บทสัมภาษณ์ ศาสตราจารย์ชลูด นิ่มเสมอ ผู้ออกแบบ “โลกุตระ” ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

ข้อเขียนของ “ศาสตราจารย์ ชลูด นิ่มเสมอ” เรื่อง ประติมากรรม “โลกุตระ” ด้านหน้า “ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์”

งานชิ้นนี้ ทีแรกผมมีความคิดที่จะแสดงการรวมตัวกันของหน่วยต่าง ๆ ในโลกในจักรวาล ซึ่งผมคิดว่าน่าจะเป็นสัญลักษณ์ของศูนย์การประชุมแห่งชาติฯ ที่เกี่ยวกับการเสริมสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างชนชาติต่าง ๆ ผมจึงทำเป็นรูปดวงอาทิตย์ เป็นวิมานลอยอยู่ในจักรวาล เป็นรูปการเชื่อมต่อกันของ 2 ซีกโลก คือตะวันออกกับตะวันตก

แต่ตอนหลังได้หันความคิดมาทางความดีงาม ความสูงส่ง ตามแนวพระพุทธศาสนา ผมคิดอยู่หลายแบบ ส่วนมากเป็นการเคลื่อนไหวสะบัดตัวของตัวกนกในลักษณะต่าง ๆ ด้วยความต้องการที่จะแสดงออกถึงความรุ่งโรจน์ ความสูงส่ง ความดีงาม

ในที่สุดก็มาได้ความบันดาลใจจากเปลวรัศมีของพระพุทธรูป ซึ่งผมมองเห็นเป็นสัญลักษณ์ของความรุ่งโรจน์แห่งโลกุตรปัญญา หรือปัญญาที่อยู่เหนือโลกีย์ ผมนำสัญลักษณ์นี้มาสร้างเป็นรูปทรงขึ้นตามแบบแสดงหรือตามสไตล์ส่วนตัว จนได้รูปทรงที่ดูได้หลายแง่ คือเป็นรูปมือประนม บอกความหมายของการเชื้อเชิญ ความนอบน้อม คารวะก็ได้ เป็นรูปดอกบัวที่หมายถึงการบูชาหรือความดีงามก็ได้ เป็นรูปเปลวไฟที่หมายถึงความรุ่งโรจน์ของปัญญาก็ได้ และจากความหมายอันหลังนี้เองที่เป็นที่มาของชื่องานประติมากรรมชิ้นนี้ คือ “โลกุตระ”

เปลวรัศมีบนเศียรของพระพุทธรูปนี้เป็นสัญลักษณ์ของพุทธะในพระพุทธรูปบางสมัย ไม่ใช่เป็นส่วนใดของพระสรีระขององค์พระพุทธเจ้า ผมได้อัญเชิญสัญลักษณ์นี้มาเป็นต้นความคิดเปลี่ยนแปลงรูปทรง โดยเน้นความแน่นเต็ม ความมีพลังของปริมาตรตามสไตล์ส่วนตัวควบไปกับความสำนึกที่จะให้เหมาะสมกับสถานที่และสิ่งแวดล้อม คือมีรูปทรงที่เข้ากันได้ดีกับตัวอาคารและบริเวณ เหมาะสมกับที่ตั้งอยู่ในเมืองไทย และมีความหมายในทางความดีงาม ความรุ่งโรจน์ ความสูงส่งตามแนวทางของพระพุทธศาสนา

ในด้านคุณค่าทางศิลปะของประติมากรรมชิ้นนี้ ไม่อยู่ในวิสัยที่ผมจะประเมินเองได้ ที่พอจะกล่าวได้บ้างก็คือ ความคิดในการนำสัญลักษณ์นี้มาเสนอเป็นงานประติมากรรมในกรณีนี้ น่าจะถือว่าเป็นคุณค่าส่วนหนึ่ง

บางท่านอาจคิดว่า การหยิบเอาของที่มีอยู่แล้วมาทำนั้นเป็นเรื่องง่าย แต่คงไม่ง่ายนักสำหรับการริเริ่มและการเลือกหยิบ ที่จริงกว่าจะได้ความคิดอันนี้ ผมต้องใช้จินตนาการและค้นหาที่มาของความคิดต่อเนื่องมาเป็นเวลาหลายเดือน ต้องสร้างแบบร่างของความคิดในแง่มุมต่าง ๆ มากมายหลายแบบ ทั้งยังต้องพัฒนาความคิดที่เห็นว่าดีที่สุดแล้วให้เป็นรูปทรงเชิงประติมากรรมที่น่าพอใจอีกหลายขั้นหลายตอนด้วย


โลกุตระ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
“โลกุตระ” ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับตุลาคม 2534)

บทสัมภาษณ์ ศาสตราจารย์ ชลูด นิ่มเสมอ โดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม

“ผมมีความสนใจในพระพุทธศาสนาอยู่ก่อนแล้ว เมื่อ ‘ดีไซน์ 103’ เขาติดต่อมา ในระยะแรกผมนึกที่จะทำประติมากรรมแสดงการรวมตัวกันของหน่วยต่าง ๆ ในโลก ต่อมาก็นึกไปถึงความดีงาม นึกไปถึงโลกุตระปัญญา และในที่สุดก็ทำ ‘โลกุตระ’ ชิ้นนี้ขึ้น”

ศาสตราจารย์ชลูด นิ่มเสมอ อธิบาย แผ่ว ๆ น้ำเสียงนุ่มนวล ในห้องทำงานส่วนตัวติดกับคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร มีความเงียบและเยียบเย็น ศิลปินผู้ปั้น “โลกุตระ” นั่งเท้าแขนบนโต๊ะตอบคำถามทุกคำถามอย่างตั้งอกตั้งใจ

“โลกุตระนี้ ถ้าให้อธิบายถึงที่มา ก็ตอบได้ว่า เป็นความรุ่งโรจน์ทางปัญญา เป็นความดีงาม ก่อนอื่นผมขอบอกก่อนว่า เมื่อแรกที่ ‘ดีไซน์ 103’ เขาติดต่อมา เขาติดต่อแบบภูมิสถาปนิก คืออยากจะได้ประติมากรรมสักชิ้นหนึ่งบนน้ำพุในสวน เขาต้องการแบบนั้น เอาแบบอาคารมาให้ดูก่อน ผมก็มาคิดว่า งานประติมากรรมที่อยู่ในน้ำพุนั้นไม่ใช่ประติมากรรมแท้ ๆ แต่เป็นการประยุกต์ ประยุกต์ประติมากรรมกับน้ำ ซึ่งจะต้องคิดว่าน้ำเป็นยังไง…”

“แต่นั่นก็ไม่ใช่ปัญหาสำคัญ…” ประติมากรผู้ปั้นงาน “โลกุตระ” เสยผม “ปัญหาก็คือจะต้องหารูปทรงอย่างไรจึงจะเข้ากับตัวอาคาร และความหมายของรูปนั้น ก็ควรจะต้องเข้ากับประโยชน์ใช้สอย เพราะสถานที่นั้นคือการประชุม”

ภาพถ่ายสี่สี “โลกุตระ” วางอยู่บนโต๊ะเบื้องหน้า แบบจำลองปั้นปูนปลาสเตอร์ “โลกุตระ” วางอยู่บนชั้นโชว์เบื้องหลัง ประติมากรผู้มีอดีตเป็นคณบดีคณะจิตรกรรมฯ หันไปมองภาพปั้นจำลองเล็กน้อย แล้วอธิบายว่า :

“อีกประการหนึ่ง หลังจากเขารู้ว่า ผมรับทำประติมากรรมชิ้นนี้แล้ว ทางกระทรวง (การคลัง) ก็มีข้อเสนอแนะผมมาว่า อยากได้งานที่มีลักษณะไทย ให้มีความเป็นไทย เมื่อได้รับคำแนะนำอย่างนี้ ในตอนแรกผมก็งงอยู่เหมือนกันว่าจะทำอย่างไร”

“แล้วผมก็เริ่มคิดอย่างจริงจัง !” ประติมากรเอกแห่งมหาวิทยาลัยศิลปากรสรุปในชั้นแรก “ผมคิดอย่างจริงจังว่า การประชุมนี้เป็นเรื่องของนานาชาติที่เข้ามารวมกันเพื่อความเข้าใจอันดีระหว่างกัน ผมศึกษาความเป็นจักรวาล ผมคิดเป็นรูปดวงอาทิตย์ มีจักรวาล มีวิมานแบบไทย ๆ ลอยอยู่ แล้วผมก็คิดทำสองซีกโลกเอามาประสานต่อกันเข้า”

ศาสตราจารย์ระดับ 10 สาขาทัศนศิลป์เอี้ยวตัวชี้ปูนปั้นจำลองรูปสองซีกโลก แล้วหันกลับมาอธิบาย “อันนี้ผมคิดทำสองซีกโลกมาประสานต่อกันเข้า คล้ายกับว่า เป็นการสร้างความเข้าใจระหว่างตะวันตกกับตะวันออก”

“ต่อมา…” ประติมากรผู้ปั้นงาน “โลกุตระ” เสยผมอีกครั้ง “ต่อมาผมก็มีความคิดว่า ถ้าผมจะสร้างอะไรขึ้นมาสักชิ้นหนึ่ง ให้มีลักษณะเป็นไทย แล้วให้มีความรู้สึกของความเจริญ ให้มีความรู้สึกของความงามให้เข้ากับสถานที่ และแสดงความหมายของสถานที่บ้าง ผมก็หวนนึกไปถึงรูปเปลวกนกในตอนแรก นึกถึงเปลวรัศมีบนเศียรพระพุทธรูปในตอนหลัง เพราะทั้งเปลวกนก ทั้งเปลวรัศมีแสดงความเป็นไทยได้มาก ผมรู้สึกดีใจ ผมอ่านความหมายของเปลวกนก และเปลวรัศมีต่าง ๆ นั้นว่า เป็นสัญลักษณ์ของความรุ่งโรจน์ทางปัญญา เป็นปัญญาที่สามารถตรัสรู้ได้ เรียกว่าเป็นโลกุตระปัญญาเลยทีเดียว ผมจึงเอาความคิดนั้นมาสร้างเป็นรูปทรงในลักษณะของผม”

“และผมเป็นคนชอบอะไรที่มันหนักแน่น !” ศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญงานปั้น วัย 62 ปี พูดต่อ “ผมชอบอะไรที่มันหนักแน่น มีพลัง รูปนี้ก็มีลักษณะแน่น เป็นพลังขึ้นข้างบน ผมสเกตช์ดูสักรูปสองรูปก็ลงตัว จากนั้นก็เอาความคิดทั้งหมดไปเสนอกรรมการ คณะกรรมการทั้งหมดเขาก็เห็นชอบ โดยสรุป งานโลกุตระของผมก็คือ โลกุตระปัญญา หรือ โลกุตระธรรมนั่นเอง ทั้งชื่อทั้งความหมายก็สอดคล้องกันหมด คือความดี ความงาม ความรุ่งโรจน์”

ศาสตราจารย์ ชลูด นิ่มเสมอ
ศาสตราจารย์ ชลูด นิ่มเสมอ (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับตุลาคม 2534)

ศาสตราจารย์ผู้สอนในคณะจิตรกรรมฯ มาตั้งแต่ พ.ศ. 2498 จนเกษียณเมื่อ พ.ศ. 2532 เอี้ยวตัวหันไปข้างหลังอีกครั้ง ในอิริยาของครูผู้เคยสอนศิษย์มามาก แล้วอธิบายความหมายในส่วนละเอียดของงาน “โลกุตระ” อย่างแผ่วเบาต่อไปว่า :

“ที่บางคนมองเป็นเศียรพระเพราะเขาไม่เข้าใจ เศียรพระนั้นจะมีเฉพาะที่นูนขึ้น และไรพระศกเท่านั้น จึงจะเรียกว่าเศียรพระ แต่ ‘โลกุตระ’ ของผมนี้เป็นจิตใต้สำนึกของผมที่สนใจพระพุทธศาสนา ผมทำเป็นรูปมือที่พนม คล้ายการนอบน้อม การคารวะ การเชื้อเชิญแขกบ้านแขกเมืองเข้ามา พูดง่าย ๆ ก็คือ พนมมือแบบไทย…”

ประติมากรผู้ได้รับรางวัลในงานศิลปกรรมแห่งชาติ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2496 เอื้อมมือหยิบรูปปั้นจำลอง “โลกุตระ” มาชี้ให้ดูด้านข้างทั้งสองด้าน และอธิบายว่า มีความอ่อนช้อยประหนึ่งปลายนิ้วที่กำลังนบประนม

“นี่…อย่างนี้ คุณจะเห็นความนอบน้อม ความคารวะ และการเชื้อเชิญแบบไทย”

ประติมากรวัย 62 ไม่ยิ้ม ไม่บึ้ง หากสีหน้าสงบเยือกเย็น น้ำเสียงยังราบเรียบอธิบายต่อไปว่า ในเปลวกนกที่ประหนึ่งปลายนิ้วประนมนั้น นับเปลวที่พุ่งปลายฟ้าไปข้างละ 4 สองข้างเป็น 8 “…ซึ่งก็คือมรรค 8 นั่นเอง !” และว่า “ในรูปเดียวกันนี้ หากมองอีกทีก็อาจเห็นเป็นรูปดอกบัว ซึ่งก็ให้ความหมายไปอีกแบบ เป็นเรื่องของการบูชา เป็นเรื่องของความดีความงามอีกนั่นแหละ”

“รวมความทั้งหมด…” ประติมากรผู้สำเร็จการศึกษาวิชาศิลปะจากหน้าพระลาน, โรม และสหรัฐอเมริกา สรุปความหมายของ “โลกุตระ” ในขั้นสุดท้าย

“รวมความทั้งหมดก็คือ ‘โลกุตระ’ เป็นเรื่องของความดีงาม ความสูงส่ง ความเป็นมงคล ความเป็นปัญญา และถ้ามองในแง่ของสัญลักษณ์ของสากลทุกชาติทุกภาษา ก็มีลักษณะเป็นเปลวไฟ ซึ่งก็หมายถึงความรุ่งโรจน์ทางปัญญาของมวลมนุษย์”

แสงแดดมิได้แผดสาดเข้ามาในห้องทำงานของศาสตราจารย์ชลูด นิ่มเสมอ แต่แสงไฟในห้องส่องสว่าง ศาสตราจารย์ผู้มีวัย 62 บอกว่า งาน “โลกุตระ” ชิ้นนี้เป็นประติมากรรมที่พอใจมากที่สุดชิ้นหนึ่ง ความยุ่งยากในการเตรียมงาน นอกเหนือจาก “การใช้ความคิด” ซึ่งต้องครุ่นขบกว่าจะลงตัวนานถึง 3 เดือน แล้วยังมีความกังวลที่เกรงว่างานจะไม่เสร็จทันตามเวลา และมีความยุ่งยากในการใช้วัสดุ และการติดตั้งซึ่งต้องใช้โครงเหล็กเป็นตัน !

“เดิมทีผมจะทำเป็นสำริด แต่เวลามันกระชั้น คำนวณแล้วไม่ทัน จึงต้องทำเป็นไฟเบอร์กลาส ในการติดตั้งก็ต้องมีการวัดกระแสลม ทาง ‘ดีไซน์ 103’ เขาหาเจ้าหน้าที่มาช่วยดูแลทางด้านเทคนิค”

ศาสตราจารย์ชลูด นิ่มเสมอ เกิดที่บางแวก และอยู่ที่ฝั่งธนบุรีมาโดยตลอด ประติมากรผู้ปั้น “โลกุตระ” หน้าศูนย์ประชุมสิริกิติ์ บรรยายบุคลิกส่วนตนว่า

“ผมเป็นคนรุนแรง เหมือนศิลปินส่วนใหญ่ที่มีอารมณ์รุนแรง ผมมีความอ่อนไหว อะไรมากระทบนิดหนึ่งก็ขยายเป็นเรื่องใหญ่ไปได้ นี่เป็นบุคลิกส่วนตัวของผม แต่งานผมจะไม่ออกรุนแรง จะเป็นงานทางความคิดความสงบ ผมจะออกรุนแรงก็แค่บางประเภทที่เป็นพลังมาจากภายในเท่านั้น”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 3 ตุลาคม 2565