ผู้เขียน | ปดิวลดา บวรศักดิ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
“เครื่องถ้วยล้านนา” ถือเป็นหนึ่งใน ศิลปะ อันล้ำค่าที่มีประวัติยาวนาน ทั้งสะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตของผู้คนสมัยนั้น มีการสันนิษฐานว่าเครื่องถ้วยชนิดนี้กำเนิดขึ้นหลังได้รับอิทธิพลจากสุโขทัย ผ่านการเผยแพร่ของพญายุธิษฐิระ หรือเจ้าเมืองสองแคว จนกระจายไปอยู่ในทั่วทุกพื้นที่ของเมืองเหนือ
ปัจจุบันมีการขุดค้นพบ “เครื่องถ้วยล้านนา” ในหลายพื้นที่ ได้แก่ เตาสันกำแพง อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่, เตาเวียงกาหลง อำเภอเวียงป่าเป้า และเตาโป่งแดง (พาน) จังหวัดเชียงราย, เตาวังเหนือ อำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง, เตาบ้านบ่อสวก อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน และเตาเผาเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา
แม้จะได้รับอิทธิพลมาจากแหล่งเดียวกัน แต่ด้วยวัฒนธรรมและความเป็นอยู่ของแต่ละเมือง จึงทำให้เครื่องถ้วยมีความแตกต่างและพิเศษเฉพาะตัว ว่าแต่เครื่องปั้นดินเผาเคลือบแต่ละชิ้นเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร?
1. เครื่องถ้วยเตาสันกำแพง
เครื่องถ้วยเตาสันกำแพง เป็นแหล่งเตาเผาสำคัญ ผลิตเครื่องถ้วยขนาดใหญ่ที่สุดในล้านนา ทั้งยังส่งออกภายในพื้นที่เมืองเหนือและดินแดนอื่น ๆ หลายคนคาดว่าเครื่องปั้นดินเผาเคลือบของสันกำแพง เกิดขึ้นมาราวปลายพุทธศตวรรษที่ 19 หรือต้นพุทธศตวรรษที่ 20 และได้รับความนิยมอย่างมากช่วงพุทธศตวรรษที่ 21 ก่อนจะเสื่อมความนิยมในช่วงพุทธศตวรรษที่ 23 โดยอ้างอิงจากหลักฐานโบราณคดีอื่น ๆ ที่ขุดพบขึ้นมาพร้อมกัน เช่น เครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์หมิง จารึกที่ปรากฏบนภาชนะบางชิ้น เป็นต้น
เครื่องถ้วยเคลือบเตาสันกำแพงมักปรากฏลักษณะ 2 รูปแบบ ได้แก่ แบบไม่มีลาย มีสีเขียวไข่กาเคลือบด้าน และแบบมีลายสีดำใต้เคลือบเป็นลายพืช ลายปลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือลายปลาคู่ที่สะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดเรื่องหยิน-หยางของจีน
แม้เครื่องถ้วยของเชียงใหม่จะมีลวดลายประจักษ์ สวยงาม ทั้งยังโด่งดังไปทั่วทุกดินแดน แต่ก็ยังมีจุดด้อยอยู่ นั่นคือ เนื้อภาชนะและน้ำเคลือบไม่ค่อยได้คุณภาพ อาจเพราะเตาเผาของที่นี่มีขนาดเล็ก จึงไม่สามารถควบคุมความร้อนได้เท่าที่ควร
2. เครื่องถ้วยเวียงกาหลง
เครื่องถ้วยเวียงกาหลง เป็นเครื่องถ้วยเคลือบที่ปรากฏ 2 รูปแบบหลัก ๆ ได้แก่ เครื่องเคลือบสีขาวนวลถึงเขียว ไม่เขียนลาย และอีกประเภทหนึ่ง คือ เครื่องเคลือบสีขาวเขียนลายสีดำใต้เคลือบ เนื้อภาชนะเป็นสีขาว ทำมาจากดินเกาลิน
ลักษณะพิเศษของเครื่องเคลือบจากเชียงราย คือ มีน้ำเคลือบที่สวยงามมาก โดยเฉพาะประเภทที่มีลาย เนื่องจากมีการเผาแบบพิเศษที่เรียกว่า “จ๊อ” รวมถึงคนในแถบนั้นยังมีความรู้ ความสามารถการเขียนลายพรรณพฤกษาให้พลิ้วไหวจากพู่กันที่มีลักษณะเฉพาะตัว จนเกิดลวดลายใหม่ขึ้นมาอย่าง “กาหลง” ซึ่งคล้ายกับนกกากำลังโบยบิน ให้ความรู้สึกอิสระ
3. เครื่องเตาวังเหนือ
เครื่องเตาวังเหนือ หรือเครื่องเตาประจำจังหวัดลำปาง มีลักษณะเฉพาะ คือ ชามขนาดใหญ่เคลือบด้วยสีเขียวไข่กาพร้อมประดับลายดอกบัวใต้เคลือบ คล้ายกับแหล่งเตาเผาศรีสัชนาลัยและเตาหลงฉวนของจีน มีขอบปากของชามรูปร่างหยัก แต่ยังด้อยเรื่องคุณภาพ คล้ายเครื่องเผาสันกำแพง
4. เครื่องถ้วยเตาพาน (โป่งแดง)
นักวิชาการคาดว่าเครื่องถ้วยชนิดนี้น่าจะได้รับอิทธิพลจากเมืองศรีสัชนาลัย ในช่วงที่พญายุธิษฐิระอพยพชาวเมืองเชลียง (ศรีสัชนาลัย) มาขึ้นต่อพระเจ้าติโลกราชแห่งล้านนา และครองเมืองพะเยา ซึ่งอยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลกับเมืองพาน
ลักษณะสำคัญและจุดเด่นของเครื่องถ้วยแถบนี้ คือ เครื่องเคลือบมีสีเขียวไข่กาไม่ต่างจากเตาวังเหนือ ทว่ามีคุณภาพดีกว่ามาก ไม่ว่าจะเป็นส่วนของน้ำเคลือบที่มีสีเขียวอมเหลือง รูปร่างภาชนะ รวมไปถึงเครื่องเคลือบ
นอกจากนี้เทคนิคในการลงลายยังปราณีต สวยงาม มักปรากฏลายกลีบดอกบัวซึ่งใกล้เคียงกับศรีสัชนาลัย
5. เครื่องถ้วยเมืองพะเยา
เครื่องถ้วยเมืองพะเยามีความคล้ายคลึงกับเครื่องถ้วยเมืองสันกำแพง จะเห็นว่าข้าวของเครื่องใช้เมืองพะเยาจะมีน้ำเคลือบสีเขียว ส่วนด้านในมีสีเขียวเข้ม น้ำเคลือบภาชนะหนา มีลวดลายปลาคู่ตกแต่ง แต่ก็แตกต่างกันอยู่เล็กน้อย ตรงที่น้ำเคลือบของเมืองพะเยาจะมีสีเขียวเข้มมากกว่า บางใบอาจเคลือบด้วยสีน้ำตาล รวมถึงเนื้อภาชนะจะมีสีดำกว่า
6. เครื่องถ้วยเมืองน่าน
เครื่องถ้วยเมืองน่าน ถือเป็นแหล่งเตาเผาที่ผลิตเครื่องถ้วยนานาชนิดไว้เยอะมากอีกหนึ่งที่ คาดว่าเกิดขึ้นมาในช่วงพุทธศตวรรษที่ 19 รุ่งเรืองอย่างมากในปลายพุทธศตวรรษที่ 21
ลักษณะเครื่องถ้วยเมืองน่านคล้ายคลึงกับเครื่องถ้วยจากเตาเผาสันกำแพงและเมืองพะเยา โดยคุณภาพของเครื่องเคลือบจะไม่ค่อยได้คุณภาพเท่าที่ควร มักพบเครื่องเคลือบเป็น 2 สีใหญ่ ๆ ได้แก่ เครื่องที่ด้านนอกเคลือบสีเขียวเข้ม มีสัมผัสด้านและทึบ ส่วนด้านในเคลือบสีใสและผิวสัมผัสเรียบ ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งจะเขียนลายสีดำใต้เคลือบด้วยลายพรรณพฤษา
ทว่าภายใต้ความคล้ายคลึง ก็ยังมีลักษณะเฉพาะของตนเอง นั่นคือ ขอบปากจะมีรอยปาดน้ำเคลือบออก หรือตรงกลางก้นชามด้านใน บริเวณไม่เคลือบจะเว้นที่ไว้เป็นรูปวงแหวน ทั้งยังมีเทคนิคการจ๊อ และการวางซ้อนกันขณะเข้าเตาเผา จนด้านนอกไม่มีการเคลือบ
อ่านเพิ่มเติม :
- “เบญจรงค์” ผลงานร่วมช่างไทย-จีน ไม่ใช่สินค้านำเข้า
- ย้อนรอยเมืองอู่ทอง แหล่งความเจริญในยุคโบราณจากเส้นทางการค้าและศาสนา
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปะล้านนา รวมแนวคิดทุกแง่มุม ด้านประวัติศาสตร์ศิลปะ. กรุงเทพฯ: มติชน, 2556.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 กันยายน 2566