
ผู้เขียน | วิภา จิรภาไพศาล |
---|---|
เผยแพร่ |
“พระพุทธรูปประจำรัชกาล” จำนวน 37 องค์ เป็นพระพุทธรูปที่รัชกาลที่ 3 ทรงสร้างขึ้น ต่อมารัชกาลที่ 4 โปรดให้หล่อฐานพระเพิ่ม และโปรดให้จารึกข้อความทรงพระราชอุทิศแด่พระเจ้าแผ่นดินในสมัยกรุงศรีอยุธยา, กรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์
แรกมี “พระพุทธรูปประจำรัชกาล”
นักวิชาการเสนอที่มาการสร้างพระพุทธรูปดังกล่าวเป็น 2 กรณี หนึ่งคือ รัชกาลที่ 3 ด้วยมีพระราชประสงค์จะทรงบำเพ็ญพระราชกุศลเช่นครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยา ที่พระบาทสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงสร้างรูปพระโพธิสัตว์ 550 พระชาติ ที่เป็นเทวดา, มนุษย์ และสัตว์ ตามพระชาติต่างๆ และอีกหนึ่งคือ รัชกาลที่ 3 ทรงมีพระราชประสงค์แต่แรกว่าทรงสร้างเพื่ออุทิศถวายพระมหากษัตริย์ในสมัยต่างๆ ตามที่กล่าวไปข้างต้น
จากนั้น พระองค์จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรสทรงตรวจพระอิริยาบถของพระพุทธเจ้าในพระคัมภีร์ต่างๆ และคัดเลือกมา 37 ปาง เพื่อจัดทำขึ้นเป็นพระพุทธรูป ในเวลานั้นพบแหล่งแร่ทองแดงแห่งใหม่ ที่เมืองจันทึก (ปัจจุบันคือ อ. จันทึก จ. นครราชสีมา) พระพุทธรูปบางองค์จึงสร้างจากทองแดง

ต่อมา รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้หล่อฐานพระ และโปรดให้จารึกข้อความอุทิศถวาย “ทรงพระราชอุทิศแด่พระเจ้าแผ่นดินในกรุงทวารวดีศรีอยุธยาโบราณ และกรุงธนบุรี 34 องค์ ในกรุงรัตนโกสินทร์สามพระองค์”
พระพุทธรูป 37 องค์
พระพุทธรูปทั้ง 37 องค์ แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มแรกมี 34 องค์ ทรงพระอุทิศถวายพระเจ้าแผ่นดินสมัยกรุงศรีอยุธยา 33 พระองค์ และสมัยกรุงธนบุรี 1 พระองค์ กลุ่มหลังทรงพระอุทิศถวายพระเจ้าแผ่นดินสมัยรัตนโกสินทร์ 3 พระองค์
พระพุทธรูปกลุ่มแรก 34 องค์ ในรูปแบบปางต่างๆ ไม่ซ้ำกัน หากมีพุทธลักษณะร่วมกัน คือ พระพักตร์เป็นรูปวงรี, พระนลาฏกว้างกว่าพระหนุ, พระขนงโก่งโค้งบรรจบกันที่พระนลาฏ, พระเนตรเหลือบต่ำ, เม็ดพระศกมีขนาดใหญ่, พระเมาลีทรงโอคว่ำ, พระรัศมีเป็นเปลวเพลิง ฯลฯ ทั้งหมดสร้างจากทองแดงเมืองจันทึก
พระพุทธรูปกลุ่มหลัง 3 องค์ องค์ที่ 1 เป็นพระพุทธรูปประทับขัดสมาธิเพชร ปางมารวิชัย สำหรับรัชกาลที่ 1, องค์ที่ 2 เป็นพระพุทธรูปประทับขัดสมาธิราบ ปางมารวิชัย สำหรับรัชกาลที่ 2, องค์ที่ 3 ประทับขัดสมาธิราบ ปางสมาธิ สำหรับรัชกาลที่ 3

ธรรมเนียมนิยม
เมื่อรัชกาลที่ 4 เสด็จสวรรคต รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระพุทธรูปประจำรัชกาลอุทิศถวายรัชกาลที่ 4 เป็นพระพุทธรูปประทับขัดสมาธิเพชร ปางสมาธิ ครองจีวรห่มดอง พาดสังฆาฏิแบบพระสงฆ์ในคณะธรรมยุติกนิกาย จีวรเป็นริ้วตามธรรมชาติ ดังที่รัชกาลที่ 4 ทรงประดิษฐ์คิดขึ้น
ต่อมาเมื่อรัชกาลที่ 5 เสด็จสวรรคต รัชกาลที่ 6 ก็ทรงสร้างพระพุทธรูปอุทิศถวาย โดยทรงจําลองพระพุทธรูปประจําพระชนมพรรษาของสมเด็จพระบรมชนกนาถ คือ พระพุทธรูปปางขอฝน ตามพุทธลักษณะที่รัชกาลที่ 4 ทรงประดิษฐ์ขึ้น
เหล่านี้กลายเป็นพระราชประเพณีปฏิบัติสืบต่อกันมา ที่พระมหากษัตริย์เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์แล้ว จะสร้างพระพุทธรูปประจํารัชกาลอุทิศถวายพระมหากษัตริย์องค์ก่อน
ปัจจุบัน พระพุทธรูปทั้ง 37 องค์ และที่ทรงสร้างภายหลัง ประดิษฐานอยู่ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระบรมมหาราชวัง โดยพระพุทธรูปที่ทรงอุทิศพระราชกุศลถวายแด่พระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยาและกรุงธนบุรี 34 องค์ ประดิษฐานอยู่ใน “หอพระราชกรมานุสร” ส่วนพระพุทธรูปถวายพระเจ้าแผ่นดินกรุงรัตนโกสินทร์ ประดิษฐานใน “หอพระราชพงศานุสร”
อ่านเพิ่มเติม :
- ตามรอย “พระพุทธสิหิงค์” พระพุทธรูปสำคัญของไทยทั้ง 3 องค์ กับพุทธศิลป์ 3 แบบ
- เฮนรี เบอร์นีย์ เล่าเรื่องยุค ร.3 ครั้งอัญเชิญพระพุทธชินสีห์ บอก “ผู้สนใจคอยชมดูอยู่อย่างหาระเบียบมิได้”
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง. “อุดมคตินิยมในพระพุทธรูปตอนบำเพ็ญทุกรกิริยา สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว” ใน, http://www.damrong-journal.su.ac.th/upload/pdf/65_15.pdf
รศ. ดร. พิริยะ ไกรฤกษ์. ลักษณะไทย พระพุทธปฏิมา อัตลักษณ์พุทธศิลป์ไทย, ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) จัดพิมพ์โอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 80 พรรษา ในปีพุทธศักราช 2550.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2568