เบื้องหลังการออกแบบโลโก้ “ททท.” เหตุใดใช้ วัดอรุณฯ-เรือสุพรรณหงส์ ?

โลโก้ ททท.

โลโก้ (Logo) หรือตราสัญลักษณ์ มีความสำคัญต่อการสร้างภาพลักษณ์ของสินค้าหรือองค์กร โลโก้หนึ่งที่มีความพิเศษนอกเหนือจากการสร้างภาพลักษณ์ขององค์กรแล้วยังสร้างภาพลักษณ์ต่อประเทศ คือ โลโก้ของ “การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย” หรือ “ททท.” 

ททท. เป็นองค์กรที่พัฒนามาจาก “องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย” หรือ “อ.ส.ท.” โดยพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยว พ.ศ. 2502 สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี

ทว่า โลโก้ อ.ส.ท. ถูกออกแบบและประกาศใช้อย่างเป็นทางการในราชกิจจานุเบกษา ในวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2506 หลังการก่อตั้ง อ.ส.ท. ไปแล้วกว่า 4 ปี 

ตราสัญลักษณ์ของ อ.ส.ท. ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา (ภาพจาก เว็บไซต์ ราชกิจจานุเบกษา)

ผู้อำนวยการคนแรกของ อ.ส.ท. เป็นนายทหารคนสนิทของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ คือ พันเอกเฉลิมชัย จารุวัสตร์ เป็นผู้ใช้แนวความคิดในการออกแบบโลโก้ ลักษณะคล้ายกับโลโก้ ททท. ที่ใช้อยู่ทุกวันนี้ โดยได้รับแนวคิดมาจากภาพยนตร์ต่างประเทศเรื่อง “Around the World in 80 Days” ซึ่งเข้าฉายเมื่อ ค.ศ. 1956 หรือตรงกับ พ.ศ. 2499

Around the World in 80 Days” หรือมีชื่อไทยว่า “80 วันรอบโลก” เดิมเป็นเป็นนวนิยายแนวผจญภัยวิทยาศาสตร์ เขียนโดยชาวฝรั่งเศส Jules Verne ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ ค.ศ. 1872 หรือ พ.ศ. 2415 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5 กระทั่งนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ เมื่อ ค.ศ. 1956 แต่คนในปัจจุบันจะคุ้นเคยกับฉบับ ค.ศ. 2004 ที่นำแสดงโดย “เฉินหลง” ที่มีชื่อภาษาไทยว่า “80 วัน จารกรรมฟัดข้ามโลก”

ภาพยนตร์ Around the World in 80 Days” ฉบับ ค.ศ. 1956 มีฉากหนึ่งที่คณะเดินทางได้เดินทางมาเยือนประเทศไทย (ต่อจากอินเดียก่อนไปจีน) โดยปรากฏฉาก “เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์” พร้อมฝีผายและเจ้าหน้าที่บนเรือพระที่นั่งแต่งเครื่องแต่งกายเต็มยศ เรือพระที่นั่งลอยลำอยู่บนแม่น้ำเจ้าพระยา ด้านหน้าท่าราชวรดิฐ โดยมีฉากหลังเป็นพระที่นั่งราชกิจวินิจฉัย และพระบรมมหาราชวัง

อีกฉากหนึ่งเป็นฉาก “พระปรางค์วัดอรุณฯ” เป็นภาพแบบย้อนแสง (Silhouette) ที่ด้านหลังของพระปรางค์ปรากฏท้องฟ้าทอแสงยามอาทิตย์อัสดง

แม้จะมีฉากของประเทศไทยเพียง 2 ฉาก ในช่วงเวลาสั้น ๆ ไม่กี่นาที แต่นั่นทำให้ทั้ง “เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์” และ “พระปรางค์วัดอรุณฯ” กลายเป็นสัญลักษณ์หรือหมุดหมายสำคัญว่าได้เดินทางมาถึงประเทศไทยแล้ว ภาพดังกล่าวปรากฏสู่สายตาชาวโลกผ่านภาพยนตร์ นี่จึงเป็นเหตุและแนวคิดสำคัญที่ อ.ส.ท. นำมาปรับใช้เพื่อทำโลโก้ขององค์กร ส่วนการออกแบบและจัดวางองค์ประกอบ ทำโดยชาวอเมริกัน ชื่อ Mrs.Myers

ปรามินทร์ เครือทอง อธิบายถึงโลโก้ อ.ส.ท. ว่า “แรกทีเดียวโลโก้ อ.ส.ท. นั้น ไม่ได้ ‘งามชดช้อยลอยหลังสินธุ์’ และไม่ได้ ‘ทรงพู่ห้อย’ อย่างในปัจจุบัน แต่เป็นเรือซึ่งมีลักษณะเหมือนเรือแจวที่กำลังตกใจกลัวพระปรางค์วัดอรุณเสียมากกว่า เพิ่งจะมาเปลี่ยนแปลงให้งามชดช้อยสมกับฝีมือช่างหลวง เมื่อคราวดัดแปลงโลโก้จาก อ.ส.ท. ให้เป็น ททท. ในปี 2522

ส่วนเครื่องบินที่บินผ่านด้านหลังของพระปรางค์วัดอรุณฯ แล้วพ่นควันยาวเหยียดนั้น มีส่วนช่วยให้โลโก้นี้ดูเป็น “การท่องเที่ยว” มากขึ้น ซึ่งเป็นไปตามแนวคิดของผู้ออกแบบ

ดังนั้น ความพิเศษของโลโก้ ททท. นอกจากจะเป็นตราสัญลักษณ์ขององค์กรแล้ว ยังมีความหมายสำคัญ 2 อย่างคือ เป็นตราสัญลักษณ์ศักดิ์สิทธิ์ทางการตลาด และที่สำคัญที่สุดคือเป็น “โลโก้ประเทศไทย” เลยก็ว่าได้

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

ปรามินทร์ เครือทอง. โลโก้ ททท. “สัญลักษณ์ศักดิ์สิทธิ์ที่ถูกละเลย,” ใน ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 21 ฉบับที่ 9 (กรกฎาคม 2543), น. 148-149.

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย. “ประวัติความเป็นมา,” สืบค้นข้อมูลเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2564, www.tat.or.th/th/about-tat/history

Patricia Bauer. Access 26 November 2021, “Around the World in Eighty Days,” www.britannica.com/topic/Around-the-World-in-Eighty-Days-by-Verne

imdb. “Around the World in 80 Days,” Access 26 November 2021, www.imdb.com/title/tt0048960/


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 พฤศจิกายน 2564