“เทาเซนด์ แฮรีส” ทูตอเมริกัน บันทึกถึงขุนนางตระกูลบุนนาค ชมบ้านเรือน-ทิวทัศน์ในไทยงดงาม

เทาเซนด์ แฮรีส ช่วง บุนนาค ทูตอเมริกัน ขุนนาง สยาม
(ซ้าย) เทาเซนด์ แฮรีส (ขวา) เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)

เทาเซนด์ แฮรีส (Townsend Harris) เป็น ทูตอเมริกัน ที่ประธานาธิบดีแฟรงคลิน เพียร์ซ ได้มอบหมายให้เป็นผู้แทนทางการทูตผู้มีอำนาจเต็มของสหรัฐอเมริกา เข้ามาเจรจาขอปรับแก้สนธิสัญญาระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ที่ได้ทำกันไว้ตั้งแต่ต้นแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่รู้จักกันตามชื่อของ ทูตอเมริกัน คนแรกที่มาเมืองไทย คือ นายเอ็ดมันด์ โรเบิร์ตส์ ว่าสนธิสัญญาโรเบิร์ตส์ใน .. 2376

เทาเซนด์ แฮรีส เดินทางมาเมืองไทยโดยเรือรบอเมริกัน ซึ่งเป็นเรือฟริเกตชื่อ ซาน จาชินโต โดยมี พลเรือจัตวา เจมส์ อาร์มสตรอง เป็นผู้บังคับการเรือ, และมาถึงสันดอนของแม่น้ำเจ้าพระยาในวันอาทิตย์ที่ 13 เมษายน 2399

เทาเซนด์ แฮรีส พำนักอยู่ในกรุงเทพฯ เป็นเวลา 48 วัน จึงเสร็จสิ้นภารกิจ และเดินทางออกไปจากเมืองไทยในวันที่ 1 มิถุนายน ศกเดียวกัน

เทาเซนด์ แฮรีส (by James Bogle, 1855)

แม้จะเคยเดินทางไปในหลายประเทศแห่งตะวันออกไกล, แต่ ทูตอเมริกัน อย่าง เทาเซนด์ แฮรีส ก็มีความดื่มด่ำในธรรมชาติอันงดงามของเมืองไทย ซึ่งช่วงหนึ่งระหว่างเดินทางจากปากน้ำเข้ามากรุงเทพฯ ได้เห็นป่าโกงกาง เขาบอกว่า

“สีเขียวชอุ่มช่างสวยงามมากและดูอุดมสมบูรณ์ยิ่งนัก. ท่ามกลางสีอันสวยสดนี้ สีเขียวอ่อนของต้นโกงกางจะจับตาตั้งแต่ขณะแรกที่เข้าไปใกล้ฝั่ง จนพอมองเห็นความอ่อนแก่ของสีอย่างเด่นชัด. สีเขียวของต้นโกงกางนี้มีอยู่เรื่อยขึ้นไปตามลำแม่น้ำเป็นระยะทางไกลพอดู. ครั้นแล้ว สีเขียวของต้นโกงกางก็จะผสมกับสีเขียวเข้มกว่าของต้นสนและต้นจาก…”

และเมื่อใกล้กรุงเทพฯ เข้าไปอีก, เทาเซนด์ แฮรีส ก็ได้บันทึกว่า

“ภาพภูมิประเทศในตอนนี้สวยงามอย่างสุดที่จะพรรณา. น้ำกำลังขึ้นและเกือบจะท่วมฝั่งดิน มีต้นไม้ยื่นลงมาเหนือสายน้ำหลายแห่ง ทอดกิ่งก้านสัมผัสกับพื้นน้ำ. ที่นี่เราเห็นต้นฝ้าย, ต้นไผ่เหลือง, หมาก, มะพร้าว, ไม้จำพวกลำเจียกและเตย. แสงแดดยามตะวันคล้อยต่ำ ทอมาอ่อนๆ ผ่านกลุ่มเมฆบางๆ ทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างดูมีชีวิตชีวาและสดชื่น”

สำหรับบ้านเรือน ทั้งภายนอกและภายใน ก็ดูเจริญตา ทูตอเมริกัน อย่าง เทาเซนด์ แฮรีส เขียนไว้ว่า

“2-3 ไมล์เหนือปากน้ำขึ้นมา จะเริ่มเห็นบ้านชนบทของไทย โดยทั่วไปแล้ว บ้านเหล่านี้ดูเรียบร้อยและสะอาดตามาก และดีกว่าบ้านของชาวชนบทในอินเดีย จีน และโดยเฉพาะบ้านของชาวมลายูมาก. บ้านมีเสาหลายต้น สูงเหนือพื้นดิน 6 ฟุต ซึ่งไม่เพียงแต่ช่วยทำให้อุณหภูมิของอากาศแห้งมากขึ้นเท่านั้น. ยังช่วยทำให้ผู้ที่อาศัยอยู่ในบ้านปลอดภัยจากแกสกรดคาร์โบนิก หรือไข้มาเลเรีย”

เมื่อเข้าไปในบ้านที่ไทยจัดไว้ให้ ทูตอเมริกัน พำนัก ก็เป็นที่พอใจ “ได้เห็นห้องใหญ่กว้างห้องหนึ่ง เห็นจะตั้งใจให้เป็นห้องโถงและห้องอาหาร ด้านหลังเป็นห้องนอนกว้าง 2 ห้อง ตกแต่งไว้เป็นห้องนอนแบบจีนหรู เตียงนอนอย่างดี หมอน หมอนข้าง และมุ้งไหม”

บ้านพักของนักธุรกิจอเมริกันที่อยู่เมืองไทยมานานคนหนึ่งก็มี “อากาศดีและสะอาดสะอ้าน มีเครื่องอำนวยความสะดวกสบายในรูปของห้องอาบน้ำ ห้องส้วม…”

ส่วนทำเนียบของข้าราชการชั้นสูงอย่างพระคลังหรือเสนาบดีต่างประเทศนั้น “สร้างเป็นแบบยุโรปผสมจีน ห้องรับรองปูพรม และตกแต่งด้วยเก้าอี้ โซฟา กระจกบานใหญ่ และอื่นๆ”

เมื่อได้ไปเยือนวัดแห่งหนึ่ง เทาเซนด์ แฮรีส ก็บันทึกว่า

“ตัวโบสถ์วิหารสวยมากจริงๆ กระเบื้องหลังคาเป็นสีเขียวและสีเหลือง เครื่องประดับทั้งหลายที่เกี่ยวเกาะอยู่เป็นรูปหางและปีกมังกร ซึ่งตกแต่งที่ส่วนปลายสุดของหลังคาและหน้าบัน พระเจดีย์มีรูปทรงสวยงามมาก และแม้จะดูไกลๆ ก็ปรากฏให้เห็นความงามวิจิตรของสีและการประดับประดา ยอดแหลมเรียวเล็กพุ่งตรงขึ้นไป รูปปั้นคน สัตว์และนกทั้งที่เหมือนของจริงและที่ปั้นจากจินตนาการ มีอยู่มากมายในวัด มีศาลาสำหรับพักผ่อนรับลมตั้งอยู่ริมน้ำ พื้นที่ก็ปราบไว้เรียบดีและรักษาไว้สะอาด และทั่วบริเวณปลูกต้นไม้อันเป็นที่สักการะในทางศาสนาหรือไม้ดอกชนิดต่างๆ ทั้งหมดนี้ดูกลมกลืนกันจนทำให้ไม่อาจลืมได้ง่ายๆ”

เทาเซนด์ แฮรีส ได้ไปเยี่ยมคำนับเจ้านายชั้นสูงและเสนาบดีผู้ใหญ่ ซึ่งได้รับมอบหมายให้เป็นคู่เจรจาเรื่องการทำสนธิสัญญา, คือ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท, สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ (ทัต บุนนาค), เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค), เจ้าพระยาทิพากรวงษ์มหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค) เจ้าพระยาภูธราภัย (นุช บุณยรัตพันธ์)

วันที่ เทาเซนด์ แฮรีส ไปเยี่ยมคำนับ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ เป็นวันศุกร์ที่ 25 เมษายน 2399 ทูตอเมริกันได้รับการบอกเล่าว่าสมเด็จเจ้าพระยาฯ เป็นหัวหน้ากลุ่มหัวเก่าผู้คัดค้านนโยบายก้าวหน้า แต่ก็ต้อนรับข้าพเจ้าด้วยอัธยาศัยอันโอบอ้อมอารีดีที่สุดและดูเหมือนสมเด็จฯ จะเอนเอียงมาทางข้างฝ่ายอเมริกันมาก และตั้งใจจะให้สิทธิพิเศษทุกอย่างแก่พวกอเมริกันเช่นที่อังกฤษได้รับ

ทูตอเมริกัน ยังได้บันทึกไว้ด้วยว่า สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติเป็นขุนนางที่หยิ่งที่สุดของราชอาณาจักร และมีความเกลียดชังชาวต่างประเทศและต่างชาติทั้งหมดอย่างเห็นได้ชัด

(ซ้าย) สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ (ทัด บุนนาค) สร้างความสับสนเรื่องกษัตริย์เพราะความดังในชื่อตระกูลของท่าน
(ขวา) เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)

ความจริง เทาเซนด์ แฮรีส ได้บันทึกเรื่องราวการติดต่อกับสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติไว้ค่อนข้างละเอียด คราวหนึ่งได้ถือโอกาสเรียนสมเด็จเจ้าพระยาฯ ให้ทราบถึงความยิ่งใหญ่ของอเมริกา เช่น มีทหาร 2 ล้านคน, ปืน 3 ล้านกระบอก, ปืนใหญ่ 4 หมื่นกระบอก, เรือสินค้าหมื่นห้าพันลำ อีกทั้งเหมืองทองอีกมากมาย

สำหรับเรื่องเหมืองนั้น เทาเซนด์ แฮรีส บอกว่าจะขอเช่าเหมืองจากไทย โดยให้ค่าเช่าในการทำเหมืองดีบุก แต่สมเด็จเจ้าพระยาฯ ไม่มีทีท่าว่าจะรับข้อเสนอดังกล่าว เทาเซนด์ แฮรีส ได้บันทึกว่า สมเด็จเจ้าพระยาฯท่านฉลาดและมีไหวพริบและไม่แสดงความรู้สึกของท่านให้ปรากฏออกมาว่าท่านเห็นพ้องด้วยหรือไม่

นอกจากนั้นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติยังได้ไต่ถามเกี่ยวกับเรื่องการสำรองน้ำตาลไว้บริโภคของอเมริกา ตลอดจนสาเหตุที่ไม่มีเรืออเมริกันมาแวะที่กรุงเทพฯ เป็นเวลานานถึง 18 ปี ซึ่ง เทาเซนด์ แฮรีส ก็ได้อธิบายถึงเหตุผลให้ทราบ อย่างไรก็ตามทูตอเมริกันก็มีความภูมิใจว่าได้รับความเอาใจใส่จากบุคคลสำคัญที่สุดคนหนึ่งของเมืองไทยขณะนั้น ซึ่งไม่ปรากฏมาก่อนทั้งๆ ที่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติได้ชื่อว่าเป็นพวกหัวเก่าและรังเกียจฝรั่ง

บุคคลสำคัญฝ่ายไทยที่ เทาเซนด์ แฮรีส ได้ไปพบก็คือ เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) อัครมหาเสนาบดี, ผู้เป็นบุตรชายคนโตของ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรววงศ์ (ดิศ บุนนาค) ผู้ซึ่งเพิ่งถึงแก่พิราลัย และจะได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ต่อมาใน .. 2416

นายแพทย์แซมมวล เฮาส์ มิชชันนารีอเมริกันที่เข้ามาเมืองไทยในรัชกาลที่ 3 ได้กล่าวถึงสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ว่า

รู้ภาษาอังกฤษเหมือนกัน แต่น้อย (กว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว, และกรมหลวงวงศาธิราชสนิท) และฉะนั้นจึงจำเป็นต้องมีล่าม ท่านเป็นผู้มีความสามารถอย่างยิ่งและฉลาดสุขุม การเจรจาต่างๆ และเล่ห์เหลี่ยมต่างๆ ของไทยนั้น ส่วนใหญ่มาจากพลังความคิดอ่านของท่านผู้นี้

เทาเซนด์ แฮรีส บันทึกว่าบ้านของท่านอัครมหาเสนาบดีใหญ่โตโอ่อ่าเกินกว่าที่ข้าพเจ้าคาดเอาไว้มาก เป็นบ้านแบบยุโรป มีกระจกบานใหญ่ๆ ใส่อยู่ในกรอบปิดทองระยับติดผนังอยู่ มีนาฬิกาชนิดมีลูกตุ้ม, มีเทอร์โมมิเตอร์, รูปแกะสลักของศิลปกรรมลอนดอน และภาพการรบของพระเจ้านโปเลียน ซึ่งพบทุกหนทุกแห่ง จากห้องพักแขกก็เข้าไปสู่ห้องพิเศษ มีเสาหลายต้นค้ำอยู่

ห้องนอนตกแต่งด้วยมุ้งไหมและม่านสีแดงเข้มหรูหรา มีปืนไรเฟิ้ลของชาร์พแขวนอยู่ที่ผนังกระบอกหนึ่ง. ห้องน้ำและห้องซักล้างก็งามวิจิตรดีทีเดียว บ้านนี้ต้องมีเนื้อที่ลึกเข้าไปถึง 200 ฟุต โดยไม่รวมบรรดาตึกแถวของพวกบริวารที่ปลูกติดต่อกันเป็นพืดไปตลอดถนน ฯพณฯ ต้อนรับข้าพเจ้าในท่วงทีสง่าภูมิฐานเหมือนกับบรรดาอัครมหาเสนาบดีแห่งราชสำนักยุโรปบางคน

เจ้าพระยาทิพากรวงศ์มหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค) มีตำแหน่งจมื่นราชามาตย์ ในสมัยรัชกาลที่ ๓ เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญร่วมกับจมื่นไวยวรนาถ (ช่วง บุนนาค) ผู้พี่ ทูลเชิญเจ้าฟ้ามงกุฎขึ้นครองราชย์

นอกจากที่กล่าวข้างต้นแล้ว ทูตอเมริกัน ก็ยังไปเยี่ยมคำนับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) พระคลังหรือเสนาบดีต่างประเทศ น้องชายต่างมารดาของอัครมหาเสนาบดี ซึ่งได้อธิบายให้ทราบถึงหน้าที่ของคณะทูตอเมริกัน ตลอดจนขอบเขตแห่งอำนาจ เสนาบดีต่างประเทศของไทยได้เสนอว่า

ประเทศสยามเป็นประเทศเล็กและสหรัฐอเมริกาผู้เป็นมิตรดีและเป็นชาติที่มีอำนาจในสนธิสัญญาที่จะทำขึ้นร่วมกัน จึงควรมีมาตราหนึ่งซึ่งสหรัฐอเมริกาจะผูกพันตนเองให้กระทำการเป็นผู้ชี้ขาด ในกรณีที่เกิดเรื่องยุ่งยากขึ้นระหว่างประเทศสยามและประเทศอื่นๆ

ต่อข้อเสนอดังกล่าวนี้ เทาเซนด์ แฮรีส กล่าวว่าสหรัฐทำหน้าที่เป็นคนกลางไกล่เกลี่ยกรณีพิพาทระหว่างประเทศต่างๆ อยู่แล้ว จึงไม่มีความจำเป็นจะต้องเขียนไว้ในสนธิสัญญา

ก่อนหน้านี้ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ ผู้เป็นบิดา ได้ว่าการต่างประเทศ โดยมีเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ บุตรชาย เป็นผู้ช่วย และได้ขึ้นเป็นเสนาบดีต่างประเทศภายหลังที่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ถึงแก่พิราลัย

เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) เป็นผู้เรียบเรียงหนังสือพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ ตั้งแต่รัชกาลที่ 1 จนถึงรัชกาลที่ 4 ขึ้นใน .. 2412 เมื่อต้นรัชกาลที่ 5 โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นว่าเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ได้รับราชการในตำแหน่งสำคัญในสมัยรัชกาลที่ 4 และเป็นผู้ที่ได้เคยเรียบเรียงหนังสือที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์เอาไว้หลายเล่ม อาทิการลำดับเสนาบดีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์”, “การจัดเก็บภาษีอากรและการปรับปรุงภาษีอากรในรัชกาลที่ 2-3-4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และจดหมายเหตุเสด็จหว้ากอเป็นต้น

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ: เนื้อหานี้คัดบางส่วนและนำมาเรียบเรียงขึ้นใหม่จากบทความ เมืองไทยในความรู้สึกของ เทาเซนด์ แฮรีสโดยดร. วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร เผยแพร่ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับตุลาคม 2559