“เบญจรงค์” ผลงานร่วมช่างไทย-จีน ไม่ใช่สินค้านำเข้า

ชามเบญจรงค์ ด้านนอกเขียนสีลงยาลายเทพนมสลับพรรณพฤกษา บนพื้นสีเหลือง ศิลปะอยุธยา พุทธศตวรรษที่ ๒๓ ศิลปวัตถุของวัดมกุฏกษัตริยาราม (ภาพจากหนังสือ "ศิลปวัตถุ วัดมกุฏกษัตริยาราม จัดพิมพ์เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๓")

ศิลปกรรมไทยมีงานประเภทประณีตศิลป์ ทั้งที่เป็นเครื่องใช้และประดับตกแต่งมากมายหลายอย่าง เช่น เครื่องไม้จำหลัก เครื่องมุก เครื่องเงิน เครื่องทอง เครื่องลายรดน้ำ และเครื่องถ้วย

เบญจรงค์ เป็นประณีตศิลปกรรมชนิดเครื่องใช้ เรียกว่าเครื่องถ้วย แต่เป็นเครื่องถ้วยชนิดพิเศษที่ทำขึ้นอย่างประณีต ใช้ช่างเขียนลายที่สามารถ การเผาที่ชำนาญ และมีวิธีใช้สำหรับราชสำนักหรือพระราชทานแก่ขุนนางให้ใช้เท่านั้น

เบญจรงค์ แปลว่า ห้าสี จึงใช้เป็นชื่อเรียกเครื่องถ้วยที่เขียนลายด้วยสีห้าสี แต่ก็พบว่ามีเครื่องถ้วยเบญจรงค์ที่เขียนเพียงสามสีก็มี ถึงแปดสีก็มี แต่ส่วนใหญ่จะเขียนกันเพียง ห้าสี มีสีแดง สีเหลือง สีขาว สีเขียว และสีดำ ถ้าเป็นแปดสีก็จะมีสีชมพู สีม่วง สีแสด สีน้ำตาล เพิ่มเข้ามา

ชามเบญจรงค์ ตรงกลางด้านนอกลายเทพนมในช่องกระจก สลับลายนรสิงห์ ล้อมรอบด้วยลายกระหนก ชอบปากเขียนลายช่อดอกไม้ ชามด้านในเคลือบสีเขียว ศิลปะอยุธยา พุทธศตวรรษที่ ๒๓-๒๔ ศิลปวัตถุของวัดมกุฏกษัตริยาราม (ภาพจากหนังสือ “ศิลปวัตถุ วัดมกุฏกษัตริยาราม จัดพิมพ์เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๓”)

เครื่องถ้วยเบญจรงค์นั้น ในสมัยอยุธยา ช่างไทยจะเป็นผู้ออกแบบและเขียนลาย แล้วส่งไปเผาที่เมืองจีน ถ้วยที่นำมาเขียนเป็นถ้วยสีขาว แล้วช่างไทยเขียนสีเขียนลายลงไปบนถ้วยด้วยวิธี “ลงยา” เมื่อเคลือบแล้วเผาสีที่เขียนไว้บนพื้นถ้วยจะนูนออกมาเล็กน้อย เครื่องถ้วยเบญจรงค์บางชิ้นจะมีสีทองตัดเส้นลายหรือเป็นพื้นอยู่ด้วยเรียกรวมกันว่า เบญจรงค์ลายน้ำทอง

เครื่องถ้วยเบญจรงค์ไม่ใช่สินค้าเข้าหรือออกที่สั่งมาจากเมืองจีน แต่เป็นผลงานระหว่างช่างไทยกับช่างจีนผสมกัน สั่งทำเป็นพิเศษเฉพาะงานในราชสำนัก จึงเป็นของที่มีคุณค่าและหายาก เครื่องถ้วยเบญจรงค์มีใช้มาตั้งแต่สมัยใดไม่มีหลักฐานปรากฏ แต่เทียบลวดลายและวิธีการพอจะหาได้ว่าตรงกับสมัยราชวงศ์หมิง สมัยพระเจ้าวั่นลี่ (พ.ศ. 2116-2136) และสืบมาจนถึงราชวงศ์ชิง ตรงกับสมัยอยุธยาตอนปลายถึงต้นรัตนโกสินทร์

การทำเครื่องถ้วยเบญจรงค์ระหว่างช่างไทยกับช่างจีน สืบกันมาตลอดตั้งแต่สมัยอยุธยาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ระยะแรกก็จะมีแต่เครื่องถ้วยคุณภาพชั้นดี เป็นเครื่องถ้วยชนิดเนื้อกระเบื้อง ซึ่งทางไทยเรียกว่ากระเบื้องกังไส เมืองที่ผลิตเครื่องถ้วยเบญจรงค์ได้อย่างดีคือเมืองจิงเต๋อเจิ้น มณฑลเกียงสี ซึ่งคนไทยเรียกว่า กังไส นั่นเอง

เครื่องถ้วยเบญจรงค์ เป็นของใช้ในราชสำนักต่อมาทุกรัชกาลในสมัยรัตนโกสินทร์ และเปลี่ยนแปลงรูปแบบไปตามสมัยนิยม จนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อเครื่องถ้วยจากตะวันตกถูกสั่งเข้ามาใช้ เครื่องถ้วยเบญจรงค์ก็กลายเป็นของมีคุณค่าหายาก มีการจัดประกวดประชันเครื่องถ้วยเบญจรค์กันหลายครั้งกลายเป็นของโบราณหายาก

จานเชิงเบญจรงค์จานเชิงขอบปากหยัก รูปกลีบบัว เขียนสีลงยาลายดอกไม้พื้นสีน้ำเงิน พุทธศตวรรษที่ ๒๕ ศิลปวัตถุของวัดมกุฏกษัตริยาราม (ภาพจากหนังสือ “ศิลปวัตถุ วัดมกุฏกษัตริยาราม จัดพิมพ์เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๓”)

เครื่องถ้วยเบญจรงค์ที่เป็นฝีมือช่างจีนกับไทย มาสิ้นสุดลงสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อกรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ ตั้งเตาเผาขึ้นในพระราชวังบวรสถานมงคล วังหน้า แล้วทรงทำเครื่องถ้วยเขียนสีขึ้น โดยสั่งเครื่องถ้วยสีขาวมาจากต่างประเทศ มาเขียนลายเขียนสีแล้วเผาเอง

เครื่องถ้วยเบญจรงค์และลายน้ำทองมีรูปทรงแปลกแตกต่างกันออกไป แต่จะออกมาเป็นรูปแบบไทยอย่างแท้จริง รูปทรงต่างๆ ได้แก่ ชาม จาน โถขนาดต่างๆ จานเชิง ชามเชิง รวมไปถึงช้อน กาน้ำ ชุดน้ำชา รูปร่างจะเป็นรูปตกแต่ง รูปทรงมะเฟือง รูปทรงโกศ โถปริกตามลักษณะการใช้งาน

ลวดลายรุ่นแรก ๆ มักจะเป็น เทพนม นรสิงห์ หรือนกเปลว ต่อมาจึงคลี่คลายเป็นลวดลายอย่างอื่น จนเขียนเป็นเรื่องราวจากวรรณคดี เช่น รามเกียรติ์ พระอภัยมณี

เบญจรงค์เป็นงานศิลปกรรมที่เกิดขึ้นมาเฉพาะ จึงเป็นของหายากและทรงคุณค่าในทางศิลปะ

 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 ธันวาคม 2560