การเลี่ยงเป็นทหารของคนไทยในอดีต เหตุมอง “ทหารเกณฑ์” เป็นกลุ่มคนที่เลวทราม

จิตรกรรมฝาผนัง ท้องพระโรงกรุงธนบุรี เมืองโบราณ จังหวัดสมุทรปราการ ทหาร ทหารเกณฑ์
จิตรกรรมฝาผนังภายในท้องพระโรงกรุงธนบุรี เมืองโบราณ จังหวัดสมุทรปราการ

ทหารเกณฑ์ และ การเกณฑ์ “ทหาร” ในยุคจารีตหรือรัฐโบราณของไทย คือการรวบรวมไพร่มาเป็นแรงงานให้กองทัพ ไม่มีระบบทหารอาชีพ ในอดีตไพร่จะมีสังกัดขุนนางหรือเจ้านายของตนเอง ราชสำนักไม่ได้ควบคุมไพร่เหล่านี้โดยตรง แต่ควบคุมผ่านขุนนางอีกทอดหนึ่ง โดยขุนนางจะมีพันธะในการอุปถัมภ์ไพร่ในสังกัด ดูแลเกี่ยวกับการคดีความอันเกิดแก่ไพร่ รวมถึงจัดการสะสางความเดือดร้อนทั้งหลายของไพร่ แลกกับไพร่จะถูกขุนนางเรียกไปใช้แรงงานตามรูปแบบความสัมพันธ์ในระบบศักดินาสวามิภักดิ์

ความสัมพันธ์ระหว่างขุนนางกับไพร่คือหลักในการเกณฑ์ทหารของรัฐไทยตั้งแต่สมัยอยุธยาเรื่อยมาจนกรุงรัตนโกสินทร์ ก่อนการยกเลิกระบบไพร่-ทาสในสมัยรัชกาลที่ 5 หลักการเกณฑ์แรงงานไพร่แต่เดิมนั้นกำหนดว่าชายที่มีอายุ 18-60 ปี มีหน้าที่รับราชการ ต้องมาเข้าทะเบียนที่ กรมพระสุรัสวดี หน่วยงานหลักในการกำกับดูแลการเกณฑ์ไพร่พล เจ้าพนักงานหรือสัสดีจะสักที่ท้องแขนหรือหลังมือของไพร่ เพื่อระบุตัวตนว่าเป็นคนในสังกัดกรมกองใด เรียกว่าการ สักเลก หรือ เกณฑ์เลข

Advertisement

หลังจากสักเลก ไพร่ผู้นั้นจะได้สังกัดและกำหนดรับราชการต่าง ๆ เช่น ไพร่ที่อยู่หัวเมืองชั้นใน ตั้งแต่ชัยนาททางทิศเหนือถึงเพชรบุรีทางทิศใต้ และปราจีนบุรีกับฉะเชิงเทราทางทิศตะวันออกถึงราชบุรีทางตะวันตก ไพร่ในสังกัดหัวเมืองเหล่านี้จะเข้ามารับราชการที่กรุงเทพฯ ปีละ 1 รอบ เป็นเวลา 2 เดือน

โดยปกติแล้วไพร่ในสังกัดหัวเมืองชั้นนอกจะขึ้นตรงต่อขุนนางในหัวเมืองนั้น ๆ มีหน้าที่รับราชการปีละ 1 รอบเช่นกัน ระยะเวลาแตกต่างกันไปในแต่ละกรมกอง อย่างไรก็ตาม การสักเลกในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์จะกระทำอย่างเข้มงวดในเขตราชธานี (กรุงเทพฯ) และหัวเมืองชั้นในเท่านั้น จึงมีไพร่อีกจำนวนมากในพื้นที่ห่างไกลที่ไม่ถูกเกณฑ์มารับราชการ

ตั้งแต่ปลายสมัยอยุธยาเป็นต้นมา ราชสำนักได้กำหนดวิธีการผ่อนผันการเกณฑ์ทหาร โดยไพร่ต้องจ่ายเงินให้แก่ขุนนางที่ต้องสังกัด เพื่อแลกกับการไม่ต้องรับราชการทหาร วิธีการนี้ปรากฏในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์เช่นกัน ยกตัวอย่างไพร่หลวงในสมัยรัชกาลที่ 5 ต้องจ่ายเงิน 9-12 บาท/ปี แทนการถูกเกณฑ์แรงงาน เจ้ากรมปลัดกรมต่าง ๆ ที่ไพร่สังกัดจะเก็บเงินเหล่านี้ส่งไปยังกรมพระสุรัสวดี พร้อมแบ่งส่วนหนึ่งให้แก่เจ้ากรมปลัดและนายกองนายหมวดทั้งหลายในฐานะผู้ควบคุมไพร่เหล่านั้น ด้วยวิธีการนี้ ไพร่จำนวนไม่น้อยจึงยอมเสียเงินแทนกับรับถูกเกณฑ์ทหาร

เมื่อไพร่ที่มีกำลังทรัพย์สามารถจ่ายเงินแทนการเข้ารับราชการทหารได้ ไพร่ที่ไม่ได้จ่ายเงินแก่ราชการและถูกเกณฑ์เป็นทหาร จึงถูกมองว่ามีสถานะต่ำกว่าไพร่ทั่วไป คือ เป็นคนไม่มีเงิน คนต้องโทษทัณฑ์ หรือคนที่ไม่มีทางเลือกอื่นแล้วจึงต้องมาเป็นทหาร ปรากฏในพระราชดำรัสใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ความว่า

“…เพราะคนที่ส่งมาเป็นทหารนั้น เฉพาะแต่คนที่ไม่มีเงินเสียส่วนประการหนึ่ง คนที่เปนโทษบางอย่างประการหนึ่ง ฤๅผู้ที่เลวทรามที่สุดในพื้นเมืองนั้น คือจะทำอะไรไม่ได้เปนต้นก็มี…”

สำเนาราชหัตถเลขา 39/143 สวนดุสิต 23 เมษายน ร.ศ. 122 [1]

อีกข้อความเป็นบันทึกของ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เกี่ยวกับทหารเกณฑ์ กล่าวว่า

“คนในมณฑลอีสานซึ่งเลือกคัดส่งมารับราชการทหารอย่างทุกวันนี้ ตกอยู่ในชนชั้นเลวที่มีความผิดหรือไม่สามารถจะกระทำการอย่างอื่นได้แล้วจึงส่งมาเป็นทหาร พาให้คนทั้งหลายแลเห็นว่า ทหารเป็นบุคคลจำพวกที่เลวทรามกว่าพลเมืองสามัญ”

กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ไปรเวตที่ 27/1083 ศาลาว่ากลางมหาดไทย 27 เมษายน ร.ศ. 122 [2]

นอกจากไพร่ที่ถูกเกณฑ์เป็นทหารจะถูกมองว่ามีสถานะต่ำกว่าไพร่ทั่วไปแล้ว เป็นที่ทราบโดยทั่วกันว่า ไพร่ที่เป็นทหารต้องทำหน้าที่เหมือนผู้ใช้แรงงานอย่างไร้ทางเลือก เป็นเหมือนข้ารับใช้ของเจ้าขุนมูลนายที่ตนสังกัด ตอกย้ำสถานะทางสังคมอันต่ำต้อยของพวกเขา

กรมหลวงนครไชยศรี ยังเคยแสดงความเห็นว่าประชาชนส่วนใหญ่ไม่อยากเป็นทหาร เพราะมองว่าทหารทำหน้าที่เหมือน “กุลี”

ด้วยเหตุนี้ประชาชนจำนวนไม่น้อยจึงพยายามหลีกเลี่ยงการเป็นทหารมาโดยตลอดตั้งแต่ยุคโบราณแล้ว ดังตัวอย่างเหตุการณ์ต่อไปนี้ ก่อนการเปิดเรียนของโรงเรียนวัดมหรรณพาราม ในกรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ. 2427 ซึ่งเป็นโรงเรียนหลวงสำหรับราษฎรโรงเรียนแรก มีข่าวลือว่าเด็กที่เข้าเรียนโรงเรียนนี้จะถูกเกณฑ์ไปเป็นทหาร เมื่อราษฎรที่ส่งบุตรหลานมาเรียนทราบดังนั้น ต่างพากันขอถอนบุตรหลานจากการเป็นศิษย์ไปจำนวนมาก จนพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงประกาศชี้แจง ความว่า

“…ที่พูดเล่าลืออย่างนี้ เป็นการไม่จริง ห้ามอย่าให้ผู้ใด พลอยตื่นเต้น เชื่อฟังคำเล่าลือนี้ เป็นอันขาด คนที่ควรจะชักเป็นทหาร ก็มีอยู่พวกหนึ่ง ต่างหาก ไม่ต้องตั้งโรงเรียนเกลี้ยกล่อมเด็ก มาเป็นทหารเลย

อนึ่ง เด็กทั้งปวงนี้ ก็ล้วนเป็นบุตรหลานไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินทั้งสิ้นด้วยกัน ถ้าจะเก็บมาเป็นทหารเสียตรง ๆ นั้น จะไม่ได้หรือ จะต้องตั้งโรงเรียน เกลี้ยกล่อมให้ลำบาก และเปลืองพระราชทรัพย์ ด้วยเหตุใด…” [3]

เหตุการณ์ต่อมาคือ คราวกบฏที่เมืองหลวงพระบาง ระหว่าง พ.ศ. 2428-2430 เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสง-ชูโต) เป็นผู้บัญชาการทหาร เหตุด้วยจำนวนรี้พลในสังกัดไม่พอทำสงคราม จึงต้องเกลี้ยกล่อมหาคนสมัครเป็นทหาร โดยให้สัญญาว่าเมื่อรับราชการทหารครบปีแล้วจะปล่อยพ้นจากการเกณฑ์เข้ารับราชการทั้งหลาย ครั้งนั้นจึงมีชาวเมืองราชบุรีและเพชรบุรีสมัครเป็นทหารจำนวนมาก พลทหารเหล่านี้กลายเป็นกำลังหลักของเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีในการยกไปปราบฮ่อที่เมืองหลวงพระบาง กระนั้น หลังจากเหตุการณ์นี้ก็ไม่มีใครสมัครเป็นทหารอีก

จะเห็นว่ารูปแบบการเกณฑ์ทหารแบบโบราณของรัฐไทยนั้นค่อนข้างละหลวมและไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ ราชสำนักมีฐานกำลังน้อย อำนาจการกะเกณฑ์กระจายไปยังเจ้าขุนมูลนายที่ควบคุมไพร่ ไพร่เหล่านี้จะถูกเรียกตัวเมื่อเกิดสงคราม มาเป็นทหารทั้งที่แทบไม่เคยผ่านการฝึกฝน ว่ากันง่าย ๆ คือ เป็นชาวนาที่ถูกเรียกมาติดอาวุธนั่นเอง ทั้งอาจมีประวัติไม่ดีอันเป็นเหตุให้ไม่สามารถจ่ายเงินผ่อนผันการเกณฑ์แรงงานได้

กลายเป็นชื่อเสีย(ง) ของทหารเกณฑ์ในมุมของของราษฎรทั่วไป…

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

[1] ธนัย เกตวงกต. (2560). ประวัติศาสตร์การเกณฑ์ทหารในสังคมไทย. มูลนิธิฟรีดริค แอแบร์ท (ออนไลน์)

[2] เรื่องเดียวกัน

[3] เทพชู ทับทอง. (2518). กรุงเทพฯ ในอดีต. กรุงเทพฯ : (ไม่ระบุสำนักพิมพ์)

กระทรวงแรงงาน. (ไม่ระบุปี). จาก Man สู่ Brian Power. (ออนไลน์)

อภิชาต สถิตนิรามัย. (2555). ประวัติศาสตร์ฉบับย่อว่าด้วยการเลิกทาสและไพร่สยาม. (ออนไลน์)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 28 กันยายน 2565