจำนวนมาก และมักได้รับเชิญไปตัดสินคดีอันเกี่ยวกับทางศาสนาอยู่เสมอ เป็นที่เคารพนับถือกันทั่วไปโดยเฉพาะในหมู่พี่น้องมุสลิม

แรกเริ่มหัดมวย

ในสมัยวัยรุ่น ประดิษฐ์เป็นคนกว้างขวางมีเพื่อนฝูงมาก ซึ่งบางครั้งก็มีเหตุกระทบกระทั่งถึงขั้นชกต่อยกันเป็นประจำ “เรามันเด็กแก่น มีเรื่องชกต่อยกันเป็นประจำ เพื่อนๆ ก็ให้เราไปชกทุกครั้ง แพ้เขาทุกครั้ง เจ็บจุกเป็นประจำ สู้เขาไม่ได้ เลยไปหัดมวย” เขาเล่าความหลังอย่างอารมณ์ดี

เขาหัดมวยครั้งแรกเมื่ออายุราวๆ 17-18 ปี โดยไปขอหัดที่ค่าย “กิ่งเพชร” ในซอยกิ่งเพชร ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากย่านสะพานขาวมากนัก

ค่ายกิ่งเพชรนี้มี นายทองทศ อินทรทัต เป็นผู้ก่อตั้งขึ้นภายในบริเวณโรงงานบริษัทเทวกรรมโอสถ โดยมอบหมายให้ “ป๊ะราม” – บังราม ศรผจญ หรือ ราม นักประเสริฐ อดีตนักมวยเก่าคณะลูกศร เป็นหัวหน้าคณะ มี นายเลาะฮุ์ นักประเสริฐ บุตรชายเป็นผู้ช่วย มีนักมวยจากภาคเหนือมาสังกัดอยู่ด้วยหลายคน เช่น เปลี่ยน เสมาทอง (หรือ เปลี่ยน กิ่งเพชร) ดี เสมาทอง สอยดาว เสมาทอง และ แดงยักษ์ เป็นต้น ในเวลาที่ประดิษฐ์ไปสมัครขอหัดมวยนั้น โผน กิ่งเพชร แชมเปี้ยนโลกคนแรกของไทย ก็กำลังฝึกหัดมวยสากลอยู่กับ อาจารย์นิยม ทองชิต ที่นั่น

เมื่อประดิษฐ์ไปหัดมวยนั้น มี “ครูเซอร์” หรือชื่อนักมวยว่า “ดวงใจ กิ่งเพชร” ผู้เป็นน้องชายครูซัน วงศ์สอนธรรม (ก่อตั้งคณะมวย ศ. มหานาค) เป็นผู้ฝึกสอนให้ แต่เมื่อพ่อรู้ว่าไปหัดมวยก็ห้ามปรามและเฆี่ยนตี ไม่ให้ไปหัดมวยอีก เขาจึงหนีไปอยู่ค่ายมวยตั้งแต่บัดนั้น แต่ต่อมาภายหลังพ่อเห็นว่าห้ามไม่หยุด จึงยอมอนุญาตให้หัดมวยได้ และให้กลับบ้าน เพราะในชั้นแรกคิดว่าเขาไปหัดมวยเพียงเพื่อป้องกันตัวเท่านั้น จากนั้นประดิษฐ์ก็เดินเท้าจากบ้านย่านสะพานขาวไปซ้อมมวยที่ค่ายกิ่งเพชรทุกวัน ต่อมาพ่อของเขาก็กลายเป็นนักดูมวย และสนับสนุนการชกของเขาทุกครั้ง

เมื่อพญานกขยับปีก

เมื่อไปหัดมวยอยู่ได้ระยะหนึ่งไม่นานนัก ซึ่งเขาว่า “ผมยังหัดมวยอยู่ได้ไม่เต็มเดือนเลย ยังหัดชกแค่หมัดแย็บ ครูยังไม่ได้สอนอะไรมากกว่านี้” ก็พอดีกับทางจังหวัดสมุทรปราการมีงานประจำปีนมัสการพระสมุทรเจดีย์ ปี พ.ศ. 2498 ซึ่งในงานมีการแข่งขันมวยด้วยเป็นเวลา 7 วันติดต่อกัน สมัครพรรคพวกจากค่ายกิ่งเพชรและค่ายในเครือข่ายไปเปรียบมวยด้วยหลายคน ประดิษฐ์ก็ติดตามไปเที่ยวกับเขาด้วยเพื่อดูการเปรียบมวย

ในวันที่เขาไปนั้น เป็นวันที่ 2 ของงาน มีการเปรียบคู่มวยตามปรกติ แต่มีนักมวยขาดคู่เปรียบอยู่คนหนึ่ง น้ำหนักตัวขนาด 60 กิโลกรัม ทางคณะกรรมการผู้จัดจึงประกาศหาคู่ชกให้ แต่ก็ไม่มีใครกล้าขึ้นไปเปรียบคู่ด้วย เขายืนดูอยู่นานก็อดรนทนไม่ไหว จึงไปชั่งน้ำหนักดู ก็ปรากฏว่าหนัก 60 กิโลกรัมเท่ากัน จึงก้าวขึ้นไปขอเปรียบคู่ ทางคณะกรรมการก็ประกบคู่ให้เป็นที่เรียบร้อย เมื่อได้คู่ชกเข้ารายการแล้ว ครูเซอร์จึงตั้งชื่อนักมวยให้เขาว่า “อีเซอร์ ศ. มหานาค”

ยังไม่ทันได้ชกกันก็มีคนมาบอกว่า คู่ชกที่เขาเปรียบคู่ด้วยนั้น ก็คือ “สมชาย พระขรรค์ชัย” ศิษย์เอกของ “ครูพูน” – พูน พระขรรค์ชัย (หรือ “ศรี พระขรรค์ชัย”) เป็นนักมวยเก่ง ขึ้นเวทีมาหลายครั้งแล้ว เคยเอาชนะ สุชาย เกศสงคราม ศิษย์เอก “ครูเฒ่า” – สุดใจ จรัญรัตน์ มาแล้วอีกด้วย และที่สำคัญที่สุดก็คือ ครั้งหลังสุด เมื่อวันวานที่ผ่านมาอันเป็นวันแรกของงาน ก็เพิ่งเตะคู่ชกถึงตายมาแล้ว จึงไม่มีใครกล้าขึ้นไปเปรียบชกด้วย

ประดิษฐ์ หรืออีเซอร์ พอทราบข้อมูลของคู่ชก ทีแรกก็หนักใจไม่น้อย แต่ครูเซอร์ก็บอกว่าให้ชกไปเถอะ เรามันมวยใหม่ ไม่ไหวก็นอน แต่เขายืนยันกับครูว่า “ผมสู้ครับ”  แล้วครูเซอร์ก็ติวเข้มให้เป็นพิเศษแบบหลักสูตรเร่งรัดระยะสั้น

เมื่อถึงเวลาขึ้นเวที “ผมตื่นเต้น ทำอะไรไม่ถูก” เขาเล่า พอได้สัญญาณให้ออกไปไหว้ครู เขาก็ไหว้ครูตามแบบฉบับมวยมุสลิม คือนั่งคุกเข่ากลางเวที ยอมือขึ้นขอดุอา (ขอพร) ต่อพระผู้เป็นเจ้า  จากนั้นก็เดินย่างสามขุมกลับเข้ามุม เป็นอันเสร็จพิธี

พอกรรมการให้สัญญาณชก เขาก็ตื่นเต้นมากขึ้น สมชายเป็นฝ่ายเตะนำมาก่อน “ผมโดนเตะทีเดียวหายตื่นเต้นเลย” อีเซอร์ย้อนอดีต จากนั้นแข้งของสมชายก็ตามมาอีกหลายครั้ง จนกระทั่งหมดยกแรก

เมื่อกลับเข้ามุม ครูเซอร์ซึ่งทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงก็บอกอีเซอร์ว่า “พอเขาเตะมา พอตีนเขาตก ให้ชกด้วยหมัดซ้ายตอบโต้”

ขึ้นยกที่ 2 อีเซอร์ก็ตอบโต้สมชายตามแบบที่ครูเซอร์สอน อย่างไม่เกรงศักดิ์ศรีนักมวยรุ่นพี่แต่อย่างใด ยกที่ 3 สมชายซึ่งถูกตอบโต้ด้วยหมัดซ้ายมาอย่างหนักก็เริ่มมีอาการอ่อนแรงอย่างเห็นได้ชัด พอขึ้นยก 4 อีเซอร์ก็บุกกระหน่ำเข้าถลุงจนคู่ต่อสู้ล้มลุกคลุกคลานหมดทางสู้ กรรมการผู้ชี้ขาดบนเวทีจึงเข้ายุติการชก จับให้อีเซอร์เป็นฝ่ายชนะเทคนิเคิลน็อคเอ๊าต์ (T.K.O.) นับเป็นการประเดิมสังเวียนอย่างงดงาม

การพ่ายแพ้อย่างเหลือเชื่อทำให้สมชายเกิดความข้องใจจึงขอชกแก้มืออย่างทันควัน ซึ่งทางฝ่ายอีเซอร์ก็รับคำท้า ทางคณะกรรมการจัดงานจึงจัดให้ชกกันอีกครั้งในอีก 5 วันต่อมา อันเป็นวันสุดท้ายของงานพระสมุทรเจดีย์

ในการขึ้นสังเวียนครั้งที่ 2 นี้ อีเซอร์คงมีเวลาเตรียมตัวเพียง 4 วัน ซึ่งครูเซอร์ก็ทำหน้าที่ติวเข้มให้เป็นพิเศษอีกเช่นเคย

การขึ้นเวทีคราวนี้อีเซอร์มีความมั่นใจ ไม่มีความประหม่าตื่นเต้นเหลืออยู่อีกแล้ว เมื่อกรรมการให้สัญญาณชก อีเซอร์ก็บุกเข้าถลุงสมชายตั้งแต่ยกที่ 1 ไปจนถึงยกที่ 4 กรรมการก็จับสมชายแพ้เทคนิเคิลน็อคเอ๊าต์ไปอีกครั้ง

สมชาย พระขรรค์ชัย เจ้าของฉายาจอมตื๊อผู้นี้ เป็นศิษย์เอกของ “ครูพูน” หรือ พูน พระขรรค์ชัย (หรือในอีกนามหนึ่งคือ ศรี พระขรรค์ชัย) นักมวยเก่าคณะลูกศร ตั้งแต่สมัยสนามมวยหลักเมือง สวนสนุก สวนเจ้าเชตุ ตัวสมชายเองในประวัติการชกของเขา เคยเป็นแชมป์มวยทหารบกรุ่นเวลเตอร์เวท 2 ปีซ้อน และเป็นรองแชมเปี้ยนอันดับสูงของเวทีราชดำเนินและลุมพินี สมชายขึ้นชกกับอีเซอร์รวมทั้งหมด 4 ครั้ง และอีเซอร์ก็สามารถเอาชนะสมชาย ย้ำแค้นให้ทั้ง 4 ครั้ง เข้าทำนองยิ่งแก้ยิ่งยุ่ง และสมชายก็เลิกคิดแก้มือตั้งแต่นั้นมา

วิหคเหินลม

หลังจากมีชัยต่อ สมชาย พระขรรค์ชัย อย่างงดงามเป็นประเดิมถึง 2 ครั้งติดต่อกันแล้ว ชื่ออีเซอร์ก็โด่งดังขึ้นมาทันทีในแบบชั่วข้ามคืน ทำให้มีกำลังใจมุมานะที่จะกรุยทางไปสู่ความเป็นนักมวยใหญ่ผู้มีชื่อเสียง ฝ่ายครูเซอร์เองก็สอนวิชาเพิ่มเติมให้ และได้สอนใจให้ ซึ่งเขาจดจำมาตลอดจนถึงในวัยชราว่า

“เป็นนักมวยต้องมีใจก่อน นักมวยย่อมมีความกลัวกันทุกคน กลัวแพ้ กลัวเจ็บ แต่เมื่อขึ้นไปบนเวทีแล้ว ไม่ใช่หน้าครู หน้าพ่อ ไม่ต้องกลัว แต่ถึงจะกลัวอย่างไร ในยกหนึ่งถึงยกห้านี้ต้องไม่กลัว เมื่อชกเสร็จแล้วจะกลัวต่อก็ได้”

นอกจากครูเซอร์ ซึ่งเป็นครูคนแรกแล้ว อีเซอร์ยังได้รับการสั่งสอนถ่ายทอดวิชามวยจาก หวัง อาหะหมัด อดีต “แชมเปี้ยนแห่งสยาม” คนแรก เพราะ หวัง อาหะหมัด เป็นเพื่อนกับพ่อของเขา และมีบ้านพักอยู่ใกล้เคียงกัน ต่อมาภายหลัง เขาก็ยังได้รับการแนะนำเพิ่มเติมจาก ครูแอ ม่วงดี ยอดมวยมุสลิม ซึ่งก็เป็นเพื่อนของพ่อเช่นกัน

“หวัง อาหะหมัด” ยอดนักมวยมุสลิม กำปั้นแชมเปี้ยนแห่งสยามคนแรก

หลังจากที่ได้โชว์ฟอร์มมา 2 ครั้งแล้ว อีเซอร์ก็ได้รับการเสนอชื่อเข้ารายการชกที่เวทีราชดำเนินทันที โดยพบกับ สังเวียน เกศสงคราม นักมวยระดับฝีมือและชกมาหลายครั้งแล้ว เป็นศิษย์ “ครูเฒ่า” –  อาจารย์สุดใจ จรัญรัตน์ แต่เมื่อใกล้วันชก อีเซอร์ก็เกิดอาการเจ็บป่วยที่ขาอย่างกะทันหัน ถอนตัวออกจากรายการไม่ทัน ประกอบกับปัญหาทางครอบครัว คือพ่อแม่ถูกไล่ที่จากย่านสะพานขาว ต้องย้ายภูมิลำเนาไปหาซื้อที่ปลูกบ้านใหม่ที่ย่านพระโขนง ทำให้เขาต้องย้ายตามพ่อแม่ไปด้วย ซึ่งด้วยเหตุนี้เขาจึงขอย้ายคณะต่อทางคณะ ศ. มหานาค (ซึ่งฝึกซ้อมรวมอยู่กับค่ายกิ่งเพชร) ที่เขาสังกัดอยู่ แต่ทางคณะไม่ยอมให้ย้าย

เมื่อถึงวันชก อีเซอร์ก็ไม่มีกะจิตกะใจที่จะชก จะเตะจะชกก็ไม่ถนัดเพราะขาเจ็บ สังเวียนเลยได้โอกาสเตะขาอันเป็นจุดอ่อน สุดท้ายเขาก็พ่ายคะแนนไปอย่างใกล้เคียง

ทางคณะ ศ. มหานาคนั้น ต่อมาพ่อของอีเซอร์ก็ได้ไปพูดขอกับทางคณะด้วยตัวเอง ทางผู้จัดการคณะจึงยอมให้ย้ายได้ เมื่อมาอยู่พระโขนง ค่ายมวยในย่านนั้นคือค่าย “สิงห์ประเวศร์” มี นายแพทย์สุวรรณ อินทรพงษ์ เป็นหัวหน้าค่าย อีเซอร์จึงไปสังกัดอยู่กับค่ายนั้น (พ.ศ. 2499) ในขณะนั้นที่ค่ายสิงห์ประเวศร์มีนักมวยเด็กๆ อยู่เพียงไม่กี่คน ดังนั้นเมื่ออีเซอร์เข้าไป เขาจึงเป็นดาวเด่นของค่าย และเป็นมวยใหญ่เพียงคนเดียว

เมื่อผ่านมรสุมในครอบครัวเรื่องย้ายบ้านและเรื่องย้ายคณะแล้ว เขาก็เร่งฝึกซ้อมบำรุงร่างกายจนสมบูรณ์ และก็ได้รับการเสนอชื่อขึ้นชกอีก ซึ่งเขาก็ปราบคู่ต่อสู้ได้ติดต่อมากมายหลายคน จนกลายเป็นดาวรุ่งพุ่งแรง เหมือนวิหคเหินลม ไม่มีใครสกัดกั้นเขาอยู่อีก ทั้งที่เวทีราชดำเนิน ลุมพินี และเวทีต่างจังหวัด

ปี พ.ศ. 2500 อีเซอร์ถูกเกณฑ์เป็นทหาร ในสังกัดกองบัญชาการ กรมอากาศโยธิน ในระหว่างที่เป็นทหารนี้ เขาก็ยังได้ขึ้นชกให้แก่กองทัพอากาศด้วย

ไม่นานต่อมาในนาม อีเซอร์ สิงห์ประเวศร์ เขาก็ได้รับการพิจารณาบรรจุชื่อเข้าเป็นรองแชมเปี้ยนมวยไทยรุ่นเวลเตอร์เวท ทั้งที่ราชดำเนินและลุมพินี เขาสามารถเอาชนะนักมวยระดับแชมป์และรองแชมเปี้ยนด้วยกันได้อีกหลายคน ในการชกครั้งสำคัญๆ ก็มี เอาชนะ สมชาย พระขรรค์ชัย เจ้าของแชมเปี้ยนกองทัพบก 2 สมัย, ชนะ ทองสุก รวงทอง (นภาพล) อดีตแชมเปี้ยนรุ่นเวลเตอร์เวท เวทีลุมพินี, เอาชนะ “สิงห์เข่าเหล็ก” – บุญมี แม่นฉมัง อดีตแชมเปี้ยนมวยไทยรุ่นเวลเตอร์เวท เวทีราชดำเนินคนแรก แต่เขาก็มาสะดุดแพ้โกมาลย์เดช ก.ฝ.ท. (เลือดระยอง) เสียครั้งหนึ่ง (ต่อมาเขาขอแก้มือ และสามารถเอาชนะโกมาลย์เดชได้ถึง 3 ครั้ง – โกมาลย์เดชผู้นี้ก็คือผู้สามารถชนะน็อคเอ๊าต์ อภิเดช  ศิษย์หิรัญ “จอมเตะบางนกแขวก” เป็นคนแรก) แล้วมาแพ้ “เทพบุตรเท้าไฟ” ชาญชัย ลูกสุรินทร์ เพราะร่างกายไม่สมบูรณ์พร้อม เนื่องจากเพิ่งผ่านเดือนรอมฎอน (ถือศีลอด) มาได้เพียงไม่กี่วัน

พญานกกระพือปีก

ปี พ.ศ. 2502 เขาก็ปลดประจำการ อีเซอร์เริ่มตระหนักว่าค่ายสิงห์ประเวศร์เป็นค่ายมวยเล็กๆ มีปัญหากับโปรโมเตอร์ อีกทั้งยังขาดคู่ซ้อมที่เป็นมวยใหญ่ด้วยกัน นอกจากนี้ค่ายยังย้ายที่ฝึกซ้อมเข้าไปในคลองลึกเข้าไปมาก เดินไปซ้อมมีความยากลำบาก สุดท้ายเขาจึงขอย้ายไปสมัครอยู่ค่ายศรแดง ของ เด๊ด มิโรซ่า (หรือ เดชา นันทพินิจ) ซึ่งตั้งค่ายอยู่ที่ตรอกตำปิซา สีลม

ค่ายศรแดงในขณะที่อีเซอร์เข้าไปสมัครอยู่ด้วยนั้น มีนักมวยใหญ่อยู่หลายคน เช่น สามารถ สะมะแอ เดโช เป็นต้น นอกจากนี้หัวหน้าค่ายก็เป็นมุสลิม นักมวยในค่ายหลายคนก็เป็นมุสลิมด้วยกันอยู่หลายคน เรื่องอาหารการกิน การบำรุงร่างกาย และที่พัก ตลอดจนการปฏิบัติศาสนกิจก็สะดวก  นักมวยมีรายการขึ้นชกมาก เพราะหัวหน้าค่ายเป็นคนกว้างขวาง

จากนี้ไป เขาก็กลายเป็น “อีเซอร์ ศรแดง” ไปจนแขวนนวม…

แขวนนวม

อีเซอร์เริ่มชกมวยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2498 ตระเวนชกทั้งราชดำเนิน ลุมพินี และเวทีต่างจังหวัดจนถึงปี พ.ศ. 2515 รวมระยะเวลาถึง 18 ปี

เมื่อมีวัยสูงขึ้น ประกอบกับมีครอบครัวเป็นหลักฐานแล้ว (เขาสมรสกับ นางสาวลูกจันทร์ พุ่มพวง เมื่อปีพ.ศ. 2505 หลังจากขึ้นชกกับ โพธิ์ทอง เดชาชัย แล้ว) “ตอนนั้น (พ.ศ. 2515) ผมอายุ 36 ปีแล้ว มีลูกแล้ว 4 คน เลยเลิก” อีเซอร์บอก รวมสถิติการชกทั้งหมดถึง 108 ครั้ง ซึ่งในจำนวนนี้มีแพ้ไม่ถึง 10 ครั้ง นับเป็นสถิติที่งดงามสำหรับนักชกขวัญใจมุสลิมผู้นี้

นักเลงจำเป็น

ชีวิตนอกสังเวียนผ้าใบของอีเซอร์มีอยู่ช่วงหนึ่งที่เขาต้องกลายเป็นนักเลงจำเป็น

อีเซอร์เล่าว่า มีอยู่วันหนึ่ง พี่ชายของเขา ซึ่งขับรถบรรทุกสองแถวรับส่งของบรรดาแม่ค้าอยู่ที่ตลาดพระโขนง เห็นว่ามีผู้คนมารอรถโดยสารอยู่เป็นอันมาก รถไม่พอเพียง จึงเข้าไปช่วยรับคนไปส่ง ทำให้นักเลงซึ่งคุมคิวรถสองแถวอยู่ไม่พอใจ เข้าทำร้าย อีเซอร์เมื่อมีคนมาบอกก็รีบไปที่เกิดเหตุเพื่อพูดจาถามสาเหตุ แต่นักเลงผู้นั้นต้อนรับด้วยท่าทีนักเลงยโส อีเซอร์จึงจัดการสั่งสอนไปตามสมควร นักเลงคุมคิวก็วิ่งโร่ไปแจ้งความตำรวจ

ตำรวจจึงเรียกตัวอีเซอร์ไปโรงพักพร้อมตั้งข้อหาว่าเป็นอันธพาล แต่สารวัตรใหญ่ สถานีตำรวจพระโขนงในเวลานั้นได้ให้ปล่อย และบอกว่าอีเซอร์เป็นคนดี ไม่ใช่นักเลง นอกจากนั้นยังตั้งให้อีเซอร์รับหน้าที่เป็นคนคุมคิวรถโดยสารแทนนักเลงผู้นั้นถึง 4 คิว ซึ่งเป็นที่ยอมรับของเจ้าของตลาดและคนขับรถสองแถวทุกคัน นอกจากจะเป็นนักมวยแล้ว อีเซอร์จึงกลายเป็นผู้คุมคิวรถไปตั้งแต่ตอนนั้น และก็เริ่มทำกิจการรถสองแถวของตัวเองไปด้วย

โดยปรกติอีเซอร์เป็นคนเคร่งศาสนามาแต่เดิม เพราะพ่อของเขาเป็นโต๊ะครูใหญ่ ได้อบรมสั่งสอนหลักศาสนาและพระคัมภีร์อัลกุรอ่านให้แก่เขามาแต่เยาว์วัย แต่เพราะสถานการณ์พาไป เขาจึงต้องกลายเป็น “นักเลง” ไปโดยปริยาย

อีเซอร์วันนี้(2558)

หลังจากที่แขวนนวมแล้วและเลิกทำธุรกิจรถสองแถวแล้ว ต่อมาอีเซอร์ก็ย้ายจากพระโขนงมาอยู่ที่บ้าน…ตำบลสุรศักดิ์ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ทุกวันนี้เขามีความสุขตามอัตภาพ บุตร-ธิดาต่างมีหลักฐานมั่นคงไปหมดแล้ว และเขาเองก็ได้อุทิศตัวให้กับศาสนาอย่างเต็มที่

ปัจจุบัน (2558) อีเซอร์เป็นโต๊ะครูใหญ่ที่เคร่งครัดต่อระเบียบแบบแผนข้อบัญญัติตามหลักอิสลาม เขาไปทำละหมาดวันละ 5 เวลาที่มัสยิดสลาม่าตุ้ลเลาะฮุ์ (บ่อทอง) ทุกวัน และปฏิบัติศาสนกิจอื่นๆ อย่างครบถ้วน เช่น การถือศีลอดในเดือนรอมฎอนและทำความดีตามหลักศาสนาทุกวัน…


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาบางส่วนและเรียบเรียงจากบทความ “ยอดมวยมุสลิม
อีเซอร์ ศรแดง “อีแร้งกระพือปีก”” ใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม 2558

เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2563