เผยแพร่ |
---|
สงครามโลกครั้งที่ 2 เปลี่ยนแปลงโฉมหน้าของสถานการณ์โลกไปอย่างสิ้นเชิง ชะตากรรมของผู้คนในหลายประเทศพลิกผันอย่างไม่น่าเชื่อ สำหรับไทยแล้วก็มีช่วงที่น่าสลดและกระเทือนใจโดยเฉพาะสำหรับเหล่าทหารที่ต้องตกงานอย่างกะทันหัน อันเป็นที่มาของวลี “เดินนับไม้หมอนรถไฟ” มีเสียงบ่นในหน้าหนังสือพิมพ์ทำนองว่า “อุตส่าห์ไปรบเพื่อชาติ แต่เมื่อไม่ใช้แล้วกลับไร้เยื่อใย”
ด้วยความจำเป็นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ไทยกลายเป็นมหามิตรของญี่ปุ่นและนำไปสู่ความร่วมมือการประกาศสงครามกับสัมพันธมิตร ไทยยังต้องร่วมมือตามแผนของญี่ปุ่นด้วยการเคลื่อนกำลังเข้าแคว้นฉาน เมื่อ พ.ศ. 2485 แต่เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง ญี่ปุ่นยอมแพ้อย่างไม่มีเงื่อนไขเมื่อ พ.ศ. 2488
และด้วยการต่อสู้ของเสรีไทยทั้งในและต่างประเทศ (และปัจจัยสำคัญคือเรื่องนโยบายของสหรัฐฯเอง) ทำให้การประกาศสงครามต่อบริเตนใหญ่และสหรัฐอเมริกา เมื่อ 25 มกราคม พ.ศ. 2485 กลายเป็นโมฆะ และต้องลงนามในสนธิสัญญาตกลงกันที่สิงคโปร์เมื่อ 1 มกราคม พ.ศ. 2488 ไทยต้องคืนดินแดนที่ยึดไว้ทั้งในพม่า เขมร และมลายูคืนเจ้าของอาณานิคมเดิมคืออังกฤษและฝรั่งเศส นั่นย่อมหมายถึงการถอนกำลังกลับอันนำมาซึ่งเรื่องราวแสนขมขื่นของทหาร
หลักฐานเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของกองทัพไทยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ปรากฏในบันทึกหลายแห่ง หนึ่งในนั้นคือ “ประวัติศาสตร์การสงครามของไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา” จัดทำโดยกรมยุทธศึกษาทหาร กองบัญชาการทหารสูงสุด พ.ศ. 2540 เล่าไว้ว่า
“เมื่อสงครามยุติลง กองทัพบกได้เตรียมการปลดทหารกองประจำการที่เข้ารับราชการในยามสงครามมาเป็นเวลาแรมปีให้กลับไปยังภูมิลำเนา เพื่อประกอบอาชีพการงานของตนตามปกติต่อไป นอกจากทหารกองประจำการแล้ว กองทัพบกยังดำริที่จะลดจำนวนนายทหารนายสิบจากอัตรากำลังรบที่ได้ขยายขึ้นในเวลาสงครามให้เข้าอัตราปกติโดยเร็วที่สุด”
บริบทสถานการณ์ในเวลาช่วงนั้น นอกจากเรื่องกำลังพลแล้ว ยังมีองค์ประกอบเรื่องสภาพเศรษฐกิจ และนโยบายที่เป็นผลมาจากช่วงสงครามอีกด้วย พลเอกจิร วิชิตสงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สมัยนั้นเขียนเล่าในบทความชื่อ “การเลิกระดมพลภายหลังสงครามมหาเอเชียบูรพา” มีใจความตอนหนึ่งว่า
“เงินบาทของเราเคยมีค่า 11 บาท ต่อ 1 ปอนด์ขณะนั้นลดลงเกินกว่า 80 บาทต่อ 1 ปอนด์ เราต้องให้เงินเป็นค่าใช้จ่ายของกองทหารยึดครอง จัดการเลี้ยงดูทหารเหล่านั้น รวมทั้งเชลยศึก ทหารญี่ปุ่นและคนงานที่ญี่ปุ่นขนมาจากทางภาคใต้เป็นจำนวนแสน ทั้งชดใช้ค่าเสียหายในทรัพย์สินของสหประชาชาติอีก”
ภาวะการคลังและการเงินที่ตกต่ำหลังสงคามเป็นผลให้ส่วนหนึ่งต้องปลดประจำการทหาร กระทรวงกลาโหมออกคำชี้แจงทหารเรื่อง “เลิกการระดมพล(เฉพาะข้าราชการกลาโหมชั้นสัญญาบัตร)” เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2488 เสถียร จันทิมาธร ผู้เขียนหนังสือ “กองทัพบกกับประเทศไทย” บรรยายว่า คำชี้แจงนั้น กระทรวงกลาโหมยอมรับว่า “นับแต่ปี 2480 เป็นต้นมา เป็นเวลา 9 ปีที่รัฐบาลได้ใช้จ่ายเงินในการทหารถึง 2 ใน 3 แห่งรายได้ของประเทศทั้งหมด”
ในช่วงรัฐบาลที่มีม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี กระทรวงกลาโหมออกคำสั่้งปลดทหารกองประจำการตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. 2489
พลเอกจิร วิชิตสงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในสมัยของ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช บันทึกไว้ว่า “การเลิกระดมพลในครั้งนี้ผมได้พยายามทำอย่างระมัดระวังเป็นที่สุดเพราะทราบล่วงหน้าอยู่แล้วว่า จำเป็นต้องมีการปลดนายทหารออกไปถึงกับได้ออกแจ้งความไปว่า นายทหารผู้ใดประสงค์จะลาออกจากราชการก็อนุมัติให้ยื่นใบลาออกได้”
จำนวนทหารที่ถูกปลดมีจำนวนดังนี้
ปลดนายพล 11 คน จากทั้งหมด 81 คน คิดเป็นร้อยละ 13.5
ปลดนายพัน 303 คน จากทั้งหมด 1,035 คน คิดเป็นร้อยละ 29.3
ปลดนายร้อย 1,455 คน จากทั้งหมด 3,845 คน คิดเป็นร้อยละ 37.8
ปลดจ่าสิบเอก 730 คน จากทั้งหมด 2,577 คน คิดเป็นร้อยละ 28.7
ปลดนายสิบ 3,905 คน จากทั้งหมด 24,544 คน คิดเป็นร้อยละ 15.9
แม้จะมีการ “ระมัดระวัง” อย่างที่สุดแล้ว แต่การปลดขนาดนี้ย่อมส่งผลกระทบกระเทือน พล.บัญชร ชวาลศิลป์ ผู้เขียนหนังสือ “กว่าจะเป็นนายพล (ก้าวแรก)” ยกข้อความส่วนหนึ่งจากเอกสารที่บรรยายว่า “ในทางปฏิบัติทางราชการมิได้รั้งรอการปลดนายทหารสัญญาบัตรไว้จนกว่าจะกลับถึงที่ตั้งปกติแล้ว แต่กลับส่งหนังสือปลดออกจากราชการไปยังนายทหารสัญญาบัตรที่จะถูกปลดเป็นรายบุคคลตั้งแต่อยู่ในสนามรบ
นายทหารที่ได้รับหนังสือปลดในครั้งนั้น บางคนเป็นผู้บังคับบัญชาหน่วยทหารระดับบังคับบัญชาการกรม ผู้บังคับกองพัน และผู้บังคับกองร้อย เมื่อได้รับหนังสือปลดโดยมิได้คาดหมาย กะทันหัน และไม่มีเวลาตั้งตัวเช่นนั้น จึงผิดหวังและเสียกำลังใจอย่างยิ่ง ทำให้เกิดความีระส่ำระสายขึ้นในหน่วยทหารนั้น เมื่อต้องขาดผู้บังคับบัญชาที่ร่วมเป็นร่วมตายกันมาเป็นเวลานาน เป็นเหตุให้ทหารในบางหน่อยประพฤติผิดระเบียบวินัยของทหาร…”
“…เมื่อกองทัพบกมีคำสั่งให้ถอนทหารออกจากสหรัฐไทยเดิมเข้ามาในประเทศไทยโดยด่วนนั้น ทหารส่วนใหญ่ต้องเดินทางด้วยเท้า เนื่องจากขาดแคลนยานพาหนะ ประกอบกับทหารมีสภาพบอบช้ำมาก ทำให้การเดินทางเป็นไปด้วยความล่าช้า การถอนทหารส่วนใหญ่ไปเข้าที่ชุมพลที่จังหวัดลำปาง เพื่อรอขึ้นรถไฟกลับที่ตั้งปกติ มีอุปสรรคสำคัญที่ทำให้การเดินทางต้องล่าช้ามากยิ่งขึ้นคือ ทางรถไฟและสะพานถูกทำลาย สภาพของรถไฟชำรุดมาก และความเร่งด่วนในการขนย้ายเชลยศึกญี่ปุ่นเป็นลำดับแรก”
จากการบรรยายตัวอย่างนี้ย่อมทำให้เห็นว่า เหล่าทหารย่อมเสียใจและสะเทือนใจอย่างมาก ดังที่เสถียร จันทิมาธร บรรยายเพิ่มเติมว่า บางคนที่ถูกปลดระหว่างเดินทางกลับบ้าน เงินทองก็ไม่มีจึงทำให้มีเสียงบ่นบนหน้าหนังสือพิมพ์ในช่วงต่อมาว่า “ได้ไปรบอุทิศชีวิตเพื่อชาติ เมื่อไม่ใช้แล้วมิได้ปรานีกันเลย”
ขณะที่พลเอก บัญชร บรรยายว่า “บางคนถึงกับกล่าวว่า ไม่รู้จะไปลงรถไฟที่สถานีใด เพราะไม่มีบ้านอยู่ ระหว่างรับราชการก็อยู่บ้านของทางราชการ บางคนเมื่อได้รับคำสั่งให้ออกจากราชการถึงกับร้องไห้ออกมาโดยไม่รู้สึกตัว บางคนเมื่อคิดอะไรไม่ออก ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ก็หันเข้าดื่มสุราจนเมาขาดสติ เกือบจะกล่าวได้ว่า ไม่มียุคใดสมัยใดที่ขวัญของทหารเสื่อมโทรมเช่นนี้…”
จะเห็นได้ว่าเมื่อถูกปลดระหว่างเดินทาง ย่อมหมายความว่า จะไม่ได้รับค่าตอบแทนจากราชการใดๆ ไม่ว่าจะเป็นเงินเดือน เบี้ยเลี้ยง และพาหนะในการเดินทางกลับบ้าน ต้องหาทางกลับเองเนื่องจากเป็น “ราษฎรเต็มขั้น” อันเป็นที่มาของประโยคว่า “เดินนับไม้หมอนรถไฟ” ซึ่งเหตุการณ์ช่วงนี้เองเกิดในสมัยที่ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อท่านก่อตั้งพรรคประชาธิปัตย์แล้ว พลเอก บัญชร บรรยายว่า ความรู้สึกไม่พอใจม.ร.ว. เสนีย์ ที่มีมาแต่เดิมก็ขยายไปสู่พรรคประชาธิปัตย์ด้วย
ไม่เพียงแค่ปลดนายทหารในกองทัพเท่านั้น หลังจากนี้ เมื่อพระราชบัญญัติอาชญากรสงคราม พ.ศ. 2488 ประกาศบังคับก็มีนายทหารชั้นผู้ใหญ่หลายรายถูกจับและเรียกตัวสอบสวน รวมถึงจอมพล ป. พิบูลสงคราม
อ่านเพิ่มเติม :
อ้างอิง :
บัญชร ชวาลศิลป์, พลเอก. กว่าจะเป็นนายพล (ก้าวแรก). กรุงเทพฯ : มติชน, 2550
เสถียร จันทิมาธร, ขรรค์ชัย บุนปาน. กองทัพบกกับประเทศไทย. กรุงเทพฯ : มติชน, 2526
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 กรกฎาคม 2562