ค้นตัวตน หนานบัวผัน ศิลปินที่เชื่อว่าวาด “ปู่ม่าน-ย่าม่าน” ภาพ “กระซิบรัก” วัดภูมินทร์

ภาพ ปู่ม่าน-ย่าม่าน วัดภูมินทร์ จังหวัดน่าน (ภาพจาก ทีมช่างภาพ "ข่าวสด")

จากการค้นคว้าและตั้งข้อสันนิษฐานกันว่า หนานบัวผัน ศิลปินชาวไทลื้อเป็นผู้เขียนภาพจิตรกรรมฝาผนัง วัดภูมินทร์ อำเภอเมือง จังหวัดน่าน ทั้งยังมีส่วนเขียนภาพจิตรกรรมในวัดหนองบัว อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน คำถามที่น่าสนใจต่อมาคือ ตัวตนของ หนานบัวผัน มีภูมิหลังหรือรายละเอียดอื่นๆ อย่างไรบ้าง

กรณีนี้มีผู้ศึกษาค้นคว้าตั้งข้อสังเกตและวิเคราะห์เอาไว้หลากหลาย วินัย ปราบริปู แห่งหอศิลป์ริมน่าน ผู้ศึกษาเกี่ยวกับจิตรกรรมใน “วัดภูมินทร์” และ “วัดหนองบัว” จังหวัดน่าน เคยเขียนบทความเกี่ยวกับจิตรกรรมในวัดทั้งสอง เผยแพร่ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรมหลายบทความในช่วง พ.ศ. 2550

เนื้อหาในบทความของวินัย ส่วนหนึ่งเป็นการรวบรวมหลักฐานและข้อมูลจากงานศึกษาของผู้เชี่ยวชาญในวงการศิลปะหลายท่าน จึงทำให้สามารถยกเหตุผลและหลักฐานอ้างอิงเรื่อง หนานบัวผัน เป็นผู้เขียนภาพจิตรกรรมฝาผนัง วัดภูมินทร์ และ วัดหนองบัว ว่า

ได้มาจากตัวผลงานภาพเขียนของศิลปินเอง และยุคสมัยที่เขียนก็ทิ้งระยะห่างเพียง 12 ปี (วัดหนองบัวอาจเขียนในปี พ.ศ. 2410-31[1] ส่วนวัดภูมินทร์อาจเขียนใน พ.ศ. 2443 หรือ 2446) หรือภาพที่วัดหนองบัว เขียนในช่วงเจ้าอนันตวรฤทธิเดชปกครองเมืองน่าน (ระหว่าง พ.ศ. 2395-2434 รวม 39 ปี) ส่วนภาพเขียนที่วัดภูมินทร์นั้นเขียนในช่วงพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชขึ้นปกครองเมืองน่าน (ระหว่าง พ.ศ. 2436-61 รวม 25 ปี) [2]

และภาพจิตรกรรมฝาผนังทั้ง 2 วัด ศิลปิน หนานบัวผัน เขียนขึ้นด้วยเจตจำนงเล่าชาดกด้วยภาพเขียน

ผลงาน ภาพกระซิบรัก

ส่วนข้อมูลเกี่ยวกับภาพปู่ม่าน-ย่าม่าน ซึ่งเคยมีผู้ตั้งข้อสงสัยว่า “เป็นภาพเหมือนของศิลปิน (ผู้วาด) หรือไม่?” วินัยอธิบายเรื่องนี้ในบทความ “ภาพหนุ่มกระซิบบันลือโลก ณ วัดภูมินทร์ จังหวัดน่าน เป็นภาพของศิลปินจริงหรือ?” เผยแพร่ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับเมษายน พ.ศ. 2551 ใจความตอนหนึ่งมีว่า (จัดย่อหน้าและเน้นคำใหม่ – กอง บก.ออนไลน์)

“…อาณาจักรเมืองน่านเดิมนั้น ได้มีดินแดนครอบครองเมืองเงินและเมืองหงสา (ปัจจุบันอยู่ในดินแดนของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว) โดยอาณาเขตติดชายแดนขอบน้ำโขงฝั่งซ้าย และ อำเภอปง อำเภอเชียงม่วน อำเภอเชียงคำ ด้านทิศตะวันตก และ อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ ด้านตะวันออกเฉียงใต้ แต่ก็มีประชากรไม่มากนัก

ดังนั้นการที่จะมีศิลปินอยู่อาศัย และทำงานสร้างสรรค์ศิลปะไว้ปรากฏในเขตเมืองน่าน ตั้ง 3 แห่ง (รวมจิตรกรรมฝาผนังที่วัดช้างค้ำวรวิหาร อำเภอเมือง) จึงน่าพิศวง และถือเป็นโชควาสนาของเมืองน่าน

วัดหนองบัว อยู่ฝั่งน้ำน่านเดียวกันกับ วัดภูมินทร์ หากนับระยะทางลำน้ำน่านก็ห่างกันประมาณ 40 กิโลเมตร จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่การเดินทางด้วยเรือจะสะดวกกว่าทางเท้า

ตามประวัติซึ่งอาจารย์สน สีมาตรัง ได้สอบถาม พระครูมานิตบุญยการ (อดีตเจ้าอาวาสวัดหนองบัว อำเภอท่าวังผา) จังหวัดน่าน และได้คำบอกเล่าชัดเจนว่า ศิลปินผู้เขียนภาพในวัดหนองบัว คือ หนานบัวผัน หรือ ทิดบัวผันเป็นไทลื้อ [4] (ปกติชาวลื้อจะไม่เรียกตัวเองว่าไทลื้อ แต่จะเรียกตัวเองว่า ‘คนลื้อ’)

ส่วนจะเป็นไทลื้อมาจากไหนนั้นไม่ชัดเจนนัก จึงมีคนสงสัยว่าภาพหนุ่มที่มีกิริยากำลังกระซิบกระซาบกับหญิงสาว ที่ปรากฏอยู่ผนังซ้ายประตูทิศตะวันตกของวัดภูมินทร์นั้น เป็นศิลปินผู้เขียนภาพ ตามที่ อาจารย์สน สีมาตรัง ตั้งข้อสันนิษฐานในเบื้องต้นว่า น่าจะเป็นภาพของช่างเขียนกับคนรัก [5]

แต่ด้วยการที่หนุ่มคนนั้นขมวดผมไว้กลางกระหม่อม และมีผ้าพันขมวดผมแบบชาวพม่า นุ่งผ้าที่มีลายลุนตะยาแบบลายผ้าของชาวพม่า และมีการสักยันต์สีแดงตามลำตัว ซึ่งเป็นที่นิยมในหมู่ชนชาวไทยใหญ่หรือ ‘เงี้ยว’ ของชาวล้านนา [6] จึงมีนักวิชาการ นักประวัติศาสตร์ศิลป์บางท่านคิดว่าศิลปินผู้เขียนภาพวัดภูมินทร์ อาจเป็นชาวไทยใหญ่ หากภาพนั้นเป็นภาพเหมือนของศิลปิน

ข้อสันนิษฐานที่ว่าหากภาพนั้นเป็นภาพเหมือนศิลปินแล้ว และเป็นศิลปินผู้เขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังที่วัดภูมินทร์ด้วย ก็น่าจะจบลงด้วยข้อสงสัยดังกล่าวได้รับความกระจ่างชัด ด้วยเหตุและผลในตัวผลงานของศิลปินนามหนานบัวผัน ชาวไทลื้อ ไม่ใช่ศิลปินชาวพม่า หรือชาวไทยใหญ่ ที่มีผู้สันนิษฐานไว้

หลักฐานสำคัญอีกอันหนึ่งก็คือภาพร่าง หรือสเก๊ตช์ เขียนด้วยหมึกบนกระดาษสา ในปับสา (กระดาษสาพับเป็นเล่ม) ที่เจ้าอาวาสวัดหนองบัวเก็บรักษาไว้สืบต่อกันมา เป็นฝีมือหนานบัวผัน ซึ่งเป็นชาวไทลื้อได้เขียนภาพนั้นไว้ ดังนั้นภาพดังกล่าวจึงไม่น่าจะเป็นภาพเหมือนของศิลปินผู้เขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดภูมินทร์ และวัดหนองบัว เช่นกัน

ดังได้กล่าวในเบื้องต้นแล้วว่า ภาพจิตรกรรมฝาผนังทั้ง 2 วัด ศิลปินเขียนขึ้นด้วยเจตจำนงเล่าชาดกด้วยภาพเขียน โครงสร้างภาพจิตรกรรมฝาผนังนั้นเป็นโครงสร้างของการเขียนภาพตามแบบคตินิยมและประเพณีนิยม ตามแบบแผนของชาวตะวันออก ไม่ได้เขียนเหมือนจริงตามรูปแบบที่นิยมในยุโรปยุคนั้น

ดังนั้นโครงสร้างความคิดของ หนานบัวผัน ที่ปรากฏในภาพเขียนนี้ จึงเป็นเพียงภาพของความสมจริงที่ศิลปินกลั่นกรอง ตกผลึกในโลกทรรศน์ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทั้งวัฒนธรรม สังคมและการเมืองการปกครองในยุคนั้น มากกว่าที่จะเขียนภาพแนวลัทธิความเหมือนจริง (Realism)

แม้ว่าศิลปินหนานบัวผันไม่ได้เขียนภาพนี้ตามเนื้อหาชาดก หรือเกี่ยวข้องกับชาดกแต่อย่างใด[7] หากแต่ศิลปินได้เขียนภาพนี้ด้วยความคิดความรู้สึกที่อยากจะแสดงความสมบูรณ์สุดยอดทางวัฒนธรรม หรือความคลาสสิคของยุคสมัยที่ศิลปินประสบด้วยความนิยมชมชอบ

ด้วยรักและศรัทธาในความ ‘ขลัง’ ของอดีต มากกว่าที่จะเป็นความเหมือนจริงตามความคิดและรู้สึกของคนปัจจุบันที่คุ้นเคยกับภาพเหมือนจริงหรือ ‘ภาพเหมือนบุคคล’ ตามกระแสนิยมในลักษณะแสดงตัวตนที่จะต้องมีการบันทึกด้วยภาพหรือจารึกอักษร ซึ่งเป็นวัฒนธรรมของยุคสมัยปัจจุบันที่ผูกพันแนบแน่นจากวัฒนธรรมยุโรปมิสามารถเปลี่ยนแปลงได้

เหตุผลอีกประการที่ศิลปินหนานบัวผันเขียนรูปหนุ่มสาวที่แต่งกายแบบพม่านั้น คงต้องคำนึงวัฒนธรรมของล้านนาและเมืองน่านในอดีต ที่ได้รับวัฒนธรรมของพม่าและไทยใหญ่ กว่า 225 ปี (ตกเป็นเมืองขึ้นของพม่าระหว่างปี พ.ศ. 2103-2328) [8] ชาวล้านนาจึงเรียกตัวเองว่า ‘คนเมือง’ และเรียกคนในแดนภาคกลางสยามประเทศว่า คนไทย แม้ปัจจุบันก็ยังหลงเหลืออยู่ไม่ได้ขาดหายไปจากวัฒนธรรมเดิม

มนต์ขลังของวัฒนธรรมพม่าในดินแดนล้านนา กว่า 200 ปี ได้ฝังแน่น คลุกเคล้า ผสมปนเปกับวัฒนธรรมของชาติพันธุ์เผ่าต่างๆ ในเมืองน่าน ศิลปินจึงได้ถ่ายทอดอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิดของตนผ่านภาพเขียน และก็ได้ปรากฏภาพของหญิงสาวแสนสวย ขณะที่ชายตาแสดงความกรุ้มกริ่มในอารมณ์กับคู่รักหนุ่มชาวพม่า

‘ผู้หญิงไว้มวยผมทรงสูงกว่าปกติ เป็นลักษณะทรงผมของคนพื้นเมือง (ไทยวน) และแต่งกายด้วยเสื้อแขนยาวดำตามแบบฉบับการแต่งกายผู้หญิงไทลื้อเมืองน่าน’ (ข้อมูลจาก รศ. ทรงศักดิ์ ปรางค์วัฒนากุล ผู้เชี่ยวชาญผ้าทอล้านนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่) สวมทับผ้ารั้งอกสีแดงที่ต่อจากผ้านุ่งลายลุนตะยาที่นิยมปล่อยชายยาวคลุมพื้นดินตามแบบฉบับการนุ่งผ้าของผู้หญิงพม่า และสอดแผ่นทองม้วนที่ติ่งหู สวมแหวน กำไล ข้อมือ บอกฐานะทางสังคมชั้นสูง ดูสง่างามยิ่ง

ความ ‘ขลัง’ อีกหนึ่งก็คือ ปรากฏคำว่า ‘ปู่ม่าน-ย่าม่าน’ เขียนด้วยตัวอักษรล้านนาด้านบนภาพ ‘กระซิบ’ ซึ่งนายแพทย์บุญยงค์ วงศ์รักมิตร ผู้ทรงคุณวุฒิของจังหวัดน่าน ได้ให้ข้อมูลและแสดงความคิดเห็นว่า ข้อความดังกล่าวศิลปินอาจเขียนกำกับเช่นเดียวกับการเขียนข้อความบรรยายเนื้อเรื่องชาดก และอีกประการก็คือ อาจมีการเขียนข้อความนี้ภายหลัง

ซึ่งในกรณีที่มีข้อความ ปู่ม่าน-ย่าม่าน ได้เขียนอยู่สูงจากพื้นประมาณ 3.50 เมตร ศิลปินน่านผู้เชี่ยวชาญและมากประสบการณ์การเขียนจิตรกรรมฝาผนัง อลงกรณ์ หล่อวัฒนา ได้แสดงความเห็นว่า ‘เวลาที่ศิลปินนั่งบนนั่งร้านแล้วนึกจะเขียนอะไรก็จะจัดการเขียนให้จบ ไม่มีการตั้งนั่งร้านใหม่เพื่อจะเขียนข้อความเพียงแค่นั้นแน่นอน’

อย่างไรก็ตาม คำว่า ‘ปู่ม่าน-ย่าม่าน’ ไม่ได้มีความหมาย ‘ปู่, ย่า, ตา, ยาย’ ซึ่งเป็นบุพการีในล้านนาเรียก ‘พ่ออุ้ย แม่อุ้ย’ แต่จะมีความหมายว่า ‘ผู้ชาย ผู้หญิงชาวพม่า’ และปกติมักเรียกคนที่เป็นผู้ใหญ่ หรือค่อนข้างอาวุโส ไม่ใช้คำนี้กับเด็กๆ

ซึ่งก็ให้ความหมายที่สอดคล้องกับข้อสันนิษฐานที่ว่า ศิลปินหนานบัวผันไม่ได้เขียนบุคคลที่เป็นตัวตน หากแต่ได้เขียนภาพความสมบรูณ์ของบุคคลในความคิด ความรู้สึกและศรัทธาในความ ขลัง มากกว่าการเขียนภาพตามคติและวิธีการของ ลัทธิเหมือนจริง”

ตัวตนศิลปิน หนานบัวผัน

เมื่อพูดถึงผลงานจิตรกรรมในวัดแล้ว กลับมาที่หัวข้อเรื่องเกี่ยวกับ “ตัวตน” ของหนานบัวผันอีกครั้ง เรื่องนี้ วินัยเขียนไว้ในบทความ “ตัวตนศิลปินหนานบัวผัน รูปแบบอัตลักษณ์สำคัญบนจิตรกรรมฝาผนัง วัดภูมินทร์ และวัดหนองบัว จังหวัดน่าน” เผยแพร่ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤษภาคม 2551 ใจความตอนหนึ่งมีว่า

“…ศิลปินหนานบัวผัน ผู้รังสรรค์จิตรกรรมฝาผนัง ณ วัดหนองบัว อำเภอท่าวังผา และ วัดภูมินทร์ จังหวัดน่าน แสดง ‘ตัวตน’ ในผลงานและมีตัวตนจริงๆ เป็นรูปธรรมหรือไม่? เขาจะได้เป็นศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ในเกณฑ์ไหน? ใครให้คะแนน? คงไม่ใช่สาระสำคัญที่จะมายกระดับกัน เพราะหนานบัวผันเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังดังกล่าวมากว่าร้อยปี โดยไม่มีใครเชิดชูยกย่องเป็นศิลปิน หรือให้ความสำคัญแม้แต่การบันทึกชื่อไว้ ณ ที่ใด

หนานบัวผัน ปรากฏชื่อในเบื้องต้นจากผลงานวิจัยสาขาประวัติศาสตร์ศิลปะไทย โดย รองศาสตราจารย์สน สีมาตรัง ศิลปินนักวิชาการแห่งมหาวิทยาลัยศิลปากร ในช่วงปี พ.ศ. 2522-25 และได้จัดพิมพ์หนังสือ โครงสร้างจิตรกรรมฝาผนัง ในปี 2526 โดยระบุชื่อ ‘ทิดบัวผัน’ ช่างเขียน ‘ไทยลื้อ'[๑] ไม่ทราบพื้นเพมาจากที่ใด ได้เป็นผู้เขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดหนองบัว อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน ในช่วงปี พ.ศ. 2410-31 โดยได้ข้อมูลจาก พระครูมานิตบุญยการ

พระครูมานิตบุญยการ ผู้ให้ข้อมูลดังกล่าวนั้นเกิดที่หมู่บ้านหนองบัว ตำบลป่าคา อำเภอท่าวังผา เมื่อปี พ.ศ. 2437 (ภายหลังเกิดภาพเขียนวัดหนองบัว 7 ปี) และบวชที่วัดหนองบัวบ้านเกิดเมื่ออายุ 20 ปี ในปี พ.ศ. 2457 ภายหลังท่านได้เป็นเจ้าอาวาสวัดหนองบัว

และตอนที่ รองศาสตราจารย์สน สีมาตรัง ได้สอบถามกับพระครูมานิตบุญยการนั้น ท่านได้ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดบ้านส้อ (วัดส้อประดิษฐ์) ตำบลบ้านเปือ อำเภอเชียงกลาง จังหวัดน่าน ขณะที่ท่านมีอายุ 84 พรรษา ในปี พ.ศ. 2521 และท่านได้มรณภาพเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2523 สิริอายุ 86 พรรษา โดยมีพรรษาบวช 66 ปี

หนานบัวผัน ปรากฏชื่อในหนังสือ Reading Thai Murals ของ ศาสตราจารย์ ดร. เดวิด เค. วัยอาจ (David K. Wyatt) นักประวัติศาสตร์ กล่าวว่า ‘ทิดบัวผัน’ (Thit Buaphan) เป็นศิลปินชาว ‘ลาวพวน’ จากเมืองเชียงขวาง ดินแดนทุ่งไหหิน (Plain of Jars) ซึ่งอยู่ทางตะวันออกของลาวตอนกลาง และไม่ทราบสาเหตุชัดเจนถึงการเข้ามาถึงเมืองน่านได้อย่างไร โดยท่านได้สันนิษฐานว่าอาจได้รับการชักชวนมากับชาวเมืองน่านที่คบค้าสมาคมกับชาวเมืองหลวงพระบางเป็นปกติ[๒]

ศาสตราจารย์ ดร. เดวิด เค. วัยอาจ ท่านได้อ้างข้อมูลหนึ่งจากเพื่อนที่มหาวิทยาลัย Buffalo Law School ชื่อ David M. Engel ผู้ซึ่งได้เดินทางเยี่ยมชมจิตรกรรมฝาผนังวัดหนองบัว อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน โดยไม่ได้ระบุวัน ปี (คาดว่าคงเป็นช่วงปี พ.ศ. 2531 และ 2535-ผู้เขียน) แต่ได้เขียนจดหมายถึง ดร. วัยอาจ ลงวันที่ 17 มกราคม 2546 ว่าเคยได้สนทนากับชายวัย 75 ปี ผู้แสดงท่าทีเป็นผู้มีบทบาทดูแลหมู่บ้าน ณ วัดหนองบัว

ชายชราคนนั้นได้ทบทวนความจำจากการบอกเล่าของปู่ว่า ผู้เขียนภาพจิตรกรรมวัดหนองบัวชาวบ้านเรียกกันว่า ‘น้อยบัวผัน’ (Noi Buaphan) เป็นชาวลาวพวน มีภาพเขียนตัวของศิลปินอยู่ที่ผนังหลังพระประธานด้านซ้ายมือ

David M. Engel ยืนยันว่าเมื่อเขาได้เข้ามาเยี่ยมชมวัดหนองบัวในช่วงปี พ.ศ. 2531 และปี พ.ศ. 2535 นั้น เขาไม่เคยเห็นว่ามีคำอธิบายบอกเล่าประวัติวัดหนองบัวตรงบริเวณทางเข้าวิหารวัดหนองบัว ซึ่งได้ระบุว่าผู้เขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังที่วัดหนองบัวชื่อ ‘ทิดบัวผัน’ (Thit Buaphan)[๓] (คำอธิบายเดิมดังกล่าวนั้นได้เปลี่ยนแปลงไปแล้วก่อนน้ำท่วมใหญ่ 19 สิงหาคม 2549-ผู้เขียน)

อย่างไรก็ตาม ในสถานภาพความเป็นจริงนั้น บ้านหนองบัว เป็นหมู่บ้านของชาวไทลื้อที่มีถิ่นฐานเดิมจากเมืองล้า สิบสองปันนา และร่วมกันสร้าง ‘วัดหนองบัว’ ในรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบไทลื้อ

ผู้คนในหมู่บ้านไม่มีครอบครัวใดเป็นชาว ‘ลาวพวน’ มีหมู่บ้านใกล้เคียง 3-4 หมู่บ้านเป็นชาวไทลื้อ และมีหมู่บ้านชาวไทลื้อในเขตอำเภอท่าวังผา อำเภอปัว อำเภอเชียงกลาง อำเภอสองแคว อำเภอทุ่งช้าง และอดีตเมืองที่อยู่ในเขตปกครองน่าน คือ อำเภอเชียงคำ อำเภอเชียงม่วน อำเภอปง จังหวัดพะเยา และเมืองเงิน (อยู่ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว)

และทราบกันดีว่าในท้องที่เมืองน่านนั้นมีหมู่บ้านที่เป็นชาวลาวพวนอาศัยอยู่ที่อำเภอท่าวังผา 1 หมู่บ้าน คือ ‘บ้านฝายมูล’ ตำบลป่าคา และอีก 1 หมู่บ้าน คือหมู่บ้าน ‘หลับมืนพวน’ ตำบลจอมจันทร์ อำเภอเวียงสา

ในภาษาล้านนา ‘หนาน’ หมายถึง ‘ทิด’ คือผู้สึกจากการเป็นพระ ส่วนคำว่า ‘น้อย’ หมายถึงผู้ที่ลาสมณเพศจากการเป็นสามเณร และโดยทั่วไปแล้วคำนำหน้าบุคคลที่แสดงฐานะมีการศึกษาสูง แตกฉานในการอ่านการเขียนพระธรรมในพระพุทธศาสนาในล้านนายุคสมัยที่ไม่ระบบการศึกษาบังคับใช้นั้น คำว่า ‘หนาน’ จะได้รับความศรัทธา เชื่อถือในสังคมมากกว่าคำว่า ‘น้อย’

หนานบัวผันผู้เขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังทั้งวัดหนองบัวและวัดภูมินทร์ ได้แสดงความแตกฉานในการอ่านชาดก แล้วตีความหมายแปรเปลี่ยนเป็นภาพเขียน ทั้งยังชื่นชอบเขียนอักษรกำกับอธิบายภาพในบางฉากบางตอนด้วย

สำหรับวิธีการเขียนอักษรดังกล่าว ยุทธพร นาคสุข นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญอักษรล้านนาชาวน่านคนหนึ่งกล่าวว่า เป็นวิธีการเขียนอักขระแบบวิธีไทลื้อ และชาวลาวพวนไม่มีอักษรของตัวเองใช้ หากมีการใช้ก็อาจจะใช้อักษรอื่นๆ เขียน

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าหนานบัวผันจะน่าเชื่อว่าเป็น ‘ชาวไทลื้อ’ มากกว่าเป็น ‘ชาวลาวพวน’ แต่ความมีตัวตนจริงของหนานบัวผันนั้นชัดเจนตรงกัน เพราะต่างก็ได้ข้อมูลว่าเป็นศิลปินผู้เขียนภาพจิตรกรรมวัดหนองบัว อำเภอท่าวังผา ในช่วงประมาณปี พ.ศ. 2410-31)

สำหรับภาพจิตรกรรมฝาผนัง วัดภูมินทร์ จังหวัดน่าน ศิลปิน ‘หนานบัวผัน’ คงจะเขียนขึ้นประมาณปี พ.ศ. 2443 หรือ 2446[๔] และ ‘ตัวตน’ ที่แสดงอัตลักษณ์ของศิลปินนั้นชัดเจนในรูปแบบจิตรกรรมฝาผนัง และที่เหนือกว่าศิลปินยุคสมัยนั้นก็คือ ‘การสำแดงตัวตนในรูปแบบการเขียนภาพ’ ที่ไม่มีใครเหมือน

รูปแบบการเขียนภาพที่แสดงอัตลักษณ์สำคัญของหนานบัวผันก็คือ

1. รูปแบบการเขียนภาพใบหน้าคนที่แตกต่างกับศิลปินคนอื่นชัดเจน ตรงที่มีการเขียนใบหน้าแบน เขียนเส้นสันจมูกต่อจากหัวคิ้ว เส้นร่องจมูกคมชัดและกว้าง เส้นร่องแก้มชัดเจนจรดมุมปาก เขียนริมฝีปากบางแต้มสีแดงแต่งขอบในปากให้ดูเล็กจิ้มลิ้ม ที่สำคัญสุดก็คือการเขียนดวงตาแสดงทิศทางการมอง แสดงความสนุกในอารมณ์กรุ้มกริ่ม เจ้าชู้ ด้วยการเขียนตาดำไว้มุมหัวตาและหางตาด้านที่ใบหน้าเอียงหันไป

2. รูปแบบการเขียนภาพคนแสดงท่ากระซิบ ถือเป็นความพิเศษที่เป็นเสน่ห์ หรือนัยยะของศิลปะซึ่งผู้ที่ได้พบเห็นจะได้รับการกระตุ้นส่วนลึกของความอยากรู้ความลับ หรืออาจเป็นการสะท้อนภาวะสังคมในเมือง (ภาพลักษณะดังกล่าวจะไม่ปรากฏที่วัดหนองบัว) หรือการแสดงธาตุแท้ของศิลปินที่รักชอบการสนทนาหยอกล้อ พูดเล่นและกระเซ้าเย้าแหย่ ภาพลักษณะดังกล่าวไม่ปรากฏโดดเด่นที่ใดในโลกศิลปะ ดังนั้นภาพ ‘หนุ่มกระซิบ’ จึงเป็นภาพกระซิบที่ดังบันลือโลก

3. รูปแบบการเขียนภาพคนแสดงท่าครุ่นคิด ถือว่าเป็นความชอบและถนัดที่จะเขียนภาพทำนองนั้น ซึ่งการเขียนท่าทางดังกล่าวคงไม่ใช่การเขียนที่ง่าย และถนัดจะเขียนสำหรับศิลปินคนอื่นๆ ดังนั้นจึงไม่ปรากฏภาพลักษณะทำนองเดียวกันที่เขียนได้อารมณ์และความรู้สึกนี้ ณ ที่แห่งใด คงมีแต่ที่วัดหนองบัวและ วัดภูมินทร์ จังหวัดน่าน เท่านั้น

นอกจากความมีเอกลักษณ์ดังกล่าวแล้ว การแสดงธาตุแท้ของศิลปินหนานบัวผันที่เกิดจากนิสัยการชอบเขียน เช่น ภาพนกนานาชนิดและสัตว์อื่นๆ การชอบใช้สีคราม อารมณ์ของภาพ ความละเอียดอ่อนที่ปรากฏในการเขียนเครื่องแต่งกาย ลายผ้านุ่ง ฯลฯ ล้วนแตกต่างกับศิลปินคนอื่นในรายละเอียด

เนื่องจากไม่มีการบันทึกและการเล่าถึงภูมิลำเนาเหล่ากอของหนานบัวผัน แม้กระทั่งสังคมเล็กๆ ในหมู่บ้านไทลื้อ บ้านหนองบัว ที่หนานบัวผันใช้เวลาเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนัง 21 ปี ก็ยังไม่มีการอ้างตนเป็นผู้สืบสายโลหิตหรือเกี่ยวดองการเป็นครอบครัว และเรื่องราวกล่าวขานถึงลูกหลาน เครือญาติ

อย่างไรก็ตาม หนานบัวผันก็ได้สำแดง ‘อัตลักษณ์’ ให้ปรากฏในผลงานศิลปกรรมชัดเจนแล้ว คงค้างแต่สถานะของตัวตนที่แท้จริง เพราะมีเพียงคำบอกเล่าเท่าที่ปรากฏเป็นข้อมูลที่มีเหตุผล และมีภาพเขียนที่เล่าสืบกันมาว่าเป็นภาพของศิลปิน ‘หนานบัวผัน’ เขียนตัวเองไว้

คือ ภาพเขียนของผู้ชายมีขนาดใหญ่เกือบเท่าคนจริง สวมเสื้อแขนยาวนอนตะแคงใช้มือขวาเท้าหัว ทอดสายตาชำเลืองดูนกแก้วที่เกาะไหล่ซ้ายด้วยใบหน้าอารมณ์ดีมีความสุข จึงเป็นคำบอกเล่าที่สมเหตุผลและไม่น่าจะเป็นภาพของบุคคลอื่น นอกจากจะเป็นภาพของชายที่ชอบเขียนภาพนกนานาชนิดบนจิตรกรรมฝาผนังทั้งที่วัดหนองบัวและวัดภูมินทร์ ที่แสดงตัวตนที่เป็นรูปธรรมจริงๆ เหมือนกับศิลปินยุโรปที่ชอบเขียนภาพของตัวเอง (self portrait) ของ ‘หนานบัวผัน’ ศิลปินเอกเมืองน่านผู้ชอบเขียนภาพนกเป็นชีวิตจิตใจ

ดังนั้นจึงขอสันนิษฐานเบื้องต้นว่า

1. สถานภาพของศิลปิน ‘หนานบัวผัน’ น่าจะเป็นโสด ครองตนเป็นอิสระ ไม่มีบ้านหรือครอบครัว ด้วยไม่มีผู้ใดอ้างหรือแสดงตนเป็นทายาท หรือมีความเกี่ยวดองอย่างใดอย่างหนึ่ง ศิลปินอาศัยวัดเป็นที่อยู่หลักขณะทำการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนัง จึงปรากฏภาพเขียนแสดงเหตุการณ์ที่คุ้นเคยเป็นปรกติภายในวัด เช่น ภาพแม่ชีคลุกคลีกับแมวทั้งที่วัดหนองบัวและวัดภูมินทร์ พระสอนหนังสือให้เด็กวัด เด็กวัดเล่นปล้ำกันโดยไม่สนใจอ่านเขียน จนกระทั่งพระต้องขู่จะเฆี่ยนตีบนฝาผนังที่วัดภูมินทร์

2. หนานบัวผันคงเป็นชาวไทลื้อที่ไม่ได้มีภูมิลำเนาในหมู่บ้านหนองบัวและบ้านภูมินทร์ เพราะไม่มีเรื่องเล่าใดที่เป็นข้อมูลในสังคมหมู่บ้านไทลื้อหนองบัวที่มีวัฒนธรรมนับถือบรรพบุรุษ และระบบเครือญาติที่แน่นแฟ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือ ไม่มีการเอ่ยถึงแม้แต่นามศิลปินผู้เขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังที่วัดภูมินทร์ ทั้งๆ ที่เป็นชุมชนในเมืองและภาพจิตรกรรมฝาผนังมีอายุเพียงร้อยปีต้นๆ

แต่ภาพจิตรกรรมฝาผนังทั้ง 2 แห่งชี้ให้เข้าใจว่า หนานบัวผันเป็นศิลปินชาวไทลื้อที่ชื่นชมความงดงามของการแต่งกายแบบไทลื้อเป็นพิเศษ และมีประสบการณ์ตรงกับวัฒนธรรมความเชื่อของชาวไทยลื้อ จึงมีภาพเขียนแสดงถึงวัฒนธรรมความเชื่อ ความประณีต ของลายผ้านุ่งแบบไทลื้อบนฝาผนังวัดหนองบัวและวัดภูมินทร์

3. หนานบัวผันมีเครือข่ายเรียนรู้และการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังจากในเมืองใหญ่ ด้วยเหตุว่าการที่เป็นศิลปินฝีมือฉกาจฉกรรจ์จะลุกขึ้นมาจับพู่กันระบายสีเขียนอะไรก็ได้นั้นเป็นไปไม่ได้ โดยเฉพาะการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังที่มีการเรียนรู้ สืบทอดรูปแบบ เทคนิคการเตรียมพื้น การเขียนลาย ฯลฯ ล้วนต้องมีขั้นตอนการทำงาน รวมทั้งการจัดหาสีและวัสดุอุปกรณ์ต้องมีแหล่งอยู่ที่เมืองใหญ่ ดังนั้นต้องมีเครือข่ายการเรียนรู้ในล้านนาหรือที่อื่นๆ ประกอบ ดังที่ น ณ. ปากน้ำ ได้กล่าวว่า โครงสีวัดภูมินทร์นั้นมีลักษณะเหมือนภาพจิตรกรรมในหอคำของวัดพระสิงห์ เชียงใหม่[๕]

4. ศิลปินหนานบัวผันมีประสบการณ์เรียนรู้จากการเดินทาง ประสบการณ์ดังกล่าวได้รับการแปรเปลี่ยนผสมจินตนาการให้สอดคล้องกับเนื้อหาชาดก ดังนั้นจึงมีภาพของขบวนกองทหารเดินทัพ พักค่าย การมอบเครื่องราชบรรณาการ การสู้รบ การเดินทางขึ้นเรือของชาวต่างชาติ ภาพธงชาติชาวยุโรปในเขตกำแพงเมือง ฯลฯ ภาพต่างๆ ที่อาจบอกให้เราทราบถึงบรรยากาศของสถานการณ์กองทหารในดินแดนล้านช้าง และเขตปกครองน่านที่ต้องสูญเสียให้กับฝรั่งเศสในสมัยพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช (ในสมัยรัชกาลที่ 5)

หรืออาจบอกถึงการเดินทางจากเมืองสิบสองปันนาของ หนานบัวผันสู่เมืองน่านในยุค ‘เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง’ ในสมัยเจ้าอนันตวรฤทธิเดช หรืออาจเป็นการร่วมเดินทางในกองทัพของ ‘หนานบัวผัน’ เมื่อครั้งเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชเป็นอุปราชก็ได้ยกกำลังไปกวาดต้อนผู้คนที่เมืองเชียงรุ้งและสิบสองปันนา ก็อาจเป็นไปได้

ดังตอนหนึ่งของพงศาวดารเมืองน่านกล่าวไว้ว่า…ท่านก็ได้หื้อเจ้าหนานมหาพรหมแลเจ้าสุยะอันเปนราชบุตรแห่งท่าน คุมเอาเจ้านายท้าวพระยาแขกเมืองสิบสองปันนา เชียงรุ้งเมืองหลวงภูคาเมืองล้าเมืองพง ลงไปทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเครื่องราชบรรณาการมหากษัตริย์เจ้าในกรุงเทพมหานครหั้นแล ในจุลศักราช 1218 (พ.ศ. 2399) ตัวปีนั้น เจ้า 2 องค์พี่น้องก็ได้รั้งพรรษาอยู่เมืองใต้ก่อนหั้นแล[๕]

5. ศิลปิน ‘หนานบัวผัน’ จบชีวิตการสร้างสรรค์ศิลปะที่เมืองน่าน ด้วยเหตุที่การเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังที่วัดหนองบัวใช้เวลาถึง 21 ปี ซึ่งก็คงหมายถึงการไม่ได้มีการเขียนภาพอย่างต่อเนื่องและภาพจิตรกรรมฝาผนังที่ วัดภูมินทร์ นั้นอาจเขียนภายหลังห่างกัน 12 หรือ 15 ปี (อาจเขียนในช่วงปี พ.ศ. 2443 หรือ พ.ศ. 2446)

และในช่วงว่างดังกล่าว ‘หนานบัวผัน’ อาจจะได้เขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังที่พระวิหารวัดช้างค้ำวรวิหาร อีกก็เป็นไปได้ เพราะแม้ว่าภาพจิตรกรรมฝาผนังดังกล่าวเลือนรางจนไม่มีความชัดเจนแสดงรายละเอียดเป็นหลักฐาน แต่ก็ยังคงเห็นรูปแบบพอที่ น. ณ ปากน้ำ ได้สันนิษฐานไว้ว่า เป็นรูปแบบการเขียนภาพสกุลช่างเมืองน่านแท้ๆ[๖]

อีกทั้งพระเทพนันทาจารย์ เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน (2551-กองบก.ออนไลน์) ได้เล่าว่า ภายในผนังวิหารหลวงเดิมมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเขียนไว้เต็มตลอดทั้งสี่ด้าน กล่าวว่าเป็นภาพเขียนที่วิจิตรสวยงามยิ่งนัก เขียนเรื่องไผ่ร้อยกอเกวียนร้อยเล่ม เรื่องพระสุธนแข่งฤทธิ์กัน เรื่องพระเวสสันดรชาดก เรื่องท้าวอุเทน และเรื่องพุทธประวัติ[๗]

สอดคล้องกับการปรากฏภาพลายเส้นด้วยหมึกดำบนกระดาษสา (ปับสา) ที่ศิลปิน ‘หนานบัวผัน’ ได้เขียนไว้ และเจ้าอาวาสวัดหนองบัวได้เก็บรักษาสืบทอดกันมา ได้มีภาพแสดงถึงตอนสำคัญคือ ตอนที่ชูชกได้ขอพระกัณหา-พระชาลีจากพระเวสสันดร แม้ว่าจะไม่ปรากฏภาพจิตรกรรมฝาผนังที่บ่งบอกว่าเป็นรูปแบบ วิธีการ หรือแสดงว่าเป็นฝีมือของ ‘หนานบัวผัน’ ณ ที่แห่งใด บนผนังวัดช้างค้ำวรวิหารแล้วก็ตาม

อาจจะกล่าวสรุปได้ว่า ‘หนานบัวผัน’ เป็นชาวไทลื้อที่มีประสบการณ์ตรงกับวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของสังคมเมืองน่าน ในช่วงคาบเกี่ยวยุคสมัยเจ้าอนันตวรฤทธิเดช และพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชปกครองเมืองน่าน โดยอาจมีภูมิลำเนาในดินแดนเขตปกครองน่าน และได้รับการเรียนรู้ การเขียนภาพจาก ‘ครู’ ผู้เป็นช่างเขียนในเมือง

กระทั่งมีความเชื่อมั่นตัวเอง และมีโอกาสได้เขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังที่วัดหนองบัว อำเภอท่าวังผา ด้วยการรู้จักกับชาวไทลื้อบ้านหนองบัวในช่วงการเดินทาง หรือเดินทัพ ก่อนที่จะได้ฝากความสามารถไว้ให้แผ่นดินเมืองน่านที่ วัดภูมินทร์ และมีส่วนร่วมกับการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดช้างค้ำวรวิหารที่อยู่เยื้องวัดภูมินทร์

ศิลปิน ‘หนานบัวผัน’ สร้างรูปแบบการเขียนภาพใบหน้าคนที่เป็นอัตลักษณ์ตัวเอง แตกต่างกับศิลปินคนอื่นชัดเจน การเขียนภาพคนแสดงท่ากระซิบ อาจถือว่าเป็นความพิเศษที่เป็นเสน่ห์ หรือนัยยะของศิลปะซึ่งผู้ที่ได้พบเห็นจะรู้สึกอยากรู้ความลับของคู่สนทนา และการเขียนภาพคนแสดงท่าครุ่นคิด ซึ่งถือว่าเป็นความชอบและถนัดของศิลปิน ‘หนานบัวผัน’ ที่จะเขียนภาพทำนองนั้น

สำหรับการแสดงตัวตนที่เป็นรูปธรรมจริงๆ เหมือนกับศิลปินยุโรปที่ชอบเขียนภาพของตัวเอง (self portrait) ของ ‘หนานบัวผัน’ ศิลปินเอกเมืองน่าน ก็ปรากฏอยู่ที่ฝาผนังวัดหนองบัว และศิลปิน ‘หนานบัวผัน’ จบชีวิตการสร้างสรรค์ศิลปะที่เมืองน่าน เพราะไม่ปรากฏฝีมือของหนานบัวผัน ณ ที่ใดอีกเลยในล้านนา”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เชิงอรรถ :

[1] วินัย ปราบริปู. “ใครคือศิลปินผู้เขียนภาพจิตรกรรมฝาผนัง วัดหนองบัวและวัดภูมินทร์?,” ใน ศิลปวัฒนธรรม, ปีที่ 29 ฉบับที่ 1 (พฤศจิกายน ๒๕๕๐), น. 48-52.

[2] กรมศิลปากร. เมืองน่าน โบราณคดี ประวัติศาสตร์ และศิลปะ. (กรงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2537), น. 63.

[3] ประสิทธิ์ พงศ์ประสิทธิ์. นันทบุรีศรีนครน่าน ประวัติศาสตร์ สังคม และคริสต์ศาสนา. (เชียงใหม่ : ฝ่ายประวัติศาสตร์ สภาคริสตจักรในประเทสไทย, 1996), น. 98.

[4] สน สีมาตรัง. ศิลปะล้านนาไทย. 2521.

[5] สน สีมาตรัง. โครงสร้างจิตรกรรมฝาผนังล้านนา. (กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2526), น. 99.

[6] จิรศักดิ์ เดชวงค์ญา. “จิตรกรรมฝาผนังวัดภูมินทร์ จังหวัดน่าน การศึกษาครั้งล่าสุด,” ใน เมืองโบราณ, ปีที่ 29 ฉบับที่ 4 (ตุลาคม-ธันวาคม 2546), น. 16.

[7] สน สีมาตรัง. โครงสร้างจิตรกรรมฝาผนังล้านนา. น. 99.

[8] กรมศิลปากร. อ้างแล้ว. น. 52.

[1] สน สีมาตรัง. โครงสร้างจิตรกรรมฝาผนังล้านนา. (กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2526), น. 91.

[2] David K. Wyatt. Reading Thai Murals. (เชียงใหม่ : Silkworm Books, 2547), p. 12.

[3] Ibid. p. 17.

[4] จิรศักดิ์ เดชวงค์ญา. “จิตรกรรมฝาผนังวัดภูมินทร์ จังหวัดน่าน การศึกษาครั้งล่าสุด,” ใน เมืองโบราณ ปีที่ 29 ฉบับที่ 4 (ตุลาคม-ธันวาคม 2546), น. 21.

[5] แสนหลวงราชสมภาร. พงศาวดารเมืองน่าน. ฉบับอนุสรณ์งานบำเพ็ญพระราชกุศลออกเมรุ พระราชทานเพลิงศพ พระเทพนันทาจารย์. (เชียงใหม่, 2543), น. 102.

[6] น. ณ ปากน้ำ. วัดภูมินทร์และวัดหนองบัว. (กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2529), น. 122.


หมายเหตุ : บทความที่เผยแพร่ในนิตยสารและบทความอื่นที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดภูมินทร์และวัดหนองบัว โดย วินัย ปราบริปู ได้นำลงในเว็บไซต์ของหอศิลป์ริมน่าน เว็บไซต์ www.nanartgallery.com


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 23 มีนาคม 2564