ทำไมรูปถ่ายสมัยเก่า บุคคลในภาพจึงแสดงสีหน้าเรียบเฉย ไม่ยอมยิ้ม ?!?

ภาพถ่าย สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ ทหาร รัสเซีย
สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ (แถวนั่งที่ 3 จากขวา) ทรงฉายร่วมกับนายพุ่ม สาคร (แถวยืนที่ 2 จากขวา) และอาจารย์โรงเรียนเสนาธิการทหารรัสเซีย

ทำไม “ภาพถ่าย” สมัยเก่า บุคคลในภาพจึงแสดงสีหน้าเรียบเฉย ไม่ปรากฏ “รอยยิ้ม” ?!?

ก่อนค่านิยม Say Cheese (หรือคำกล่าวอื่นๆ ที่จะทำให้รูปปากของผู้กล่าวอยู่ในภาวะพร้อมยิ้ม) จะมาถึง เมื่อกลับไปสำรวจเหล่าภาพถ่ายโบราณทั้งของไทยและเทศ เรากลับไม่ค่อยพบรอยยิ้มพิมพ์ใจเหล่านั้น บรรพบุรุษของเราในภาพขาวดำมักแสดงสีหน้าเรียบเฉย ใช่ว่าท่านเหล่านั้นจะไร้สุขทุกข์ตรมกว่าพวกเราเสียเมื่อไร

ภายใต้ภาวะไร้รอยยิ้ม และการค่อยๆ ปรากฏขึ้นของรอยยิ้มในภาพถ่ายจะพาเราไปสำรวจค่านิยมทางวัฒนธรรมที่กำกับการแสดงออกของสีหน้าท่าทางยามถ่ายภาพ ตั้งแต่ยุคกำเนิดกล้องถ่ายภาพ จนกระทั่งยุคสมัยที่เราผลิตและเสพภาพเซลฟี่จำนวนมหาศาลในทุกวันนี้

เอนก นาวิกมูล ให้ข้อมูลเรื่องการถ่ายรูประบบดาแกร์โรไทป์ไว้ใน หนังสือประวัติการถ่ายรูปยุคแรกของไทยความว่า “ความไวแสงยังด้อย เวลาจะถ่าย ต้องให้คนนิ่งๆ ทีละครึ่งชั่วโมง ในต่างประเทศมีแกนเหล็กให้พิงคอเอาไว้แก้เมื่อยและกันไม่ให้เคลื่อนไหว” ในนิทรรศการ “สยาม ผ่านมุมกล้องจอห์น ทอมสัน 2408-9 รวมทั้งนครวัดและเมืองชายฝั่งประเทศจีน” จัดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2557 ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ในครั้งนั้น ได้ขยายภาพจากฟิล์มกระจกต้นฉบับที่เก็บรักษาไว้ ณ Welcome Collection ประเทศอังกฤษ ออกมาเป็นภาพขนาดใหญ่

เป็นที่น่าสังเกตว่าในภาพถ่ายบุคคลหลายๆ ภาพ เราจะสังเกตเห็นแกนเหล็กสำหรับพิงคอตั้งอยู่ด้านหลังผู้เป็นแบบด้วย ทำให้เรารู้ว่าสิ่งประดิษฐ์นี้ได้นำเข้ามาใช้ในสยามเช่นกัน แม้ว่าจอห์น ทอมสัน จะไม่ได้ถ่ายภาพด้วยระบบดาแกร์โรไทป์แล้ว กรรมวิธีถ่ายภาพฟิล์มกระจก (collodion process) ซึ่งเป็นเทคนิคที่พัฒนาต่อมาก็ยังต้องให้ผู้เป็นแบบนิ่งไว้หลายนาที เมื่อต้องคงอากัปกิริยาไว้ในท่าทางหนึ่งเป็นเวลานาน นี่เองอาจเป็นเหตุผลแรกที่ไม่เอื้อให้เกิดรอยยิ้มในภาพถ่ายยุคแรก

อีกหนึ่งเหตุผลที่มักจะหยิบยกมากล่าวอ้างคือ เรื่องสุขภาวะทันตกรรมที่ยังล้าหลัง ในสมัยนั้นผู้คนทุกชนชั้นมีปัญหาเรื่องฟัน จึงมีผู้สันนิษฐานว่า เมื่อต้องถ่ายภาพก็ไม่อยากจะแย้มยิ้มเผยให้เห็นฟันที่ขี้ริ้วขี้เหร่ (หรือความจริงที่ว่าไม่มีฟันหลงเหลืออยู่เลย) แต่นักประวัติศาสตร์จำนวนมากไม่เห็นด้วยกับเหตุผลข้อนี้

จริงอยู่ว่าเทคโนโลยีทันตกรรมที่พัฒนาขึ้น ทำให้เกิดรอยยิ้มมากขึ้นทั้งในภาพถ่ายและในชีวิตประจำวัน แต่สุขภาวะทันตกรรมที่ไม่ก้าวหน้าก็มิได้เป็นเหตุผลสำคัญที่จะทำรอยยิ้มในภาพถ่ายไม่เกิดขึ้น สิ่งประดิษฐ์ที่จะช่วยแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างฟันปลอมก็มีใช้มาอย่างยาวนานแล้ว

ก่อนจะประดิษฐ์กล้องถ่ายภาพได้สำเร็จ มนุษย์พยายามถ่ายทอดภาพลักษณ์ของตัวเองออกมาด้วยการวาดภาพเหมือนมาเป็นระยะเวลาอันยาวนาน เมื่อการถ่ายภาพกำเนิดขึ้น แบบแผนธรรมเนียมของการวาดภาพเหมือนก็ถูกนำมาใช้กับการถ่ายภาพด้วย และนี่เองคือคำอธิบายที่มีน้ำหนักที่สุดของคำถามที่ว่า ทำไมเราจึงไม่เห็นรอยยิ้มในภาพถ่ายยุคแรก

ในอดีตผู้มีอำนาจ (และมีทรัพย์) ชาวตะวันตกจะว่าจ้างจิตรกรฝีมือดี มาวาดภาพเหมือนเพื่อประกาศอำนาจทั้งทางเศรษฐกิจ (งานศิลปะเป็นของฟุ่มเฟือยมีราคาค่างวดมาก ยิ่งถ้าได้ศิลปินดังค่าตัวสูงลิ่วมาวาดให้ยิ่งการันตีอำนาจด้านนี้) วัฒนธรรม (ความรุ่มรวย มีอารยะ มีรสนิยม มีหน้ามีตา) และการเมือง (ภาพเหมือนสามารถตั้งไว้หรือส่งไปที่ต่างๆ เพื่อเป็นการโฆษณา ชวนเชื่อคุณสมบัติอันพึงประสงค์ของผู้เป็นแบบ)

ภาพเหมือน (portrait) จึงต้องส่งเสริมภาพลักษณ์ที่เป็นทางการของผู้ว่าจ้าง การวาดภาพเหมือนจึงเสมือนกับการบันทึกชีวิตทั้งชีวิตและเกียรติประวัติทั้งหมดทั้งมวลของผู้เป็นแบบประมวลให้อยู่ในภาพเดียว และภาพนั้นจะเป็นภาพแทนที่ผู้คนจะจดจำตลอดไป ผู้เป็นแบบจึงต้องอยู่ในท่าทางที่เป็นทางการที่สุด ผ่านการคิดและจัดแต่งอย่างพิถีพิถัน โดยจิตรกรจะเป็นผู้พร้อมปรับปรุงตกแต่งองค์ประกอบที่บกพร่องด้วยฝีแปรง ไม่ต่างอะไรกับการรีทัชในโฟโตชอป หรือการใช้แอปพลิเคชั่นตกแต่งภาพในทุกวันนี้

รอยยิ้ม ไม่ปรากฏอยู่ในภาพเหมือน เพราะนอกจากถูกตีความว่าเป็นการแสดงออกที่ไม่เป็นทางการแล้ว ค่านิยมในคริสต์ศตวรรษที่ 17 ในยุโรปยังเห็นว่าการยิ้ม โดยเฉพาะยิ้มกว้างหรือยิ้มที่เผยให้เห็นฟันเป็นอากัปกิริยาที่ต่ำช้า ยิ้มกว้างแสดงถึงความยากจน ความลามก ความยั่วยวน ความบ้า ความเมามาย ความไร้เดียงสา และความตลกไร้สาระ

ม็อง-บัปติสต์ เดอ ลาซาล (Jean-Baptiste de La Sale) นักบวชชาวฝรั่งเศส เขียนหนังสือทำนอง “สมบัติผู้ดี” (The Rules of Christian Decorum and Civility) ตีพิมพ์เมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 18 มีเนื้อความตอนหนึ่งว่า “บางบุคคลนั้นเผยริมฝีปากบนขึ้นสูง…จนเกือบจะทำให้มองเห็นฟันได้ทั้งหมด นี่ช่างตรงข้ามกับสมบัติผู้ดีที่ไม่อนุญาตให้เราเผยฟันของเราออกมา ก็ด้วยเพราะธรรมชาตินั้นประทานริมฝีปากมาให้เราสำหรับปกปิดฟันเหล่านั้นอยู่แล้ว”

ด้วยค่านิยมนี้ ภาพวาดชื่อ Amor Vincit Omnia “Love Conquers AII” ของคาราวัจโจ (Caravaggio) จึงขึ้นชื่อว่าอื้อฉาว เพราะแหวกทั้งขนบการวาดภาพและขนบจริยธรรมอันดีงาม คิวปิดหนุ่มน้อยเปล่าเปลือยล่อนจ้อน กำลังส่งยิ้มทะเล้นจนเห็นฟัน

ศิลปินจงใจเล่นกับเส้นแบ่งของความไร้เดียงสาและการยั่วยวน นักประวัติศาสตร์ศิลปะตีความว่า ภาพนี้เป็นการเฉลิมฉลองให้แก่ความรัก โดยเฉพาะกับความรักของเพศเดียวกันที่เป็นเรื่องผิดจารีตในสมัยนั้น อีกหนึ่งรอยยิ้มในภาพวาดที่แม้จะมิได้ยิ้มกว้างจนเห็นฟัน แต่ยิ้มกระหยิ้มน้อยๆ ของโมนาลิซา (Mona Lisa) ผลงานของเลโอนาร์โด ดา วินชี (Leonardo da Vinci) ก็สร้างความฉงนฉงายให้ผู้คนตีความกันไปต่างๆ นานามิรู้จบ อาจเป็นเพราะยิ้มน้อยๆ (ที่แหวกขนบ) ของเธอหรือไม่ ที่ทำให้ภาพนี้แตกต่างและเป็นที่จดจำที่สุดในโลกศิลปะ

เมื่อการถ่ายภาพเข้ามารับช่วงต่อจากการวาดภาพเหมือน แบบแผนความเป็นทางการและความเป็นพิธีการ รวมถึงสุนทรียศาสตร์ของการวาดภาพเหมือนก็ถูกนำมาใช้กับการถ่ายภาพด้วย ไม่ว่าจะเป็นการจัดองค์ประกอบ ท่าโพส และแน่นอนที่สุด การแสดงออกถึงความรู้สึกทางสีหน้า ท่าทาง ด้วยเหตุนี้ รอยยิ้มจึงไม่ปรากฏในภาพถ่ายยุคแรก

ภายใต้ใบหน้าที่เรียบเฉยและความเป็นทางการในท่าทาง ในแง่นี้ ภาพถ่ายยุคแรก (หรือแม้กระทั่งภาพถ่ายในปัจจุบัน) จึงอาจจะไม่ได้แสดงตัวตนที่แท้จริงของผู้ถูกถ่าย เพราะมีขนบหรือค่านิยมมากมายเข้ามากำกับเราไว้ (แม้กระทั่งค่านิยมของการยิ้มขณะถ่ายภาพในปัจจุบันด้วยใช่หรือไม่) ดังที่ โรล็องด์ บาร์ตส์ (Roland Barthes) นักทฤษฎีวรรณกรรมและนักปรัชญา ชาวฝรั่งเศส เล่าถึงความรู้สึกที่เกิดขึ้นในประสบการณ์การถ่ายภาพไว้ใน Camera Lucida: Reflections on Photography (ค.ศ. 2006) ความว่า

เมื่อถูกเฝ้ามองโดยเลนส์ (observed by the lens) เขาก็ได้สถาปนาตัวตนในกระบวนการของ “การโพส” (constitute myself in the process of “posing”) ซึ่งเป็นการสร้างอีกหนึ่งร่างขึ้นมาใหม่ (make another body for myself ) ในภาวะนั้นเขาได้เปลี่ยนแปลงตนเองให้กลายเป็นภาพโดยล่วงหน้าไปแล้ว (I transform myself in advance into an image)

เมื่อกลับมาพิจารณาภาพเก่าๆ ในประวัติศาสตร์ไทยจะเห็นว่า ภาพถ่ายบุคคลที่ปรากฏในสมัยรัชกาลที่ 4 ถึงรัชกาลที่ 5 ล้วนดำเนินไปตามขนบค่านิยมแบบตะวันตก ผู้คนในภาพถ่ายล้วนมีสีหน้าเรียบเฉย ไม่แสดงอาการแย้มยิ้ม แต่ก็มีภาพถ่ายบุคคลจำนวนหนึ่งที่เราจะเห็นรอยยิ้มอยู่ในนั้น เช่น ภาพของคนัง เงาะป่าที่รัชกาลที่ 5 ทรงชุบเลี้ยงไว้ในวัง

รอยยิ้ม ในภาพถ่ายของคนังอาจบอกได้ว่าเขาถูกมองอย่างไรในสายตาของราชสำนัก ข้อแรกคือแตกต่างไปจากภาพถ่ายเจ้านายทั้งหลายที่อยู่ในอิริยาบถทางการใบหน้าเรียบเฉย อันเป็นแบบแผนปฏิบัติของผู้ดี ในภาพถ่ายของคนังเราจะเห็นว่ามีทั้งยิ้มน้อยๆ จนไปถึงยิ้มกว้างจนเห็นฟัน

คนังอาจละเมิดแบบแผนในการถ่ายภาพได้ เพราะเขาไม่ได้ถูกนับรวมอยู่ในความเป็นผู้ดีนั้น อีกข้อหนึ่งคือ การรับรู้เรื่องเงาะป่าในราชสำนักสยามผูกติดมากับภาพจำของ “เงาะป่าบ้าใบ้” ในวรรณคดีเรื่องสังข์ทอง ซึ่งเงาะป่าในเรื่องถูกมองว่ามีรูปลักษณ์ประหลาดและมีกิริยาน่าขัน คนังจึงอาจถูกคาดหวังให้ยิ้มออกมาทั้งในภาพถ่ายและในชีวิตจริง มากกว่าที่จะทำสีหน้าเรียบเฉยเสียด้วยซ้ำ

ท่ามกลางบรรดาภาพถ่ายเจ้านายในสมัยรัชกาลที่ 4 ถึงรัชกาลที่ 5 ที่แทบจะไม่ปรากฏรอยยิ้ม โดยเฉพาะยิ้มกว้างจนเห็นฟันเลย ปรากฏภาพถ่ายของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักศ์ศิลปาคม พระราชโอรสในรัชกาลที่ 4 ที่ทรงแย้มพระสรวลจนเห็นพระทนต์อยู่ด้วย รอยพระสรวลซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ปกติในภาพถ่ายสมัยนั้น อาจจะบอกเล่าบุคลิกอัธยาศัยของพระองค์ได้

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงบันทึกถึงเจ้านายพระองค์นี้ ไว้ว่า “นิสัยกรมหลวงประจักษ์เป็นคนชอบล้อคนอื่น และทำให้เขาถูกเยาะได้เปนพอใจ, ชอบแกล้งคนโดยวิธีต่างๆ อยู่เสมอๆ”

หลังจากที่กล้องถ่ายภาพถือกำเนิดขึ้นมา 1 ศตวรรษ รอยยิ้มเริ่มปรากฏให้เห็นมากขึ้นในภาพถ่ายตั้งแต่ช่วง พ.ศ. 2463 (ค.ศ. 1920) เมื่อการถ่ายภาพเริ่มแพร่หลายขึ้นในโลกตะวันตก ด้วยต้นทุนที่ต่ำลงและเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าขึ้น การถ่ายภาพทำได้ง่ายขึ้นและเข้าถึงผู้คนมากกว่าเดิม ความเป็นทางการและบรรยากาศขึงขังของการถ่ายภาพในสตูดิโอเริ่มเสื่อมถอยลง ผู้คนเริ่มรู้สึกผ่อนคลายกับการถ่ายภาพมากขึ้น ในสังคมสยามก็เช่นเดียวกัน ในภาพถ่ายตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 เป็นต้นมา เราจะเห็นรอยยิ้มมากขึ้น

อีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้รอยยิ้มแพร่หลายในภาพถ่ายมากขึ้น ซึ่งเราอาจคาดไม่ถึงคือการทำการตลาดในช่วง พ.ศ. 2463 (ค.ศ. 1920) เช่นกัน บรรดาผลิตภัณฑ์ห้างร้านเริ่มตีพิมพ์โฆษณาเป็นภาพนางแบบนายแบบยิ้มกว้างกับผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อสื่อถึงความพึงพอใจในสินค้า ผู้คนจึงเริ่มคุ้นชินกับบรรดาภาพบุคคลพร้อมรอยยิ้มในสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ ประกอบกับการทำการตลาดอย่างจริงจังของบริษัทกล้องถ่ายภาพและฟิล์มยักษ์ใหญ่อย่างโกดัก (Kodak) ที่พยายามเชื่อมโยงการถ่ายภาพกับความสุขและรอยยิ้ม เห็นได้จากภาพโฆษณามากมายที่ทําให้ผู้คนรับรู้ถึงการถ่ายภาพในฐานะกิจกรรมแสนสุขกิจกรรมที่ทำผู้คนได้ร่วมกันเก็บความสุขความทรงจำอันมีค่าไว้ร่วมกัน

ทุกวันนี้ภาพถ่ายกลายเป็นหลักฐานการยืนยันภาพลักษณ์ของเราที่นำเสนอสู่สังคม รวมถึงเป็นหลักฐานการเข้าสังคมของเราด้วย ในโซเชียลเน็ตเวิร์กเต็มไปด้วยภาพรอยยิ้มที่ทุกคนพยายามจะบอกตัวเองและผู้อื่นให้รู้ว่าฉันสบายดีมีสุข เราทั้งมองเห็นและมองไม่เห็นว่า ใต้รอยยิ้มเหล่านั้น มีหรือไม่มีความรู้สึกอะไรอยู่ เช่นเดียวกับที่เราทั้งเห็นและไม่เห็นว่า ใต้ใบหน้าที่เรียบเฉยในภาพถ่ายโบราณนั้นมีความนัยอะไรซ่อนไว้หรือไม่ กระนั้นแล้ว ภาพถ่ายจะถ่ายทอดความเป็นจริงได้มากน้อยแค่ไหนกัน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


หมายเหตุ : บทความนี้คัดย่อจากหนังสือ “เล่นแร่แปรภาพ ประวัติศาสตร์สยามจากเบื้องหลังภาพถ่าย” เขียนโดย นักรบ มูลมานัส (สำนักพิมพ์มติชน, 2565)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 มีนาคม 2565