นัยของ “ช่อฟ้า” ในวัฒนธรรมลาว จากหลักผี สู่คติจักรวาลไตรภูมิ

หอพระบาง เมืองหลวงพระบาง ประเทศลาว (pixabay.com-public domain)

ในบรรดาประเทศเพื่อนบ้านด้วยกันแล้ว ลาว-ไทย เป็นประเทศบ้านพี่เมืองน้องที่มีความสนิทสนมกลมกลืนกันมากที่สุด เพราะมีเชื้อชาติ ศาสนา ภาษา ศิลปะและขนบธรรมเนียมประเพณีละม้ายคล้ายคลึงกัน ฉะนั้นการได้ศึกษาศิลปกรรมลาวจึงเท่ากับได้ศึกษาศิลปะของชาวไทยภาคอีสานไปพร้อมกันด้วย (สงวน รอดบุญ. พุทธศิลปลาว. 2545, น. 5.)

อีกทั้งในด้านงานช่างที่เกี่ยวเนื่องในพระพุทธศาสนาล้วน แล้วแต่แสดงให้เห็นถึงสายสัมพันธ์ด้านฝีมือที่มีลักษณะร่วมอันเกิดจากพลังศรัทธาโดยแท้ในลักษณะการถ่ายมาเทไปโดยอิทธิพลของพุทธศิลป์ไทยในลาวได้สืบเนื่องเจริญรุ่งเรืองในดินแดนลาวมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 วัดวาอารามในนครหลวงพระบางบางวัดได้รับแบบจากวัดในกรุงเทพฯ เช่น วัดศรีพระพุทธบาท เป็นต้น (สงวน รอดบุญ. พุทธศิลปลาว. 2545, น. 58.)

ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นถึงสายสัมพันธ์ด้านศิลปะและวัฒนธรรมงานช่าง โดยมีส่วนประดับตกแต่งทางสถาปัตยกรรมศาสนาคารอันมีลักษณะร่วมกันที่สำคัญอย่างหนึ่งของกลุ่มวัฒนธรรมไทย-ลาว โดยเฉพาะส่วนยอดหลังคา บริเวณพื้นที่กึ่งกลางของสันหลังคาอันมีชื่อเรียกตามภาษาถิ่นไทย-ลาวอีสาน อย่างที่เรียกว่า ช่อฟ้า ผาสาท หอปราสาท (วิโรฒ ศรีสุโร. สิมอีสาน. 2536, น. 377.)

โดยใน สปป.ลาว นิยมเรียกส่วนนี้ว่า ช่อฟ้า จอมปราสาท สัตตะบุรีพัน (สมมณี ประทุมไชย. “การศึกษาเปรียบเทียบสถาปัตยกรรมวิหารล้านนา-ล้านช้าง กรณีศึกษา เชียงใหม่-หลวงพระบาง,” ใน วารสารวิชาการสาระศาสตร์. 2545, น. 148.)

และในล้านนา ซึ่งเป็นกลุ่มวัฒนธรรมลาวกลุ่มหนึ่งของไทยจะเรียกองค์ประกอบส่วนนี้ว่าปราสาทเฟื้อง หรือช่อฟ้ายองปลี (ปรีชา เกียรติปรีชา. สารสภาวัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย. 2541, น. 37.)

วัดเชียงทอง เมืองหลวงพระบาง ประเทศลาว (pixabay.com-public domain)

ทั้งหมดคือมิติความหมายแห่งสมมติด้านภาษาที่ใช้เป็นชื่อเรียกเพื่อการสื่อสาร หากแต่โดยความเข้าใจทั่วไปชื่อของช่อฟ้าในวัฒนธรรมศูนย์กลางของไทยภาคกลาง (ไทย-สยามกรุงเทพฯ) จะหมายถึงองค์ประกอบหนึ่งทางสถาปัตยกรรมในส่วนยอดบริเวณหน้าบันของศาสนาคารประเภทวัดและวังในงานช่างหลวง ซึ่งมีลักษณะทางกายภาพเลียนแบบมาจากหัวนาค บ้างทำเป็นรูปหัวนกเจ่า รูปเทพนม รูปดอกบัวตูม แตกต่างกันไปตามจินตนาการของช่างผู้รังสรรค์ตามสายสกุลช่างแต่ละยุคสมัย

ที่สำคัญก็คือ ช่อฟ้านี้จะอยู่ในบริเวณส่วนที่เป็นเครื่องประดับปลายสันหลังคาด้านสกัด โดยนั่งอยู่บนชั้นอกไก่ ตรงส่วนที่เป็นไม้ตัวรวยหรือไม่นาคสำรวยมาบรรจบกัน ซึ่งทั้งหมดนี้คือเอกลักษณ์ของช่อฟ้าในบริบทวัฒนธรรมไทย-สยามกรุงเทพฯ ซึ่งตรงกันข้ามกับความหมายและรูปแบบของช่อฟ้าในวัฒนธรรมไทย-ลาว

ในแง่มิติความหมายเชิงสัญลักษณ์ของช่อฟ้าในวัฒนธรรมลาว ที่ผ่านมามักถูกอธิบายอยู่ในกรอบความคิดแห่งจักรวาลทัศนไตรภูมิคติ ที่มีต้นธารความคิดมาจากวัฒนธรรมทางศาสนาของอินเดียเป็นกระแสหลัก อย่างเช่น ช่อฟ้าแบบรูปสัตภัณฑ์ราวเทียนหรือช่อฟ้าแบบที่มีลักษณะอย่างรูปเรือนปราสาทจำลองย่อส่วนที่พบในกลุ่มวัฒนธรรมลาวซึ่งเรียกว่าซุ้มโขงหรือพระซุ้มโขง (ในกรณีที่มีการนำพระพุทธรูปมาประดิษฐานอยู่ภายในตัวเรือนซุ้ม) ซึ่งโดยทั่วไปล้วนมีนัยยะความหมายเชิงสัญลักษณ์เนื่องจากมณฑปและรูปปราสาทโดยทั่วไปเป็นการจำลองภาพสัญลักษณ์ของเขาพระสุเมรุอยู่แล้ว (โชติ กัลยาณมิตร. สถาปัตยกรรมไทยเดิม. 2539, น. 45-46.)

โดยคำอธิบายดังกล่าวถือเป็นการสืบทอดกรอบแนวคิดเรื่องของการสร้างพลังอำนาจของความเป็นศูนย์กลางแห่งจักรวาล ที่แสดงออกผ่านงานช่างในศาสนาคารหลากหลายประเภทและรูปแบบ จากวัฒนธรรมนำเข้าของอินเดียทั้งพุทธศาสนาและศาสนาฮินดู เช่น การอธิบายถึงคติไตรภูมิผ่านแบบแผนของลักษณะการวางผังบริเวณและตั้งพื้น ลักษณะรูปทรงอาคารทั้ง 3 ส่วนไตรภาค ลักษณะการใช้ภาพเขียนที่แสดงออกเป็นเรื่องราวไตรภูมิ

และเช่นเดียวกัน ช่อฟ้าของอีสานรุ่นเก่าส่วนใหญ่จะมีลักษณะเป็นแท่ง ๆ ซึ่งรูปแบบดังกล่าวนี้แสดงให้เห็นร่องรอยแห่งพัฒนาการทางสังคม ที่มีการผสมผสานคติเดิมในวิถีสังคมเก่าที่นับถือผี สืบเนื่องในวัฒนธรรมหินตั้งที่ส่งต่อสู่พัฒนาการแห่งคติเรื่องของเสาไม้หลักเส (กรณีที่อยู่ในวัดบ้างก็เรียกว่า บือวัด) หรือหลักบือบ้าน หรือหลักฆ่าควาย ในกลุ่มข่า กำมุ จนเมื่อมีการรับนับถือศาสนาใหม่ จึงได้บรณาการคติความเชื่อเดิมที่นับถือผีสู่การรับนับถือพระพุทธศาสนาแบบชาวบ้าน

จากซ้าย ช่อฟ้าสกุลช่างพื้นบ้าน หอแจก วัดสีบุนเรือง แขวงคำม่วน, หลักเส วัดแจ้ง อุบลราชธานี, ช่อฟ้า สิม วัดองค์ตื้อ นครเวียงจันทน์

โดยเฉพาะสังคมอีสานเป็นวัฒนธรรมแบบชาวบ้านเป็นกระแสหลักโดยมีการหยิบยืมนำรูปสัญลักษณ์ในงานช่างเดิมอย่างรูปแบบของหลักเส หลักบือบ้าน หรือแม้แต่ธาตุไม้ ที่มีความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กันในวิถีสังคมเก่า มาปรับแต่งรับใช้ร่วมกับองค์ประกอบส่วนประดับตกแต่งศาสนาคารในลัทธิความเชื่อใหม่แบบผสมผสาน จนก่อเกิดเป็นช่อฟ้าในแบบฉบับของอีสาน ซึ่งแตกต่างจากวัฒนธรรมหลวงล้านช้าง โดยมีตำแหน่งที่ตั้งที่สำคัญในเชิงสัญลักษณ์อย่างในวัฒนธรรมหลวง

โดยช่อฟ้าในบริบทวัฒนธรรมไทยอีสานและ สปป.ลาว จะมีหนึ่งเดียวต่อศาสนาคาร 1 หลัง ทั้งนี้จะปรากฏคติการใช้ช่อฟ้ากับศาสนาคารประเภทอื่น ๆ ด้วย นอกจากศาสนาคารหลักอย่างสิมและวิหาร เช่น หอไตร หอแจก อูบมุง หอโปง หอระฆัง แต่ในศาสนาคารของกลุ่มชนชาติไต-ลื้อ สิบสองปันนา จะมีการประดับตกแต่งช่อฟ้าบนอาคารมากกว่า 1 แห่งในอาคาร 1 หลัง ทั้งนี้วัฒนธรรมล้านนาไทยกลับไม่ค่อยนิยมการใช้ช่อฟ้าตกแต่งบริเวณกลางสั้นหลังคา ส่วนมากทำเพียงมีฉัตรซ้อนชั้นเล็ก ๆ เท่านั้น

โดยช่อฟ้าในฝั่งลาวจะใช้วัสดุหลักเป็นงานปูนปั้น ขณะที่ในอีสานช่างพื้นถิ่นจะใช้ไม้เป็นหลัก โดยมีการใช้ปูนปั้นเฉพาะในกลุ่มช่างญวนซึ่งพบอยู่ในแถบจังหวัดมุกดาหาร นครพนม หนองคาย จากการศึกษาที่ผ่านมาข้าพเจ้าพบว่าใน สปป.ลาว นิยมการทำช่อฟ้ามากกว่าในอีสาน โดยมีตำแหน่งที่ตั้งบริเวณกลางสันหลังคาเหมือนกันโดยอยู่ในตำแหน่งเดียวกับสะดือโบสถ์ที่ผังพื้นด้านล่าง

แต่ความต่างอยู่ที่ อีสานมีรูปทรงแบบแท่ง ๆ โดด ๆ อันเดียวหรือแผงไม้แกะสลักเล็ก ๆ ไม่นิยมทำส่วนบริวารโดยมีลักษณะคล้ายธาตุไม้หรือหลักเส โดยมีตัวกาบกนกเป็นส่วนตกแต่งส่วนยอดเหล่านั้น เป็นปีกยอด 4 ด้านคล้ายนพศูลที่เป็นอิทธิพลศิลปะขอมโดยช่างอีสานนิยมทำยื่นออกมาเป็นแฉกมากกว่าการทำเป็นแผงสามเหลี่ยมอย่างใน สปป.ลาว

เอกลักษณ์ช่อฟ้าใน สปป.ลาว คือ มีลักษณะเป็นรูปทรงแบบแผงสามเหลี่ยมแบบสัตภัณฑ์ราวเทียนของภาคเหนือของไทยที่สะท้อนคติความเชื่อเรื่องของศูนย์กลางจักรวาลอันมีเขาพระสุเมรุเป็นศูนย์กลาง มีปราสาทไพชยนต์ อันเป็นที่สิงสถิตของพระอินทร์เทวราชา (สันติ เล็กสุขุม. ลีลาไทยเพื่อความเข้าใจความคิดเห็นของช่างโบราณ.2546, น. 78.)

หอพระบาง เมืองหลวงพระบาง ประเทศลาว (pixabay.com-public domain)

โดยตั้งอยู่บนกึ่งกลางสันหลังคาที่สูงสุดของยอดหลังคา โดยมีลักษณะเป็นแท่ง ๆ ขนาดลดหลั่น แบบเรือนปราสาทยอดธาตุบัวเหลี่ยมย่อส่วนโดยมีซุ้มคูหาประดิษฐานพระพุทธรูปขนาบอยู่ด้านข้างลดหลั่นเป็นรูปปราสาทบนยอดเขาบริวารที่เรียกว่า “สัตบริภัณฑ์” โดยจำนวนการลดหลั่นของรูปสัญลักษณ์แห่งช่อฟ้านี้ยังมีคำอธิบายเชิงสัญลักษณ์แห่งมิติด้านฐานานุศักดิ์ของงานช่างว่า ถ้าช่อฟ้ามีจำนวนยอด 17 ยอด แสดงว่าเป็นวัดหลวงที่กษัตริย์หรือเจ้ามหาชีวิตเป็นผู้สร้าง

หากน้อยกว่า 17 ลงมาจะเป็นเชื้อพระวงศ์ลำดับรองลงมาเป็นเจ้าศรัทธาหรือผู้สร้าง (ศรัณย์ บุญประเสริฐ. คู่มือนำเที่ยวหลวงพระบาง. 2548, น. 34.) โดยในแถบลาวตอนล่าง พบว่าศาสนาคารส่วนใหญ่นิยมทำช่อฟ้าเป็นลักษณะพระซุ้มโขง มากกว่าจะทำเป็นแผงแบบลักษณะสัตภัณฑ์ราวเทียนอย่างหลวงพระบางหรือเวียงจันทน์

ในกลุ่มช่างญวนแถบจำปาสักมีการใช้รูปสัญลักษณ์ทางการเมือง เช่น รูปช้างสามเศียร ที่แทนความหมายของอาณาจักรลาวทั้ง 3 อาณาจักรเพื่อแสดงความเป็นรัฐชาติและในยุคหลังนิยมใช้รูปธรรมจักรเป็นส่วนประธาน โดยเฉพาะใน สปป.ลาวตอนใต้ คตินิยมการทำช่อฟ้ากลางสันหลังคานี้ยังพบในศิลปะพม่าและสิบสองปันนารวมถึงกลุ่มลาวเทิงด้วยเช่นกัน

ดังนั้นช่อฟ้าในวัฒนธรรมไทย-ลาวได้แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการทางสังคมจากวิถีสังคมชนเผ่าสู่วิถีสังคมชาวนาที่มีการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมเดิมที่นับถือผีและวัฒนธรรมภายนอกที่เข้ามาพร้อมศาสนาพุทธ ทั้งหมดได้สะท้อนผ่านงานช่างที่เรียกว่าช่อฟ้า ที่มีอัตลักษณ์ของกลุ่มวัฒนธรรมลาวสองฝั่งโขง

อ่านเพิ่มเติม :


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาจากบทความ “ช่อฟ้าในวัฒนธรรมลาว” จาก…หลักผี สู่รูปสัญญะแห่งจักรวาลทัศนไตรภูมิคติ เขียนโดย ติ๊ก แสนบุญ เผยแพร่ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม 2554


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 16 กันยายน 2564