ความเห็นเรื่องวิชาหัดเด็ก : กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

ภาพถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2499 จากพิพิธภัณฑ์โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า จ.นครนายก (ถ่ายภาพ ผศ.ศรัญญู เทพสงเคราะห์)

ใน “ประชุมพระนิพนธ์เบ็ดเตล็ด” (องค์การค้าคุรุสภา, พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2504) พระนิพนธ์ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ บทความหนึ่งในพระนิพนธ์ดังกล่าวชื่อ “ความเห็นเรื่องวิชาหัดเด็ก” พระองค์ทรงอธิบายถึง 10 วิชาที่เด็กไทยอายุระหว่าง 5-11 ปี ควรเรียน โดยทรงอธิบายเหตุผล และวิธีการเรียนการสอนแต่ละวิชาไว้โดยละเอียดดังนี้ (จัดย่อหน้าใหม่ และสั่งเน้นคำโดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม)


 

ความเห็นเรื่องวิชาหัดเด็ก

การเล่าเรียนของเด็กทั้งหลาย ว่าโดยทั่วไปมิได้กำหนดเป็นตระกูลแลชนิด ข้าพเจ้าเห็นว่าเป็น 3 ชั้น

ชั้นต้นแต่เกิดมาชันคอได้ ก็เรียนที่จะคว่ำจะนั่งจะคลานจะเดินจะพูดจะวิ่ง ขึ้นไปโดยลำดับ นับเป็นการร่ำเรียนโดยธรรมดาบังคับชั้น 1

ส่วนชั้นกลางนั้นแต่เด็กเข้าใจภาษาแลรู้รักตัวแล้ว ก็ต้องเรียนวิชาบางอย่างที่จะเป็นประโยชน์แก่ตนต่อไปภายหน้า คือวิชาหนังสือเป็นต้น บรรดาที่เป็นวิชากลางสำหรับแลควรแก่เด็กทั่วไป นับเป็นการร่ำเรียนสำหรับตัวชั้น 1 ชั้นหลังนั้นเมื่อรุ่นขึ้นร่ำเรียนวิชาเลือกแต่อย่างเดียวหรือสองอย่าง ซึ่งจะรู้ไว้เป็นทางหาเลี้ยงชีวิตตน

เป็นต้นว่าคนใดรักวิชาหนังสือก็ตั้งหน้าเล่าเรียนในวิชานั้นให้รู้ลึกซึ้ง ไปทำการเป็นเสมียนหรือมหาเปรียญไปตามที ที่รักในทางช่างก็ฝึกให้ชำนิชำนาญหาการรับจ้างจนตั้งตัวเป็นนายงานได้ ยังวิชาอย่างอื่นๆ ก็มีอีกมากนับเป็นการร่ำเรียนหาเลี้ยงชีวิตชั้น 1

ในเรื่องข้าพเจ้าได้ดำริแลจงใจที่จะกล่าวในที่นี้ จะว่าแต่วิชาชั้นที่ร่ำเรียนสำหรับตัวชั้นเดียว แลว่าแต่ละวิชาสำหรับเด็กไทยเราประเทศเดียว คือเมื่อเด็กอายุตั้งแต่ 7 ขวบจน 11 ขวบ ควรจะเรียนอะไรบ้าง ข้าพเจ้าเห็นว่าความรู้ควรจะสอนเด็กในระหว่างนั้นมีอยู่ 10 อย่างคือ

1. ให้อ่านหนังสือออกเขียนหนังสือได้ 2. ให้คิดเลขเป็น 3. ให้รู้จักรักษาอิริยาบถ 4. ให้หุงข้าวต้มแกงเป็น 5. ให้เย็บผ้าเป็น 6. ให้ขึ้นต้นไม้เป็น 7. ให้ว่ายน้ำเป็น 8. ให้ปลูกทับกระท่อมที่อยู่เป็น 9. ให้รู้จักปลูกต้นไม้ 10. ให้รู้จักเลี้ยงสัตว์

ความรู้ตามข้าพเจ้าคิดเห็นทั้ง 10 อย่างนี้ มิใช่ว่าจะต้องให้ไปเรียนในโรงเรียนทุกอย่าง

ล้วนเป็นความรู้ซึ่งบิดามารดาแลผู้เลี้ยงดูอาจสอนให้เด็กได้แทบทั้งนั้น ถึงว่าเช่นนี้ถ้าไม่มีอธิบายจะชักให้ท่านผู้อ่านสงสัย หรือเข้าใจผิดโดยหลายประการ คือประการหนึ่งจะสงสัยว่าเด็กอายุเพียงเท่านั้น ที่ไหนจะเรียนวิชาได้ถึงเก้าอย่างสิบอย่าง ประการหนึ่งจะเห็นว่าที่จะสอนความรู้แก่เด็กถึง 10 อย่างดังนี้ คงจะเป็นเครื่องเดือดร้อนแก่เด็ก ประการหนึ่งจะเห็นว่าที่กำหนดเป็นความรู้บางอย่างในสิบอย่างนั้น ไม่ควรจะสอนเด็ก เพราะไม่มีประโยชน์อย่างไร

ถ้าความสงสัย และความเข้าใจ ของท่านผู้อ่านมีอยู่เช่นนี้ในข้อที่เด็กอายุเท่านั้นจะเรียนไม่ได้ หรือข้อที่จะเป็นการเดือดร้อนแก่เด็กนี้ ข้าพเจ้าขอชี้แจ้งโดยชัดเจนว่า ข้าพเจ้าได้ทดลองแล้วแลไม่ได้เป็นเช่นนั้นเลย ในข้อที่ความรู้เหล่านั้นจะเป็นประโยชน์หรือไม่เป็นประโยชน์นั้น ข้าพเจ้าขอชี้แจ้งทีละอย่างๆ ต่อลงไปนี้ก่อน แล้วจึงจะอธิบายวิธีฝึกสอน

1. ความรู้อ่านหนังสือแลเขียนหนังสือนี้ ที่จะเป็นประโยชน์หรือไม่เป็นประโยชน์นั้น ไม่เป็นข้อต้องเถียงจะต้องอธิบาย แต่ว่าการสอนวิชการหนังสือแก่เด็กอายุเพียงในระหว่างนั้น ข้าพเจ้าเห็นควรจะสอนเพียงให้อ่านหนังสือออก คืออ่านจดหมายหรือเรื่องอะไรๆ ได้ความเข้าใจก็สอนเพียงนั้น ไม่ต้องให้เรียนศัพท์แสงโคลงฉันท์ที่ลึกซึ้ง ส่วนวิชาเขียนหนังสือนั้นเล่าก็สอนเพียงให้รู้จักเขียนจดหมายด้วยเส้นดินสอ หรือให้วิเศษก็เส้นหมึกลงในแผ่นกระดาษ ไม่ต้องกวดขันวิธีสเปลล์คือใช้ตัวอักษรให้แข็งแรงนัก วิชาอ่านเขียนที่ควรสอน ว่าโดยย่อก็พอให้เด็กเข้าใจ ความบรรดาจดหมาย เรื่องราวที่เขาเขียนมาให้อ่าน แลอาจเขียนความประสงค์ของตนลงเป็นหนังสือได้เท่านั้น

2. ความรู้คิดเลขนั้นเล่า ในส่วนประโยชน์ก็ไม่มีข้อควรถุ้งเถียงเหมือนกัน แต่กำหนดที่จะให้เด็กรู้นั้น ข้าพเจ้าเห็นว่าเพียงสามัญวิธี คือ นับ, บวก, ลบ, คูณ, หาร กับมาตราวิธีคิดเรือนเงิน กับสั้นยาว และเวลา ฤดู เดือน ปี เท่านั้นก็พอควร

3. ความรู้รักษาอิริยาบถนั้น จะต้องอธิบายเบื้องต้นว่าข้าพเจ้าหมายความรู้อย่างไรก่อน ความรู้ซึ่งข้าพเจ้ารวมเข้าในหมวดว่ารักษาอิริยาบถนี้ คือ รู้จักรักษาสามัคคีไม่วิวาท หรือพูดจากันด้วยวาจาไม่ดีประการ 1 ยำเกรงอ่อนน้อมเชื่อฟัง ไม่หมิ่นประมาทผู้ใหญ่ประการ 1 รู้จักรักษาของคือรู้จักหนักเบามิให้สิ่งของที่ตัวใช้หรือรักษาเป็นอันตรายประการ 1 รู้จักอาหารแลความประพฤติที่จะเป็นอันตรายไข้เจ็บแก่ตัว คือให้รู้ว่าอาหารที่บูดเน่าเป็นของทำให้ท้องเสีย และความสะอาดหมดจดย่อมเป็นทางให้มีความสบายเป็นต้นประการ 1

ความรู้เหล่านี้รวมกันที่ข้าพเจ้าจัดเป็นหมวด เรียกว่ารักษาอิริยาบถเมื่อธิบายเช่นนี้แล้วก็จะแลเห็นได้ว่า ล้วนแต่เป็นประโยชน์ทั้งนั้น

4. ความรู้หุงข้าวต้มแกงนั้น ก็แทบจะไม่ต้องกล่าวชี้แจงประโยชน์ จะควรอธิบายก็แต่ที่ทำไมจึงเห็นควรเป็นวิชาสอนเด็กเท่านั้น ควรสอนเด็กก็เพราะอย่างเดียว ที่เด็กอายุเท่านั้นควรจะสอนได้แล้ว ไม่ควรจะให้ไปเสียเวลาเรียนต่อเมื่อเติบใหญ่ แลการหุงข้าวต้มแกงที่ข้าพเจ้าเห็นว่าสมควรจะสอนเด็กในชั้นนี้ ก็แต่เพียงให้รู้จักหุงข้าวให้สุก กับทำกับข้าวได้บางอย่าง เช่น ปิ้งปลา ทอดเนื้อ แกงต้มส้มหรือแกงเผ็ดอะไรสักอย่าง 1 สองอย่างเป็นต้น

5. ความรู้เย็บผ้านั้น ก็เป็นประโยชน์ที่รู้แล้วอาจะเย็บเครื่องนุ่งห่มของตัว หรือเมื่อสิ่งเหล่านั้นขาดชำรุดลงก็พอจะซ่อมแซ่มได้ ความรู้อย่างนี้ ข้าพเจ้าเห็นสมควรจะสอนเด็กเพียงให้รู้จักเย็บแลให้ตัดเย็บเป็นเสื้อบางอย่าง คือกุยเฮ็ง หรือเสื้อกระบอกเป็นต้นได้ เมื่อว่าโดยย่อ ถ้าผุ้งขาดก็ให้เย็บเองได้ แลส่งผ้าผืนให้ก็ให้ตัดแลเย็บเสื้อสวมได้เท่านั้น ความรู้อย่างนี้เห็นว่าควรแก่เด็กทั่วไปทั้งชายหญิง ที่จะเข้าใจว่าเป็นวิชาสำหรับผู้หญิงพวกเดียวนั้นเข้าใจผิดแท้

6. การที่จะให้หัดขึ้นต้นไม้นั้น ดูอยู่ข้างจะให้ซุกซนอยู่สักหน่อย แต่เมื่อพิจารณาดูประโยชน์ ก็แลเห็นได้เป็นหลายอย่าง คือ เป็นการทำให้ร่างกายเส้นสายแข็งแร็ง ที่ฝรั่งเขาเรียกเอกเซอไซส์ หรือยิมแนสติก อย่าง 1 เป็นประโยชน์แก่การที่จะทำมาหากินไปภายหน้า คือเป็นชาวสวนเป็นต้นอย่าง 1 เป็นประโยชน์แก่การหนีภัยอันตรายในภายหน้า คือไปป่าพบเสือจะได้หนีมันเป็นต้นอย่าง 1 เป็นประโยชน์ในการทำเหย้าเรือนในภายหน้าอย่าง 1

7. การหัดให้ว่ายน้ำนั้น ถึงจะไม่อธิบายประโยชน์ก็เห็นจะเข้าใจได้ตลอดแล้ว

8. ความรู้ปลูกทับกระท่อม ที่อาศัยนั้น ข้าพเจ้าหมายความว่าเหมือนอย่างหาไม้ไผ่จากแลเครื่องมือให้พร้อมแล้วก็ให้เด็กอาจจะช่วยกันปลูกเป็นกระท่อมที่อยู่ได้ หรือจะว่าคบเด็กสร้างบ้านก็ตาม

ความรู้อย่างนี้มีประโยชน์ แลความรู้อย่างอื่นรวมอยู่ด้วยหลายอย่าง คือรู้จักใช้เครื่องมือสามัญ เช่น มีด พร้า เลื่อย ขวาน เป็นต้นได้อย่าง 1 จะรู้จักสิ่งของซึ่งควรประติดประต่อให้เป็นประโยชน์ได้อย่าง 1 จะเป็นความรู้ติดตัวไป ทำที่อาศัยได้ในภายหน้าอย่าง 1 ความรู้เรื่องนี้ ก็ย่อมจะแลเห็นประโยชน์ได้โดยง่าย

9. ความรู้ปลูกไม้นั้น ก็มีประโยชน์หลายอย่าง คือ จะรู้กระบวนบำรุงที่ดินด้วยไขทางน้ำไม่ให้ท่วม แลการที่จะรักษาที่ให้สะอาดอย่าง 1 จะรู้เหตุความเจริญแลภัยของต้นไม้ แลวิธีแก้ไขป้องกันมิให้เสียอย่าง 1 ประโยชน์เหล่านี้ย่อมเป็นต้นทางการเพาะปลูกทำเรือกสวนไร่นา โดยที่สุดการรักษาพื้นที่บ้านของตนต่อไปภายหน้า ก็จะได้รับประโยชน์แต่ความรู้อย่างนี้ด้วย

10. ความรู้จักเลี้ยงสัตว์นั้น  คือเลี้ยงให้มากขึ้น มิใช่เลี้ยงให้ชน การเลี้ยงสัตว์เห็นควรสอนเด็ก เพราะธรรมดาสัตว์ที่อาศัยคนเลี้ยง หรือเมื่อจะว่าอีกอย่าง 1 ว่าธรรมดาคนจะเลี้ยงสัตว์ก็ต้องมีความกรุณาต่อสัตว์ มีความประสงค์จะให้สัตว์เหล่านั้นได้ความสุขอยู่เป็นนิจดังนี้ จึงตั้งพยายามบำรุงรักษาสัตว์ พิจารณาเห็นทุกข์ของสัตว์มีอย่างใด ก็คิดแก้ไขปลดเปลื้องป้องกัน เลือกสิ่งซึ่งจะมีความสุขแก่สัตว์เลี้ยงดูโดยเต็มใจ

นิสัยอันนี้ประกอบด้วยความกรุณาอย่าง 1 ความพิจาณาอย่าง 1 ความเพียรอย่าง 1 ซึ่งจะฝึกหัดได้ด้วยความแนะนำในความสนุกของเด็กเท่านั้น แลนิสัยเหล่านี้ไม่ใช่เป็นประโยชน์แต่ในการเลี้ยงสัตว์อย่างเดียว ถ้าติดมีไปในสันดานแล้ว ย่อมจะเป็นประโยชน์ไปในอย่างอื่นได้อีกมาก ตลอดจนการทำนาค้าขายบรรดาซึ่งต้องอาศัยกำลังสัตว์ด้วย

ความรู้ทั้ง 10 อย่าง ข้าพเจ้าเห็นว่าเป็นประโยชน์ต่างกันเป็นส่วนๆ ดังชี้แจ้งมานี้ จึงเห็นว่าควรจะฝึกสอนเด็กทุกอย่าง

เมื่อว่าเช่นนี้แล้ว จะต้องอธิบายให้เข้าใจชัดเจนว่า ทำไมจึงจะสอนวิชาทั้ง 10 อย่างนี้แก่เด็กๆ อายุเพียง 7 ขวบไปหา 11 ขวบได้ในวิชา 10 อย่างนี้สอนได้โดยลักษณะต่างกัน วิชาบางอย่าง คือ หุงข้าวต้มแกง 1 ขึ้นต้นไม้ 1 ปลูกทับกระท่อม 1 ปลูกต้นไม้ 1 เลี้ยงสัตว์ 1 5 อย่างนี้ล้วนเป็นการเจือสนุก สอนแนะนำไปในกระบวนให้เด็กเล่นได้

วิชาบางอย่าง คือ รักษาอิริยาบถ 1 ว่ายน้ำ 1 สองอย่างนี้อยู่ในความประพฤติเสมอ แลเป็นการสนุกเนื่องอยู่ในการประพฤติเสมอ ส่วนการรักษาอิริยาบถก็สอนไปในการดูแลปกครองเด็ก วิชาว่ายน้ำก็สอนในเวลาที่อาบน้ำชำระตัวเด็กได้

วิชาบางอย่าง คือวิชาหนังสือ 1 วิชาเลข 1 วิชาเย็บผ้า 1 สามอย่างนี้เป็นวิชาต้องสอนในที่เล่าเรียนตามเวลาจึงจะได้

ว่าโดยย่อวิชาทั้ง 10 อย่างนั้น สอนได้โดยลักษณะต่างกัน 3 ประการ คือสอนเป็นการเล่นประการ 1 สอนเป็นการประพฤติเสมอประการ 1 สอนเป็นการเรียนประการ 1

อนึ่งในวิชาทั้ง 10 อย่างนั้น ว่าตามที่เด็กจะรู้ได้ยังต่างกัน คือวิชาบางอย่างเพียงแต่ผู้ใหญ่แนะนำเด็กก็จะรู้ได้ ด้วยความเต็มใจ วิชาพวกนี้ คือหุงข้าวต้มแกง 1 ขึ้นต้นไม้ 1 ว่ายน้ำ 1 เย็บผ้า 1 ปลูกทับกระท่อม 1 ปลูกต้นไม้ 1 เลี้ยงสัตว์ 1 รวม 7 อย่างด้วยกัน วิชาบางอย่าง ผู้ใหญ่ต้องบังคับกะเกณฑ์เด็กจึงจะรู้ ในพวกนี้คือวิชาหนังสือ 1 วิชาเลข 1 รักษาอิริยาบถ 1

วิชาทั้ง 10 อย่างสอนได้โดยลักษณะต่างกันดังนี้ทั้งกำหนดเวลาที่จะสอนได้ 5 ปี คือแต่เด็กอายุ 7 ขวบไปจนถึง 11 ขวบ ข้าพเจ้าเห็นว่าผู้ปกครองดูแลเด็กมีอุตสาหะแล้วคงจะสอนได้โดยง่าย

วิชาทั้ง 10 อย่างนี้ว่าที่แท้ก็เป็นของธรรมดาเด็กเราเรียนกันอยู่แล้วแทบทั้งนั้น แต่ว่าไม่ได้เรียนโดยวิธี แลไม่ใคร่ได้เรียนทั่วทุกอย่าง ดูแต่เด็กชาวบ้านนอกเล็กๆ ใครไปสอนให้มันว่ายน้ำ ใครไปสอนให้มันขึ้นต้นไม้ ใครต้องสอนมันให้เลี้ยงควาย

เพราะนิสัยเด็กเหมือนกับเรือกลไฟที่เปิดจักรแล่นเต็มสติมไปข้างหน้า กล่าวคือไม่มีความขี้เกียจที่จะซุกซนอยู่เป็นปรกติ  ถ้าผู้ใหญ่คอยถือท้ายแนะนำให้ซนไปข้างได้การแล้วก็จะเป็นประโยชน์ได้โดยง่าย ดีกว่าจะกักขังไม่ให้ซน คือเขียนวงให้นั่งเป็นต้น เช่นนั้นก็เสมอหยุดจักรให้เรือลอย หาไม่ก็กักสติมไว้จนหม้อระเบิด กล่าวคือที่เด็กกลายเป็นโง่เซอะหรือจะเล็ดลอดไปเสียคน ไม่ให้ผู้ใหญ่รู้จักก่อนเท่านั้น

ข้าพเจ้าว่าเพ้อมา ยังหาได้กล่าวถึงวิธีสอนไม่ วิธีสอนวิชาทั้ง 10 อย่างนั้น ข้าพเจ้าเห็นว่าชั้นต้นต้องจัดเวลาการเลี้ยงเด็กนั้นหรือเหล่านั้นให้ยุติก่อน

คือเวลานั้นต้องตื่น เวลานั้นต้องเล่น เวลานั้นต้องกิน เวลานั้นต้องเรียน เวลานั้นต้องเลิกเป็นต้นดังนี้ จนตลอดถึงเวลานอน ถ้าผู้ใหญ่เลี้ยงเด็กด้วยกำหนดเวลาแน่นอนดังนี้ เป็นประโยชน์หลายอย่าง คือเคยเข้าแล้วเด็กไม่เกียจคร้าน นิสัยความหมั่นแลความเสมอก็ติดตัวเด็ก การรักษาอิริยาสบถก็ต้องจับสอนไป คือตั้งแต่แต่ปัดที่นอนพับผ้าเป็นต้น แลต้องรักษาความสะอาดหมดจดในที่อยู่ให้เสมอ จนเด็กเคยเข้าแล้วก็เกิดนิสัยเกลียดสกปรกขึ้นเอง

วิชาหนังสือและวิชาเลขก็จับสอนไปแต่แรกแต่ชั้นแรกๆ ต้องผ่อนให้เรียนน้อยๆ เพียงวันละชั่วโมงหรือ 2 ชั่วโมงก็ตาม เพราะเป็นการเดือดร้อนของเด็กกว่าอย่างอื่น วิชาที่ต้องเป็นพื้นเสมอไปแต่แรกเท่านี้ วิชานอกนั้นต้องดูถ้าเด็กมีนิสัยและกำลังพอจะเรียนอย่างใดได้เสมอเมื่อใด ก็สอนต่อเมื่อนั้น แต่ต้องค่อยๆ สอนอย่างเร่งรัด

เป็นต้นว่าวิชาปลูกทับกระท่อม ก็ต้องสอนแต่ปลูกเรือนตุ๊กตาไปก่อน แล้วจึงค่อยขยับขึ้นไป การหุงข้าวต้มแกงก็ต้องสอนแต่หุงด้วยหม้อหนูขึ้นไปก่อน การปลูกต้นไม้ก็ให้ทำสวนเล็กๆ เล่นๆ เลี้ยงสัตว์ก็เพียงกระต่าย หรือนกสีชมพูไปก่อน การฝึกสอนชั้นนี้ผู้ใหญ่ต้องเป็นธุระแลออกสนุกด้วยกับเด็กจึงจะสอนได้ ถ้าเป็นที่เลี้ยงเด็กมากๆ อย่างโรงเรียนเลี้ยงเด็ก ก็ต้องให้เหมือนกัมปนีช่วยกันทำการเหล่านั้น มีผู้ใหญ่เป็นสภานายกคอยดูแล

ถ้าเห็นเด็กคนใดควรจะมีหน้าที่รับผิดชอบอย่างใดได้ก็ให้ทำ ให้เห็นเป็นเกียรติยศกันในกระบวนทำหน้าที่ได้ดีดังนี้ เด็กเหล่านั้นคงจะรู้วิชา 10 อย่างได้ทุกคน จะต่างกันก็ที่รู้ดีบ้าง ไม่สู้ดีบ้างตามอุปนิสัยเกิดมาโง่แลฉลาด

เรื่องความรู้สำหรับตัวเด็กนี้ ข้าพเจ้าเห็นทีละอย่างหนึ่งสองอย่าง และได้ทดลองสอนเด็กตามวิธีอธิบายมานี้ เห็นสำเร็จได้ จึงเรียบเรียงส่งมาลงวชิรญาณ ให้ท่านทั้งปวงอ่านเล่นตามสมควร

ดำรงราชานุภาพ


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2565