พลเอก จิร วิชิตสงคราม นายทหารผู้ปฏิเสธยศ “จอมพล” ให้ตนเอง

พลเอก จิร วิชิตสงคราม ปฏิเสธ จอมพล
พลเอก จิร วิชิตสงคราม

พลเอก จิร วิชิตสงคราม เป็นนายทหารที่ได้รับการยกย่องในฝีมือ กระทั่ง จอมพล ป. พิบูลสงคราม ผู้บังคับบัญชา มีความคิดทูลเกล้าฯ ขอพระราชทานยศ “จอมพล” ซึ่งเป็นยศสูงสุดของกองทัพไทยให้พลเอก จิร แต่เจ้าตัวกลับปฏิเสธ 

รายละเอียดเกี่ยวกับ พลเอก จิร วิชิตสงคราม และการปฏิเสธยศจอมพลนั้น เสถียร จันทิมาธร เขียนไว้ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2533 ในบทความที่ชื่อว่า “พล.อ. จิร วิชิตสงคราม ผู้หาญปฏิเสธยศ จอมพล แม้เวลาจะผ่านมาหลายสิบปี แต่ก็ทำให้รู้ว่าเคยมี “ทหารอาชีพ” ตัวจริงเสียงจริง ซึ่งขอสรุปมานำเสนอบางส่วนดังนี้

พล.อ. จิร วิชิตสงคราม เดิมชื่อ จี๊ด ยุวนวรรธนะ บุตรนายเหลี่ยม นางทับทิม ยุวนวรรธนะ เกิดที่บ้านริมคลองบางหลวง เจริญพาสน์ ธนบุรี เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2440 เริ่มเข้าเป็นนักเรียนนายร้อยทหารบก เลขประจำตัว 2154 โรงเรียนนายร้อยชั้นประถม เชิงสะพานช้างโรงสี ข้างกระทรวงกลาโหม เมื่อเดือนพฤษภาคม 2452 และสำเร็จเมื่อเดือนพฤษภาคม 2458 ได้รับบรรจุให้ประจำกรมทหารบกปืนใหญ่ที่ 2

เพื่อนนักเรียนนายร้อยที่สำเร็จรุ่นเดียวกัน ได้แก่ จอมพล แปลก พิบูลสงคราม, จอมพล ผิน ชุณหะวัณ, พลเอก พิชิต เกรียงศักดิ์พิชิต, พลเอก มังกร พรหมโยธี, พลเอก หลวงหาญสงคราม, พลเอก หลวงสวัสดิสรยุทธ, พลตรี อดุล อดุลเดชจรัส เป็นต้น

ตลอดเวลา 6 ปีในโรงเรียนนายร้อยทหารบก การศึกษาอยู่ในขั้นเป็นเลิศได้รับรางวัลเรียนดีเป็นประจำทุกปี แม้เมื่อเข้าศึกษาต่อในโรงเรียนการฝ่ายเสนาธิการ กรมยุทธศาสตร์ทหารบก หลักสูตรประจำชุดที่ 9 (พ.ศ. 2463-2464) ขณะที่เรียนนั้น ร.ท.จี๊ด ยุวนวรรธนะ เป็นนักเรียนเพียงคนเดียวที่กล้าเสนอความเห็นอัน  “ผิดธง” จากคณะอาจารย์ในการแก้ปัญหายุทธวิธี และคณะอาจารย์ต้องยอมรับในเหตุผลและความถูกต้อง จนได้คะแนนดีเยี่ยมเป็นที่ 1 กระทั่งกรมเสนาธิการทหารบกจัดส่งไปดูแลการทหารในประเทศอังกฤษตามประมวลข้อบังคับสำหรับทหารบกเป็นเวลา 3 ปี

ในด้านราชการ พลเอก จิร ก้าวหน้าไปตามวิถีของ “ทหารอาชีพ” อย่างรุ่งโรจน์และมั่นคง

ครั้งที่เป็นนายร้อยตรีประจำกองทหารบก กองใหญ่ที่ 4 (ยานยนต์) ก็อาสาไปราชการสงครามทำการรบร่วมกับสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่ 1 ในยุโรประหว่างเดือนมิถุนายน 2461-กันยายน 2462 จนได้เลื่อนยศเป็นนายร้อยโท

เดือนพฤษภาคม 2471 นายร้อยเอกจี๊ด ยุวนวรรธนะ ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น หลวงวิชิตสงคราม ถือศักดินา 800 ซึ่งเป็นที่มาแห่งนามสกุล “วิชิตสงคราม”

หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พลเอก จิร เติบโตในสายงานฝ่ายเสนาธิการโดยตลอด เริ่มจากเป็นหัวหน้าแผนกที่ 3 กรมยุทธการทหารบก (สิงหาคม 2476), เสนาธิการมณฑลทหารบกที่ 1 (มกราคม 2476), รองเจ้ากรมยุทธการทหารบก (มีนาคม 2476), เจ้ากรมยุทธการทหารบก (มกราคม 2477) แล้วในเดือนสิงหาคม 2482 ก็เป็นเสนาธิการทหารบก ขณะมีอายุเพียง 40 ปี

ระยะเวลาที่พลเอก จิร ดำรงตำแหน่งเสนาธิการทหารบกจากเดือนสิงหาคม 2482-มกราคม 2488 นั้น เกิดสงครามขนาดใหญ่ให้ได้เข้าไปมีส่วนร่วม ไม่เพียงแต่ในฐานะเสนาธิการกองทัพบกสนามเท่านั้น หากยังได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง “แม่ทัพพายัพ” เพื่อปฏิบัติงานลับเฉพาะสุดยอดอีกด้วย

พลเอก เนตร เขมะโยธิน หนึ่งในนายทหารซึ่งเคยเป็นมือขวาของ พลเอก จิร กล่าวถึงเหตุผลที่จอมพล ป.พิบูลสงคราม แต่งตั้งในครั้งนั้นว่า

“ความประสงค์ทางการเมืองที่สำคัญที่สุดคือ ต้องการจะติดต่อกับจีนซึ่งขณะนั้นจอมพลเจียงไคเช็คเป็นแม่ทัพใหญ่และตั้งกองบัญชการอยู่ที่จุงกิง ความมุ่งหมายขอท่านก็คือต้องการจะให้จีนทราบว่า ความจริงประเทศไทยไม่ต้องการจะรบกับจีน (ตอนต้นสงครามจีนได้ส่งกำลังมายึดรัฐฉาน ประเทศสหภาพพม่าซึ่งขณะนั้นเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ) แค่ถูกญี่ปุ่นบังคับ

…ยิ่งกว่านั้น เมื่อติดต่อกับจีนได้แล้ว จอมพล ป. พิบูลสงครามจะหาทางทำความเข้าใจและตกลงในทางการเมืองกับจีนต่อไป ประเทศไทยสัญญาว่าจะไม่ล่วงล้ำดินแดนของประเทศจีนหลังจากขับไล่ทหารจีนพ้นอาณาเขตรัฐฉานไปแล้วประเทศไทยก็จะอยู่ในฐานปลอดภัย”

พลเอก จิร ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลนายควง อภัยวงศ์ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2487 ต่อมาได้พ้นจากตำแหน่งเสนาธิการทหารบก และเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม

จากนั้นไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลชุดของ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช, นายปรีดี พนมยงค์, พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ก็ตาม พลเอก จิร ก็ได้รับตำแหน่งให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมทั้งสิ้น และพ้นจากตำแหน่งทางการเมืองเพราะรัฐประหารเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 จึงกลับมาเป็นที่ปรึกษาการทหาร ประจำกรมเสนาธิการกลาโหม เมื่อเดือนกรกฎาคม 2493

พลเอก ทวี จุลละทรัพย์ อดีตเสนาธิการทหาร ในฐานะศิษย์ซึ่งทำงานใกล้ชิดในกรมเสนาธิการเล่าว่า

“…เคยถามท่านว่า ท่านเป็นทหารจริงๆ แล้วทำไมไปรับเป็นรัฐมนตรีซึ่งเป็นตำแหน่งการเมือง แทนที่ท่านจะตอบกลับสอนผมว่า ต่อไปภายหน้าถ้านายเขาให้คุณไปรับหน้าที่ทางการเมืองแล้วก็ต้องรับไว้ มิฉะนั้น คุณจะถูกกล่าวหาจากหมู่คณะว่าไม่ให้ความร่วมมือ นอกจากนั้น ในสถานการณ์เช่นนี้เราก็ควรที่จะเข้าไปท้วงติงในสิ่งที่ไม่ถูกต้องได้”

เมื่อ พลเอก จิร เกษียณราชการในตำแหน่งเสนาธิการกลาโหม ก็ได้รับคำสดุดีในงานเลี้ยงแสดงความอาลัยจากข้าราชการในกรมเสนาธิการกระทรวงกลาโหมว่า

“ท่านเป็นสุภาพบุรุษที่แท้จริงเป็นนักกีฬาที่รู้จักการแพ้และการชนะ รู้จักการโอนอ่อนผ่อนตาม…ไม่ว่าท่านจะอยู่ในตำแหน่งใดก็ตามท่านก็ยังคงเป็นที่ชอบพอรักใคร่ของผู้ร่วมงานร่วมราชการด้วยกัน แม้แต่ในวงการเมืองที่ต่างพรรคก็ไม่ปรากฏว่าท่านได้รับความกระทบกระเทือนเป็นการส่วนตัวแต่อย่างใดไม่”

2 คอลัมนิสต์ทางการเมืองที่สำคัญในสมัยนั้น คือ อานนท์-หนังสือพิมพ์ประชาธิปไตย น.หนู-หนังสือพิมพ์สยามนิกร ได้เขียนบทความสดุดีในเนื้อหาตรงกันว่า

“ท่านผู้คำพูดนี้เป็นทหารเต็มตัว เป็นนายทหารเยี่ยงนายทหาร ซึ่งประชาชนให้ความเคารพได้อย่างสนิทสนม แม้จะยกมือไหว้ก็ไม่ต้องไปเที่ยวล้างมือที่ไหนอีก” (ประชาธิปไตย, 7 ตุลาคม 2501)

“แม้ว่าท่านจะมีตำแหน่งเป็นเสนาธิการกลาโหม มียศเป็นพลเอกและเป็นบุคคลที่คณะทหารให้ความเคารพนับถือผู้หนึ่ง แต่ปรากฏว่าท่านมีบ้านหลังเล็กๆ หลังเดียวและยากจน เพราะท่านไม่ได้ทำการค้าเลย หรือมีหุ้นส่วนในการค้า และการเลี้ยงชีพของท่านจะถูกปลดเกษียณอายุก็คือเงินบำนาญจากการรับราชการเป็นจำนวนเงินเพียง 2,000 บาท นอกจากเงินบำนาญแล้วท่านไม่มีอะไรที่เรียกว่าเป็นทรัพย์สิน ท่านผู้นี้จึงอยู่ด้วยความยากจน แต่เป็นความยากจนที่น่าเคารพและนับถือด้วยมืออันสะอาดของท่าน” (สยามนิกร, 7 ตุลาคม 2501)

ส่วนเรื่องที่ปฏิเสธยศ “จอมพล” นั้น มีนายพลหลายคนเล่าให้ข้อมูลตรงกัน

พลเอก หะริน หงสกุล อดีตประธานรัฐสภา ซึ่งเป็นศิษย์ที่ทำงานใกล้ชิดคนหนึ่งเผยว่า

“ผมเคยเป็นนายทหารฝ่ายเสนาธิการที่เราใช้อยู่ในวงในระยะหนึ่ง จึงได้ทราบว่า ฯพณฯ จอมพล ป. พิบูลสงครามได้ทำเรื่องราวขอพระราชทานยศจอมพลให้ท่านซึ่งก็เหมาะด้วยประการทั้งปวง ถ้าหากเป็นไปตามนั้นก็ไม่มีใครหาเหตุผลมาหักล้างหรือคัดค้านได้เลย แต่ก็มีผู้คัดค้านจนได้ และมีคนเดียวเท่านั้นที่คัดค้านคือตัวท่านเอง ท่านขอร้องและยืนยันแข็งว่าท่านไม่รับยศจอมพลโดยเด็ดขาด”

พลโท ประยูร ภมรมนตรี อดีตเจ้ากรมยุวชนทหาร ขยายละเอียดเรื่องนี้ว่า

“คณะรัฐประหารเสนอ ให้พล.อ. ผิน ชุณหะวัณ ขึ้นเป็นจอมพลซ้อนขึ้นมา ท่านจอมพล ป. พิบูลสงคราม เลยเสนอตั้งเพิ่มขึ้นมาอีก 4 คน จึงเชิญพี่จี๊ดมาปรารภว่าจะสนองคุณความดีของพี่จี๊ดโดยแต่งตั้งให้เป็นจอมพล พี่จี๊ดเอะอะโวยวายว่า ฟุ้งซ่านกันไปถึงไหน ตัวท่านเป็นรองผู้อำนวยการ ส.ป.อ. ซึ่งมีนายทหารอเมริกันชั้นพลเอกเป็นหัวหน้า ผิดระเบียบราชการทหารถ้าขืนแต่งตั้งขึ้นมาจะก็จะขอยื่นใบลาออกทันที”

พล.อ.ท.จำรัส วีณะคุปต์ ซึ่งเคยรับราชการใกล้ชิดในกรมเสนาธิการกลาโหมเล่าว่า

“เช้าวันหนึ่งท่านเดินมาที่โต๊ะข้าพเจ้าวางซองจดหมายเล็กๆ บนโต๊ะแล้วบอกว่า ให้คุณหรือนายทหารที่คุณไว้ใจได้นำจดหมายฉบับนี้ไปส่งให้ถึงมือท่านนายกฯ เองทีเดียว ท่านไปแล้วข้าพเจ้าดูจ่าหน้าซองถึงจอมพล ป. พิบูลสงคราม ตรงกลางขอบบนซองเขียน (ส่วนตัว) มุมซ้ายล่างเป็นชื่อย่อ จ. วิชิตสงคราม อีก 2-3 สัปดาห์ต่อมาข้าพเจ้าได้ข่าวว่าเสนาธิการกลาโหมไม่ยอมรับยศจอมพล ข้าพเจ้าจึงเข้าใจว่าจดหมายฉบับนั้นเองที่ขอไม่รับยศอันเกรียงไกรนี้”

เวลาผ่านมาหลายสิบปี ก่อนหน้าพลเอก จิร ถึงแก่อนิจกรรม 4-5 ปี พลอากาศโท จำรัส วีณะคุปต์ จึงเรียนถาม ซึ่งพลเอก จิร ตอบว่า

“โดยตำแหน่งผมเป็นผู้แทนไทยในกิจการทหารของ ส.ป.อ. หัวหน้าผู้แทนประเทศอื่นๆ มียศสูงเพียงพลเอก ถ้าผมเป็นจอมพลขึ้นมา ผมก็ต้องเป็นประธานที่ประชุมทุกปีไป (ประชุมปีละ 2 ครั้ง) จะผลัดเปลี่ยนกันดังที่เคยปฏิบัติเป็นธรรมเนียมอยู่แล้วย่อมไม่ได้ ดูจะไม่งาม”

นี่คือความเด็ดเดี่ยวเป็นตัวเองของพลเอก จิร วิชิตสงคราม นายทหารนักเสนาธิการ ผู้กล้าคัดค้านผู้บังคับบัญชาสูงสุด เมื่อดำริจะเสนอชื่อขอพระราชทานยศ “จอมพล” ให้กับตนเอง ด้วยเหตุผลที่มิอาจโต้แย้งได้

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 มกราคม 2563