ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
เฟซบุ๊ก เป็นเครื่องมือสื่อสารแบบเครือข่ายที่สามารถสร้างผลกระทบเป็นวงกว้างทั้งด้านดีและด้านลบขึ้นอยู่กับผู้ใช้งาน อย่างใน อินเดีย เครือข่ายสังคมออนไลน์ชนิดนี้ได้กลายเป็นเครื่องมือกระตุ้นให้คนเห็นความสำคัญของการป้องกัน และตามล่าหา โบราณวัตถุ ที่ถูกขโมยไปขายในต่างแดน จนมีอาสาสมัครเข้ามาเป็น “นักสืบเฟซบุ๊ก” ช่วยติดตามวัตถุเหล่านี้กลับคืนประเทศโดยไม่หวังค่าตอบแทนหลายคน
อาร์วินด์ เวนกะตรามัน (Arvind Venkatraman) วิศวกรซอฟต์แวร์จากเชนไน ศูนย์กลางไอทีของ อินเดีย เป็นคนหนึ่งที่ใช้เวลาว่างในการเป็นนักสืบด้านศิลปะระดับนานาชาติ โดยใช้ เฟซบุ๊ก และเครือข่ายออนไลน์อื่น ๆ ในการสืบค้นว่า โบราณวัตถุ ที่ไปปรากฏอยู่ตามที่ต่าง ๆ ในโลก เป็นโบราณวัตถุที่ถูกขโมยมาจากอินเดียหรือไม่
เขาเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า “India Pride Project” (IPP) โครงการที่ตั้งขึ้นโดยผู้สนใจงานศิลปะที่พำนักอยู่ในสิงคโปร์ แต่ตอนนี้ได้ขยายเครือข่ายไปทั่วโลก
เมื่อ ค.ศ. 2015 นักสืบเฟซบุ๊ก จากกลุ่ม IPP อ้างว่า พวกเขาสามารถเรียกคืน “เทวรูปพระศิวะ” มูลค่ากว่า 5 ล้านดอลลาร์ (ราว 180 ล้านบาท) จากหอศิลป์แห่งชาติของออสเตรเลียได้สำเร็จ
โดยเทวรูปดังกล่าวถูกขโมยไปจากรัฐทมิฬนาดู บ้านเกิดของ เวนกะตรามัน ซึ่งเขากล่าวว่า ตอนแรกทางหอศิลป์ฯ ไม่เชื่อว่าเทวรูปดังกล่าวที่ตนซื้อเป็นของที่ถูกขโมยมา แต่ตอนนี้หอศิลป์ฯ ของออสเตรเลียได้ยื่นฟ้องนายหน้าค้าโบราณวัตถุจากแมนฮัตตันที่พวกเขาซื้อมาแล้ว
“ปฏิกริยาแรก โดยส่วนใหญ่จะไม่ยอมรับ” เวนกะตรามัน กล่าวกับสำนักข่าว เอเอฟพี
“ไม่ว่าจะเป็นที่ออสเตรเลีย ยุโรป สิงคโปร์ หรือในสหรัฐฯ ตอนแรกบรรดาภัณฑารักษ์มักจะออกมาต้าน…นั่นก็เป็นเพราะพวกเขาใช้เงินจำนวนมากแลกมา และเขาก็ไม่ยอมที่จะปล่อยมัน”
ประทีป วี ฟิลิป (Prateep V Philip) เจ้าหน้าที่ตำรวจจากแผนกที่ดูแลคดีขโมยงานศิลปะโดยเฉพาะกล่าวว่า โบราณวัตถุส่วนใหญ่ที่ถูกขโมยไป กว่าทางการจะรู้เรื่องก็อาจจะผ่านมาเนิ่นนานแล้ว เนื่องจากการลงพื้นที่เพื่อตรวจดูโบราณวัตถุไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยนัก
ด้วยเหตุนี้ โบราณวัตถุ ที่ถูกขโมยไปส่วนใหญ่แล้วจะยังไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนว่าเป็นวัตถุที่สูญหาย ทำให้มันสามารถถูกนำไปซื้อขายได้ในต่างประเทศ
ด้าน ดอนนา เยตส์ (Donna Yates) อาจารย์ที่ศึกษาเกี่ยวกับการลักลอบค้าโบราณวัตถุจากมหาวิทยาลัยกลาสโกว์ กล่าวชื่นชม IPP ว่า สิ่งที่พวกเขาทำได้นับว่าน่าทึ่งมาก เนื่องจากอาสาสมัครเหล่านี้แทบจะไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือหรือการสนับสนุนจากภายนอก การที่ IPP ลงแรงเก็บข้อมูลเกี่ยวกับวัตถุโบราณที่ถูกขโมยไปก็ถือเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยทำให้สาธารณะหันมาให้ความสนใจ ซึ่งหาที่ไหนจะเปรียบเทียบได้ยาก
ขณะเดียวกัน ที่เมืองไทย กระแสความสนใจต่อปัญหาการขโมยโบราณวัตถุก็มีมากขึ้นเช่นกัน เมื่อมีกลุ่มนักวิชาการและผู้สนใจด้านโบราณคดีออกมาเรียกร้องให้ทางการไทยเรียกคืนพระโพธิสัตว์สัมฤทธิ์ที่เชื่อว่าถูกขโมยไปจากปราสาทเขาปลายบัด และข่าวการจับกุมนักค้าของเก่าในสหรัฐฯ เมื่อปลายปี 2016 ก็ช่วยจุดประกายความหวังให้กับหลายคนที่ยังติดตามคดีนี้อย่างใกล้ชิด
อ่านเพิ่มเติม :
- Monuments Men กับการทวงคืนมรดกโลกทางศิลปะจากปีศาจนาซี
- “อินเดียนา โจนส์ แห่งโลกศิลป์” นักสืบโบราณวัตถุผู้พบสมบัติฮิตเลอร์ที่คนคิดว่าถูกทำลาย
- ของหายต้องได้คืน! ประเทศไทยเคยได้โบราณวัตถุชิ้นไหนคืนอีกบ้าง นอกจาก “Golden Boy”?
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ มกราคม 2560 ปรับปรุงเนื้อหาล่าสุดเมื่อ 22 มกราคม 2567 [จัดย่อหน้าและเน้นคำใหม่โดยกองบรรณาธิการ]