
ผู้เขียน | ปดิวลดา บวรศักดิ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
พระนารายณ์ทรงปืน ประติมากรรมที่เกือบได้ไปอยู่ที่ “พระราชวังบ้านปืน”
“พระนารายณ์ทรงปืน” เป็นประติมากรรมฝีมืออย่างช่างตะวันตกที่เป็นดั่งหนึ่งในสัญลักษณ์ของพระราชวังบวรสถานมงคล ที่ปัจจุบันคือพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ความพิเศษของงานศิลปะนี้มีอยู่มากมาย โดยเฉพาะชื่อเรียกที่ถือธนู แต่กลับเรียกว่าทรงปืน

พระนารายณ์ทรงปืนเป็นประติมากรรมที่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 มีพระราชดำริให้สร้างขึ้น ตอนแรกจะหล่อขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับนามพระราชนิเวศน์ นั่นคือ พระราชวังบ้านปืน ที่โปรดให้สร้างขึ้นเป็นที่แปรพระราชฐานประทับแรมพักผ่อน บริเวณฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเพชร จังหวัดเพชรบุรี
ทว่าเมื่อวันเวลาผ่านไป ประติมากรรมชิ้นนี้ก็ไม่ได้ไปอยู่ที่พระราชวังบ้านปืน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตรัสถึงมูลเหตุดังกล่าวนี้ไว้ในพระราชหัตถเลขาที่ทรงมีไปถึงพระยาอนุรักษ์ราชมณเฑียร (ม.ร.ว. ปุ้ม มาลากุล) เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2453 ว่า
“คิดหาเครื่องหมายสำหรับบ้านปืน มีผู้แนะนำว่าให้ใช้นารายณ์ทรงปืน แต่ข้าเห็นมันขัดเชิง
ข้อหนึ่ง ปืนเป็นปืนมอตา นารายณ์เป็นนารายณ์หนัง มันเข้ากันไม่ติด (หมายถึงแบบประเพณีดูไม่เข้ากับปืนใหญ่สำริดหรือปืนมอตา ที่โปรดให้สร้างขึ้นเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของพระราชวังบ้านปืน ที่ปัจจุบันตั้งอยู่ที่พระราชวังบ้านปืน-ผู้เขียนบทความ)
ข้อสอง เป็นตราวังน่า พระปิ่นเกล้าใช้มาก่อน แล้วกรมพระราชวังบวรวิไชยใช้ ข้าจะเอามาใช้ดูมันขัดเชิง
ปืนพระรามคือศรนั้นเอง จึ่งนึกได้ว่าเทวรูปที่ตั้งในขันหยกถือน้ำจะเหมาะกว่าอื่นหมด แต่ไม่ได้พิจารณาละเอียด ขอให้ไปเชิญมาให้ดูสักหน่อย”
ทั้งหมดนี้เป็นเหตุผลที่ทำไม พระนารายณ์ทรงปืน ประติมากรรมอันสวยงามถึงไม่ได้อยู่ที่พระราชวังบ้านปืน

ขณะเดียวกัน คนที่ได้ชมความงามของประติมากรรมชิ้นนี้ ที่ปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ก็คงจะสงสัยว่าในรูปปั้นพระนารายณ์นั้นทรงธนูหรือคันศร แต่ทำไมถึงได้ชื่อว่าทรงปืน
เรื่องนี้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายไว้อย่างละเอียดว่า
“…อันศัพท์ว่า ‘ปืน’ แต่โบราณเป็นชื่อสำหรับเรียกอาวุธ ซึ่งสามารถจะส่งเครื่องประหารไปได้ไกลกว่า ศรก็เรียกว่าปืน มีอุทาหรณ์เช่นตรารูปพระนารายณ์ถือศรสำหรับพระมหาอุปราชแต่ก่อน เรียกว่าตราพระนารายณ์ทรงปืนฉะนี้เป็นต้น เมื่อเกิดปืนอย่างใหม่จึงได้เกิดคำประกอบสำหรับเรียกให้ต่างกัน
เรียกปืนอย่างใหม่ว่าปืนไฟเพราะใช้ยิงด้วยไฟ เรียกธนูกุทัณฑ์ซึ่งเป็นปืนอย่างเก่าว่าปืนยาเพราะลูกอาบยาพิษ”
ด้าน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ก็ประทานวินิจฉัยว่า ปืน เป็นชื่อของธนูศร มาจากคำว่าปี๋น เป็นเสียงลั่นธนู แต่ตอนหลังคำว่าปืนไฟก็มาเอาความหมายนี้ไปในภายหลัง
พระนารายณ์ทรงปืน จึงเป็นการเรียกตามแบบแผนธรรมเนียมเดิมนั่นเอง
อ่านเพิ่มเติม :
- “วังนารายณ์” สมัยสมเด็จพระนารายณ์ กลายเป็น “วัด” จริงหรือ?
- ประติมากรรมสำริด “ปราสาทสระกำแพงใหญ่” จังหวัดศรีสะเกษ คู่แฝด Golden Boy?
- “บานประตูไม้แกะสลักพระวิหารหลวง” วัดสุทัศน์ ประติมากรรมงามยิ่งจากฝีพระหัตถ์รัชกาลที่ 2
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
เด่นดาว ศิลปานนท์. พระนารายณ์ทรงปืน ใน ศิลปากร นิตยสารรายสองเดือน กรมศิลปากรม กระทรวงศึกษาธิการ ปีที่ 45 ฉบับที่ 1 มกราคม-กุมภาพันธ์ 2545.
https://www.facebook.com/prfinearts/photos/a.1689795964421174/1743225689078201/
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 มีนาคม 2568