
ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
ร้อยเอก เฮนรี เบอร์นีย์ เป็นชาวต่างชาติที่มีบทบาทสำคัญในประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์สยาม-อังกฤษ เพราะปฏิบัติหน้าที่ทูตอังกฤษเข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีและเจรจาทำสนธิสัญญากับสยาม อย่างที่เรารู้จักกันในชื่อ “สนธิสัญญาเบอร์นีย์” ซึ่งทำขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) นอกจากเอกสารราชการที่ทำให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เบอร์นีย์ยังบันทึกเรื่องราวที่ได้พบเจอในสยาม หนึ่งในนั้นคือ การอัญเชิญพระพุทธชินสีห์

อัญเชิญพระพุทธชินสีห์
พระพุทธชินสีห์ เป็นพระพุทธรูปสำคัญคู่บ้านคู่เมืองพิษณุโลก รัชกาลที่ 3 โปรดให้อัญเชิญพระพุทธชินสีห์ลงมายังกรุงเทพฯ ปัจจุบันประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหารราชวรวิหาร
เบอร์นีย์ ซึ่งเข้ามาสยามสมัยรัชกาลที่ 3 บันทึกเหตุการณ์ครั้งอัญเชิญพระพุทธชินสีห์ รวมทั้งพระราชพิธีสมโภชพระพุทธชินสีห์ไว้ว่า (จัดย่อหน้าใหม่โดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม)
“ในวันที่ ๒๖ พระคลังรับพระราชโองการให้เชิญคณะเราไปร่วมในพิธีอัญเชิญพระพุทธรูปซึ่งเก่าแก่ที่สุดในราชอาณาจักร ซึ่งทางราชสำนักจะต้องขึ้นไปสักการะเป็นประจำทุกปีที่พิษณุโลก การอัญเชิญกระทำโดยล่องลงมาทางแม่น้ำเจ้าพระยา และนำมาประดิษฐานไว้ที่วัดแห่งหนึ่งที่กรุงเทพฯ เพื่อพระเจ้าอยู่หัวจะได้ไม่ต้องเสด็จขึ้นไปทำการสักการะทุกๆ ปี…
เช้าวันที่ ๒๗ มีเรือลำใหญ่ ๒ ลำมารับเราและแล่นขึ้นไปอีก ๑๕-๑๖ ไมล์ จนถึงสถานที่ที่แพอัญเชิญพระพุทธรูปจอดรออยู่ เราได้ไปถึงสักครู่หนึ่ง พระเจ้าอยู่หัวพร้อมด้วยวังหน้ากับผู้ติดตามในเรืออีกหลายร้อยลำเป็นพวกข้าราชบริพารที่สำคัญๆ กับคณะทหาร มีวงมโหรีบรรเลงอยู่ด้วย ขบวนเรือผ่านคณะเราไป เรือของเราจะจอดอยู่กับขบวนเรืออื่นๆ ห่างจากขบวนเรือหลวงออกไปมาก และอยู่คนละฝั่งของแม่น้ำ

ในวันนี้รู้สึกว่าประชาชนทั้งกรุงเทพฯ พากันออกมาร่วมในพิธี และเรือแพน้อยใหญ่แบบต่างๆ ทุกแบบลอยกันแน่นแม่น้ำไปหมด มีตั้งแต่เรือขนาด ๑๒๐ ฟุต บรรจุคนได้ ๖๐-๗๐ คน จนถึงขนาดเล็กบรรจุคนได้คนเดียว
เมื่อขบวนเรือเดินทางกลับกรุงเทพฯ ก็มีข่าวเข้ามาแจ้งให้ข้าพเจ้าทราบว่า พระเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์ให้เรือของข้าพเจ้าเข้าไปช่วยเรือหลวงและเรือราชสำนักอัญเชิญพระพุทธรูปล่องลำน้ำลงมา
ข้าพเจ้าตอบกลับไปว่าข้าพเจ้ายินดีจะแสดงความเคารพสักการะต่อพระพุทธรูปที่ข้าพเจ้าหาได้มีความศรัทธาไม่ แต่ก็มีรับสั่งอีกว่าให้เรือเราแล่นเข้าไปใกล้ๆ เรือเราต้องแล่นผ่านไปถึง ๒ ครั้ง จึงหาพระองค์พบ
ในที่สุดข้าพเจ้าก็มองเห็นพระองค์ท่านกับวังหน้าฉลองพระองค์แบบธรรมดา คือ มีผ้าพันรอบพระวรกายเพียงชั้นเดียว และก้มกราบอยู่ที่พระบาทของพระพุทธรูปนั้น
เรือหลวงของพระเจ้าอยู่หัวจอดอยู่ด้านหนึ่งของแพ เรือวังหน้าจอดอีกด้านหนึ่ง เรือทั้งสองลำตกแต่งประดับประดาอย่างงดงาม เรือที่ชักลากมีอยู่ ๓๐ ถึง ๔๐ ลำ ตกแต่งด้วยม่านสีแดง มีทหารและวงมโหรีบรรเลงอยู่ด้านหลังของเรือ บนท้องน้ำนั้นเต็มไปด้วยเรือข้าราชบริพารและผู้สนใจคอยชมดูอยู่อย่างหาระเบียบมิได้”
แม้เบอร์นีย์จะระบุปีที่รัชกาลที่ 3 ทรงประกอบพระราชพิธีสมโภชพระพุทธชินสีห์ไว้ที่ พ.ศ. 2368 แตกต่างจากเอกสารฉบับอื่นๆ ที่ระบุแตกต่างออกไป ทั้ง พ.ศ. 2372 หรือบ้างก็บันทึกว่า พ.ศ. 2374
ถึงอย่างนั้นเอกสารของเบอร์นีย์ก็ยังมีคุณค่าในแง่การให้ภาพความศรัทธาในพระพุทธศาสนาของชาวสยามยุคนั้น ทั้งยังสะท้อนสภาพสังคมที่นิยมเดินทางด้วยเรือได้ด้วย
อ่านเพิ่มเติม :
- ตำนานสร้าง “พระศรีศาสดา” พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง “พระพุทธรูปผู้พิทักษ์พระพุทธชินสีห์”
- ทำไมรัชกาลที่ 5 เปลี่ยนพระราชหฤทัย ไม่ทรงอัญเชิญพระพุทธชินราชมากรุงเทพฯ
- “หลวงพ่อโสธร” พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์แห่ง “วัดโสธรวราราม” ที่ใครไปไหว้ห้ามขอพรอยู่ 2 เรื่อง!
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
ชรัตน์ สิงหาเดชากุล. (2554). ประเพณีในราชสำนักที่ปรากฏในเอกสารเบอร์นีย์. ใน ประวัติศาสตร์ไทยจากเอกสารเฮนรี เบอร์นีย์. (พิมพ์ครั้งที่ 1, 147-150), กรมศิลปากร.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 31 มกราคม 2568