“บานประตูไม้แกะสลักพระวิหารหลวง” วัดสุทัศน์ ประติมากรรมงามยิ่งจากฝีพระหัตถ์รัชกาลที่ 2

บานประตูไม้แกะสลักพระวิหารหลวง วัดสุทัศน์ ฝีพระหัตถ์รัชกาลที่ 2
ประตูพระวิหารหลวงวัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร ที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร (ภาพจาก : fb National Museum Bangkok : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร)

วัดสุทัศน์ เป็นวัดสำคัญของกรุงรัตนโกสินทร์ สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ภายในพุทธศาสนสถานเต็มไปด้วยความสวยงามของประติมากรรม ศิลปกรรม และสถาปัตยกรรมต่าง ๆ มากมาย รวมถึงที่นี่ยังเคยมี “บานประตูไม้แกะสลักพระวิหารหลวง” ซึ่งเป็นผลงานจากฝีพระหัตถ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2

“บานประตูไม้แกะสลักพระวิหารหลวง” เป็นประติมากรรมที่วิจิตรอย่างมหัศจรรย์ เนื่องจากเป็นการแกะสลักไม้ที่ซับซ้อนหลายชั้น ตามประวัติ ผลงานชิ้นนี้เป็นงานฝีพระหัตถ์รัชกาลที่ 2 พระองค์ทรงมีส่วนร่วมในการออกแบบ รวมไปถึงแกะสลักด้วยพระองค์เอง ใน พ.ศ. 2365 โดยมีนายงานคือ กรมหมื่นจิตรภักดี

ความพิเศษของประติมากรรมชิ้นนี้คือมีความปราณีต สลักซับซ้อนประมาณ 4-5 ชั้น ความลึกของลวดลายถึง 14 เซนติเมตร จนเกือบเรียกได้ว่าเป็นประติมากรรมลอยตัว ประกอบด้วยลวดลายทางธรรมชาติมากมายอย่างลายพรรณพฤกษา เช่น ต้นไม้ ใบ ดอกไม้ (เน้นดอกโบตั๋นเป็นหลัก) ให้ความรู้สึกเหมือนจริงตามธรรมชาติ

ประตูพระวิหารหลวงวัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร ที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร (ภาพจาก : fb National Museum Bangkok : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร)

นอกจากนี้ ยังสอดแทรกความงามธรรมชาติอื่น ๆ เช่น โขดเขา น้ำ สรรพสัตว์นานาพันธุ์ ซึ่งทั้งหมดนี้คาดว่าได้รับอิทธิพลมาจากสมัยอยุธยาตอนปลาย

ความสวยงามของประติมากรรมชิ้นนี้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงกล่าวชมไว้ว่า “เป็นลายที่มีความสลับซับซ้อนหลายชั้น งามวิจิตรน่าพิศวงอย่างยิ่ง” 

กรมนริศทรงวิเคราะห์ถึงประติมากรรมชิ้นนี้ และเหตุที่รัชกาลที่ 2 ทรงแกะสลักผลงานชิ้นนี้เอง ว่า น่าจะได้ตัวอย่างมาจากทางเหนือ เช่น ที่พระวิหารพระแท่นศิลาอาสน์ เมืองฝาง ช่างในสมัยนั้นคงจะประกวดประชันกันมาก เพราะกว่าจะคว้านปรุซับซ้อนหลายชั้นใช้สิ่วอย่างเดียวไม่ได้ ต้องใช้มีดที่คมมาก เมื่อช่างประกวดประชันกัน จึงเป็นเหตุเตือนพระทัยให้รัชกาลที่ 2 ทรงแกะสู้ เพราะพระองค์ทรงชำนาญการแกะยิ่งนัก

กรมดำรง ตรวจราชการหัวเมือง ความเชื่อสมัยรัชกาลที่ 5
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อคราวเสด็จตรวจราชการเมืองอุบลราชธานี

ด้าน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ก็ทรงกล่าวชื่นชมความงดงามของประติมากรรมชิ้นนี้ไว้ในพระราชพงศาวดารในพระนิพนธ์ของพระองค์ด้วยเช่นกัน ว่า… “สลักดีจนไม่มีที่ไหนเหมือน” 

ที่กล่าวเช่นนี้ได้เพราะมีเรื่องราวว่าเมื่อสร้างที่นี่เสร็จ ได้นำเครื่องมือที่สร้างไปทิ้งน้ำหมด รวมถึงเมื่อเข้าสู่รัชสมัยต่อมา คือ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 พระองค์ทรงมีพระราชประสงค์ให้ทำบานประตูเหมือนวัดสุทัศน์ แต่ก็ไม่มีช่างที่ไหนทำได้ 

บานประตูสลักแห่งวัดสุทัศน์ จึงเป็นงานประติมากรรมที่ไม่มีใครเหมือนอย่างแท้จริง

ปัจจุบัน บานประตูชิ้นนี้ย้ายไปเก็บรักษาในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เนื่องจากเกิดไฟไหม้เสียหาย ใน พ.ศ. 2502 และย้ายบานประตูคู่หลังมาแทนที่ ก่อนจะสร้างคู่หลังขึ้นใหม่แทนของเดิม

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

http://www.thapra.lib.su.ac.th/e-book/rama3/central.pdf

https://www.finearts.go.th/museumbangkok/view/33623-ประตูพระวิหารหลวงวัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2568