เผยแพร่ |
---|
ด้วยทำเลที่ตั้งที่คาบเกี่ยวระหว่างภูมิภาคอนุทวีปเอเชียใต้และเอเชียกลางทำให้ดินแดน “อัฟกานิสถาน” เป็นพื้นที่สำคัญของเส้นทางการติดต่อในโลกยุคโบราณ เป็นจุดกลางเชื่อมต่อระหว่างตะวันตกกับตะวันออก จนเกิดการผสมผสานวัฒนธรรมที่ผ่านเข้าออกช่องทางต่าง ๆ ในดินแดนแห่งนี้
ก่อนที่ศาสนาอิสลามจะแผ่อิทธิพลเข้ามายังดินแดนอัฟกานิสถาน ที่นี่เป็นอู่อารยธรรมที่ผสมผสานวัฒนธรรมจากหลากหลายพื้นที่ ดังเห็นได้จากโบราณวัตถุทองคำที่แหล่งโบราณคดี “ทิลลิยาเทป”
ในช่วงที่สหภาพโซเวียตเข้ามามีอิทธิพลในอัฟกานิสถาน กลุ่มนักโบราณคดีจากโซเวียตและอัฟกานิสถาน ร่วมกันสำรวจขุดค้นที่แหล่งโบราณคดีแห่งหนึ่งทางภาคเหนือของอัฟกานิสถาน เป็นเนินดินขนาดใหญ่มีชื่อเป็นภาษาพื้นเมืองว่า “ทิลลิยาเทป” (Tillya Tepe) แปลว่า เนินทองคำ
การขุดค้นครั้งนั้นได้พบหลุมฝังศพโบราณที่ฝังร่างผู้หญิง 5 คน และผู้ชาย 1 คน บุคคลเหล่านี้น่าจะเป็นชนชั้นสูงผู้มั่งคั่งแห่งเผ่าซิเถียน (Scythian) ที่เคยมีอำนาจในพื้นที่แคว้นแบกเตรียในราวคริสต์ศตวรรษแรก ก่อนที่ราชวงศ์กุษาณะจะเข้ามามีอำนาจแทนที่ โบราณวัตถุที่แสดงถึงความมั่งคั่งที่พบที่นี่คือ เครื่องประดับและเครื่องใช้ต่าง ๆ ที่ล้วนเป็นทองคำราว 20,000 ชิ้น
โบราณวัตถุทองคำที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักมากที่สุดคือ “ศิราภรณ์ทองคำ” เครื่องสวมศีรษะออกแบบเป็นรูปต้นไม้ 5 ต้นแผ่กิ่งก้านสาขาและดอกไม้บาน ประดับตุ้งติ้งแขวนห้อยอย่างงดงาม สามารถถอดแยกชิ้นได้ อาจสื่อความหมายถึงต้นไม้แห่งชีวิต (Tree of Life) ตามคติความเชื่อของชนเผ่าเร่ร่อนดั้งเดิมที่นับถือธรรมชาติ

ประเด็นที่น่าสนใจคือ คติการทำเครื่องประดับรูปต้นไม้เช่นนี้ ยังพบตามแหล่งโบราณคดีอีกหลายแห่งแถบเอเชียกลางและรัสเซีย ที่สำคัญคือ ศิราภรณ์นี้มีองค์ประกอบคล้ายกับมงกุฎทองคำสมัยราชวงศ์ซิลลา (Silla) ในเกาหลีด้วย ซึ่งนักโบราณคดีเชื่อว่าคงเป็นผลของการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมของชนเผ่าเร่ร่อน ที่กระจายตัวตั้งแต่เอเชียกลาง จีน มองโกเลีย กระทั่งส่งผ่านมาถึงคาบสมุทรเกาหลี

การผสมผสานวัฒนธรรมตะวันตกและตะวันออกยังพบเห็นได้จากโบราณวัตถุทองคำบางชิ้นที่แหล่งโบราณคดีแห่งนี้ เช่น รูปเทพีมีปีก เทพีรูปร่างอวบอิ่ม นุ่งผ้าหนา เปลือยท่อนบน ลักษณะคล้ายกับเทพีอะโฟรไดต์ (Aphrodite) เทพีแห่งความรักของกรีก มีความพิเศษคือ รูปเทพีนี้สวมกำไลแขนหลายวง และมีการแต้มจุดที่กลางหน้าผากซึ่งเป็นวัฒนธรรมอินเดีย แสดงถึงการผสมผสานคติความเชื่อแบบกรีกที่ตกค้างอยู่ในแคว้นแบกเตรีย เข้ากับวัฒนธรรมอินเดีย

โบราณวัตถุอีกชิ้นหนึ่งคือ จี้รูปกษัตริย์จับมังกร เป็นจี้ทองคำสลักลายฝังพลอยและหินเทอร์ควอยซ์ เป็นรูปกษัตริย์แต่งกายด้วยเสื้อคลุมแบบชาวซิเถียน มีการแต้มจุดที่กลางหน้าผากแบบอินเดีย สวมศิราภรณ์มีห่วงกลม ใช้มือจับมังกรทั้ง 2 ข้าง ตัวมังกรโค้งเป็นรูปตัว S ที่หัวมีลายประดับและมีเขาคล้ายมังกรของจีน แต่มีปีกคล้ายสัตว์ผสมในศิลปะเปอร์เซีย ตัวจี้มีเส้นทองคำถักเป็นร่างแหมีตุ้งติ้งรูปกลมและรูปดอกไม้ห้อยประดับ

โบราณวัตถุที่กล่าวมานี้เป็นเพียงบางส่วนเท่านั้น แต่ก็ได้บ่งบอกถึงความมั่งคั่งของชนชั้นปกครองชาวซิเถียน ที่น่าจะได้รับจากการควบคุมพื้นที่จุดหนึ่งบนเส้นทางการค้าของโลกโบราณในบริเวณอัฟกานิสถานนั่นเอง
โบราณวัตถุเหล่านี้จึงเป็นภาพสะท้อนความเป็นอู่อารยธรรมโบราณของอัฟกานิสถาน แสดงถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่ปรากฏผสมผสานกันทั้งจากตะวันตกและตะวันออก
อ่านเพิ่มเติม :
- “อัฟกานิสถาน” บนเส้นทางสายไหม “แอ่งอารยธรรมดึกดำบรรพ์”
- บันทึก ทูตไทยประจำอัฟกานิสถาน เยือนกรุงคาบูล-เยี่ยมชมพุทธรูปบามิยัน เมื่อ พ.ศ. 2519
- อัฟกานิสถานแหล่งผลิต “พระพุทธรูป” องค์แรกในโลก
อ้างอิง :
ธนกฤต ลออสุวรรณ. (ตุลาคม, 2564). ศิลปกรรมโบราณในอัฟกานิสถาน หลักฐานจากแหล่งโบราณคดีสำคัญ. ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 42 : ฉบับที่ 12.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 ตุลาคม 2564